สหราชอาณาจักร: อียูชี้แนวทางกระบวนการเจรจาแยกตัว ขณะที่การเมืองภายในปั่นป่วนทั้งในพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน
สหภาพยุโรปสรุปวิธีการที่สหราชอาณาจักรจะเริ่มกระบวนการแยกตัวออกจากอียูแล้ว หลังจากที่ประชาชนในสหราชอาณาจักรได้ลงประชามติไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และได้ผลว่าต้องการออกจากการเป็นสมาชิกอียู
โดยอียูระบุว่า สหราชอาณาจักรสามารถเริ่มต้นการเจรจาต่อรองตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาการรวมตัวกันได้ ไม่ว่าจะด้วยการส่งเป็นจดหมายไปยังประธานคณะมนตรียุโรป หรือไม่ก็กล่าวเป็นถ้อยแถลงในเรื่องนี้ต่อที่ประชุมของคณะมนตรียุโรป เพียงเท่านี้ก็สามารถเริ่มต้นกระบวนการเจรจาเงื่อนไขการถอนตัวได้ โฆษกของคณะมนตรียืนยันอีกเมื่อคืนวันเสาร์ 25 มิ.ย.ว่าการประกาศใช้กระบวนการเจรจาเพื่อถอนตัวนั้นต้องเริ่มโดยสหราชอาณาจักร
ท่าทีของอียูในเรื่องนี้ ย้ำจุดยืนที่แสดงออกผ่านแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ว่าต้องการให้สหราชอาณาจักรเริ่มกระบวนการโดยเร็ว อย่างไรก็ตามยังมีผู้นำอียูบางรายที่ท่าทียืดหยุ่นมากกว่า นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวเมื่อวันเสาร์เช่นกันว่า อียูไม่มีความจำเป็นจะต้องเจรจากับอังกฤษอย่างไม่เป็นมิตร แม้ว่าไม่จำเป็นจะต้องพยายามทำให้ช้า แต่ตัวเธอเองก็ไม่ได้อยากเห็นการถอนตัวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว “มันไม่ควรจะต้องใช้เวลาแบบไม่มีที่สิ้นสุด แต่ดิฉันคงไม่พยายามผลักดันให้ต้องใช้เวลาสั้นเช่นกัน”
นางแมร์เคิล ออกมาพูดเรื่องนี้หลังจากที่กลุ่มรัฐมนตรีต่างประเทศของอียู ซึ่งรวมไปถึงของเยอรมนีด้วย ได้ออกมาเรียกร้องอังกฤษให้เร่งกระบวนการให้เร็ว รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมัน แฟรงค์ วอลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์บอกว่า ควรจะเริ่มกระบวนการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ไม่ต้องอยู่ในสภาพทำอะไรไม่ได้ และจะได้หันไปจัดการเรื่องของอนาคตของยุโรปต่อไป ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศเนเธอร์แลนด์บอกว่า ยุโรปไม่ควรจะต้องเกิดสูญญากาศทางการเมือง อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีของเอสโตเนียกลับบอกว่า ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องรีบเร่งผลักดันให้สหราชอาณาจักรออกจากอียู
ประเด็นเรื่องการออกจากอียูอย่างไรและเมื่อไหร่ ยังทำให้บรรดานักการเมืองในอังกฤษกำลังเผชิญปัญหาถกเถียงกันอย่างหนัก โดยเฉพาะในพรรคคอนเซอร์เวทีฟ พรรครัฐบาลที่จะต้องเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นงานหนัก ทั้งยังมีปัญหาในเรื่องการจัดวางความสัมพันธ์ใหม่กับอีกหลายประเทศ รวมทั้งในเรื่องการค้าและการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างอังกฤษและอียู
ขณะที่นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟประกาศลาออกเพื่อให้มีผลในเดือนต.ค. เขาบอกว่า ผู้ที่จะมาทำหน้าที่แทนเขาจะเป็นคนเริ่มกระบวนการเจรจาต่อรองกับอียูเพื่อแยกตัว ซึ่งนั่นหมายถึงเดือนต.ค.
