Posted: 26 Aug 2018 08:42 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-08-26 22:42
กานดา นาคน้อย
27 สิงหาคม 2561
ฉันอ่านบทความจากสื่อออนไลน์เกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนซุเอลา พบว่าบทความเล่าเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างและใส่สีสันดราม่า หลายบทความนำเวเนซุเอลามาเทียบกับไทยแบบจับแพะชนแกะ ดังนั้นฉันจึงรวบรวมดราม่ามาเปรียบเทียบความจริงในบทความนี้
ดราม่า 1 : เวเนซุเอลาเป็นประเทศสังคมนิยม
ความจริง 1 : เวเนซุเอลาเป็นประเทศผสมสังคมนิยมและทุนนิยม
รัฐบาลชาเวซ (พศ. 2542-2558) และรัฐบาลมาดุโร (พศ. 2558-ปัจจุบัน)ไม่ได้ยึดธุรกิจเอกชนทุกอย่างมาแปรรูปให้เป็นรัฐวิสาหกิจหมด ยึดเพียงบางธุรกิจ ขยายธุรกิจของรัฐวิสาหกิจเดิมและก่อตั้งรัฐวิสาหกิจใหม่ๆเพื่อลดความสำคัญของเอกชน เน้นรัฐวิสาหกิจผลิตน้ำมันและวัตถุดิบอุตสาหกรรม (อาทิ ซีเมนต์ เหล็ก) และรัฐวิสาหกิจในภาคบริการรวมทั้งสาธารณูปโภค การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและยานยนต์ยังเป็นกรรมสิทธิ์เอกชน บริษัทเอกชนขนาดใหญ่มีทั้งบริษัทของเศรษฐีเวเนซุเอลาและบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ ส่วนสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและยานยนต์ก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและอะไหล่
ความจำเป็นที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นสังคมนิยม 100% ไม่ได้ ในทางทฤษฎีรัฐบาลตั้งรัฐวิสาหกิจนำเข้าเอง 100% เองก็ได้ แต่ในทางปฎิบัติประเทศทุนนิยมที่ส่งออกสินค้ามาเวเนซุเอลาก็จะคว่ำบาตรไม่ส่งสินค้าให้ ดังนั้นตราบใดที่เวเนซุเอลาไม่มีเทคโนโลยีผลิตสินค้าทุกอย่างที่ต้องการหรือนำเข้าจากประเทศสังคมนิยมเหมือนกันหมดทุกอย่างก็เป็นสังคมนิยม 100% ไม่ได้ แม้แต่รัฐวิสาหกิจน้ำมันซึ่งทำรายได้เกิน 90% ของรายได้ประเทศก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อขุดเจาะและกลั่นน้ำมัน
ภาคบริการที่สำคัญอย่างกิจการธนาคารก็มีทั้งธนาคารรัฐและธนาคารเอกชน เวเนซุเอลายังมีตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร กิจการขนส่งก็มีทั้งของรัฐวิสาหกิจและเอกชน มีรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้าและสายการบิน แต่ก็มีแท็กซี่เอกชน มีบริษัทขนส่งและชิปปิ้งเอกชน สายการบินต่างชาติรวมทั้งสายการบินอเมริกันก็มีสำนักงานในเวเนซุเอลา
