Atukkit Sawangsuk
นี่เขียนกะทันหัน เมื่อค่ำวาน บางประเด็นอาจไม่ครบ แต่สั้นๆ ผมก็ยอมรับการตัดสินใจของคน 16 ล้าน (แม้มีด้านที่ไม่ยอมรับ ถ้าเรามีโอกาสรณรงค์เปิดกว้าง Vote No น่าจะมากกว่านี้) เรายอมรับการตัดสินใจ แม้มันอาจมาจากความไม่เข้าใจ ความกลัวว่าจะวุ่นวาย วัฒนธรรมสังคมแบบไทยๆ ที่หยวนยอมง่าย ด้านหนึ่ง เราเชื่อว่าความคิดคนเปลี่ยนได้ แต่อีกด้านก็ยอมรับความพ่ายแพ้ และถอยมารอให้ร่างรัฐธรรมนูญกับระบอบ คสช.พิสูจน์ตัวเอง ให้เสียงข้างมากดูกันเอง ว่าเขาตัดสินใจถูกหรือผิด ซึ่งก็จะมีขั้นตอนให้เห็น ตั้งแต่การแก้ร่าง รธน. การออก กม.ลูก การกำหนดวันเลือกตั้ง การตั้ง ส.ว. การเลือกนายกฯ คนนอก การบริหารประเทศจากนี้ ให้เขาทำไปครับ
ที่จริงอยากทิ้งท้ายว่า จะดีจะร้าย ก็เป็นเรื่องของคน 16 ล้านรับผิดชอบ เราไม่เกี่ยว แต่เดี๋ยวจะหาว่าแพ้แล้วเปรี้ยว แม้มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ นะ
00000
ผลประชามติ “รับล้นหลาม” ถามว่าผิดคาดและผิดหวังไหม ในฐานะที่ประกาศตัวไม่รับ และพยายามชี้ให้เห็นปัญหามาตลอด ก็ยอมรับว่าผิดคาด ผิดหวัง แม้ไม่ถึงกับ “หน้าแหก” เพราะไม่เคยฟันธงว่าฝ่ายไม่รับชนะแหง เพียงแต่คิดว่ามีลุ้น หรือถ้าแพ้ก็ควรสูสีกว่านี้
อะไรที่คาดผิด อันดับแรกคือคาดพรรคประชาธิปัตย์ผิด ไม่คิดว่าอภิสิทธิ์-ชวน กลับไม่มีอิทธิพลต่อฐานเสียง กทม.และภาคใต้แม้แต่น้อย ตลอดด้ามขวานมีแค่ 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่ฝ่ายไม่รับชนะล้นหลาม ขณะที่ภาคอีสานและภาคเหนือตอนบน ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ก็ยังชนะ แต่ไม่ชนะมากเท่ากับปี 2550
อันดับสองที่คาดผิด และเป็นข้อสำคัญ คือความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่ไป “รับ” ซึ่งเอาเข้าจริง ไม่ใช่ว่าคน 15-16 ล้านรับเพราะเป็น กปปส. รับเพราะนิยมชมชอบ คสช. รับเพราะเกลียดนักการเมือง หรือรับเพราะเห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ “ดูแลตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า” หรือปราบโกง ฯลฯ
ปัจจัยที่ว่ามีอยู่บ้าง เพียงแต่ส่วนข้างมากน่าจะรับเพราะเชื่อว่าเป็นหนทางกลับไปสู่เลือกตั้งอย่างสงบ กลัวว่าถ้าไม่รับแล้วจะวุ่นวาย กลัวอนาคตที่มองไม่เห็น อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตือนไว้
แน่ละ มันประกอบกับการโหมรณรงค์ข้างเดียวของกลไกรัฐ ขณะที่ฝ่ายไม่รับถูกปิดกั้น ถูกจับกุม ถูกบล็อกไม่ให้เคลื่อนไหว
เช่นที่นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคอีสาน ให้สัมภาษณ์ว่าบรรยากาศการลงประชามติที่นครราชสีมาไม่ค่อยคึกคัก คนทำงานต่างถิ่นไม่ค่อยกลับมาใช้สิทธิ์ เหลือแต่คนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการขอร้องจากนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ออกมาใช้สิทธิ์เยอะๆ โดยเกือบ 100% ไม่เข้าใจเนื้อหา เพียงแต่ต้องการให้มีเลือกตั้ง เพื่อให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ขณะที่ถ้าร่างไม่ผ่านก็ยังไม่รู้จะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่
กระแสรักสงบ กลัวความวุ่นวาย กลัวอนาคตไม่รู้จะเกิดอะไร เป็นกระแสที่พลิกไปมาได้เสมอ ถ้าย้อนไปดูเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ที่ กปปส.ขัดขวาง ยังมีคนไปใช้สิทธิ 20 ล้านเสียง ผมเชื่อว่ามีหลายล้านคนในวันนั้นที่โหวตรับในวันนี้ ด้วยเหตุผลเดียวกันคือไม่อยากเห็นความวุ่นวาย
อย่างไรก็ดี มองอีกด้าน คะแนนไม่รับก็ยังใกล้เคียงปี 2550 คือเกือบ 10 ล้านเสียง ทั้งที่ถูกปิดกั้น ถูกบล็อก ถูกขัดขวาง นี่คือฐานมวลชนที่มั่นคงแข็งแกร่ง และไม่เปลี่ยนแปลงถอยหลัง
พูดอย่างนี้ยอมรับผลประชามติไหม ยอมรับสิครับ ยอมรับการตัดสินใจของคน 16 ล้านคน แต่ไม่ยอมรับกติกาที่ปิดกั้นตั้งแต่ต้น และขณะเดียวกันก็สงวนสิทธิที่จะต่อสู้ทางความคิดเพื่อเปลี่ยนใจคน 16 ล้านคน เพราะแม้เขาลงมติรับ แต่ก็อาจไม่เห็นด้วยบางประเด็น โดยเฉพาะเมื่อเห็นผล เช่น เห็นการแต่งตั้ง ส.ว. เห็น ส.ว.เลือกนายกฯ แล้วเขาจะตระหนักว่าตัดสินใจผิดไป
ผมพูดไว้ก่อนแล้วว่า ไม่ว่าประชามติผ่าน หรือไม่ผ่าน ก็ไม่มีทางเกิดความสงบอย่างที่หลายคนต้องการ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกลไกสร้างความขัดแย้งไม่รู้จบ ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดกันแบบมักง่ายว่า รับร่างรัฐธรรมนูญ มีเลือกตั้งปีหน้า แล้วเศรษฐกิจจะดี
อ้าว นี่แค่เริ่มต้น ปู่มีชัยก็บอกแล้วว่าจะมีเลือกตั้งปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561
source :- FB Atukkit Sawangsuk & http://www.kaohoon.com/online/content/view/44094
แสดงความคิดเห็น