โรงพยาบาลในสกอตแลนด์ตรวจหาแอลกอฮอล์กับทารกแรกเกิด
โรงพยาบาลแม่และเด็ก Princess Royal Maternity ในเมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์เริ่มมาตรการตรวจหาร่องรอยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทารกแรกเกิด หลังงานวิจัยบ่งชี้ว่าสตรีมีครรภ์จำนวนไม่น้อยดื่มเครื่องดื่มมึนเมาเป็นประจำ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อทารกในระยะยาว
การตรวจสอบครั้งนี้ เป็นการตรวจหาร่องรอยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน “ขี้เทา” ซึ่งเป็นอุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้ของทารกแรกเกิด จำนวน 750 คน ที่โรงพยาบาล Princess Royal Maternity ขณะเดียวกันก็ให้แม่เด็กกรอกข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการใช้ชีวิตด้วย
มาตรการนี้มีขึ้น หลังจากการศึกษานำร่องให้ผลเบื้องต้นที่น่าเป็นห่วง เพราะพบว่าผู้หญิงราว 40% ดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ ในจำนวนนี้ราว 15% ดื่มไวน์แก้วเล็กมากกว่า 1-2 แก้วต่อสัปดาห์
ทีมนักวิจัยหวังว่า การตรวจวัดแอลกอฮอล์ในทารกแรกเกิดครั้งนี้ จะนำไปสู่การลดผลกระทบจากความผิดปกติของทารก ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่มารดาดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลสกอตแลนด์ ได้พยายามรณรงค์เรื่องนี้และเตือนว่า ยิ่งมารดาดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทารกจะได้รับผลกระทบในระยะยาว เช่น เกิดความพิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ เป็นต้น
แสดงความคิดเห็น