ภาคบริการขายปลีกก็มีทั้งของรัฐวิสาหกิจและเอกชน รัฐบาลชาเวซยึดซูเปอร์มาร์เก็ตเอกชนบางแห่งมาแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจขายปลีก แม้ว่ารัฐบาลมาดุโรประกาศว่าขั้นต่อไปของการ“ปฏิวัติโบลิวาร์”ในอนาคตคือการให้รัฐวิสาหกิจขายปลีกผูกขาดการขายปลีกอาหารทั้งประเทศ ในทางปฎิบัติก็คงขาดทุนย่อยยับเหมือนรัฐวิสาหกิจหลายแห่งในปัจจุบัน (ฉันจะอธิบายประเด็นการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจเวเนซุเอลาในภายหลังเมื่อกล่าวถึงดราม่าอื่นๆ)
เวลานิตยสารฟอร์บจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีพันล้าน(เหรียญสหรัฐฯ)ก็มีคนเวเนซุเอลาติดอันดับด้วย เช่น อภิมหาเศรษฐีธนาคาร (อันดับ 480) อภิมหาเศรษฐีสื่อสาร (อันดับ 1999)
[1] ในแง่นี้ก็คล้ายไทยเพราะไทยก็มีอภิมหาเศรษฐีธนาคารและอภิมหาเศรษฐีสิ่อสารติดอันดับนิตยสารฟอร์บช่นกัน แต่ไทยมีความเป็นทุนนิยมมากกว่าเวเนซุเอลา ยกตัวอย่างกิจการขายปลีก ไทยไม่มีรัฐวิสาหกิจขายปลีกแบบเวเนซุเอลา แม้ว่าไทยมีโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐแต่กระทรวงพาณิชย์ไทยไม่ใช่เจ้าของร้านธงฟ้าประชารัฐ และเจ้าของร้านธงฟ้าประชารัฐไม่ใช่พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ดราม่า 2 : เวเนซุเอลาตัดสัมพันธ์กับสหรัฐฯและหันไปพึ่งรัสเซียกะจีน
ความจริง 2 : เวเนซุเอลาตัดสัมพันธ์กับสหรัฐฯชั่วคราวเพียง 9 เดือน
ปัจจุบันมาตรการคว่ำบาตรโดยรัฐบาลทรัมป์ก็ไม่ได้ห้ามค้าขายหรือห้ามธุรกรรมทุกอย่าง ห้ามเพียงบางธุรกรรมเท่านั้น สถานทูตเวเนซุเอลาในกรุงวอชิงตันดีซีดำเนินการปกติและมีสถานกงศุลเวเนซุเอลา 7 แห่งตามเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ
นอกจากค้าขายก็มีการลงทุนข้ามชาติ บริษัทอเมริกันเข้าไปลงทุนในเวเนซูเอลา เช่น ฟอร์ด พรอคเตอร์แอนด์แกมเบิล คิมเบอร์ลีคล้าค ฯลฯ รัฐวิสาหกิจน้ำมันเวเนซุเอลามีหุ้นใหญ่ในบริษัทน้ำมันซิทโก้ (Citgo) ที่สหรัฐฯมานานเกือบ 40 ปีแล้ว ผู้บริหารระดับสูงของซิทโก้ก็เป็นคนเวเนซุเอลา
[2] รัฐบาลชาเวซและรัฐบาลมาดุโรตรึงค่าเงินสกุลโบลิวาร์กับดอลลาร์สหรัฐฯและออกพันธบัตรกู้เงินสกุลเงินดอลลาร์ เจ้าหนี้ของเวเนซุเอลาก็มีสัญชาติอเมริกันด้วย แต่รัฐบาลเวเนซุเอลาประกาศชักดาบไม่จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนเจ้าหนี้อเมริกัน (และชาติอื่นๆด้วย) ปัจจุบันกำลังต่อรองเพื่อปรับโครงสร้างหนี้
[3]
ดราม่า 3 : รัฐบาลชาเวซและรัฐบาลมาดุโรใช้จ่ายโครงการสังคมสงเคราะห์มากเกินไป
ความจริง 3 : รัฐบาลชาเวซและรัฐบาลมาดุโรสงเคราะห์คนรวยและคนชั้นกลางมากเกินไป
รัฐบาลชาเวซส่งเคราะห์คนรวยและคนชั้นกลางอย่างมหาศาลด้วยเงินดอลลาร์ในตลาดเงินตราแบบ“เนียนๆ”โดยไม่ผ่านงบประมาณประจำปี การสงเคราะห์ดังกล่าวเลยดูไม่ชัดเจนแบบโครงการทางสังคม ยุครัฐบาลชาเวซเงินโบลิวาร์มี 2 อัตรา
