ยุโรปจะอยู่หรือไป บนเส้นทางใหม่ที่ไม่มีใครมองออก

ข้อเขียนชิ้นนี้สรุปมาจากงานเขียนของคริส มอริส แห่งบีบีซีประจำกรุงบรัสเซลส์
สำหรับหลายคนในยุโรป สิ่งที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงหลายคนก็รู้ว่าเรื่องนี้ตั้งเค้ามานานแล้ว หนนี้สหภาพยุโรปเจอวิกฤติครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากที่สหราชอาณาจักรลงประชามติถอนตัวจากอียู

“มันเป็นอาการช็อคอย่างรุนแรง” มานูเอล วาลส์นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสยอมรับ สิ่งที่เห็นตรงหน้า “พูดง่ายๆก็คือการล่มสลายของการรวมตัว เราต้องสร้างยุโรปใหม่” เขาว่า
ไม่ยากที่จะเห็นได้ว่า การแตกแยกกันหนนี้จะขยายวงออกไป ในหลายประเทศในยุโรป อารมณ์แต่ทางการเมืองกำลังขึ้นสูง สิ่งที่เคยปฎิบัติกันมาอย่างยาวนานกำลังจะกลายเป็นอดีต คนที่ยังเชื่อมั่นในการรวมตัวของยุโรปรู้ดีว่าพวกเขาจะต้องหาทางรับมือกับเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว ยุโรปที่เคยเห็นกันมาก่อนกำลังถอยหลัง ขณะที่อียูที่ไม่มีสหราชอาณาจักรรวมอยู่ด้วยก็คืออียูที่อ่อนแอลง เพราะขาดประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสอง และที่มีอิทธิพลในทางการทูตมากที่สุดรวมอยู่ด้วย

ฌอง คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมการยุโรปบอกว่า สถานการณ์เช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อน แต่อย่างน้อยที่สุดอียูยังเป็นปึกแผ่นในเรื่องการรับมือร่วมกัน

เบื้องหลังของคำพูดเหล่านี้ คุณภาพของกลุ่มผู้นำของอียูกำลังจะถูกทดสอบอย่างไม่เคยมีมาก่อน การปล่อยให้สถานการณ์อึมครึมต่อไปย่อมไม่เป็นผลดี และด้วยเหตุนี้ หลายเสียงในกลุ่มผู้นำอียูจึงต้องการเห็นสหราชอาณาจักรแยกตัวโดยเร็ว หลายคนต้องการให้นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษเริ่มนำมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนมาใช้เจรจาถอนตัวจากอียูโดยทันที

แม้ว่าผู้นำหลายคนจะเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สติ แต่ถ้าสหราชอาณาจักรมีท่าทีว่าจะยื้อเรื่องให้ยาวออกไป แน่นอนว่าจะเจอปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยความไม่พอใจ ดังเช่นที่นักการเมืองหลายคนของอียูได้ลั่นวาจาเอาไว้แล้วว่า “ออกก็คือออก”

ในยุโรปเองมีหลายคนที่บอกว่า การที่สหราชอาณาจักรออกไปและไม่มาคอยเป็นตัวถ่วงรั้งอีก จะทำให้ส่วนที่เหลือในฐานะที่เป็น “พันธมิตรของกลุ่มที่เต็มใจ” ด้วยการนำของฝรั่งเศสและเยอรมนีน่าจะผลักดันให้ยุโรปรวมตัวกันได้แนบแน่นขึ้น รื้อฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา

ในด้านที่สมาชิกน่าจะรวมตัวกันได้เร็วขึ้นก็คือเรื่องของการป้องกันและความมั่นคง แต่คำถามก็คือ นั่นคือสิ่งที่ประชาชนในยุโรปต้องการหรือ เพราะคนที่ตั้งแง่หรือสงสัยในการรวมตัวของยุโรปไม่ได้มีแต่เพียงคนอังกฤษเท่านั้น ในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ก็มีนักการเมืองเรียกร้องให้มีการจัดลงประชามติในเรื่องการเป็นสมาชิกอียูด้วย

คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รับรู้ความรู้สึกที่ว่า นักการเมืองระดับนำในยุโรปได้เพิกเฉยกับความวิตกกังวลของคนทั่วไปที่รู้สึกว่าถูกโลกาภิวัฒน์และแรงผลักดันอย่างอื่นที่นอกเหนือการควบคุมของตนเล่นงาน นายวิคเตอร์ โอบาน นายกรัฐมนตรีฮังการีบอกว่า อียูต้องฟังเสียงประชาชน และหนนี้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่สุด

แต่ก็มีคนอีกมากมายในยุโรปที่ชีวิตต้องได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการตัดสินใจในการลงประชามติของสหราชอาณาจักร และไม่ควรมีใครมองข้ามเจตนารมย์ของคนในอียูที่จะแก้ปัญหาฝ่าวิกฤติ แต่ว่าหนนี้ พวกเขากำลังเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยประสบมาก่อน

ทิโมที การ์ตัน แอช นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฝอร์ดบอกว่า อนาคตของอียูกำลังไม่แน่นอนอย่างยิ่ง “ไม่ใช่ว่ามันจะล่มลงในวันพรุ่งนี้มะรืนนี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้ของอียูคือ ต้องตอบโจทย์ให้ได้ในความเป็นจริง” ซึ่งเขาบอกว่า โจทย์เหล่านี้คือเรื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเขตยูโรโซน การบริหารจัดการจำนวนผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้าไปในอียู การรับมือและจัดการกับความหวั่นวิตกของประชากรที่ทำให้พวกเขาหันไปออกเสียงสนับสนุนพรรคการเมืองแนวชาตินิยมและกลุ่มที่ตั้งแง่กับการรวมตัวของอียู

มันเป็นงานที่ใหญ่ แต่ถ้าอียูจะอยู่ให้ได้และอยู่ได้โดยที่ไม่มีสหราชอาณาจักร ก็จะต้องรับมือกับปัญหาเหล่านี้ตรงๆ

กลไกทางการเมืองของยุโรปถูกคว่ำไปแล้ว โดยที่มีผลกระทบอันกว้างไกลชนิดที่ไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้อย่างเต็มที่


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.