ไทย-จีน ลงนามเอ็มโอยูด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลไทย เยือนจีน ดึงไชน่า เทเลคอม ลงทุนร่วมบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)หรือ CATพัฒนาเคเบิลใต้น้ำและเครือข่ายภาคพื้นดิน ด้านหัวเหว่ยลงนามร่วมมือธุรกิจดิจิตัลและส่งเสริมกลุ่ม “สตาร์ทอัพ”
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะของรัฐบาลไทยเดินทางเยือนประเทศจีนระหว่างวันที่ 26-30 มิ.ย. เพื่อพบหารือกับบริษัทชั้นนําของจีนและเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง หรือเอ็มโอยูของหน่วยงานไทยกับจีน โดยวานนี้ มีการลงนามความตกลงระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กับบริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นความตกลงเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือความริเริ่มด้านดิจิตัลและสมาร์ท ซิตี้ และวันนี้จะมีการบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือเคเบิลใต้น้ำและเครือข่ายภาคพื้นดิน ระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคมและบริษัท ไชน่า เทเลคอม โกลบอล จำกัด
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช.เผยกับบีบีซีไทยว่าการทำความตกลงกับบริษัทหัวเหว่ยในส่วนของ สวทช. เน้นความร่วมมือด้านงานวิจัยในการพัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ และอุตสาหกรรมสมาร์ทดิจิตัลทั้งด้านเกษตร การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ความร่วมมือกับสนช.นั้น บริษัทหัวเหว่ยจะสนับสนุนการยกระดับความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีระดับนานาชาติ โดยจะสนับสนุนการอบรมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและกลุ่ม “สตาร์ทอัพ” หรือธุรกิจเกิดใหม่ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่ผ่านการคัดเลือกจากทาง สนช.
ผู้อำนวยการ สนช. ระบุว่า หัวเหว่ยมีความสำคัญกับประเทศไทยเพราะเป็นบริษัทนานาชาติที่เลือกประเทศไทยเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่มากนักเพราะส่วนใหญ่จะเลือกตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ ดังนั้นความร่วมมือกับหัวเหว่ย จึงจะไม่จำกัดอยู่แค่ระดับประเทศ แต่จะเป็นความร่วมมือในระดับภูมิภาค เอกชนทั้งไทยและต่างประเทศจึงจะมั่นใจได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของภูมิภาค ซึ่ง ดร.พันธุ์อาจชี้ว่าไทยมีศักยภาพ และมีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม
อีกด้านหนึ่ง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นว่า วันนี้จะมีการลงนามร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ CAT ในการร่วมลงทุนงบประมาน 5 พันล้านบาท ซึ่งในระยะ 3-4 ปี ที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอาจจะมีการลงทุน 2 พันล้านบาทก่อนในปีหน้า และจะต้องมีการหารือในการลงทุนช่วงต่อไปให้ประสบความสำเร็จ โดยโครงการที่จะผลักดันต่อไปคืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทุกหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มต้นประกาศเงื่อนไขหรือทีโออาร์ไปแล้ว คาดว่าจะเริ่มต้นประมูลได้ภายในเดือน ก.ค. และภายในสิ้นปี จะมีราว 10,000 หมู่บ้านที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และในช่วงกลางปีหน้าจะสามารถมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมได้ทั้งหมด


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.