[4]
ก) อัตราแข็ง กำหนดให้ใช้นำเข้าสินค้าและใช้กับบุคคลทั่วไปที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์ ธนาคารและบุคคลที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินดอลลาร์ก็ได้อัตรานี้
ข) อัตราอ่อน เป็นอัตราเงินสดตามตลาดมืดซึ่งคือตลาดที่ไม่ผ่านธนาคารในประเทศ มีทั้งในรูปแบแลกเงินสดและผ่านธนาคารนอกประเทศ
ในทางเศรษฐศาสตร์อัตราตลาดมืดคือ“อัตราจริง”เพราะปรับตามความพึงพอใจของผู้ขายและผู้ซื้อ รัฐบาลชาเวซออกมาตรการต่างๆเพื่อกำจัดอัตรานี้แต่กำจัดไม่สำเร็จ ก่อนชาเวซเสียชีวิตมีการลดค่าเงินโบลิวาร์หลายครั้ง ยิ่งลดค่าเงินอัตราอ่อนในตลาดมืดยิ่งกลายเป็นอัตรามหาอ่อน พอรัฐบาลมาดุโรมารับช่วงต่อก็แก้ปัญหาโดยการลดค่าเงินต่อและแบ่งแยกเป็นอัตราดังต่อไปนี้
ก) อัตราอภิมหาแข็ง กำหนดให้ใช้อัตรานี้กับบริษัทนำเข้าสินค้าจำเป็น
ข) อัตรามหาแข็ง กำหนดให้ใช้อัตรานี้กับบริษัทนำเข้าสินค้า
ค) อัตราแข็ง กำหนดให้ใช้อัตรานี้กับบริษัทและบุคคลทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์ และบัตรเครดิตของคนต่างชาติที่ใช้ในเวเนซุเอลาหรือบัตรเครดิตของคนเวเนซุเอลาที่ใช้ในต่างประเทศ แต่มีโควต้าจำกัดว่าจะใช้เงินดอลลาร์ผ่านบัตรเครดิตได้เท่าไร
การลดค่าเงินและการแบ่งแยกอัตราก็ไม่ได้กำจัดตลาดมืด อัตราจริงในตลาดมืดก็ปรับจากอัตรามหาอ่อนเป็นอภิมหาอ่อน
เพื่อให้เข้าใจว่ารัฐบาลชาเวซสงเคราะห์คนรวยและคนชั้นกลางอย่างไรลองสมมุติว่าแบงค์ชาติไทยใช้นโยบายเดียวกันจะเกิดอะไรขึ้น? สมมุติว่าแบงค์ชาติไทยขายเงินดอลลาร์ด้วยอัตรา 6 บาทต่อดอลลาร์โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ขอซื้อต้องพิสูจน์ความจำเป็นหรือต้องซื้อพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์ (คือให้รัฐบาลกู้) และในตลาดมืด (เช่น ร้านขายปลีก คนอยากซื้อคอนโดที่ไมอามี คนอยากฝากเงินดอลลาร์ที่ธนาคารที่ปานามา คนมีหนี้สินที่ต้องจ่ายเจ้าหนี้ที่นิวยอร์ค ฯลฯ) มีอัตรา 30 บาทต่อดอลลาร์ และคุณมีเงินออมอยู่ 6 ล้านบาท คุณจะทำอย่างไร? สมมุติว่าคุณอยากแปลงเงินออมเป็นเงินดอลลาร์ทั้ง 6 ล้านบาท
ก) ถ้าคุณจดทะเบียนตั้งบริษัทนำเข้าเพื่อขอซื้อเงินดอลลาร์ 1 ล้านดอลลาร์และได้อนุมัติ แล้วเอา 1 ล้านดอลลาร์ไปขายที่ตลาดมืดก็จะได้ 30 ล้านบาท หลังจากนั้นเอาเงิน 30 ล้านบาทนี้ไปซื้อเงินดอลลาร์จากแบงค์ชาติอีกรอบก็จะได้มา 5 ล้านดอลลาร์ แบ่งเงิน 5 ล้านดอลลาร์เป็น 2 ส่วนคือส่วนหนึ่งใช้ซื้อสินค้านำเข้าจริงๆเผื่อแบงค์ชาติส่งพนักงานมาตรวจสอบภายหลังว่าคุณนำเข้าสินค้าจริงหรือไม่ อีกส่วนหนึ่งก็เป็น “ส่วนต่าง”ที่คุณเก็บเอาเข้ากระเป๋าตัวเองได้
