เปิดเผยแคมเปญลับพรรครัฐบาลอินเดียสร้าง "โทรล" ก่อกวนฝ่ายตรงข้าม

Posted: 31 Dec 2016 08:56 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ในหนังสือที่มีชื่อว่า "I Am a Troll" อดีตทีมงานพรรคภารติยะชนตะ หรือบีเจพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอินเดีย เปิดโปงเรื่องที่พรรคเคยจ้างวานให้คนป่วนความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตมาก่อน ทั้งการคอยวิจารณ์นักข่าว นักแสดง หรือนักการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้าม

ที่มาของภาพประกอบ: Flickr/Yuri Samoilov (CC BY 2.0)

31 ธ.ค. 2559 สัธวี โกสลา อายุ 37 ปี ให้สัมภาษณ์ลงในหนังสือเล่มใหม่ ที่เปิดเผยว่าพรรคภารติยะชนตะ หรือพรรคบีเจพี มีการประสานงานวางแผนกันจากภายในเพื่อใช้โซเชียลมีเดียในการเล่นงานคนที่เป็นศัตรูของพรรค เรื่องนี้มีมาตั้งแต่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีปี 2557 ที่นเรนทระ ทาโมทรทาส โมธี ตัวแทนจากพรรคบีเจพีชนะการเลือกตั้ง และบางครั้งปฏิบัติการป่วนโซเชียลของพวกเขาก็อาจจะลามเป็นการยั่วโมโหหรือป่วนความคิดเห็นที่เรียกว่า "โทรล" ในทางศาสนาหรือทางเพศโดยเฉพาะกับเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงซึ่งไม่ทราบว่าเป็นความจงใจของพรรคบีเจพีเองหรือไม่

คนที่เคยถูกพวกเขาปฏิบัติการโทรลคือคู่แข่งทางการเมืองอ่ย่างรองหัวหน้าพรรคคองเกรส ราหุล คานธี หรือดาราบอลลิวูด อามีร์ ข่าน โกสลา เปิดเผยอีกว่ามีหน่วยโซเชียลมีเดียของพรรคที่คอยกำกับดูแลพวกเธอและอาสาสมัครคนอื่นๆ อีกหลายร้อยคนที่ปฏิบัติการในเรื่องเหล่านี้

อาร์วิน คุปตะ อดีตหัวหน้าหน่วยโซเชียลมีเดียของพรรคบีเจพีปฏิเสธว่าสิ่งที่โกสลาพูดไม่เป็นความจริงและกล่าวว่าโกสลาเป็นพวกที่สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามคือพรรคคองเกรส กุปตาบอกอีกว่าบีเจพีเขียนถึงแนวทางโซเชียลมีเดียของพวกเขาชัดเจนในเว็บไซต์และ "ไม่เคยส่งเสริมการโทรล"

หนังสือที่เปิดโปงในเรื่องนี้มีชื่อว่า "I Am a Troll" (ฉันเป็นโทรล) เขียนโดยนักข่าวอินเดีย "สวาตี จตุรเวที ผู้ทำการสืบสวนสอบสวนความเกี่ยวข้องกันของพรรคบีเจพีกับการใช้โซเชียลมีเดียในทางร้ายๆ มีผู้หญิงที่มีชื่อเสียงหลายคนในอินเดียโดยเฉพาะนัข่าวมีความกังวลมากขึ้นต่อเรื่องที่พวกเธอต้องเผชิญการข่มเหงรังแกทางโลกออนไลน์โดยมักจะมาจากกลุ่มไม่เปิดเผยตัวตนที่มักจะใช้ถ้อยคำล่วงละเมิดทางเพศพวกเธอและเป็นพวกที่ชาตินิยมจัดมาก จตูร์เวดีเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยตกเป็นเป้าหมายมาก่อน

โกสลาบอกว่าเธอเคยเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครให้กับทีมปฏิบัติการโซเชียลมีเดียเพราะในช่วงเวลาเมื่อราว 3 ปีที่แล้วเธอยังเป็นผู้สนับสนุนโมดีอยย่างเต็มกำลัง เธอบอกว่ารับคำสั่งต่างๆ จากพรรคทาง WhatsApp และต้องเข้าพบกับสมาชิกระดับสูงของหน่วยดิจิตอลของพรรค โกสลาบอกว่าเะอเคยใช้โซเชียลมีเดียวิจารณ์ราฮูล คานธีและแม่ของเขามาก่อน เธอบอกว่าสาเหตุที่เธอออกมาเพราะเธอเริ่มรู้สึกไม่สบายใจจากที่ถูกสั่งให้ทวิตวิจารณ์นักข่าวชื่อดังของอินเดียซึ่งบางครั้งก็มีลักษณะ "ปรามาสใส่ร้าย" นอกจากนี้ยังมีการให้ใช้คำแสดงความเกลียดชังและเหยียดหยามกีดกันชนกลุ่มน้อยรวมถึงคนอื่นๆ เช่นพวกเสรีนิยม ผู้ถูกมองว่าเป็นฝ่ายต่อต้านโมดีด้วย

