Posted: 29 Dec 2017 01:05 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
บุคคลแห่งปีของประชาไท ประจำปี 2017 นี้ มาเป็นทีม พวกเขาคือ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนมากหน้าหลายตา ท่ามกลางความพยายามทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล คสช.และรัฐราชการ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ออกมาเคลื่อนไหว เฝ้าระวัง ปกป้อง และยันสถานการณ์เอาไว้อย่างสุดกำลัง สำหรับสถานการณ์ในปีหน้าที่พอจะเห็นเค้าลางว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยิ่งเผชิญการคุกคามที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ กำลังยืนขวางระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนที่ต้องการทำลายกับผู้คน 48 ล้านคนที่ได้รับการดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคอยย้ำเตือนว่าการรักษาพยาบาลคือสิทธิของประชาชนที่รัฐไม่อาจพรากมันไปได้
โอกาสนี้ประชาไทรวบรวมการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ในรอบปีที่ผ่านมาซึ่งมีหลากหลายและเข้มข้นโดยเฉพาะช่วงที่มีการทำประชาพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่
16 ม.ค.2560 : ร้อง ยกเลิกสรรหาเลขาฯ สพฉ. เหตุไม่โปร่งใส และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ในฐานะส่วนหนึ่งของเครือข่ายภาคประชาชน ประกอบด้วย ชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายสลัม 4 ภาค ฯลฯ ยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรณีขอให้ยกเลิกกระบวนการสรรหาเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เนื่องจากความไม่โปร่งใส และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(
ประชาชาธุรกิจออนไลน์, 16 ม.ค.60)
18 พ.ค.2560 : ร้อง รมว.สาธารณสุขยุติกระบวนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ยื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขอให้ยุติกระบวนการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำลายหลักการและล้าหลัง ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
(
ไทยพีบีเอส, 18 ธ.ค.60)
ภาพจากไทยพีบีเอส
31 พ.ค.2560 : แสดงความกังวลล็อคสเปคเลือกเลขาฯ สปสช.
แสดงความล็อคสเปคเลือกเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หลังส่อแววส่งกฤษฎีกาตีความผู้สมัครเลขาฯ สปสช.ใหม่ พร้อมตั้งคำถามกรณีผู้สมัครที่เป็นผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขถือเป็นคู่สัญญา สปสช.หรือไม่ ย้ำด้วยว่า เลขาธิการ สปสช.ต้องมีความอิสระ ยึดมั่นหลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีแนวคิดใหม่พัฒนาระบบ
(
ประชาไท, 2 มิ.ย.60)
5 มิ.ย. 2560 : จัดเวทีถกสานพลังประชาชนขับเคลื่อนสังคมสวัสดิการ
จัดเวที “สานพลังประชาชนขับเคลื่อนสังคมสวัสดิการ” ที่ องค์กรพัฒนาชุมชน ถ. นวมินทร์
(เฟซบุ๊กกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ)
ภาพจากเฟซบุ๊กกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
6 มิ.ย. 2560 : ร้องประยุทธ์ยุติแก้ ก.ม.หลักประกันสุขภาพ เสนอเซ็ตซีโร่กระบวนการใหม่
เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกว่า 1,000 คนชุมนุมหน้าอาคารสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุติกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้ว "เซ็ตซีโร่" เริ่มต้นกระบวนการใหม่โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนมากกว่าเดิม โดยก่อนหน้านั้นตัวแทนกลุ่มแจ้งต่อ สน.ดุสิต ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ว่า จะจัดชุมนุม หน้ากระทรวงศึกษาธิการค่อนไปทางน้ำพุ ใกล้คลองผดุงกรุงเกษม ถ.ราชดำเนินนอก แต่ตำรวจทำหนังสือแจ้งว่าสถานที่ดังกล่าวอยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล จึงอาจขัดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นอกจากนี้ทหารยังเข้าไปหาสมาชิกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่บ้านใน จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ ด้วย วันเดียวกันยังมีการเผยแพร่ “สมุดปกขาว” แก้บัตรทองอย่างไร ให้ประชาชนได้ประโยชน์ด้วย
(
ประชาไท, 6 มิ.ย.2560,
5 มิ.ย.60)
10 มิ.ย. 2560 : วอล์คเอาท์เวทีประชาพิจารณ์ ร่าง ก.ม.หลักประกันสุขภาพฯ ที่หาดใหญ่
เวทีประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่โรงแรมลีการ์เดนท์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กลุ่มเครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ได้วอล์คเอาท์ออกจากเวทีประชาพิจารณ์ฯ นี้ พร้อมกับได้ร่วมตัวอ่านแถลงการณ์บริเวณหน้าห้องประชุม เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ “แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพประชาชนต้องมีส่วนร่วม หยุด!!!กระบวนการและเริ่มใหม่”
