Atukkit Sawangsuk
 ขบวนประชาธิปไตยควรปรับท่าทีอย่างไร หลังประชามติผ่าน
ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม ประชามติครั้งนี้ได้สร้างความชอบธรรมให้ คสช.ปกครองประเทศไปอีก 6-7 ปี ตามบทเฉพาะกาล พร้อมกับทำลายหลักการประชาธิปไตยแหลกสลายลงไป บางคนอาจบอกว่าประชาชนในต่างจังหวัดถูกโน้มนำภายใต้ประชามติปิดกั้น แต่อย่างน้อยคนกรุงเทพฯ คนมีการศึกษาที่เคยคุยเป็น “ม็อบมือถือไล่เผด็จการ” ก็มีถึง 70% ต้องการรัฐธรรมนูญถอยหลัง ไม่ว่าจะด้วยความรักลุงตู่ ความเกลียดแม้วเกลียดนักการเมือง หรือเพียงแค่อยากเห็นความสงบ ฯลฯ พวกเขาก็สร้างความชอบธรรมให้ คสช.แล้ว
ฉะนั้นเพื่อ “เคารพเสียงข้างมาก” เราควรลดบทบาท “การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อส่วนรวม” ให้เหลือแต่การปกป้องตัวเองจากภัยคุกคาม การปกป้องเสรีภาพของเสียงข้างน้อย สงวนความเห็นต่าง เผยแพร่ความคิดเห็นในหมู่คน 30-40% เท่านั้น
ประเทศไทยไม่ใช่ของเรา เข้าใจตรงกันนะ เราถูกปฏิเสธออกมาจากเสียงข้างมาก 16 ล้านเสียงแล้ว ฉะนั้น เป้าหมายต้องอยู่แค่การเผยแพร่ความเห็นต่าง เผยแพร่แล้วใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็ช่าง เราแค่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพนี้ไว้ แต่ไม่ว่าสถานการณ์ประเทศในภายหน้าจะเลวร้ายเพียงไร ไม่ว่า คสช.เสื่อมทรุดแค่ไหน ขบวนการประชาธิปไตยต้องไม่ออกมาขับไล่ ต้องไม่เสี่ยงชีวิตเลือดเนื้ออันมีค่าเพื่อ “ประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่” ที่เห็นเราเป็นพวกสร้างความวุ่นวาย
พูดงี้ไม่ได้ประชดนะครับ อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า การเป็นผู้กล้าเสียสละในสังคมไทยไม่มีประโยชน์อะไร เราก็ดำเนินชีวิตของเราไป สร้างฐานะ สร้างครอบครัว ต่อสู้ในจังหวะที่เหมาะสม เห็นหลายคนบ่นว่าไปอยู่ต่างประเทศดีกว่า คนรุ่นใหม่ถ้าหาโอกาสไปอยู่ต่างประเทศได้ เพื่อความก้าวหน้าของชีวิต ก็สนับสนุน ไปเถอะครับ ไม่จำเป็นต้องมาจมปลักอยู่ประเทศนี้ แล้วค่อยมีบทบาทตามโอกาสก็ได้
ขบวนการประชาธิปไตยควรหยุดการเคลื่อนไหววงกว้าง เพราะไม่มีประโยชน์อะไร สมมติเช่น “ปราบโกง” ไม่ว่ามีเรื่องอื้อฉาวใดๆ เกี่ยวกับรัฐบาล คสช. กองทัพ ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะเคลื่อนไหวเรียกร้อง (เช่นกรณีอุทยานราชภักดิ์) นอกจากแสดงความเห็นบ้างห่างๆ ให้เป็นหน้าที่ของสื่อกระแสหลัก ของคนรักรัฐธรรมนูญ แล้วแต่พวกเขาจะเอาอย่างไร
การรำลึกเหตุการณ์ต่างๆ วันประชาธิปไตย วันต่อต้านเผด็จการ เนื่องจากเสียงข้างมากยอมรับเผด็จการ ไม่เอาประชาธิปไตย ก็ทำในวงจำกัด เช่นวันที่ 19 กันยา วันที่ 22 พฤษภา ไม่ควรจัดที่สาธารณะ ไม่ควรไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ควรขออนุญาตจัดปาร์ตี้ชวนหัวแบบไม่เป็นพิษเป็นภัย งานรำลึกพฤษภา 53 ก็เปลี่ยนไปทำบุญ ส่วนงานรำลึก 14 ตุลา งานรำลึกพฤษภา 35 ก็เปลี่ยนเป็นจัดเทศกาลแฟนซีตลกขบขันปีละ 2 ครั้ง
บทบาทของเรา จะเหลือเพียงแค่การปกป้องตัวเอง ไม่ให้ถูกคุกคามทำลายล้าง ซึ่งในกระแสนี้ อาจยากลำบาก แต่อีกด้านหนึ่ง ถ้าเราไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้ ไม่เป็นภัย รัฐทหารก็คงไม่รุกไล่หนัก นอกจากตีกรอบไว้ เราลดระดับเหลือเพียงสงวนสิทธิแสดงความคิดเห็นต่อขั้นตอนตามร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การแก้ไขร่างให้สอดรับคำถามพ่วง การออกกฎหมายลูก โรดแมพไปสู่เลือกตั้ง ทั้งนี้อยู่ในกรอบที่เราไม่เคลื่อนไหวอะไรทั้งสิ้น แสดงความเห็นไป แล้วแต่ใครจะฟังหรือไม่ฟัง อย่างน้อยสื่อให้คน 9 ล้านกว่าๆ ก็พอ กับอีกข้อคือการช่วยเหลือเยียวยากัน ในหมู่คนที่ถูกกระทำอย่างอยุติธรรม
ที่พูดมานี้สำนวนอาจประชดบ้าง แต่ก็จริงนะครับ “ความชอบธรรม” ของประชามติ ทำให้เราต้องยุติการเคลื่อนไหววงกว้าง ทำได้แค่สงวนความเห็นต่าง ถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ยอมรับ และจะแสดงความเห็นคัดค้าน ภายใต้ช่องทางที่ทำได้เท่านั้นเอง


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.