บีบีซีไทย - BBC Thai
แยกตัว: ผลการลงประชามติในสหราชอาณาจักรสร้างความระส่ำระสาย มีคำถามตั้งแต่อนาคตของนายกรัฐมนตรีไปจนถึงตลาดการเงินที่กระทบหนัก

เผยผลการออกเสียงสะท้อนความแตกต่างของคนในชาติที่แบ่งเป็นสองขั้วระหว่างคนเมืองและชนบท ผู้เกี่ยวข้องชี้คนในสหราชอาณาจักรลงคะแนนเสียงด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล อีกด้าน การลงประชามติในสหราชอาณาจักรทำให้อีกหลายฝ่ายเรียกร้องใช้สิทธิแบบเดียวกันเพื่อแยกจากยุโรป

ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการจากการลงประชามติสรุปว่า กลุ่มสนับสนุนให้แยกตัวได้คะแนน 51.9% กลุ่มให้รวมตัวกับอียูได้คะแนน 48.1% ส่วนใหญ่ที่ออกเสียงให้รวมตัวมาจากลอนดอนและสกอตแลนด์ ที่เหลือโดยเฉพาะในย่านชนบท ภาคกลางและเหนือของอังกฤษให้แยกตัว

จำนวนผู้ไปใช้สิทธิ 72% หรือกว่า 30 ล้านคน มากที่สุดสำหรับการใช้สิทธิของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ 2535 ส่วนปฏิกิริยาจากตลาดเงิน ค่าเงินปอนด์ตกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทำให้นายจอห์น แมคดอนแนล รัฐมนตรีเงากระทรวงการคลังจากพรรคเลเบอร์บอกว่า ธนาคารชาติอังกฤษอาจจะต้องเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงินปอนด์ที่วันนี้ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ถึง 3%

ส่วนนายไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคเอกราชสหราชอาณาจักรหรือยูคิพที่ได้รณรงค์มาร่วม 20 ปีให้สหราชอาณาจักรออกจากอียูบอกว่า นี่เป็นชัยชนะของชาวบ้านคนธรรมดาสามัญ เขาบอกว่าประวัติศาสตร์จะจารึกไว้ว่า วันนี้คือวันประกาศเอกราชของสหราชอาณาจักร พร้อมกันนั้นได้เรียกร้องให้นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรยังอยู่กับอียูต่อไปให้ลาออกโดยทันที แหล่งข่าวในพรรคเลเบอร์บอกกับบีบีซีว่า หากสหราชอาณาจักรลงมติแยกตัวจากอียู นายคาเมรอนควรจะพิจารณาตัวเอง แต่ส.ส.ในพรรคคอนเซอร์เวทีฟกลุ่มที่สนับสนุนให้แยกตัว ทั้งนายบอริส จอห์นสัน นายไมเคิล โกฟ ต่างลงชื่อในจดหมายขอให้นายคาเมรอนอยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ว่าผลของประชามติจะออกมาเป็นอย่างไร

นายคีท วาซ อดีตรัฐมนตรีกิจการยุโรปของพรรคเลเบอร์บอกกับบีบีซีว่า คนในสหราชอาณาจักรออกเสียงด้วยอารมณ์ และปฏิเสธคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่เตือนแล้วถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการออกจากอียู เขาเสนอให้อียูเรียกประชุมสุดยอดฉุกเฉิน เขาบอกว่าเหตุการณ์วันนี้เป็นหายนะสำหรับประเทศ และส่วนอื่นๆที่เหลือของยุโรป รวมทั้งของโลกด้วย รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมัน แฟรงค์ วอลเตอร์ ชเตนไมเออร์บอกว่า วันนี้เป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับทั้งยุโรปและสหราชอาณาจักร
แต่ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟ เลียม ฟอกซ์ที่สนับสนุนให้แยกตัวบอกว่า ผู้ใช้สิทธิต่างแสดงความกล้าหาญอย่างมากในการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์สำหรับสหราชอาณาจักร พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเยือกเย็นลง ให้ใช้เวลาในการพินิจพิจารณาและใคร่ครวญถึงผลในขณะที่อีกด้านก็จัดการไปตามกระบวนการขั้นตอน ในขณะที่ยืนยันว่า นายคาเมรอนจะต้องอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
ในแง่ของการใช้สิทธิ คนในลอนดอนลงมติให้สหราชอาณาจักรยังอยู่กับอียูด้วยสัดส่วน 60% อย่างไรก็ตาม คนในส่วนอื่นๆของประเทศออกเสียงสนับสนุนให้แยก การลงประชามติหนนี้จึงเป็นนัยแสดงถึงความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างคนในลอนดอนและในเขตชนบท ทั้งภาคกลางและภาคเหนือของอังกฤษ มีผู้สนับสนุนให้รวมตัวอยู่กับอียูในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับที่อื่น

