อดีต คปก.แนะเปิดพื้นที่ปลอดภัยถกร่างรัฐธรรมนูญ เหตุขณะนี้ยังไม่ใช่บรรยากาศการลงประชามติ
อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรียกร้องรัฐเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญอย่างปลอดภัย โดยต้องยุติการจำกัดสิทธิและเสรีภาพผู้เห็นต่าง ส่วน กกต.ยอมรับการออกแบบ พ.ร.บ.ประชามติไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เผยข้อเสนอบางอย่างถูก สนช.ปรับแก้เพื่อหลีกเลี่ยงกลุ่มการเมืองฉวยโอกาสหาผลประโยชน์
นายไพโรจน์ พลเพชร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและอดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวเตือนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้คำนึงถึงประชาชนก่อนจัดประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ส.ค. พร้อมระบุว่าขณะนี้ยังไม่ใช่บรรยากาศของการลงประชามติ เพราะมาตรา 10 และมาตรา 61 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เปิดโอกาสให้ฝ่ายรัฐเป็นผู้ชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญได้ฝ่ายเดียว แต่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ไม่เห็นด้วยกับร่าง รธน.ฉบับนี้ไม่ให้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยโดยไม่เสี่ยงต่อการถูกจับกุม
นายไพโรจน์ได้เปรียบเทียบ พ.ร.บ.ประชามติฉบับปัจจุบันกับ พ.ร.บ.ประชามติเมื่อปี 2552 โดยระบุว่าเป็น พ.ร.บ.ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารเช่นเดียวกัน แต่ พ.ร.บ.ประชามติปี 2552 ยังอนุญาตให้ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอภิปรายถึงข้อดีและข้อเสียของรัฐธรรมนูญได้ แต่การระบุให้ฝ่ายรัฐเป็นผู้ชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญได้ฝ่ายเดียวในครั้งนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับอีกฝ่าย
นายไพโรจน์ย้ำว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องทำหน้าที่เป็นกลาง ต้องฟังและเปิดพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่าย และต้องให้คนที่เห็นต่างมีพื้นที่ที่ปลอดภัยในการอธิบายความคิดเห็น ในกรณีที่มีการพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญไม่ตรงข้อเท็จจริง หรือมีการปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย ผู้พูดต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบการกระทำของตนอยู่แล้วตามหลักกฎหมาย แม้การแสดงความคิดเห็นจะก้าวร้าวหรือหยาบคาย แต่ถ้าไม่นำไปสู่ความวุ่นวายก็ถือเป็นเรื่องที่กระทำได้ และหากไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน แม้การประชามติจะผ่านพ้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความขัดแย้งรอบใหม่เกิดขึ้น เพราะหลักการประชามติคือต้องให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตนเอง
ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ย้ำว่า พ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้ถูกออกแบบเพื่อยุติความขัดแย้งในสังคม จึงจำเป็นต้องออกข้อจำกัดในด้านต่างๆ ขึ้นมาเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดความวุ่นวาย พร้อมย้ำว่า กกต.มีสิทธิ์ฟ้องดำเนินคดีผู้ที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างหยาบคายและข่มขู่ได้ โดยอ้างถึงกรณีที่ตนฟ้องผู้ใช้เฟซบุ๊กในนามกองทุนแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่นข้อหาละเมิด พ.ร.บ.ประชามติเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า พ.ร.บ.ประชามติอาจไม่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อมั่นว่าจะช่วยให้เกิดการลงประชามติที่มีเสรีภาพได้
นายสมชัยระบุว่า พ.ร.บ.ประชามติครั้งนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์ออกเสียงได้อย่างครอบคลุมขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณีผู้อายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันจัดประชามติ สามารถใช้สิทธิ์ออกเสียงได้ ต่างจากเดิมที่ระบุว่าผู้มีสิทธิ์ออกเสียงต้องอายุ 18 ปีบริบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ของปีที่จัดการประชามติ ทั้งยังอนุญาตให้ผู้พิการที่ไม่สามารถลงคะแนนด้วยตนเองสามารถนำญาติหรือขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละคูหาให้ช่วยลงคะแนนให้ได้
นายสมชัยเผยด้วยว่าก่อนหน้านี้ กกต.เสนอให้มีการเปิดอภิปรายระหว่างฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้งบประมาณฝ่ายละ 50 ล้านบาท แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกแก้ไขในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะเกรงว่าจะเปิดช่องให้กลุ่มการเมืองฉวยผลประโยชน์
(ภาพประกอบ: รด.จิตอาสา รณรงค์ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ)


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.