รายงานพิเศษ: คลื่นความถี่ สมบัติสาธารณะที่ยังไม่เป็นจริง
Posted: 25 Dec 2016 09:42 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
กว่า 24 ปีของการปฏิรูปสื่อ รัฐยังไม่ยอมปล่อยคลื่นคืนสาธารณะ กสทช. ที่เป็นทหาร-ตำรวจเกินครึ่งทำงานไม่คืบ แถมตัดสินให้หน่วยงานรัฐครองคลื่นต่อ โดยไม่สนงานศึกษาของอนุกรรมการ ซ้ำ คสช. ออกคำสั่งไม่ต้องคืนคลื่นอีก 5 ปี เผยกองทัพบกยังเก็บคลื่นในมือกว่า 100 สถานี
หลายคนอาจคุ้นชื่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. เลาๆ ว่าเป็นคนจัดประมูลคลื่นโทรคมนาคมต่างๆ รวมถึงจัดประมูลทีวีดิจิทัลหลายสิบช่องเมื่อไม่กี่ปีมานี้ อันที่จริงภารกิจอันใกล้กว่านั้นของ กสทช. (ซึ่งเป็นภารกิจตั้งแต่เริ่มต้นศักราช ‘การปฏิรูปสื่อ’ เมื่อปี 2540) คือการนำคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือคลื่นวิทยุมาจัดสรรใหม่ โดยแบบแม่บทกำหนดให้มีการคืนคลื่นภายใน 5 ปี (ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2560 นี้)
รายงานชิ้นนี้จะชวนสำรวจความคืบหน้าของการเรียกคืนคลื่นวิทยุเหล่านี้
ทำไมต้องเอาคลื่นคืน
ก่อนยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้เพียงขยับปลายนิ้ว พิมพ์สเตตัส หรือไลฟ์บนเฟซบุ๊ก การเป็นสื่อหรือเป็นเจ้าของสื่อเป็นเรื่องยากจะเข้าถึง วิทยุและทีวีเป็นของรัฐ ส่วนหนึ่งเอกชนได้สิทธิใช้ผ่านสัญญาสัมปทาน ซึ่งแน่นอนว่าง่ายต่อการควบคุมเนื้อหา
จนเมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่คนหาข่าวการชุมนุมในสื่อเหล่านี้ไม่ได้ บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์ เคยให้ภาพช่วงนั้นไว้ว่า "วิทยุและโทรทัศน์ถูกใช้เป็นปัจจัยในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างหนักหน่วง นอกจากโฆษณาชวนเชื่อที่ตกแต่งให้คนคนนี้กลายเป็นเทวดาผู้ถูกสวรรค์ส่งมาโปรดผู้บาปหนาแล้ว สื่อมวลชนรัฐเหล่านี้ถูกกะเกณฑ์ให้ละเลย บิดเบือน และใส่ร้ายพลังประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ”
สอดคล้องกับที่ รัตนะ บัวสนธ์ เขียนไว้ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
"การปิดกั้นเสรีภาพในการเสนอข่าวสารอย่างเที่ยงตรงของสื่อมวลชนจากเหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น กล่าวได้ว่า การที่ฝ่ายรัฐบาลใช้อำนาจแทรกแซง เสนอข่าวสารผ่านโทรทัศน์ วิทยุ ตลอดจนหนังสือพิมพ์บางฉบับเป็นไปในทำนองปิดกั้นเสรีภาพของผู้สื่อข่าว บิดเบือน โฆษณาชวนเชื่อ ให้ข่าวด้านลบในการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการเสนอข่าวด้านเดียวนั้น ยิ่งทำให้เกิดความสงสัยต่อกลุ่มคนที่ได้รับฟังข่าวสาร และอยู่ในบริเวณโดยรอบกรุงเทพมหานคร หลั่งไหล เดินทางไปยังถนนราชดำเนิน เพื่อรับรู้ข้อมูลที่แท้จริง เนื่องมาจากการได้รับข่าวลือ ข่าวลวงต่างๆ นานา จากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรสาร โทรศัพท์ เป็นต้น"