(
ประชาไท, 10 มิ.ย.60)
11 มิ.ย.2560 : ชูป้ายประท้วง-วอล์คเอาท์เวทีประชาพิจารณ์ ร่าง ก.ม.หลักประกันสุขภาพฯ ที่เชียงใหม่
เวทีประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิวประชาชนที่เข้าร่วมประชุมก็พร้อมใจกันลุกขึ้นต่อต้าน แสดงจุดยื่นถ้าทำแล้วแย่กว่าเดิมอย่าทำดีกว่า พร้อมชูป้ายประท้วง และร่วมกันวอล์คเอาท์ออกจากการประชุม ทำให้กำหนดการประชุมที่จัดไว้เวลา 09.00-16.00 ต้องปิดการประชุมในเวลา 11.00 น. เพราะประชาชนไม่เข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์ โดย สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือ ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนการแก้ไขกฏหมาย "ถ้าทำแล้วแย่อย่าแก้ดีกว่า"
(
เดลินิวส์, 11 มิ.ย.60)
17 มิ.ย.2560 : ‘ซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง’ ยึดเวทีรับประชาพิจารณ์ ร่าง ก.ม.หลักประกันสุขภาพฯ ที่ขอนแก่น
ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวทีประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง ซึ่งมี 75 องค์กร ขึ้นยึดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประกาศจุดยืน คัดค้านการแก้กฎหมายฯ ที่ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น
(
ประชาไท, 17 มิ.ย.60)
18 มิ.ย.2560 : ปฏิเสธเข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ ร่าง ก.ม.หลักประกันสุขภาพฯ ที่กรุงเทพ พร้อมปราศรัยถึงปัญหาของร่างกฎหมายใหม่อยู่หน้าห้องประชุม
ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนราว 300 คน รวมตัวร่วมจับตาเวทีรับฟังความคิดเห็น การแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สุดท้ายที่โรงแรมเซ็นทารา แจ้งวัฒนะ โดยในงานนี้ผู้ที่จะเข้าร่วมต้องลงทะเบียนล่วงหน้าทางออนไลน์ สแกนบัตรประชาชนเพื่อเข้างานและมีเวลาให้แสดงความเห็นคนละ 3 นาที ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายปฏิเสธจะเข้าร่วมเวทีโดยระบุว่ากระบวนการร่างและรับฟังความคิดเห็นนั้นไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น จึงได้รวมตัวกันปราศรัยถึงปัญหาของร่างกฎหมายใหม่อยู่หน้าห้องประชุม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้วางกำลังอยู่โดยรอบ และได้ตรวจยึดป้ายกระดาษ ป้ายผ้าที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำมาด้วย
(
ประชาไท, 18 มิ.ย.60)
20 มิ.ย. 2560 : นัดพบประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ โดยตั้ง 3 เงื่อนไข ห้ามมีทหารและตำรวจมาคอยควบคุม
หลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 4 ภาคออกแถลงการณ์คัดค้านและแสดงออกไม่เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์แก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่า ไม่ยกเลิกสิทธิบัตรทอง 30 บาท แต่พยายามที่จะให้เกิดการดูแลประชาชนได้มากขึ้น เพิ่มวงเงินดูแลประชาชนต่อคนต่อปี และจะไม่ทำให้เกิดภาระกับประชาชนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงมีการออกมาให้ข้อมูลบิดเบือนว่ารัฐบาลจะยกเลิกบัตรทอง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน ต้องมีส่วนช่วยทำความเข้าใจกับประชาชน
ด้านกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นัดพบประธานรับฟังความคิดเห็น นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เพื่อตัดสินใจเข้าร่วมเวทีปรึกษาสาธารณ (Public Consultation) ในวันที่ 21 มิ.ย. 2560 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ โดยยืนเงื่อนไข 3 ข้อ คือ ต้องไม่ใช่การคุยในสถานการณ์สู้รบที่มีทหารและตำรวจมาคอยควบคุม ต้องเปิดรับฟังอย่างหลากหลาย ไม่รวบรัด เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน และเตรียมเปิดสมัชชาสุขภาพวาระพิเศษเพื่อศึกษาข้อมูล ก่อนแก้กฎหมายให้ดีที่สุด
(
ประชาไท, 20 มิ.ย.60)
21 มิ.ย.2560 : ประกาศหลัก “4 เอา 5 ไม่เอา และ 7 สิ่งที่ดีกว่า” กับคณะกรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ
ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายภาคประชาชน 75 เครือข่าย บุกยื่นหนังสือ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ยุติแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อเริ่มกระบวนการแก้ไขใหม่ที่มีภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม กังวลลิดรอนสิทธิประชาชน แต่กลับไม่ได้ พบ พล.อ.ปริยุทธ์ จึงยื่นศูนย์ดำรงธรรมเคลื่อนที่แทน
