ดิอิโคโนมิสต์ตอบคำถามสำคัญก่อนเปิดศักราชใหม่ "ประชานิยม" คืออะไรกันแน่
ดิอิโคโนมิสต์ตอบคำถามสำคัญก่อนเปิดศักราชใหม่ "ประชานิยม" คืออะไรกันแน่
Posted: 30 Dec 2016 03:12 AM PST
ในปี 2016 ประเด็นหนึ่งที่พูดกันมากในระดับโลก แต่อาจจะพูดถึงกันมาหลายปีแล้วในประเทศเรา คือเรื่องของ "ประชานิยม" ซึ่งเป็นคำที่ยังมีความลื่นไหลและนำมาใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อจนชวนให้ตั้งคำถามว่าคำๆ นี้มีความหมายที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ นิตยสารดิอิโคโนมิสต์มีการอธิบายประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาของถ้อยคำนี้
ในนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ฉบับเมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาจึงมีพยายามอธิบายความหมายของศัพท์คำนี้ ซึ่งผู้ใช้ "ประชานิยม" อาจจะเป็นได้ทั้งสายทหารนิยมหรือสายอิสรนิยม (Libertarians - แนวคิดต่อต้านการแทรกแซงจากรัฐซึ่งอาจจะเป็นฝ่ายเอียงขวาที่สนับสนุนทุนหรืออาจจะเป็นฝ่ายเอียงซ้ายที่เน้นเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจก็ได้ เป็นคนละความหมายกับเสรีนิยมหรือ Liberalism)
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้คำๆ นี้ถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งคือการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในสหรัฐฯ ถูกเรียกว่าเป็น "นักประชานิยม" เขามีนโยบายส่งตัวผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารรับรองออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันก็มีพรรคฝ่ายซ้ายของสเปนที่ชื่อโปเดมอสถูกมองว่าเป็น "นักประชานิยม" เช่นกันแต่พวกเขากลับมีแนวคิดต้องการให้ผู้อพยพมีสิทธิในการเลือกตั้ง ในเนเธอร์แลนด์ก็มีเคียร์ต วิลเดอร์ส นักการเมืองฝ่ายขวา "นักประชานิยม" ผู้ต้องการยกเลิกกฎหมายเฮชสปีช ในโปแลนด์ก็มียาโรสลอว์ คักชินสกี นักการเมืองฝ่ายขวาที่พยายามหลักดันกฎหมายห้ามใช้คำว่า "ค่ายกักกันแห่งความตายโปแลนด์"
ในละตินอเมริกา เอโว โมราเลส ประธานาธิบดีโบลิเวียก็ถูกเรียกว่าเป็น "นักประชานิยม" เขาต้องการส่งเสริมสิทธิชนพื้นเมืองในการปลูกพืชโคคา โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ผู้มีนโยบยปราบปรามยาเสพตดอย่างรุนแรงก็ถูกเรียกว่าเป็น "นักประชานิยม" จนราวกับว่าในยุคนี้ใครๆ ก็ถูกเรียกเป็นนักประชานิยมได้หมด ไม่ว่าจะเป็นพวกสายทหาร คนที่มีอุดมการณ์เดียวกับเช เกวารา หรือนักทุนนิยมผู้ปฏิเสธรัฐ เป็นได้ทั้งนักสิ่งแวดล้อมผู้ต่อต้านท่อส่งน้ำมันหรือจอมถลุงผู้ปฏิเสธเรื่องโลกร้อน ดิอิโคโนมิสต์ตั้งคำถามว่าอะไรทำให้พวกนี้กลายเป็น "นักประชานิยม" กันได้หมด และคำๆ นี้มีความหมายจริงหรือไม่
ดิอิโคโนมิสต์บอกว่ามีการใช้คำๆ นี้กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ช่วงราวปี ค.ศ. 1900-1910 แล้ว โดยในตอนนั้นขบวนการประชานิยมในสหรัฐฯ นำกลุ่มคนในชนบทร่วมมือกับพรรคโดโมแครตในยุคนั้นต่อต้านพรรครีพับลิกันในยุคนั้นที่เข้าหาคนในเมืองมากกว่า พอถึงช่วงปี ค.ศ. 1940-1950 พวกนักวิชาการและนักข่าวเอาคำนี้มาขยายความหมายให้กว้างกว่าเดิมจนกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นพวกฟาสซิสต์ พวกคอมมิวนิสต์ พวกหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์แบบสุดโต่งในสหรัฐฯ แนวคิดการเมืองในแบบของฮวน เปรอง ที่ เอาทั้งชาตินิยม สังคมนิยม และประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม เข้ามารวมกัน
