บีบีซีไทย - BBC Thai
ศาลสหรัฐฯ เสียงแตก ไม่อาจชี้ขาดว่านโยบายปฏิรูปผู้อพยพของโอบามาผิด กม.หรือไม่

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะตุลาการศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ว่านโยบายปฏิรูปผู้อพยพของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าข่ายละเมิดกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากคณะตุลาการลงมติเห็นชอบและคัดค้านด้วยคะแนนเท่ากัน 4 ต่อ 4 เสียง ทำให้นโยบายผ่อนผันการส่งกลับผู้อพยพเข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายถูกระงับใช้ต่อไป และส่งผลกระทบต่อสถานภาพของผู้อพยพในสหรัฐฯ ราว 4 ล้านคน

ก่อนหน้านี้ในปี 2557 นายโอบามาได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีประกาศบังคับใช้แผนปฏิรูปนโยบายผู้อพยพเข้าเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งเปิดโอกาสให้บุตรของแรงงานต่างชาติที่เกิดในสหรัฐฯ ได้รับอนุญาตให้อยู่ในสหรัฐฯ ต่อไป แม้จะไม่มีเอกสารรับรองตามกฎหมาย ขณะที่พ่อและแม่ของเด็กที่เกิดในสหรัฐฯ ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศต่อไป และสามารถยื่นขอใบอนุญาตทำงานได้ในเวลา 3 ปี แต่วุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกัน 26 คนได้ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลสูงของสหรัฐฯ ให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าการใช้อำนาจโดยไม่ผ่านมติสภาคองเกรสนี้เข้าข่ายละเมิดกฎหมายหรือไม่

การวินิจฉัยเริ่มต้นขึ้นในปี 2558 และหยุดชะงักไปเมื่อนายแอนโทนิน สกาเลีย ประธานคณะตุลาการ ซึ่งมีอำนาจตัดสินชี้ขาด เสียชีวิตไปเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านรีพับลิกันเป็นเสียงข้างมาก ไม่ยอมลงมติรับรองนายเมอร์ริค การ์แลนด์ ตุลาการคนใหม่ที่นายโอบามาเสนอชื่อเป็นผู้เข้ารับตำแหน่งแทนนายสกาเลีย และการวินิจฉัยหยุดชะงักเมื่อคณะตุลาการทั้ง 8 คนที่เหลืออยู่ไม่สามารถลงมติชี้ขาดได้ เพราะไม่มีฝ่ายใดเป็นเสียงข้างมาก

นายโอบามาระบุว่าภาวะชะงักงันครั้งนี้ทำให้ผู้อพยพเข้าเมืองจำนวนมากหัวใจสลาย พร้อมย้ำว่าคนเหล่านี้มีความเป็นอเมริกันในทุกทาง แต่ไม่มีเอกสารรับรองตามกฎหมาย ขณะที่นายพอล ไรอัน ประธานวุฒิสภา สังกัดพรรครีพับลิกัน ย้ำว่าประธานาธิบดีไม่มีหน้าที่ออกกฎหมาย แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะที่นักวิเคราะห์ระบุว่าการยืดเยื้อเรื่องนโยบายผู้อพยพจะยิ่งทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.ทวีความตึงเครียดขึ้น เพราะตัวเก็งที่จะเป็นผู้แทนของ 2 พรรคใหญ่มีนโยบายด้านผู้อพยพที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด




แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.