ลูกจ้างนิปปอนสตีลถูกนายจ้างปิดงานก่อนปีใหม่

Posted: 25 Dec 2016 07:01 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะ แถลงนายจ้างนิปปอนสตีล ปิดงานเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสมาชิก หลังเจรจามากว่า 2 เดือน ตกลงได้ 2 ข้อ คือโบนัส และเงินขึ้น จาก 4 ข้อเรียกร้อง

25 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์ voicelabour.org รายงานว่าสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์หลังนายจ้างบริษัท นิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีลโพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัดได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 เพื่อขอยุติการเจรจาและปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานฯโดยให้มีผลในวันที่ 23 ธันวาคม 2559 เวลา 13.00 น. หลังจากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทยสาขาอีสเทิร์น1,2ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อนายจ้างบริษัทนิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีลโพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559ได้มีการเจรจาตามขั้นตอนของตามกฎหมายแต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ทางสหภาพแรงงานฯ จึงได้ทำหนังสือแจ้งพิพาทต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดระยอง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2559 หลังจากนั้นพนักงานประนอมข้อพิพาทได้มีการไกล่เกลี่ยทั้งหมด 5 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ผลการเจรจาก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดไกล่เกลี่ยครั้งที่ 6 ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2559 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง แต่นายจ้างได้ยื่นเพื่อขอปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงาน

นายไพฑรูย์ บางหลง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวถึงกรณีสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย ลูกจ้างของบริษัทนิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีลโพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ถูกนายปิดงานเฉพาะส่วน 160 กว่าคนโดยไม่จ่ายค่าจ้าง เนื่องจากการเจรจาตกลงกันไม่ได้นั้น เป็นเรื่องที่สร้างความรู้สึกเสียใจให้กับลูกจ้างมาก เพราะการเจรจาก็สามารถตกลงกันได้แล้วในข้อหลักจำนวน 2 ข้อ คือนายจ้างตกลงจ่ายโบนัส และปรับเงินขึ้นให้ ซึ่งโบนัสที่ตกลงกันตามเกรดอายุงานต่ำสุดอยู่ที่ 3 เดือนบวกอีก 22,000 บาท เหลือแต่เรื่องการหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับเรื่องการจัดสวัสดิการให้เท่าเทียมกัน เนื่องจากบรัทนิปปอนสตีลฯ มี 2 โรงในพื้นที่เดียวกันแต่ว่าสวัสดิการมีความต่างกัน อย่างการคำนวณการทำงานล่วงเวลาหรือ OT เป็นต้น ข้อเรียกร้องอื่นๆได้ถอนกันไปแล้ว จึงเหลือที่เจรจาทั้งหมด 4 ข้อ ตกลงกันแล้ว 2 ข้อ การปิดงานจึงมองว่าไม่สมเหตุสมผล แม้ว่าตัวแทนนายจ้างจะอ้างว่าเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เรียกร้องนั้นมีลูกจ้างบ้างส่วนไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะผู้แทนเจรจาฝ่ายสหภาพแรงงานก็ให้นายจ้างสอบถามความต้องการแล้วหักเฉพาะส่วนที่ลูกจ้างต้องการ

นายไพฑรูย์กล่าวอีกว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินในอนาคตเป็นการสะสมเพื่อสร้างหลังประกันให้กับลูกจ้างเมื่อเกษียณอายุซึ่งถือเป็นนโยบายที่กำหนดเป็นกฎหมายแม้ว่าจะไม่ใช่การบังคับให้ต้องมีและให้เป็นความสมัครใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในการสะสมเป็นกองทุน ล่าสุดพนักงานประนอมได้แจ้งว่าจะนัดไกล่เกลี่ยครั้งต่อไปในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2559 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ปัจจุบันสมาชิกสหภาพแรงงานฯได้ชุมนุมอยู่ที่สำนักงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกพื้นที่บ่อวินในเขตพื้นที่พันเสด็จใน ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

“วันนี้สหภาพแรงงานยังหวังที่เจรจากับนายจ้างเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน แม้ว่านายจ้างจะปฏิเสธในการเจรจาตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคมแล้วก็ตาม ลูกจ้างกับนายจ้างต้องอยู่ร่วมกันอย่างไรก็ต้องคุยกัน แม้ว่าลูกจ้างจะเสียใจกับการที่นายจ้างปิดงานก็ตาม ต้องเข้าใจว่าการยื่นข้อเรียกร้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ต้องมีการปรับเรื่องสภาพการจ้างประจำปี และลูกจ้างเองก็หวังจะได้โบนัสกลับบ้านต่างจังหวัดไปให้ครอบครัว บางคนต้องเอาไปจ่ายค่าเกี่ยวข้าว ไปใช้หนี้กันอีก เราไม่ใช่แค่แรงงานแบบเพรียวๆคนเดียวเรายังมีครอบครัวที่รอเงินจากการขายแรงงานไปหล่อเลี้ยงชนบทด้วย ทำงานทั้งปี และทั้งชีวิตก็อยากเห็นสิ่งที่เรียกว่าหลักประกันอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่ออนาคตด้วย” นายไพฑรูย์กล่าว

ทั้งนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยเงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสะสม“ และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ” กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลักษณะของสวัสดิการที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐผ่านกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกอบด้วย

- เงินสะสมของลูกจ้าง เป็นเงินที่ลูกจ้างยินยอมให้นายจ้างหักจากค่าจ้างสะสมเข้ากองทุนทุกเดือนในอัตราไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 2 (สอง) แต่ไม่เกินร้อยละ 15 (สิบห้า) ของค่าจ้าง โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนดไว้ใน ข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง

- เงินสมทบของนายจ้าง เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนลูกจ้างที่เป็นสมาชิกในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 (สอง) แต่ไม่เกินร้อยละ 15 (สิบห้า) ของค่าจ้าง โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนดไว้ใน ข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง

อัตราการจ่ายเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างอาจแตกต่างกันตามเงื่อนไข ระยะเวลาการทำงานหรือ ระยะเวลาการเป็นสมาชิกหรือ ตามตำแหน่งหรือ ตามอัตราเงินเดือนของลูกจ้างนั้นๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการจูงใจหรือเป็นสวัสดิการส่วนเพิ่มให้กับลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างเป็นเวลานาน

เนื่องจากเงินกองทุนนี้เป็นสวัสดิการเพิ่มให้กับลูกจ้าง นายจ้างจึงมีสิทธิกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินออกสำหรับเงินสมทบของนายจ้างและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่จะกำหนดให้ลูกจ้างได้รับตามอายุงาน เช่นลูกจ้างออกจากงานและมีอายุการทำงานน้อยกว่า 5 ปี ได้รับเงินส่วนของนายจ้าง 50% ถ้าครบ 5 ปี ขึ้นไปได้ 100% เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการจูงใจให้ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างเป็นเวลานานเช่นกัน (ข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางส่วนจาก http://www.cimb-principal.co.th/)


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.