การลาออกของนายคาเมรอนทำให้เกิดคำถามว่าใครจะมาแทนที่เขา และตัวเก็งที่คาดกันก็คือนายบอริส จอห์นสันที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองภายในพรรค อย่างไรก็ตาม นายจอห์นสันให้สัมภาษณ์ในวันแรกหลังจากที่รู้ว่าฝ่ายสนับสนุนให้แยกตัวจากอียู ที่เขาเองเป็นแกนนำในการรณรงค์ด้วยนั้นได้ชัยชนะ โดยกล่าวกับสื่อมวลชนว่า ไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนริเริ่มกระบวนการแต่อย่างใด
ตามข้อกำหนดของมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนที่เป็นกฎหมายกำหนดการรวมตัวของอียู ประเทศสมาชิกที่ต้องการถอนตัว สามารถแจ้งกับสมาชิกที่เหลือและเริ่มกระบวนการการต่อรองเพื่อถอนตัวได้ และเมื่อเริ่มกระบวนการแล้ว หากภายในเวลาสองปียังไม่สามารถต่อรองกันได้แล้วเสร็จ ให้ถือว่าสมาชิกภาพของประเทศนั้นๆหมดลงโดยอัตโนมัติ
สื่อมวลชนอังกฤษรายงานว่า ขณะนี้พรรคคอนเซอร์เวทีฟ พรรครัฐบาลมีปัญหาในเรื่องการหาตัวผู้นำที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และการถกเถียงภายในพรรคยังวนเวียนเรื่องว่า การขับเคี่ยวกันในทางการเมืองภายในเป็นจุดที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการจัดให้มีการลงประชามติ โดยที่สมาชิกพรรคหลายคน รวมทั้งบางคนในฝ่ายที่สนับสนุนให้แยกตัวเอง ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดจนเชื่อว่า การลงประชามติหนนี้จะได้ผลในทางตรงกันข้าม
ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีกระแสเรียกร้องจากประชาชนจำนวนกว่า 3 ล้านคนที่ยื่นคำร้องให้รัฐบาลจัดลงประชามติหนที่สอง โดยพวกเขาอ้างว่า การลงประชามติหนนี้นั้นเสียงไม่ชนะขาด กล่าวคือสัดส่วนของฝ่ายชนะอยู่ที่ 52 ต่อ 48% ในขณะที่จำนวนผู้ไปใช้สิทธิไม่ถึง 75% สื่อมวลชนอังกฤษ เช่นนสพ.การ์เดียนและอินดีเพนเด้นท์ต่างรายงานว่า กระแสการถกเถียงอีกบางส่วนเรียกร้องให้รัฐสภาไม่ลงมติรับรองการออกเสียงลงประชามติดังกล่าว เนื่องจากไม่มีข้อผูกมัดในทางกฎหมาย รวมไปถึงมีเสียงเรียกร้องว่า เรื่องการถอนตัวจากอียูต้องตัดสินใจกันด้วยคะแนนเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งใหม่
อีกด้าน พรรคเลเบอร์ พรรคฝ่ายค้าน ก็มีวิกฤติภายในพรรคเช่นเดียวกัน ในขณะที่สมาชิกอาวุโสเรียกร้องให้พรรคเตรียมตัวให้พร้อมหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่มีสมาชิกไม่พอใจหัวหน้าพรรคคือนายเจเรมี คอร์บีน เพราะเห็นว่าเขาไม่ร่วมรณรงค์ให้มีการออกเสียงสนับสนุนให้ประเทศยังเป็นสมาชิกอียูอย่างแข็งขัน อันเป็นแนวทางอย่างเป็นทางการของพรรค และมีการยื่นให้ลงมติถอดถอน ขณะที่นายคอร์บีน ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่นิยมการรวมตัวกับอียูเสมอมา ได้สั่งปลดสมาชิกคนสำคัญคือรัฐมนตรีเงาฝ่ายการต่างประเทศ ฮิลลารี เบนน์ หลังจากที่มีรายงานว่านายเบนน์เรียกร้องให้สมาชิกคนอื่นๆลาออก หากนายคอร์บีนไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง นายเบนน์บอกว่า หลายฝ่ายกังวลว่านายคอร์บีน หัวหน้าพรรคเลเบอร์จะไม่สามารถนำพรรคแข่งขันได้ชัยชนะในการเลือกตั้งหนใหม่
ภาพที่สอง คือนายเจเรมี คอร์บีน และนายฮิลลารี เบนน์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.