ด้วยเหตุการณ์เหล่านี้เอง พร้อมๆ กับกระแสเรียกร้องปฏิรูปกองทัพ ก็เกิดกระแสเรียกร้องปฏิรูปสื่อขึ้นด้วย อันเป็นที่มาของไอทีวี และที่สุดนำมาซึ่งมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะ พร้อมให้มีการตั้งองค์กรอิสระเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการ ทีวี วิทยุ โทรคมนาคม โดยให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนและทำให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม
ต่อมา องค์กรที่ว่าถูกเปลี่ยนหน้าตาไปหลังรัฐประหาร 2549 โดยจากเดิมที่มีสององค์กรคือ กสช. (คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ) และ กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้รวมทั้งสององค์กรเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นองค์กรที่ชื่อว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดยชุดแรกเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2554
นอกจากการที่ กสทช. จะมีทหารและตำรวจเข้าไปนั่งเป็นกรรมการถึง 6 นายจากทั้งหมด 11 คนแล้ว การที่มีคนจากภาคประชาชนอย่างสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ได้รับเลือกเป็นกรรมการด้วย ก็เป็นที่จับตาไม่น้อย ขณะนั้น มีทั้งเสียงแสดงความยินดีที่คนทำงานจะได้เข้าไปทำฝันให้เป็นจริง และเสียงที่ตั้งคำถามว่าจะเป็นได้แค่ไม้ประดับหรือไม่
กสทช. ชุดนี้ออกแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ เมื่อปี 2555 กำหนดให้เรียกคืนคลื่นความถี่ที่อยู่ในครอบครองจากหน่วยงานรัฐทั้งหมด โดยคลื่นที่หน่วยงานรัฐให้เอกชนเช่าก็ให้คืนเมื่อสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน ส่วนคลื่นที่อยู่นอกเหนือสัญญาสัมปทาน กำหนดระยะเวลา 5 ปี สำหรับกิจการกระจายเสียง 10 ปีสำหรับกิจการโทรทัศน์ และ 15 ปีสำหรับกิจการโทรคมนาคม โดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 82 และมาตรา 83 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีคลื่นความถี่อยู่ในครอบครอง ต้องแจ้งความจำเป็นในการถือครองคลื่นฯ เพื่อประกอบการพิจารณาเรียกคืนคลื่นฯ มาจัดสรรใหม่ หากหน่วยงานรัฐใดยังมีความจำเป็นสามารถถือครองคลื่นฯ ต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีหลังแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ของ กสทช. ประกาศใช้
ข้อมูลจากสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ระบุว่า คลื่นวิทยุระบบเอฟเอ็มและเอเอ็มนั้น ถือครองโดยกองทัพ (กองทัพบก, กองทัพอากาศ, กองทัพเรือ และกองบัญชาการกองทัพไทย) มากที่สุดถึง 198 สถานี, ตามด้วยกรมประชาสัมพันธ์ถือครองคลื่นวิทยุรวม 145 สถานี, บมจ.อสมท 62 สถานี, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือครอง 44 สถานี, สนง.เลขาธิการสภาผู้แทนฯ 16 สถานี, สำนักงาน กสทช. 8 สถานี และกรมอุตุนิยมวิทยา 6 สถานี
