มูดดี้ลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของสหราชอาณาจักรเหลือระดับติดลบ

มู้ดดี้ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินบอกว่า การที่สหราชอาณาจักรลงประชามติแยกตัวจากสหภาพยุโรปทำให้เกิดสภาพความไม่แน่นอนที่จะดำรงอยู่อย่างยาวนาน จะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลาง และบริษัทได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือจากที่เคยอยู่ในระดับ “มั่นคง” ลงเหลือเป็น “ติดลบ” พร้อมกับระบุว่า ในความเห็นของบริษัท ผลกระทบด้านลบจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดต่ำลงจะมีมากยิ่งกว่าเงินที่สหราชอาณาจักรจะประหยัดได้จากการที่ไม่ต้องสมทบให้กับงบประมาณของอียู มูดดี้บอกว่า สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วที่มีงบประมาณขาดดุลมากที่สุด

การประเมินความสามารถด้านการเงินของสหราชอาณาจักรมีขึ้นหลังจากที่มีการลงประชามติเพื่อจะแยกตัวจากอียู และต่อมานายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะลาออกในปลายปีนี้

นายคาเมรอนซึ่งสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรรวมตัวกับอียูแต่พ่ายแพ้ในการลงประชามติ กล่าวเมื่อวานนี้หลังจากที่มีการประกาศผลอย่างเป็นทางการว่า เขาจะพยายามประคับประคองรัฐนาวาต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือก่อนที่จะมีการประชุมพรรคคอนเซอร์เวทีฟในเดือนตุลาคม ซึ่งเขาคาดหวังว่าพรรคจะเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน และผู้นำคนใหม่จะทำหน้าที่เจรจารายละเอียดในการถอนตัวออกจากอียูด้วยการใช้มาตรา 50 ตามสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งจะให้เวลาสองปีสำหรับกระบวนการเจรจาเพื่อถอนตัว

อย่างไรก็ตาม นายฌอง คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ของเยอรมนีเมื่อวานนี้ว่า การที่ประชาชนในสหราชอาณาจักรแสดงเจตนาว่าต้องการจะถอนตัวออกจากอียูแล้ว เขามองไม่เห็นเหตุผลอันใดที่จะต้องรอจนถึงเดือนตุลาคมจึงจะเริ่มเจรจาเงื่อนไขการออกจากอียูของสหราชอาณาจักร พร้อมยืนยันว่า เขาต้องการให้เริ่มกระบวนการทันที

ด้านประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯยืนยันกับนายคาเมรอนว่า สหราชอาณาจักรจะยังเป็นพันธมิตรที่ขาดไม่ได้ของสหรัฐฯต่อไป พร้อมกับแสดงความเสียใจที่นายคาเมรอนประกาศลาออก

การประกาศลาออกของนายคาเมรอนทำให้ต้องมีการเริ่มต้นกระบวนการสรรหาตัวคนที่จะมาแทนที่เขา ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดเสนอตัว แต่คาดว่านางเทเรซา เมย์ รัฐมนตรีกิจการภายในและนายบอริส จอห์นสันอดีตนายกเทศมนตรีของลอนดอนเป็นรายชื่อตัวเก็งระดับต้นๆ

ผลของการลงประชามติแยกตัวจากอียูที่มีคนกว่า 30 ล้านไปร่วมออกเสียงทำให้ตลาดการเงินได้รับผลกระทบอย่างหนัก หุ้ยของธนาคารอังกฤษร่วงด้วยมูลค่าที่หายไปร่วมหนึ่งในสามก่อนที่จะตีตื้นกลับมาได้เล็กน้อยในช่วงบ่ายวันศุกร์ก่อนที่ตลาดจะปิด ด้านกลุ่มผู้ค้าปลีกเตือนว่าราคาน้ำมันอาจปรับสูงขึ้นเนื่องจากค่าเงินปอนด์ที่ตกเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

ในหลายๆแห่งทั่วประเทศมีการชุมนุมประท้วงโดยกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ผิดหวังจากผลการลงประชามติ เช่นที่หน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรี ที่ทางตะวันออกของลอนดอนก็มีการชุมนุมต่อต้านการเหยียดผิวและสนับสนุนผู้ลี้ภัยรวมทั้งผู้อพยพก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะย้ายไปยังหน้าสำนักงานของหนังสือพิมพ์ซันซึ่งสนับสนุนการแยกตัวจากอียู ในกลาสโกว์และเอดินเบอระของสก๊อตแลนด์ก็มีการชุมนุมในลักษณะคล้ายกัน

พรรคเลเบอร์ก็ประสบปัญหาด้วยหลังจากผลประชามติออกมา ในพรรคเกิดการโต้แย้งกันอย่างหนัก ผู้สนับสนุนจำนวนมากไม่คล้อยตามแนวทางอย่างเป็นทางการของพรรคที่ให้สนับสนุนการรวมตัวกับอียูต่อไป ในขณะที่หลายคนมองว่าหัวหน้าพรรคไม่มีท่าทีสนับสนุนการรวมตัวอย่างแข็งขัน พื้นที่หลายแห่งที่ออกเสียงจำนวนมากให้สนับสนุนการแยกตัวมาจากฐานเสียงสำคัญของพรรค จีงทำให้มีเสียงเรียกร้องให้หัวหน้าพรรค นายเจเรมี คอร์บีนพิจารณาตัวเอง สมาชิกอาวุโสของพรรค มาร์กาเร็ต ฮอดจ์ยื่นมติให้พรรคถอดถอนนายคอร์บีน คาดว่าจะมีการอภิปรายเรื่องนี้กันในสัปดาห์หน้าในที่ประชุมพรรค อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานหลักๆหลายแห่งที่เป็นผู้สนับสนุนการเงินให้กับพรรคเรียกร้องบรรดาส.ส.ของพรรคไม่ให้สร้างปัญหาเรื่องผู้นำพรรคเพิ่มเติม บางรายระบุว่า พรรคเลเบอร์จะต้องเตรียมตัวเพื่อการเลือกตั้งหนใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในเวลาอันสั้น

ผลของการลงประชามติยังอาจทำให้มีการเรียกร้องให้จัดลงประชามติแยกตัวของสก๊อตแลนด์ซึ่งออกเสียงให้รวมตัวกับอียูด้วย นายกรัฐมนตรีสก๊อตแลนด์ นิโคลา สเตอร์เจียนบอกว่า การบังคับให้สก๊อตแลนด์ต้องออกจากอียูทั้งๆที่ไม่ต้องการเป็นเรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและรับไม่ได้
บรรดาผู้นำยุโรป 27 ประเทศที่เหลือเตรียมนัดประชุมกันในวันพุธที่จะถึงเพื่อหารือเรื่องประชามติของสหราชอาณาจักร โดยที่นายคาเมรอนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแต่อย่างใด




แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.