ข) ถ้าคุณซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุ 1 ปี คุณต้องรอ 1 ปีกว่าจะได้เงิน 1 ล้านดอลลาร์ แต่คุณก็จะได้ดอกเบี้ยในสกุลดอลลาร์เป็นค่าเสียเวลาด้วย ถ้ารอไม่ไหวคุณก็เอาพันธบัตรที่ซื้อมาไปขายเป็นเงินสดในตลาดมืดก็ได้
[5]
วิธีการ ก) ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐอนุมัติ ก็เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกสินบนหรืออำนวยให้พวกพ้องซื้อเงินดอลลาร์มาค้ากำไรได้ รัฐบาลชาเวซจับกุมพนักงานที่รับสินบนเพื่อเขียนเสือให้วัวกลัวเป็นครั้งคราว ที่จริงแล้วการใช้อัตราเงินแข็งเป็นอัตราทางการเป็นวิธีการซื้อเสียงจากสถาบันการเงิน นักธุรกิจ คนรวย และคนชั้นกลางที่มีเงินออม ถ้าไม่อยากให้มีการซื้อขายเงินในตลาดมืดจริงๆก็ทำได้ คือกำหนดอัตราแบงค์ชาติให้เท่ากับอัตราจริง รัฐบาลชาเวซอำพรางปัญหาด้วยการลดค่าเงินโบลิวาร์เป็นครั้งคราวแต่ก็ไม่ได้เข้าใกล้อัตราจริง การปรับอัตราแลกเปลี่ยนในยุครัฐบาลมาดุโรก็ไม่ได้เท่าอัตราจริง
[6]
รัฐบาลเวเนซุเอลาจะโดนบังคับให้เผชิญอัตราจริงก็ต่อเมื่อเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่แบงค์ชาติเหลือน้อยมากจนแบงค์ชาติขายเงินดอลลาร์ด้วยอัตราที่แข็งกว่าตลาดมืดไม่ได้แล้ว (โปรดรำลึกถึงยุควิกฤตต้มยำกุ้ง) และเมื่อนั้นก็มาถึงในยุครัฐบาลมาดุโร ที่จริงแล้วราคาน้ำมันปัจจุบันไม่ได้ต่ำเท่าตอนต้นยุครัฐบาลมาดุโร แต่รัฐวิสาหกิจน้ำมันที่เป็นตัวทำรายได้เงินทุนสำรองสกุลดอลลาร์ลดกำลังผลิตเพราะขาดทุนเรื้อรังจนไม่มีทุนมาบำรุงและซ่อมแซมเครื่องจักร ยิ่งขาดทุนวิศวกรก็ยิ่งลาออก(คาดว่าเพื่ออพยพไปอยู่ประเทศอื่น)
เมื่อเงินทุนสำรองลดน้อยลงมาก บริษัทที่นำเข้าวัตถุดิบและบริษัทรถยนต์ที่เคยซื้อเงินดอลลาร์จากรัฐง่ายๆก็ต้องรอเป็นเดือน ทำให้เกิดภาวะสินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน รถยนต์ก็ขาดแคลนจนรถมือสองราคาแพงขึ้นเรื่อยๆจนแพงกว่าราคารถใหม่ในอดีต เมื่อเป็นเช่นนี้คนก็ยิ่งไม่อยากถือเงินโบลิวาร์อยากซื้อรถซื้อบ้านซื้อสินค้าที่เก็บได้นาน เป็นแบบนี้นานเข้าธุรกรรมในตลาดมืดก็ยิ่งเฟื่องฟู รัฐบาลพยายามปิดเว็บไซต์
https://dolartoday.com ที่รายงานอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดแต่ก็ทำไม่สำเร็จ ทวิตเตอร์
https://twitter.com/DolarToday ของเว็บนี้มีคนติดตามมากกว่า 10% ของประชากรเวเนซุเอลา (มีทวิตเตอร์หรือเพจเฟซบุ๊คไทยที่มีคนติดตามเกิน 6.8 ล้านคนไหม?)