เกือบ 5 ปีของการเรียกคืนคลื่น 5 ปีที่ไม่มีอะไรคืบหน้า
ว่ากันเฉพาะส่วนของวิทยุ ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนเมษายนปีหน้า (2560) นี้ ความคืบหน้าเดียวที่มีคือยังไม่มีความคืบหน้า
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้เห็นชอบรับรองการถือครองคลื่นที่อยู่ในมือของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 27 หน่วยงาน 537 คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ไว้ให้ถือครองหรือใช้งานได้จนถึงระยะเวลาสูงสุดที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทฯ คือ 3 เมษายน 2560
สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการ กสท. ที่ทำงานประเด็นนี้มาอย่างยาวนาน เป็นเสียงข้างน้อยในวันนั้น ที่เห็นว่า ควรมีการพิจารณาความจำเป็นเป็นรายสถานีไป และควรมีการกำหนดให้คืนคลื่นได้เร็วกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยจนถึงระยะเวลาช้าสุดเท่าที่จะช้าได้ รวมถึงมีการกำหนดแผนจัดสรรต่อไปหลังได้คืนแล้ว
สุภิญญา ชี้ว่า ในรายงานที่อนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานและพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (อนุความจำเป็นฯ) ชงเข้ามา ลงรายละเอียดไว้ค่อนข้างดี แต่กรรมการก็ไม่ได้พิจารณาข้อมูลที่อนุความจำเป็นฯ พิเคราะห์มา และฟันธงเลยว่าชอบด้วยกฎหมาย คล้ายเป็นการยกประโยชน์ให้จำเลย
ทั้งนี้ รายงานของอนุความจำเป็นฯ เป็นข้อมูลลับ เผยแพร่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในบันทึกความเห็นต่าง ของ สุภิญญา กลางณรงค์ ในการประชุม กสท. เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2559 ตอนหนึ่งระบุถึงรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ไว้ว่า จากรายงานฯ มีกลุ่มหน่วยงานที่ประกอบกิจการกระจายเสียงสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน 18 หน่วยงาน โดยใช้ 113 คลื่นความถี่ และกลุ่มหน่วยงานที่ประกอบกิจการกระจายเสียงไม่สอดคล้องกับภารกิจบางส่วน 10 หน่วยงาน โดยใช้ 425 คลื่นความถี่
กองทัพบกเก็บคลื่นไว้ในมือ 127 สถานี อ้างเก็บไว้ทำงาน
กองทัพบกมีสถานีวิทยุกระจายเสียงในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 127 สถานี แบ่งเป็น เอฟเอ็ม 49 สถานี เอเอ็ม 78 สถานี แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของกองทัพบก พ.ศ.2556–2560 จัดทำโดย สำนักงานกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมกองทัพบก ระบุความจำเป็นในการมีกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของกองทัพบก โดยระบุถึงภาระของกองทัพตามกฎหมายและหน้าที่หลักของกองทัพ นอกจากนี้ ยังระบุถึงยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์กองทัพบกด้วย