วันเดียวกัน ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายกว่า 18 คน รวมตัวกันก่อนเข้าร่วมประชุมเวทีปรึกษาสาธารณะ ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ.. โดย นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้กล่าวผ่านการไลฟ์สดเพจมูลนิธิผู้บริโภคว่า กรณีที่พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พูดถึงกรณีการจัดซื้อยา โดยระบุว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ช้อมูลว่ากรณีการจัดซื้อยานั้น เป็นหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เดิมเมื่อซื้อขายยากันในปริมาณมาก จะได้รับส่วนลด และกันเงินที่เหลือมอบให้กลุ่มเอ็นจีโอไปทำภารกิจองค์กร ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการพาดพิงและกล่าวหากลุ่มเอ็นจีโอ พวกตนจึงขอประกาศว่า ให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ตรวจสอบพวกตนได้เลย และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบออกสู่สาธารณะ เพราะพวกตนยืนยันว่าไม่เคยได้รับเงิน หรือส่วนลดใดๆ ทั้งสิ้น
และในงานเสวนา “แก้กฎหมายบัตรทองประชาชนได้อะไร” ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ซึ่งมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ร่วมเสวนานั้น ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อยเมื่อ สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ตัวแทนภาคประชาชนด้านแรงงาน และตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พยายามพูดเสนอความเห็นในช่วงท้ายการเสวนาหลังจากที่วิทยากรพูดจบแล้ว แต่ผู้ดำเนินการรายไม่อนุญาตให้พูด และพยายามตัดจบการเสวนาโดยเร็ว หลังเหตุการณ์ดังกล่าว สุนทรี ได้ออกมาแถลงกับสื่อมวลชนบริเวณหน้าห้องเสวนา โดยระบุว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้กฎหมายบัตรทองให้ประชาชนได้ประโยชน์ พร้อมเปิดเผยถึงหลัก “4 เอา 5 ไม่เอา และ 7 สิ่งที่ดีกว่า” ต่อคณะกรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว (
คลิกเพื่ออ่านรายละเอียด)
(
มติชนออนไลน์,
hfocus.org,
ผู้จัดการออนไลน์, 21 มิ.ย.60)
ภาพจาก
hfocus.org
4 ก.ค.2560 : กป.อพช.ใต้ ร้องเจ้าหน้าที่หยุดคุกคามแกนนำเครือข่ายติดตามแก้ ก.ม.บัตรทอง
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ และเครือข่ายภาคประชาสังคม ติดตามสถานการณ์การแก้กฎหมาย ได้มีการการจัดประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์การแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้มีตำรวจสันติบาลปะปนและถ่ายรูปเข้ามาร่วมประชุมด้วยซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการส่งข้อมูลจากภูมิภาคต่างๆว่ามีการติดตามจากตำรวจสันติบาล โดยการเข้าพบครอบครัวและโทรศัพท์สอบถามข้อมูล ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนห่วงกังวลต่อเรื่องความปลอดภัย และกังวลต่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้กฎหมายบัตรทอง กป.อพช.ใต้ จึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หยุดการกระทำดังกล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทบทวนกระบวนการแก้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ม. 77
วันเดียวกัน ตัวแทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.เชียงใหม่ ร่วมกับตัวแทนกลุ่มประชาชนผู้ใช้บัตรทอง ชาวเชียงใหม่ พร้อมด้วยเครือข่ายคนพิการ ผู้ติดเชื้อ ผู้สูงอายุ ข่ายศาสนา และข่ายชุมชนเมือง รวมกว่าคน 30 คนได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน ศเนติ จิฐภาสอังกูร ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงใหม่ เพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมายบัตรทองและขอให้ยุติกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่ให้หมด แล้วกลับไปสู่การเริ่มกระบวนการใหม่ที่จะช่วยให้กฎหมายมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากเชียงใหม่แล้ว ยังมีเครือข่ายยื่นหนังสือข้อเรียกร้องในจังหวัดอื่นๆ ภาคเหนืออีกด้วย
(
ประชาไท, 4 ก.ค.60)
5 ก.ค.2560 : ที่หาดใหญ่ แถลงขอรัฐบาลทบทวนการแก้กฎหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ
ที่หอนาฬิกาหน้าจัตุรัส หาดใหญ่ จ.สงขลา ภาคีเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ได้รวมตัวกันเพื่อแถลงการณ์ขอให้ทางรัฐบาลทบทวนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยืนยันไม่ได้ต่อต้านการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ต้องการให้ทางรัฐบาลได้ทบทวนการแก้กฎหมายให้ประชาชนกว่า 49 ล้านคน ที่ใช้ระบบบัตรทองได้รับรู้และมีส่วนร่วมตัดสินใจโดยทางเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ พร้อมเสนอ 4 ประเด็นเห็นด้วย 5 ประเด็นเห็นต่าง 7 ประเด็นเพื่อปฏิรูป
(
ประชาไท, 5 ก.ค.60)
6 ก.ค.2560 : จัดเสวนาคู่ขนาน ในหัวข้อ ‘แก้ กม.บัตรทองอย่างไร ให้ประชาชนได้ประโยชน์?’