ผลการลงประชามติจะทำให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นชาติสมาชิกแรกที่แยกตัวจากอียูนับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งกันมา แต่ทั้งนี้การออกเสียงในประชามติให้แยกตัวไม่ได้หมายความว่าสมาชิกภาพของสหราชอาณาจักรในกลุ่มอียู 28 ประเทศจะสิ้นสุดลงโดยทันที กระบวนการถอนตัวจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปี
โดยนายคาเมรอนจะต้องตัดสินใจว่าจะใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนหรือไม่ มาตรานี้ให้อำนาจสหราชอาณาจักรเจรจาถอนตัวเป็นเวลาสองปี หากดำเนินการแล้ว สหราชอาณาจักรจะไม่สามารถกลับไปรวมตัวกับอียูได้อีกหากประเทศอื่นๆไม่ยินยอม ก่อนหน้านี้นายคาเมรอนบอกว่า ถ้าคนในสหราชอาณาจักรลงประชามติให้แยกตัว เขาจะใช้มาตรานี้โดยเร็วที่สุด ในขณะที่ส.ส.ในพรรคของนายคาเมรอนที่สนับสนุนให้แยกตัวกลับชี้ว่าไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ แต่ก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะออกจากอียู เช่นการลดอำนาจของศาลยุโรปในเรื่องของสหราชอาณาจักรลง การจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของคนงานจากที่อื่นๆ รัฐบาลอังกฤษยังจะต้องเจรจาเพื่อจัดวางความสัมพันธ์ด้านการค้ากับอียูและทำข้อตกลงทางการค้าใหม่กับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอียู สหราชอาณาจักรจะต้องเริ่มกระบวนการแยกตัวออกจากบรรดากฎหมายต่างๆของอียูที่ได้ร่วมมากว่าสี่สิบปี

ด้านนิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์บอกว่า การลงประชามติหนนี้ชัดเจนว่าชาวสกอตแลนด์ต้องการรวมอยู่กับยุโรป อีกด้าน นสพ.วอลสตรีทเจอนัลรายงานว่า เริ่มมีเสียงเรียกร้องแล้วว่าสก็อตแลนด์ควรจะได้ลงประชามติอีกครั้งเรื่องแยกตัวจากสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ยังมีเสียงเรียกร้องจากอีกบางประเทศในยุโรปให้มีการลงประชามติในเรื่องเดียวกันบ้าง นายฌอง มารี เลอแปง หัวหน้าพรรคแนวร่วมแห่งชาติ พรรคฝ่ายขวาของฝรั่งเศสทวีตว่า นี่เป็นชัยชนะของเสรีภาพ และบอกว่า ชาวฝรั่งเศสควรจะมีสิทธิที่จะเลือกเช่นเดียวกัน ในเนเธอร์แลนด์ก็มีเสียงเรียกร้องให้มีการลงประชามติในลักษณะเดียวกันด้วย นักวิเคราะห์บอกว่า ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรจะกระเทือนเอกภาพของอียูเป็นลูกโซ่


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.