เครือข่ายนักวิชาการฯ ออกแถลงการณ์จี้รัฐไทย ทบทวนเพิกถอนประกัน "ไผ่ ดาวดิน"

Posted: 27 Dec 2016 09:24 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐไทย ทบทวนการพิจารณาเพิกถอนสัญญาปล่อยตัวชั่วคราว "ไผ่ ดาวดิน" ชี้สิทธิประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน พร้อมระบุผู้ต้องหาไม่ได้ทำผิดเงือนไขการประกันตัว

28 ธ.ค. 2559 เฟซบุ๊กแฟนเพจ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส. ได้เผยแพร่แถลงการณ์ครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เรื่องเรียกร้องให้ทบทวนการพิจารณาเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว “ไผ่ ดาวดิน” โดยมีเนื้อหาดังนี้่

ตามที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ข่าว BBC ไทย นั้น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) มีความห่วงใยต่อการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานดังกล่าว จึงขอแสดงความคิดเห็นและมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.สิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และนับแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 สิทธิดังกล่าวก็ได้ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญตลอดมา การรับรองสิทธิดังกล่าวมีผลให้ในการดำเนินคดีอาญานั้น ต้องถือเป็นหลักว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ส่วนการควบคุมตัวในระหว่างการดำเนินคดีเป็นเพียงเหตุยกเว้นเท่านั้น(ข้อ 2 ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2548)ซึ่งเป็นการยืนยันหลักการพื้นฐานสำคัญในทางกฎหมายที่บุคคลผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะได้พิจารณาตัดสิน

2. ข้อ 8ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ กำหนดว่าในการปล่อยชั่วคราวนั้นศาลอาจกำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือเพื่อป้องกันภยันอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวก็ได้ และหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นก็ให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้

คนส. ได้พิจารณาและมีความเห็นในทางวิชาการว่า นายจตุภัทร์ยังไม่ได้แสดงหรือกระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลได้กำหนดในคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ที่กำหนดให้นายประกันและผู้ต้องหามาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ ทั้งนี้ ความปรากฏว่าศาลไม่ได้กำหนดให้การลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นเงื่อนไขของการให้ประกันตัวแต่อย่างใด อีกทั้งหากกำหนดให้ต้องลบข้อความดังกล่าว ก็อาจทำให้เข้าใจไปในทิศทางที่ว่าศาลได้วินิจฉัยไปแล้วว่าการกระทำที่กล่าวหาเป็นความผิดโดยที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ยิ่งกว่านั้นนายจตุภัทร์ยังได้แจ้งต่อศาลอย่างชัดเจนว่าเหตุผลที่ไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาก็เพราะต้องการจะเก็บไว้เป็นพยานหลักฐานต่อสู้คดีในชั้นพิจารณา การไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหานั้นจึงเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้ประกันตัวของศาลที่ห้ามเกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานในคดีและเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหาจะไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ประกอบกับนายจตุภัทร์จะต้องสอบรายวิชาสุดท้ายเพื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในเดือนมกราคม 2560 นี้ พฤติการณ์จึงไม่อาจกล่าวได้ว่านายจตุภัทร์จะหลบหนีหากมีการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดําเนินคดีในศาลแต่อย่างใด

ส่วนการที่นายจตุภัทร์แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์โดยการโพสต์รูปภาพหรือส่งข้อความบนเฟซบุ๊คภายหลังการปล่อยชั่วคราวตามที่กล่าวอ้างว่าเป็นการแสดงออกถึงพฤติกรรมในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองนั้น คนส. มีความเห็นทางวิชาการว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ตามกฎหมายเนื่องจากมิได้มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด และการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น ซึ่งมาตรา 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ได้กำหนดให้การเย้ยหยันอำนาจรัฐหรือการไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองเป็นเหตุในการสั่งไม่อนุญาตประกันตัว อีกทั้งศาลก็ไม่ได้กำหนดให้เป็นเงื่อนไขในการประกันด้วย การไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นเป็นข้อยกเว้นในทางกฎหมาย ซึ่งในทางนิติวิธีนั้นการบังคับใช้กฎหมายในกรณีข้อยกเว้นจะต้องกระทำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นบทบัญญัติซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยแล้ว ศาลไม่อาจที่จะวินิจฉัยนอกเหนือจากที่บทบัญญัติกฎหมายกำหนดเอาไว้ได้

นอกจากนี้ ไม่ปรากฎว่านายจตุภัทร์ได้กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติดังที่มีการกล่าวอ้าง และในการไต่สวนของศาลจังหวัดขอนแก่นก็ไม่ปรากฎว่ามีพยานหลักฐานยืนยันว่าการกระทำของนายจตุภัทร์ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ หากจะมีการกระทำที่เป็นความผิดก็เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากออกไป มิใช่เหตุที่จะนำมาขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด

การที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกัน จึงสร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่สังคม และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มนักกฎหมายว่าการพิจารณาดังกล่าวอาจไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ

3. ในภาวะที่เป็นอยู่นี้ คนส. มีความห่วงใยต่อทิศทางการบังคับใช้กฎหมายในทางที่จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่าง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม องค์กรตุลาการซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในนิติรัฐพึงปฏิบัติหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะคุณค่าที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญและได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย ควรจะต้องตระหนักและแสดงบทบาทของตนในการตรวจสอบว่าการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยคำนึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งรวมถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลล่างด้วย มิใช่ทำตัวเสมือนเป็นผู้พิทักษ์อำนาจรัฐอันไม่ชอบธรรมนั้นเสียเอง

เมื่อนายจตุภัทร์ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการหลบหนี ยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดําเนินคดีในศาล คนส.จึงไม่เห็นด้วยกับคำสั่งเพิกถอนประกันของศาลจังหวัดขอนแก่นและคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ดังที่ได้แสดงเหตุผลไว้แล้วข้างต้น

คนส.จึงขอเรียกร้องให้ศาลในฐานะองค์กรตุลาการซึ่งเป็นที่พึ่งในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ทบทวนการพิจารณาเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายจุตภัทร์ เมื่อมีการยื่นคำร้องตามกระบวนการของกฎหมายเพื่อคืนความปกติให้กระบวนการยุติธรรมและยืนยันหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
28 ธันวาคม 2559

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.