ที่โรงแรมไมด้า งามวงศ์วานเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพก็ได้จัดเสวนาคู่ขนาน ในหัวข้อ ‘แก้ กม.บัตรทองอย่างไร ให้ประชาชนได้ประโยชน์?’ ในระหว่างที่คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำลังพิจารณากฎหมายและความคิดเห็นต่างๆ โดยในงานที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจัดนั้น ตัวแทนจากภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ได้อธิบายถึงความสำคัญของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและความจำเป็นที่จะต้องปกป้องไม่ให้เกิดการทำลายหลักการนี้ลงจากการแก้ไขครั้งนี้ พร้อมประกาศด้วยว่าประชาชนพร้อมฮือลุกสู้ ปกป้องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหากคณะกรรมการยกร่างฯ กฎหมาย เดินหน้าแก้ประเด็นขัดแย้ง
(
hfocus.org,
ประชาไท, 6 ก.ค.60)
13 ก.ค.2560 : วางพวกหรีดไว้อาลัยคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ หน้าสนง.ปลัดกระทรวงสาธารสุข และเครือข่าย 4 ภาค ร้องยุติการแก้กฎหมายดังกล่าว
ร่วมกับภาคีเครือข่าย ออกแถลงการณ์ ยืนยันจุดยืน 'แก้กฎหมายบัตรทองไม่ชอบธรรม ไร้ธรรมาภิบาล' พร้อมเรียกร้องต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เปิดเผยข้อมูลความเห็นในการแก้ไขกฎหมายที่ยังมีความเห็นต่างต่อสาธารณะ และสร้างกระบวนการที่เป็นกลาง โปร่งใส ให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาค และออกมาแถลงชี้แจงแสดงความรับผิดชอบยอมรับต่อผลที่จะตามมาจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นหลังจากการแก้ไขครั้งนี้จะเป็นอย่างไร พร้อมทั้ง แต่งตั้งคณะทำงานที่น่าเชื่อถือ เป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาดำเนินการติดตามผลการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการแก้ไขกฎหมาย แม้ว่าท่านจะไม่ใช่ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ตาม
วันเดียวกัน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยังเดินทางมาที่บริเวณหน้าอาคาร สนง.ปลัดกระทรวงสาธารสุข เพือรอผลการประชุมของ คณะกรรมการพิจารณาร่างฎดหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมทั้งวางพวกหรีดไว้อาลัย
ภาพจากเฟซบุ๊กกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
กลุ่มคนรักหลักประกัน 4 ภาค ภาคกลาง ภาคตะออก ภาคตะวันตก และ กรุงเทพฯ ยื่นหนังสือถึง ผู้ว่าฯ จ.เพชรบุรี เพื่อยุติกระบวนการแก้ไข กฎหมายบัตรทอง และเริ่มต้นใหม่โดยมีประชาชนมีส่วนร่วม
ภาพจากเฟซบุ๊กกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
นอกจากนี้ในช่วงดังกล่าวยังมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ของประชาชนภาคเหนือร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คนใช้บัตรทองค้านแก้กฎหมายด้วย
ภาพจากเฟซบุ๊กกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
(
Voice TV,
มติชนออนไลน์ และ
เฟซบุ๊กแฟนเพจ Mondoi Ffc, 13 ก.ค.60)
14 ก.ค. 2560 : ซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง จี้รัฐบาลยกเลิกการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ
เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง แถลงเรียกร้องและขอประกาศจุดยืน ต่อการ แก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1. ให้รัฐบาลยกเลิกการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และยุติกระบวนการใดๆ ที่จะนำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 2. กฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้านหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลของประชาชน การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ต้องดำเนินการภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และ 3. ทางเครือข่ายฯ พร้อมที่จะเคลื่อนไหวทุกที่ ทุกเวลา และทุกรูปแบบ จนกว่ากระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่ชอบธรรมและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจะยุติลง
(
เฟซบุ๊ก บัตรทองของเรา, 14 ก.ค.60)
18 ก.ค. 2560 : ปฏิเสธร่วมถกกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