การนำมาใช้เฝือมากเช่นนี้ทำให้นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เบนยามิน มอฟฟิตต์ เขียนไว้ในหนังสือเขาว่าถึงแม้คำๆ นี้จะมีประโยชน์แต่มันถูกเอามาใช้กันอย่างเละเทะจนไม่สามารถอธิบายได้ในแบบเดียว บางคนโยงเรื่องประชานิยมกับการที่คนไม่พอใจเรื่องสถานะหรือสวัสดิการตกต่ำลง บ้างก็โยงกับการโหยหาชาตินิยมในอดีต แต่บ้างก็มองว่าเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ผู้นำที่ดึกดูดผู้คนใช้ชักจูงมวลชนในการเอาชนะอำนาจเดิม (แม้ว่าขบวนการประชานิยมไม่จำเป็นต้องมีผู้นำแบบที่ว่า) แม้คำๆ นี้จะใช้กันเรื่อยเปื่อยมาก แต่ก็ถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ
กาส มุดเด นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งจอร์เจียกล่าวไว้เมื่อปี ค.ศ. 2004 ว่า คำว่าประชานิยมเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเขาแล้วคำๆ นี้เป็น "อุดมการณ์หลวมๆ" ที่มีกรอบความคิดว่าเป็นเรื่องของ "ประชาชนที่แสนบริสุทธิ์" ปะทะกับ "ชนชั้นนำที่เสื่อมทราม" ซึ่งตรงกันข้ามกับพหุนิยมที่ยอมรับว่าในโลกนี้มีความชอบธรรมของกลุ่มคนหลายๆ กลุ่มที่แตกต่างกัน ความที่มันเป็นอุดมการณ์หลวมๆ ทำให้มันไแปะติดอยู่กับ "อุดมการณ์หนาๆ" แบบไหนก็ได้ไม่ว่าจะเป้นสังคมนิยมหรือชาตินิยม ฝ่ายต้านจักรวรรดิ์นิยมหรือฝ่ายเหยียดเชื้อชาติสีผิว
ดิอิโคโนมิสต์อธิบายต่อไปว่าหนึ่งในตัวอย่างของการเอา "อุดมการณ์หลวมๆ" ดังกล่าวมาใช้คือการที่ชาวอังกฤษลงประชามติออกจากการเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรป (Brexit) พวกเขาอ้างตัวเองว่าเป็น "กลุ่มประชาชน" ผู้ไม่สนใจผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายและประกาศว่าจะ "ขยี้ชนชั้นนำ" โดยที่ Brexit เองก้ไม่มี "อุดมการณ์หนาๆ" ที่รวมกลุ่มได้ชัดเจน ทั้งนี้หลายคนก็มองว่าคำว่า "ประชานิยม" นั้นทำให้ไม่มีการมองอะไรในมิติอื่นๆ นักรัฐบาลศาสตร์อย่าง ญาณ แวร์เนอร์ มุลเลอร์ กล่าวว่าคำว่า "ประชานิยม" ยังมีคนนำมาอ้างเพื่อให้ตัวเองดูเหมือนเป็นตัวแทนของประชาชนเพียงหนึ่งเดียวและอะไรอย่างอื่นถือว่าไม่มีความชอบธรรมอีกด้วย
ดิอิโคโนมิสต์ยังชี้ว่ามีการแยกย่อยประชานิยมใหญ่ๆ ออกเป็นสองสายคือสายที่ "กีดกันคนอื่นออกไป" (exclusive) อย่างกลุ่มที่ต่อต้านผู้ลี้ภัยและสายที่ "รวมคนเข้าหา" (inclusive) อย่างกลุ่มที่เปิดกว้างให้คนที่ถูกเหมารวมตีตราอย่างคนจนและคนกลุ่มน้อยให้มีส่วนร่วมทางการเมืองงด้วยซึ่งประชานิยมสายนี้มักจะปรากฎในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา มุดเดกล่าวว่าประชานิยมอาจจะมีข้อดีทำให้กลุ่มชนชั้นนำต้องหันมาหารือกันถึงประเด็นที่พวกเขาเคยละเลยมาก่อน แต่ประชานิยมที่อ้างว่า "ประชาชนถูกเสมอ" นั้นเป็นข่าวร้ายทั้งสำหรับเสรีนิยมประชาธิปไตยและสิทธิของชนกลุ่มน้อยรวมถึงหลักนิติธรรม
เรียบเรียงจาก
What is populism?, The Economist, 19-12-2016 http://www.economist.com/blogs/economist-explains/2016/12/economist-explains-18
แสดงความคิดเห็น