"กองทัพบกในฐานะกลไกหลักของรัฐในการรักษาความมั่นคงของชาติ ยังคงยึดมั่นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ ทำนุบำรุงพระศาสนา ปกป้อง เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของกองทัพในทุกด้านให้มีความพร้อมสำหรับการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตั้งแต่อดีตในการประชาสัมพันธ์ การปฏิบัติการจิตวิทยา และการปฏิบัติการข่าวสาร สนับสนุนภารกิจของกองทัพบกมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ในฐานะเป็นเครื่องมือหลักทางทหารที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐและประชาชน ซึ่งในหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา กองทัพบกได้ให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของชาติในภาวะวิกฤตมาโดยตลอดอย่างเป็นรูปธรรม"
กสทช. มี...เหมือนไม่มี
แล้วจริงๆ ควรจะเป็นอย่างไร กรรมการ กสท. เสียงข้างน้อย มองว่า อย่างน้อยที่สุดในช่วง 1-2 ปีแรก ควรจะตรวจสอบความจำเป็นของคลื่นวิทยุบางส่วนจาก 500 กว่าราย ที่จริงๆ อาจจะชอบธรรมที่เขาได้รับการรับรอง ยกตัวอย่างวิทยุด้านการศึกษาทั้งหลายที่ทำโดยมหาวิทยาลัย มีการใช้ในเรื่องการศึกษาจริงๆ ประกอบกิจการด้วยตนเอง ไม่ได้เอาไปเช่าช่วงหรือแสวงหากำไรทางธุรกิจ หรือวิทยุบางส่วนของหน่วยงานรัฐที่ใช้ในเรื่องข่าวสารสาระจริงๆ ก็ควรจะถูกกรองไปก่อนและทยอยรับรองความชอบธรรมของเขา และบางส่วนที่ใกล้ตัว อย่าง 1 ปณ. ของสำนักงาน กสทช. ควรจะทำตั้งแต่ปีแรก เพราะไม่มีเหตุผลที่สำนักงาน กสทช. จะถือครองไว้ โดยบอร์ด กสท. อาจเอาคลื่น 1 ปณ. มาเป็นตัวอย่าง ถ้าอยากจะทำวิทยุดิจิทัล อาจจะเอามาทดลองได้ หรือถ้าจะลองจัดสรรคลื่นโดยการทดลองประมูลก็อาจจะทดลองได้หรือจัดสรรเป็นสาธารณะก็ได้
“ตอนนี้คลื่นนี้มูลค่ามันสูงขึ้นมาเพราะในกระแสสากลมันเอาคลื่นไปทำบรอดแบนด์ได้แล้ว ก็คือคลื่น 700 ที่เขาว่ากัน เมื่อก่อนมันเป็นคลื่นที่ทำโทรทัศน์ทั่วโลก เพราะเป็นคลื่นย่านต่ำ ตอนนี้ ในยุโรป อเมริกา ก็เริ่มเอาคลื่นโทรทัศน์กลับมาทำ 4G 5G ทำให้มูลค่าคลื่นสูงขึ้นมาก เท่ากับคลื่นอนาล็อกธรรมดาๆ ที่รอวันเอาท์มันดันมูลค่าสูง”
"ถ้าลากมาถึง 5 ปี คุณจะไม่มีเวลาจัดสรรใหม่ ต้องโยนให้กับ กสทช. ชุดหน้า เท่ากับเราล้มเหลวที่จะจัดสรรคลื่นวิทยุ เราเข้ามาแค่รักษาสถานะเดิมของวิทยุ พูดง่ายๆ ว่าเราเลือกที่จะไม่ทำอะไรกับวิทยุใช่ไหม นอกจากให้ใบอนุญาตที่ถูกกฎหมายกับรายใหม่ แต่รายเดิมแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย เท่ากับเราลาก 6 ปี (อายุงาน กสทช.) เพื่อให้ชุดใหม่มาทำเรื่องคืนคลื่น" สุภิญญากล่าวและว่าจนขณะนี้ ก็ยังไม่มีแผนว่าได้มาแล้วจะทำอะไรต่อไป
"การปฏิรูปสื่อก็ไม่ได้หมายความถึงการคืนคลื่นของภาครัฐอีกต่อไป แต่หมายถึงการไปกำกับควบคุมจรรยาบรรณ เสรีภาพของสื่อธุรกิจหรือสื่อทั่วไปมากกว่า วาทกรรมมันก็เปลี่ยน ทำให้แรงผลักดันเรื่องการคืนคลื่นแผ่วลง เพราะคลื่นมันก็คือขุมทรัพย์ คือทรัพยากรที่สร้างมูลค่าได้ ใครได้มาก็ไม่อยากคืนอยู่แล้ว"