จากกรณีที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ทางกระทรวงนัดหารือเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็นที่ยังเห็นต่างกัน ประกอบด้วย การแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว และ สัดส่วนคณะกรรมการ โดยทาง นพ.มรุต จิรเศรษฐศิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ นัดประชุมวัน 19 ก.ค.60 นั้น สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนหลักประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มฯ คงไม่สามารถเข้าร่วมประชุมดังกล่าว เนื่องจากผู้บริหาร กระทรวงสาธารณสุข ยังยืนยันที่จะให้ตัวแทนรพ.ขนาดใหญ่และ รพ.ขนาดเล็กบางส่วนที่สนับสนุนการแยกเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวเข้าร่วมประชุม แต่ไม่รับข้อเสนอของทางกลุ่มฯที่ให้เชิญตัวแทน รพ.ในชนบทที่จะได้รับผลกระทบจากการแยกเงินเดือนครั้งนี้เข้าร่วมประชุมด้วย
(
ประชาไท, 18 ก.ค.60)
2 ส.ค.2560 : จัดเวทีผ่าทางตันระบบหลักประกันสุขภาพ “ระบบบัตรทองถึงทางตัน จัดซื้อยารวมไม่ได้ แก้กฎหมายยังทัน รมว.สาธารณสุขจะว่าอย่างไร”
จัดเวทีผ่าทางตันระบบหลักประกันสุขภาพ “ระบบบัตรทองถึงทางตัน จัดซื้อยารวมไม่ได้ แก้กฎหมายยังทัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะว่าอย่างไร” ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
(
เฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, 2 ส.ค.60)
16 ส.ค. 2560 : แถลงหน้าทำเนียบรัฐบาล ร้องรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาจัดซื้อยารวมระดับประเทศ
ร่วมกับเครือข่ายผู้ป่วย แถลงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาจัดซื้อยารวมระดับประเทศ หลังถูก วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เบี้ยวนัดพบ ระบุสัปดาห์หน้าหากยังจัดซื้อยาปี 61 ไม่ได้ เกิดหายนะแน่ เตรียมบุกทำเนียบอีกครั้ง พร้อมเผยสถานการณ์ล่าสุด โรงพยาบาลทั่วประเทศเริ่มป่วน เร่งสต๊อกยาล่วงหน้ากันปัญหาผู้ป่วยขาดยาระหว่างรอความชัดเจนจัดซื้อ ชี้ต้นตอปัญหา สตง.ไล่บี้จนเกิดภาวะสูญญากาศ ใหญ่กว่าหน่วยงานปฏิบัติ ใหญ่กว่ารัฐมนตรี
(
เฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, 16 ส.ค.60)
12 ก.ย. 2560 : ยื่น สตง.ให้ความเห็นต่อการจัดซื้อยา
เข้ายื่นร้องเรียนให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ความเห็นต่อการจัดซื้อยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดย สปสช. สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 อย่างแท้จริงและงดเว้นให้ความเห็นที่ไม่เป็นตามกฎหมาย
(
เฟซบุ๊ก Chalermsak Kittitrakul, 12 ก.ย.60)
23 ก.ย. 2560 : รับรางวัล "สวิง ตันอุด" ประเภทเครือข่ายจัดการตนเอง
ในงานสมัชชาพลเมือง จ.เชียงใหม่ "กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ" ได้รับรางวัล "สวิง ตันอุด" ประเภท "เครือข่ายจัดการตนเอง" เนื่องการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนในการลุกขึ้นมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพ ให้เป็นสวัสดิการด้านการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนประชาชนอย่างมีมาตรฐาน ทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งในงานนี้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จ.เชียงใหม่ เป็นตัวแทนขึ้นรับรางวัลแทนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ
(
เฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, 24 ก.ย.60)
3 ต.ค. 2560 : ชี้แจงประเด็นที่ยังขัดแย้งตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข กรณีแก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ
จากกรณีที่ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงความคืบหน้าในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าได้รับอนุมัติจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกชี้ประเด็นว่าขัดแย้งยังอยู่ พร้อมเรียกร้องให้ ครม. อย่าเพิ่งเร่งพิจารณา และเรียกร้องขอเข้าพบรองนายกฯ เพื่อให้ข้อมูลร่วมกันพิจารณาอย่างรอบด้านและแสดงจุดยืนค้านแยกเงินเดือนและกลไกใหม่ในการจัดซื้อยารวมนั้น