อีกวิธีหนึ่งที่รัฐบาลชาเวซและมาดุโรใช้เพื่อซื้อเสียงคนรวยคือให้นายพลระดับสูงเข้าไปบริหารรัฐวิสาหกิจรวมทั้งรัฐวิสาหกิจน้ำมัน
[7][8] วิธีนี้ไม่ซับซ้อนและชัดเจน นอกจากนี้ทหารในยุครัฐบาลมาดุโรมีหน้าที่พิเศษคือควบคุมสินค้าจากโรงงาน(ทั้งโรงงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจ)ให้ไปถึงปลายทาง รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าที่ต่ำมาก ประกอบกับภาวะขาดแคลนสินค้า จึงเกิดการลักลอบขายสินค้าให้พ่อค้าในตลาดมืดที่นำไปขายต่อเพื่อหากำไรหลายเท่าตัว รัฐบาลจึงส่งทหารไปคุ้มกันสินค้า แต่ก็ยากที่จะตรวจสอบว่าทหารรับสินบนแล้วปล่อยให้คนขับรถขนส่งลักลอบขายสินค้าหรือไม่
ดราม่า 4 : รัฐบาลชาเวซเปลี่ยนเวเนซุเอลาจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศส่งออกน้ำมัน
ความจริง 4 : เวเนซุเอลาเป็นประเทศส่งออกน้ำมันมานานก่อนชาเวซเป็นประธานาธิบดี
เวเนซุเอลาเป็น 1 ใน 5 ของประเทศส่งออกน้ำมันที่ก่อตั้งองค์กรประเทศส่งออกน้ำมันหรือ“โอเปค”ก่อนชาเวซเป็นประธานาธิบดี 39 ปี นักคิดของเวเนซุเอลาในยุคนั้นเชื่อมั่นว่าถ้าประเทศส่งออกน้ำมันร่วมกันลดปริมาณการผลิตก็จะดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้น แนวคิดนี้ไม่ประสบความสำเร็จนักด้วยหลายสาเหตุ สาเหตุสำคัญคือการคาดการณ์ปริมาณความต้องการน้ำมันในตลาดโลกไม่ใช่เรื่องง่าย และประเทศสมาชิกมีแรงจูงใจที่จะผลิตเกินโควต้าที่ตกลงกันในที่ประชุมโอเปค
ดราม่า 5 : ถ้ารัฐบาลชาเวซไม่ใช้นโยบายประชานิยมจะไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจ
ความจริง 5 : ถึงไม่ใช้นโยบายประชานิยมก็มีวิกฤตเศรษฐกิจได้
วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับเวเนซุเอลา เมื่อ 30 ปีที่แล้วชาเวซยังไม่ได้เป็นประธานาธิบดีและยังไม่มีนโยบายประชานิยม แต่ก็มีวิกฤตด้วยสาเหตุเดียวกันคือทุนสำรองเงินตราต่างประเทศน้อยและหนี้สาธารณะต่างชาติมากจนจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นไม่ได้ ในยุคนั้นรัฐวิสาหกิจน้ำมันก็รายได้ลดเพราะราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงเช่นกัน และรัฐบาลก็ใช้จ่ายมาก งบกระทรวงกลาโหมก็มาก รัฐบาลชาเวซก็เพิ่มงบกลาโหมเช่นกัน ไม่ใช่ว่ารัฐบาลชาเวซเพิ่มงบให้โครงการทางสังคมเท่านั้น
เป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ที่รัฐบาลชาเวซและรัฐบาลมาดุโรมีอำนาจควบคุมการใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของแบงค์ชาติเวเนซุเอลา ให้แบงค์ชาติอัดฉีดเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนเรื้อรังและกู้จากต่างชาติเพิ่มเติมด้วย ผลการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจบางปีสูงกว่างบประมาณโครงการเพื่อสังคมด้วยซ้ำ เมื่อขาดทุนแล้วกู้ไปเรื่อยๆก็จบลงด้วยวิกฤต วิกฤตครั้งนี้ต่างจากครั้งที่แล้วตรงนี้ยุคนี้มีโซเชียลมีเดีย ทำให้”อัตราจริงในตลาดมืด”อยู่ในที่แจ้งยิ่งเร่งให้คนเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ในตลาดมืดมากยิ่งขึ้น และทำให้ทั่วโลกรับรู้วิกฤตครั้งนี้ได้รวดเร็วมากกว่าครั้งก่อน
ประเทศที่เป็นตัวอย่างให้เวเนซุเอลาได้คือเอกวาดอร์ เอกวาดอร์เป็นประเทศส่งออกน้ำมันและเป็นสามาชิกโอเปคตั้งแต่พศ. 2516 เคยประสบปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ เอกวาดอร์เรียนรู้จากประสบการณ์และแก้ปัญหาตรงจุด ในเมื่อประชาชนอยากได้เงินดอลลาร์มากจนไม่อยากถือเงินแบงค์ชาติ รัฐบาลก็อนุญาตให้ประชาชนใช้เงินดอลลาร์ค้าขายและทำธุรกรรมควบคู่ไปกับเงินแบงค์ชาติ ปรับอัตราแลกเปลี่ยนที่สะท้อนค่าจริงในตลาดมืด และไม่พิมพ์เงินใหม่ก่อนมีรายได้ส่งออกที่เพิ่มเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เอกวาดอร์มีระบบสวัสดิการสุขภาพครอบคลุมยิ่งกว่าของไทย เหมือนประเทศทุนนิยมยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงตอนปี 2557 ก็ไม่ได้เกิดวิกฤตแบบเวเนซุเอลา
