ก.แรงงานพร้อมพัฒนาแรงงานกว่า 3 ล้านคนในปี 60 คุมเข้มอันตรายจากการทำงานก่อสร้าง

Posted: 26 Dec 2016 12:03 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ร่วมมือกับ กรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วยเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการรับเหมาก่อสร้าง สร้างการรับรู้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงานกับปั้นจั่น

26 ธ.ค. 2559 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบกิจการ ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ถือเป็นการการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ทันกับยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาตร์กระทรวงแรงงาน 20 ปี รวมถึงเตรียมความพร้อมแรงงานก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยแรงงานต้องมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายด้านมากขึ้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงให้การสนับสนุนและกำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องมีการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับพนักงาน ด้วยการจัดฝึกอบรม การส่งเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หรือผ่านการรับรองความรู้ความสามารถในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพนักงานทั้งหมด โดยจะได้รับการยกเว้นการภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่หากไม่ดำเนินการต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการให้เงินกู้ยืมและเงินช่วยเหลือ หรืออุดหนุนให้แก่สถานประกอบกิจการเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้ลูกจ้าง
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน

ม.ล.ปุณฑริก กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุนมนุษย์ถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญในการแข่งขันของประเทศ ประเทศจะอยู่ได้หรือไม่นั้นอยู่ที่ทุนมนุษย์ของประเทศด้วย โดยปี 2560 กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายพัฒนาฝีมือแรงงาน 3,499,220 คน พร้อมมีวงเงินให้กู้ยืมแก่สถานประกอบกิจการ 30 ล้าน บาท รวมทั้งเงินช่วยเหลือ หรืออุดหนุนให้สถานประกอบกิจการในการพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 ล้านบาทในปีหน้า เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ซึ่งสามารถยื่นเอกสารของรับรองหลักสูตรผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (e - Service) ได้ที่หน้าเว็บไซต์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน

วันเดียวกัน รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งด้วยว่า เมื่อเวลา 09.05 น. พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ปั้นจั่นปลอดภัย ร่วมใจรักษ์ชีวิตแรงงาน” ณ ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม กระทรวงแรงงาน ว่า ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการเร่งรัดและพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสาธารณูปโภค ด้านที่พักอาศัย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการก่อสร้างของผู้ประกอบการ ผู้รับเหมา ซึ่งในแต่ละขั้นตอนของการก่อสร้างนั้น จะมีการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และใช้กำลังแรงงานจำนวนมาก ทั้งที่เป็นแรงงานไทยและแรงงานเพื่อนบ้าน และได้นำเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อทำให้ดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จากสถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม พบว่า กิจการก่อสร้างเป็นกิจการที่มีลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานสูงเป็นอันดับแรก โดยมีลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงาน 9,262 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.68 จากจำนวนลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุที่รุนแรง มีลูกจ้างเสียชีวิต หรือมีผลกระทบต่อสาธารณะ โดยเฉพาะที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างที่เกิดจากการใช้ปั้นจั่นบ่อยครั้ง จนก่อให้เกิดความเสียหายสูญเสียต่อทรัพย์สินรวมถึงการเสียชีวิตของลูกจ้าง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงแรงงาน โดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงร่วมมือกับ กระทรวงมหาดไทย โดย กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อกำกับดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ในกิจการก่อสร้างที่มีการใช้ปั้นจั่น เพื่อตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความปลอดภัยในการทำงาน และให้มีการบริหารจัดการป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงานอย่างจริงจัง อย่างต่อเนื่องและได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในอนาคตอีกด้วย

โดยผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ประกอบด้วยผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง บุคลากรที่เกี่ยวข้อง กับงานด้านความปลอดภัยในกิจการก่อสร้าง ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายหรือให้เช่าปั้นจั่นและวิศวกรผู้ควบคุมการดำเนินการ บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรขององค์กรเครือข่ายของ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 400 คน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.