ในวันดังกล่าวกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้เผยแพร่ประเด็นการคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังกล่าว ตั้งแต่ ความไม่สมดุลของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผู้แทนภาคประชาชนเพียง 2 คนคือ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา และยุพดี ศิริสินสุข จากทั้งหมด 27 คน และข้อคัดค้านในด้านสาระสำคัญการแก้ไขกฎหมาย เช่น นิยามคำว่า “บริการสาธารณสุข” ในร่าง พ.ร.บ. ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ระบุว่า เดิมให้ความสำคัญกับการครอบคลุมบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตามที่เป็นนโยบายสำคัญของประเทศในเรื่องการพึ่งตนเอง และ ลดค่าใช้จ่ายได้ รวมไปถึง นิยามคำว่า “สถานบริการ” “เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"
(
ประชาไท, 3 ต.ค.60)
16 – 24 ต.ค. 2560 : ตัวแทนเครือข่าย 21 จังหวัดยื่นยื่นจดหมายให้รองนายกฯ พล.ร.อ.ณรงค์ เพื่อขอเข้าชี้แจงประเด็นที่น่าห่วงกังวลในการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง
ร่วมกับตัวแทนภาคประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ รวม 21 จังหวัดทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่กรุงเทพฯ จันทบุรี น่าน แพร่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา แม่ฮ่องสอน ลำพูน อำนาจเจริญ สมุทรปราการ สระแก้ว ลำปาง เชียงใหม่ พะเยา ขอนแก่น เชียงราย อุบลราชธานี ปทุมธานี กำแพงเพชร และสุรินทร์ ได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมของแต่ละจังหวัด เพื่อรับฟังเสียงของประชาชนในการขอเข้าชี้แจงประเด็นที่น่าห่วงกังวลในการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง
(
เฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, 21 ต.ค.60)
2 พ.ย.2560 : เผยยังไม่มีการตอบสนองใดๆ หลังยื่นจดหมายถึง พล.ร.อ.ณรงค์ เพื่อให้ภาคประชาชนเข้าชี้แจงข้อมูลร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ
หลังจากที่ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเข้ายื่นจดหมายถึง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้เปิดโอกาสภาคประชาชนเข้าชี้แจงข้อมูลร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ให้เกิดความเข้าใจอย่างรอบด้านก่อนที่จะออกกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ระบุว่า ยังไม่มีการตอบสนองใดๆ เกิดขึ้น
(
เฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, 2 พ.ย.60)
28 พ.ย.60 : แถลงประท้วงการใช้ความรุนแรง จับกุม ควบคุมตัว เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ออกแถลงการณ์ร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกรณีการใช้ความรุนแรง จับกุม ควบคุมตัว ปิดกั้น ขัดขวางการใช้สิทธิและเสรีภาพของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยระบุว่าการเดินเท้าของประชาชนที่มุ่งหน้าไปยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนกระทำได้ รัฐบาลต้องหยุดการละเมิดและคุกคามสิทธิของประชาชนในการออกมาชุมนุมอย่างสงบ ดังนั้นรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 27 พ.ย. 2560 ที่มีการตัดสินใจสลายขบวนเดินของประชาชน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ และมีบางส่วนถูกควบคุมตัว พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาต่อประชาชนที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดทุกข้อกล่าวหาโดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากการปะทะและความรุนแรงที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากประชาชน แต่เกิดจากการที่รัฐสั่งให้ทหาร ตำรวจ สกัดกั้นและกดดันจนนำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าว
(
เฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, 28 พ.ย.60)
19 ธ.ค.2560 : ร่วมกับภาคประชาชนกลุ่มอื่น ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยตัวคำสั่งคสช.
