ผู้นำยูโรโซนเตือนบริษัทการเงินในลอนดอนอาจสูญเสียสิทธิทำธุรกิจเสรีในอียู

บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) ออกมาเตือนว่า บริษัทด้านการเงินในกรุงลอนดอนอาจสูญเสียสิทธิพิเศษในการเข้าไปดำเนินธุรกิจอย่างเสรีกับสหภาพยุโรป (อียู) ภายหลังที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มอียู

นายเยอรูน ไดส์เซิลบลูม ประธานกลุ่มรัฐมนตรีคลังยูโรโซน กล่าวว่า ธนาคารและบริษัทด้านการเงินอาจโยกย้ายตำแหน่งงานออกไปจากกรุงลอนดอน หากสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากอียู

ปัจจุบันสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่หลายแห่งของโลกที่เข้าไปตั้งสำนักงานในกรุงลอนดอนได้ว่าจ้างพนักงานหลายหมื่นคนในสหราชอาณาจักร เพราะกิจการเหล่านี้สามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจได้อย่างเสรีทั่วอียูและภายในเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA หรือ European Economic Area) ภายใต้สิทธิพิเศษที่ลดข้อจำกัดการค้าและการบริการข้ามพรมแดน ทำให้สามารถทำธุรกิจกับกลุ่มประเทศในอียูและอีกบางประเทศข้างเคียงคือนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์และลิคเตนสไตน์ได้

นายฟรองซัวส์ วิลเลรอย เดอ กาโล ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศสเตือนว่า สถาบันการเงินที่ให้บริการในสหราชอาณาจักรอาจจะต้องบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆของอียูหากยังต้องการได้ประโยชน์จากตลาดเดียวของยุโรป ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกที่ตัดสินใจออกจากอียูแต่กลับจะต้องมาบังคับใช้กฎของอียู

หลังการลงประชามติ ธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งในกรุงลอนดอนเริ่มพิจารณาที่จะย้ายฐานธุรกิจออกไปจากสหราชอาณาจักร ที่ผ่านมา หลายเมืองสำคัญในยุโรปพยายามที่จะแข่งขันและดึงธุรกิจการบริการด้านการเงินไปจากลอนดอนแต่ไม่ประสบผลมากนัก ธุรกิจการเงินส่วนใหญ่ยังคงปักหลักอยู่ที่ลอนดอนในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเงินอันดับต้นของโลก รองลงไปคือนิวยอร์คและสิงโปร์ ภาคธุรกิจการเงินในลอนดอนว่าจ้างคนกว่าห้าแสนคน ในขณะที่ แฟรงเฟิร์ตที่เป็นศูนย์กลางการเงินระดับรองลงมาว่าจ้างคนไม่ถึงหมื่น หากลอนดอนสูญเสียสถานะพิเศษและธุรกิจโยกย้ายออก หลายเมืองในยุโรปคาดว่าจะได้รับผลพวงดังกล่าว นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯให้สัมภาษณ์กับบีบีซีก่อนหน้านี้ว่า สิ่งที่จะเป็นผลกระทบอย่างสำคัญของการที่อังกฤษแยกตัวจากอียู คือสถานภาพการเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการเงินของลอนดอน ซึ่งเขาบอกว่า ไม่มีที่อื่นเทียบได้

อย่างไรก็ตาม นายเจอราร์ด ลียงส์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายบอริส จอห์นสัน แกนนำรณรงค์ให้สหราชอาณาจักรถอนตัวจากอียู กล่าวว่า แม้อียูจะขู่เรื่องการสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางการลงทุนดังกล่าว แต่กรุงลอนดอนจะยังคงเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกต่อไป เพราะไม่มีที่อื่นในยุโรปที่จะมาแทนที่ได้ ลอนดอนมีทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์และบุคคลากรในด้านนี้ที่เหนือกว่า ซึ่งนั่นน่าจะเปิดช่องให้สหราชอาณาจักรสามารถเจรจาต่อรองเรื่องสิทธิพิเศษในการลดข้อจำกัดการค้าข้ามพรมแดนกับอียูได้


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.