คสช. ออกคำสั่งเอื้อให้เก็บ ‘สมบัติสาธารณะ’ ไว้ในมือทหาร ไม่ปล่อยให้ประชาชน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ กสทช.จะได้ชื่อว่า ‘ล้มเหลว’ ในการจัดสรรคลื่นความถี่ พระเอก (!?) ขี่ม้าขาว ในนาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาแก้วิกฤตนี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่ง คสช. ที่ 76/2559 ชะลอการเรียกคืนคลื่นความถี่วิทยุตามแผนแม่บทของ กสทช. ที่เดิมกำหนดต้องส่งคืนทั้งหมดภายใน เม.ย. 2560 ให้เลื่อนไปอีก 5 ปี
สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้อำนวยการสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความผิดหวังหลังคำสั่งนี้ออกมา เธอมองว่า การทำเช่นนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ทหารซึ่งมีคลื่นอยู่ในมือจำนวนมากและยังไม่เคยมีการเปิดเผยผลการพิจารณาความจำเป็นของการใช้คลื่นเลย
ขณะที่เธอพูดถึงบทบาทของ กสทช.ด้วยว่า ที่ผ่านมา สิ่งที่ทำได้ก็เพียงแค่ออกใบอนุญาตดิจิตอลทีวีเท่านั้นเอง ส่วนวิทยุนั้น พันเอก นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธาน กสท.เคยให้สัมภาษณ์วิทยุจุฬาว่า ถือว่ามีการกระจายการถือครองแล้วในส่วนของวิทยุชุมชน แต่เธอมองว่า นั่นยังเป็นเพียงใบอนุญาตชั่วคราว และแม้แต่คลื่นหลักต่างก็อยากให้มีการจัดสรร
"จริงอยู่ว่าวิทยุอาจจะไม่ได้ทันสมัยหรือเป็นที่นิยมอีก แต่ในห้าปีอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ เช่น อาจเกิดดิจิทัลเอฟเอ็ม เอเอ็มขึ้น แต่ทหารไม่ยอมคายคลื่นใช่ไหม"
สุวรรณชี้ว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือจะไม่มีการจัดประเภทวิทยุไปอีก 5 ปี ว่าวิทยุไหนเป็นวิทยุสาธารณะ ธุรกิจ หรือชุมชน แบบที่ทีวีทำ คนที่จัดประเภทตัวเองว่าเป็นวิทยุสาธารณะมา 5 ปีแล้วอย่างวิทยุจุฬาฯ จะอยู่ไม่รอด ถ้าไม่มีการช่วยเหลือทางการเงิน (Subsidy) ส่วนวิทยุชุมชนจะไม่มีทางขึ้นมาบนคลื่นหลักได้เลย วิทยุธุรกิจขนาดเล็กก็ตายหมด แทนที่จะได้รวมกลุ่มกันประมูลคลื่นหลัก นี่ก็เป็นการบิดเบือนตลาดอีกอันหนึ่ง
เธอกล่าวต่อว่า รอไปอีก 5 ปี วิทยุดิจิตอลอาจจะไม่มีประโยชน์แล้วก็ได้ ตอนนี้ทุกอย่างข้ามแพลตฟอร์มไป เราฟังวิทยุได้ทางออนไลน์หรือฟังในรถ ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อวิทยุมาฟัง มีทีวีอีก 30 กว่าช่อง มีสมาร์ททีวีที่ดูทีวีผ่านเน็ตได้ แล้วจะขยายเวลาอีก 5 ปี ถามว่าจะรอเทคโนโลยีตายใช่ไหม
พวกเขากลับมาเพื่อหมุนเข็มนาฬิกาให้เดินกลับหลัง
กลับไปย้อนมองตั้งแต่เริ่มมีการกำหนดการเรียกคืนคลื่นไว้ สุเทพ วิไลเลิศ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ บอกว่า แม้จะดูเหมือนสำเร็จในแง่กฎหมาย แต่ในเชิงการปฏิบัติแล้ว ยังไม่เคยมีองค์กรที่ทำหน้าที่นี้ได้เลย
