เครือข่ายนักวิชาการ-องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องปล่อยตัวนักกิจกรรม เปิดกว้างรณรงค์ประชามติ
เช้านี้ นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองจำนวนหนึ่งเดินทางไปเยี่ยมนักกิจกรรม 7 รายที่ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ขณะที่เครือข่ายนักกฎหมายและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐไทยเปิดโอกาสในการแสดงออกอย่างเสรีและเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
ผู้ต้องขังทั้ง 7 ราย เป็นส่วนหนึ่งของนักกิจกรรม 13 คนที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมาเนื่องจากไปรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่บริเวณเขตอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ และถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระราชบัญญัติประชามติ พ.ศ. 2559 มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี รวมทั้งขัดคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยทั้ง 7 รายไม่ขอประกันตัวและถูกนำตัวมาฝากขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่นักกิจกรรมอีก 6 คนขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์คนละ 50,000 บาท
นายอนุสรณ์อ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีนักวิชาการ 292 คนจาก 35 สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ คสช. ปล่อยตัวนักกิจกรรมทั้ง 7 คนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และยุติการขัดขวาง คุกคาม จับกุมผู้ที่รณรงค์ประชามติและแสดงความคิดเห็นต่างในร่างรัฐธรรมนูญอย่างสงบ สันติ เปิดเผย พร้อมทั้งให้มีการเสนอความเห็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในช่องทางต่างๆ ได้อย่างเสรี รวมถึงเรียกร้องให้คสช. ประกาศสัญญาประชาคมว่าจะให้การออกเสียงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยเปิดให้ทุกฝ่ายสามารถเสนอข้อมูลทั้งข้อดีและจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ถูกขัดขวางจากเจ้าหน้าที่รัฐ
วันเดียวกัน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ ตลอดจนศาลทหารและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยุติการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยทันที รวมถึงต้องทบทวนกฎหมายที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่ขาดการตรวจสอบ โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 และยกเลิกการนำกระบวนการยุติธรรมทหารมาใช้กับพลเรือน และกลับไปใช้กระบวนการยุติธรรมปกติโดยทันที
บรรยากาศก่อนการลงประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.มีความร้อนแรงขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจห้ามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช. เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่กำหนดเปิดพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. โดยแกนนำในหลายจังหวัดถูกเชิญตัวไปพูดคุยเพื่อห้ามปราม และในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจับกุมนักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 20 ราย
ในอีกด้านหนึ่ง วันพรุ่งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดฟังคำวินิจฉัย คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตราที่ 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ. ประชามติว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมาตราดังกล่าวบัญญัติข้อความไว้อย่างคลุมเครือ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนทั้งต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐในการตีความและบังคับใช้กฎหมาย โดยมาตราดังกล่าวระบุว่า “ผู้ที่ดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.