ดราม่า 6 : ถ้าไทยไม่ยกเลิกโครงการประชานิยมไทยจะเกิดวิกฤตแบบเวเนซุเอลา
ความจริง 6 : ถึงไม่มีโครงการประชานิยมไทยก็เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะมาแล้ว
ไทยเคยมีวิกฤตหนี้สาธารณะในยุครัฐบาลเปรม ทำให้กู้เงินจากไอเอ็มเอฟเป็นครั้งแรก วิกฤตหนี้สาธารณะ(ไม่ว่าประเทศไหน)เกิดจากการกู้โดยรัฐบาลจนเกินกำลังการใช้หนี้จนต้องประกาศว่าจะไม่จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นแล้วเข้าสู่กระบวนการต่อรองเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ การยกเลิกโครงการประชานิยมไม่ได้รับประกันว่ารัฐบาลจะไม่เพิ่มงบประมาณใช้จ่ายโครงการอื่นๆ
บทสรุป
วิกฤตเวเนซุเอลาให้บทเรียนหลายอย่าง อาทิ
ก) ไม่ควรให้ผู้นำฝ่ายบริหารมีอำนาจควบคุมการใช้จ่ายทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ
ข) ไม่ควรให้ผู้นำฝ่ายบริหารกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ค) ไม่ควรใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบแบ่งแยกและอภิมหาแข็งกว่าอัตราจริง
ง) ไม่ควรอัดฉีดเงินรัฐบาลหรือแบงค์ชาติเพื่ออุ้มรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนเรื้อรัง
จ) ไม่ควรให้นายพลบริหารรัฐวิสาหกิจที่สำคัญต่อรายได้ประเทศและรายได้ส่งออก
ฉ) ไม่ควรพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกอย่าง
ผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้เขียนได้ที่
https://twitter.com/kandainthai
หมายเหตุ
[1] Forbes Billionaire List 2018 (from Venezuela):
https://www.forbes.com/billionaires/list/#version:static_search:venezuela
[2] Venezuelan creditor eyeing Citgo assets face uphill battle:
https://www.reuters.com/article/us-venezuela-citgo-bondholders-analysis/venezuelan-creditors-eyeing-citgo-assets-face-uphill-battle-idUSKBN1E838E
[3] Venezuela’s creditors aim to avoid infighting call to unity:
https://www.reuters.com/article/us-venezuela-debt-committee/venezuelas-creditors-aim-to-avoid-infighting-in-call-to-unity-idUSKBN1JL1DZ
[4] Venezuela’s bizarre system of exchange rates
https://mises.org/library/venezuelas-bizarre-system-exchange-rates
[5] The silent creditor group in Venezuela’s debt crisis:
https://www.reuters.com/article/us-venezuela-debt-bondholders/the-silent-creditor-group-in-venezuelas-debt-crisis-venezuelans-idUSKBN1E20K9
[6] Venezuela’s Currency Circus:
https://www.nytimes.com/2015/03/07/opinion/francisco-toro-dorothy-kronick-venezuelas-currency-circus.html
[7] Appointment of Army general to Venezuela oil company could mean more politics, less oil:
http://www.latinamericanstudies.org/venezuela/lameda.htm
[8] Under military rule, Venezuela oil workers quit in a stampede
https://www.reuters.com/article/us-venezuela-oil-workers-insight/under-military-rule-venezuela-oil-workers-quit-in-a-stampede-idUSKBN1HO0H9
[full-post]