รวมกับภาคประชาชนกลุ่มอื่น ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยตัวคำสั่งคสช. ฉบับที่ 3/25558 ในข้อที่ 6 กับ ข้อที่ 12 ซึ่งเกี่ยวกับการจับกุมควบคุมตัวประชาชนได้ไม่เกิน 7 วัน และการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน รวมไปถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าว ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
(
เฟซบุ๊กกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, 19 ธ.ค.60)
ประเด็นที่เห็นเหมือนกันกับคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ จำนวน 4 ประเด็นได้แก่
1. มาตรา 14 ห้ามดำรงตำแหน่ง 2 คณะในขณะเดียวกัน และให้รวมถึงการเป็นกรรมการหลักประกันฯ และต่อเนื่องเป็นคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ก็ให้ถือว่าดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกัน
2. มาตรา 15 วาระกรรมการไม่เกิน 2 สมัย โดยยึดตัวบุคคลห้ามใช้ตำแหน่งสลับไปมา
3. มาตรา 29 รายได้ของสำนักงานไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งเห็นร่วมในการแก้ไข เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน เนื่องจากงานบริการด้านสุขภาพ อัตราการป่วย การตายเป็นการคาดการณ์ ควรมีระบบบริหารจัดการในลักษณะเงินหมุนเวียน
4. ยกเลิกมาตรา 42 เรื่องการไล่เบี้ย การกำหนดเรื่องการไล่เบี้ย เป็นปัญหาต่อผู้ให้บริการดังนั้นควรยกเลิกมาตรานี้ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ป่วย
ประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกับคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ จำนวน 5 ประเด็น ได้แก่
1. ไม่เห็นด้วยเรื่องการเพิ่มนิยาม “เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ” ตามมาตรา 3 เนื่องจากการเพิ่มนิยามคำนี้ จะเป็นการขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุนในมาตรา 38 ที่ระบุว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ แต่การแก้ไขกลับเพิ่มนิยามที่จะส่งผลให้ไปจำกัดความหมายของ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ด้านการสนับสนุน ส่งเสริม การจัดบริการซึ่งสามารถสนับสนุนเป็นรูปแบบอื่นได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะตัวเงินเท่านั้น เช่นการสนับสนุนเป็นยา เวชภัณฑ์ เป็นต้น
ไม่เห็นด้วยเรื่องการแก้ไขนิยาม “สถานบริการ” ตามมาตรา 3 เนื่องจาก “หลักการ” ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการบริการรักษาอย่างมีมาตรฐานแล้ว ยังมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการร่วมจัดบริการด้านสุขภาพของประชาชน ประชาสังคม องค์กรสาธารณะ รวมทั้งองค์กรท้องถิ่น ดังนั้นจึงให้เพิ่มนิยาม “องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร”
ทั้งนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากผลการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้างการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ยกตัวอย่างเช่น การทำงานร่วมให้บริการของกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในรูปแบบ “ศูนย์องค์รวม” ที่สามารถติดตาม ดูแล ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถกินยาได้อย่างต่อเนื่อง ลดปัญหาการดื้อยา ส่งผลต่อการลดอัตราการเสียชีวิต หรือการริเริ่มของชุมชนในการให้บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (Community Led Services) กับกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเปราะบางต่างๆ เป็นต้น
2. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 13 ในการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีเหตุผลดังนี้
2.1 ไม่เห็นด้วยกับการที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน เนื่องจากขัดกับหลักการแยกผู้จัดบริการและผู้ซื้อบริการ (Purchaser Provider Split)
2.2 ให้คงจำนวนผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนเดิม
2.3 เพิ่มผู้แทนหน่วยบริการในระดับต่างๆ จำนวน 5 คน เพื่อเป็นตัวแทนหน่วยบริการแทนผู้แทนสภาวิชาชีพที่ควรเป็นผู้แทนในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
2.4 ตัดผู้แทนหน่วยงานรัฐ จำนวน 4 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เหลือกรรมการจำนวน 26 คน จากเดิมจำนวน 30 คน
3. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 ที่มีการระบุเพียงให้ได้รับเงินด้วยเหลือเบื้องต้น แต่เห็นว่าควรต้องเพิ่มเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และยังคงเห็นร่วมว่าให้เพิ่มผู้ให้บริการเข้าไปในมาตรานี้ด้วย เพื่อลดการฟ้องคดีกับผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม และพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการโดยไม่มีระบบเพ่งโทษตัวบุคคล
4.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 46 ที่เสนอให้มีการแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว จะมีผลกระทบต่อการกระจายบุคลากร และในการแก้ไขมาตรานี้มีนัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในด้านการเข้าถึงบริการ หากบุคลากรไม่เพียงพอ ดังนั้นควรต้องมีการศึกษาด้านวิชาการ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณามาตรานี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากการแก้กฎหมายจะส่งผลต่อการปฏิบัติในระยะยาว