โกสลาพูดถึงเรื่องนี้ต่อไปว่าคนที่ตกเป็นเป้าหมายโจมตีทางโซเชียลจะเต็มไปด้วยข้อความวิพากษ์วิจารณ์และบางครั้งก็มีการข่มขู่คุกคามในระดับอาชญากรรม เช่น การขู่ว่าจะข่มขืนนักข่าวหญิงบาการ์ ดุตต์ ทำให้เธอทนทำตามคำสั่งพรรคบีเจพีต่อไปไม่ไหวแล้ว

"ทุกวันก็จะมีคนใหม่ๆ ตกเป็นเป้าหมายและพวกเขาก็จะรุมทึ้งราวฝูงผึ้งด้วยการใช้คำที่ส่อไปในทางเพศ คำปรามาส ขู่ว่าจะข่มขืนหรือฆ่า ... มันทำให้ฉันรู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออกในฐานะผู้หญิง" โกสลากล่าว

โกสลาออกจากทีมหลังจากที่ถูกขอให้ช่วยกระจายการลงชื่อเรียกร้องให้เว็บไซต์ช็อปปิ้ง SnapDeal ตัดสัมพันธ์กับอามีร์ ข่าน ดาราบอลลิวูด ชาวมุสลิมที่เคยกล่าวไว้ว่าประเทศอินเดียเริ่มมีความไม่อดกลั้นต่อความแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พรรคชาตินิยมฮินดูอย่างบีเจพีไม่พอใจ ในเวลาต่อมาทาง SnapDeal ก็ออกแถลงการณ์ว่าจะไม่ต่อสัญญากับข่าน โกสลาบอกว่าเรื่องนี้ทำให้เธอรุ้สึกว่าประเทศของเธอกำลังเปลี่ยนไป

เดอะการ์เดียนระบุวาโมดีเป็นนักการเมืองที่ใช้โซเชียลมีเดียโดยมีผู้ติดตาม 25 ล้านบัญชี รวมถึงเคยจัดกิจกรรมพบปะกับผู้สนับสนุนเขาทางโซเชียลมีเดียโดยชวนมาที่บ้านโดยในกลุ่มผู้สนับสนุนเขานั้นมีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ใช้คำในเชิงข่มเหงผู้หญิงในโลกออนไลน์อยู่ด้วย

เค ไจยชังกา ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์เพื่อให้คำปรึกษาเหยื่อไซเบอร์บอกว่าเป็นเพราะสังคมอินเดียยังมีลักษณะชายเป็นใหญ่และอนุรักษ์นิยมจึงไม่ค่อยยอมรับผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ เมื่อมีอินเทอร์เน็ตผู้หญืงรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่สาธารณะที่พวกเธอเข้าร่วมได้ง่ายขึ้น แต่แนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ในอินเดียก็ทำให้พวกโทรลไม่ชอบเวลาผู้หญืงแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ได้กระจ่างแจ้ง

ไจยชังกายังวิเคราะห์อีกว่า ผู้หญิงจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ออนไลน์มักจะเป็นกลุ่มชนชั้นนำ เช่น บรรณาธิการนิตยสาร หรือนักแสดงขณะที่พวกโทรลมักจะเป็นคนที่มาจากชนบทหรือชานเมือง อินเทอร์เน็ตจึงเป็นช่องทางเดียวที่พวกนี้จะรู้สึกว่าสามารถเข้าถึงผู้หญิงชนชั้นสูงได้และพวกนี้อาจจะรู้สึกสนุกที่ได้ตั้งเป้าหมายเป็นผู้หญิงที่มีชื่อเสียง

มาเนกา คานธี รัฐมนตรีด้านพัฒนาเด็กและสตรียอมรับว่ามีปัญหาการกระทำไม่ดีต่อผู้หญิงทางอินเทอร์เน็ตอยู่จริง จึงมีการตั้งแฮชแท็กเพื่อเป็นช่องทางร้องเรียนของประชาชนได้



เรียบเรียงจาก

India's ruling party ordered online abuse of opponents, claims book, The Guardian, 27-12-2016 https://www.theguardian.com/world/2016/dec/27/india-bjp-party-ordering-online-abuse-opponents-actors-modi-claims-book

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.