"เรามี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2543 ที่กำหนดให้มีการคืนคลื่น ห้ามรัฐเอาคลื่นให้เอกชนทำสัญญาสัมปทานต่อและให้ประกอบกิจการเอง ทั้งยังให้ กสช.กำหนดเวลาเรียกคืนคลื่นความถี่ จัดสรรใหม่ แบ่งเป็นสามประเภทคือ สาธารณะ ธุรกิจ และชุมชน และแบ่งเป็นระดับภูมิภาคและท้องถิ่น หน่วยงานรัฐจะใช้ต้องแสดงความต้องการว่าจะใช้ แต่ทั้งหมดต้องแบ่งให้ภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ตอนนั้น ภาพวิทยุชัดกว่าเพราะใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า จึงเกิดวิทยุชุมชนขึ้นมา"
แต่จนแล้วจนรอด สัดส่วนร้อยละ 20 นี้ก็ไม่เคยถึงมือประชาชน
"แต่มาถึงวันนี้แม้เราจะมีอินเทอร์เน็ต มีช่องทางสื่อสารอื่นๆ แต่ที่ประชาชนได้ใช้คืออินเทอร์เน็ตหรือออนไลน์ ที่ต้องซื้อบริการ ขณะที่คลื่นวิทยุ 20 เปอร์เซ็นต์คือการจัดสรรทรัพยากร คือสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในการสื่อสารโดยตรง ดังนั้น การเรียกคืนคลื่นยังจำเป็นและเป็นประโยชน์”
สุเทพมองว่าอาการเตะถ่วงนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา แม้ว่ามี กสทช. แล้ว แต่ กสทช.ก็ยังไม่เรียกคืน ให้ถือได้ 5 ปีเต็ม และ คสช. ก็ต่อเวลาให้อีก 5 ปี
เปรียบเทียบกับสื่อทีวี เขามองว่า กรรมสิทธิ์ในสื่อทีวียังดูเหมือนจะเปลี่ยนบ้าง โดยไปอยู่ในมือของเอกชน แม้รัฐจะเอาค่าประมูลไป แต่ว่ากันถึงที่สุด รัฐก็ผันตัวไปเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายส่งสัญญาณทีวีดิจิตอล (MUX) เวลาเกิดรัฐประหาร อยากจะปิดทีวีก็ไปที่ MUX แทน เท่ากับรัฐจะคุมเนื้อหาได้ ในทางเทคนิคเหมือนเกตเวย์อย่างหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็เอามาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ เอาการกำกับดูแลด้านเนื้อหามาเป็นเครื่องมือ แล้วก็ไม่มีกลไกอะไรชัดเจนเลยที่จะบอกว่าอะไรผิด ผิดแค่ไหน แล้วก็โยนมาเป็นเรื่องกำกับดูแลว่าไม่สามารถกำกับดูแลกันเองได้
"ระยะหลัง ฝ่ายวิชาชีพ วิชาการ มักพูดว่าการปฏิรูปสื่อคือการกำกับดูแลเนื้อหา มันเหมือนกับตั้งเป้าหมายพุ่งไปทางนั้น ทั้งที่ตัวกรรมสิทธิ์หรือการครอบครอง การเป็นเจ้าของสื่อมันยังไปไม่ถึงไหนเลย มันเป็นการเบี่ยงเบนออกไป สุดท้าย มันพลิกไปจากจุดเดิม"
จากความไม่สำเร็จเหล่านี้ สุเทพชวนกลับมาทบทวนว่า ในการรัฐประหารแต่ละครั้ง ก่อให้เกิดการช่วงชิงทรัพยากรโดยหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่แค่เรื่องคลื่นความถี่ แต่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่กระทบสังคมด้วย ถ้ามีการเลือกตั้ง คงต้องคิดกันว่า ทำอย่างไรจะไม่เกิดรัฐประหารอีก นอกจากนี้ ยังชวนคิดว่าเรื่องการกระจายการถือครองคลื่นหรือโครงสร้างที่เป็นธรรมในยุคนี้จะต้องมองไกลถึงคลื่นโทรคมนาคมด้วยหรือไม่ เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิที่จะใช้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างน้อยร้อยละ 20 ต้องหาหลักไมล์ใหม่ที่มีความชัดเจนร่วมกัน
แสดงความคิดเห็น