5.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 48 (8) ที่มีการเสนอเพิ่มเฉพาะวิชาชีพ และผู้ให้บริการเนื่องจากจะเป็นการลดสมดุลกรรมการในการพิจารณากรณีปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ให้บริการและผู้ป่วย ซึ่งในกฎหมายปัจจุบันสัดส่วนของผู้ให้บริการและวิชาชีพมีมากอยู่แล้ว ในขณะที่ในส่วนของผู้ป่วย และผู้รับบริการกลับมีสัดส่วนน้อย ดังนั้นภาคประชาชนจึงเสนอเพิ่มตัวแทนประชาชนจาก 5 คนเป็น 8 คน โดยให้เพิ่มสัดส่วนของงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ให้บริการตามมาตรา 50 (5) และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์จำนวน 3 คน
ขณะที่ข้อเสนอใหม่เพื่อการปฏิรูปในการแก้ไขกฎหมายจำนวน 7 ประเด็น ได้แก่
1.แก้ไขมาตรา 5 โดย 1.1. ให้บริการสาธารณสุขคนไทยทุกคน รวมถึง บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ 1.2. ยกเลิกการเก็บการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ หรือในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ เพราะกระทบต่อการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยได้ ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหลายมาตรฐาน เป็นสาเหตุความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการและผู้รับบริการ เพื่อยืนยันคำพูดของนายกรัฐมนตรีว่าไม่เคยคิดเก็บเงินซักบาทเดียว
2.แก้ไขมาตรา 9 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน เนื่องจากสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข 20 ปี ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพที่ทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขโดยมีสิทธิประโยชน์เดียวกัน มีมาตรฐาน เพราะปัจจุบันมีสิทธิประโยชน์ในการรับบริการสาธารณสุขที่แตกต่างกัน รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน
3.แก้ไขมาตรา 10 เสนอให้มีมีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับประชาชนทุกคน และรัฐต้องจ่ายสมทบเรื่องสุขภาพให้ผู้ประกันตน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายสมทบด้านสุขภาพทางตรงเพียงกลุ่มเดียว และเหตุผลอื่นๆ เดียวกันกับการแก้ไขมาตรา 9
4. เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 18 แก้ไขอำนาจของคณะกรรมการ ในการจัดหายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน โดยมีเหตุผลดังนี้
4.1 การเข้าถึงยา วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพงสำหรับผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี มะเร็ง เป็นต้น
4.2 เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน โดยเพิ่มอำนาจกรรมการให้สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง 10 ปีที่ผ่านมา สปสช.จัดซื้อยารวมเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยา ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณได้มากถึง 50,000 ล้านบาท
4.3 ลดภาระงบประมาณของประเทศ หากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ รัฐบาลจะต้องนำเงินเพิ่มเติมปีละ5,000 ล้านบาท ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ
4.4 เป็นโอกาสในการเก็บเงินร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ ซึ่งทำให้เกิดหลายมาตรฐานบริการสาธารณสุข และ
4.5 เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการและผู้ป่วย
5. แก้ไขมาตรา 26 ให้สามารถตรวจสอบหน่วยบริการที่ไม่โปร่งใส ด้วยเหตุผลดังนี้ ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณที่ได้รับทำให้ต้องมีการกำหนดการจ่ายในลักษณะ Global budget ซึ่งหากหน่วยบริการใดที่ผลการตรวจสอบเชื่อได้ว่ามีการจงใจจัดทำข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายที่เกินจริงก็จะส่งผลกระทบกับหน่วยบริการอื่น ดังนั้น ควรมีมาตรการที่สามารถดำเนินการลงโทษทางปกครองกับหน่วยบริการที่จงใจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินจริง เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุนและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่หน่วยบริการที่ดำเนินการถูกต้อง ซึ่งการลงโทษทางปกครองเป็นการลงโทษการกระทำของบุคคลที่จงใจฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่
6. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 47/1 ให้สามารถสนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร ให้สอดคล้องตามคำสั่ง คสช.ที่ 37/2559 6.1 เพื่อให้หน่วยบริการ เครือข่ายหน่วยบริการ หน่วยบริการที่รับการส่งต่อ ผู้รับบริการ องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร และ 6.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทำกิจการในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
7. เสนอให้ตัดบทเฉพาะกาลมาตรา 66 ออกทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 9 และมาตรา 10 เรื่องการบริหารจัดการกองทุนด้านสุขภาพ
[full-post]