3 ปีเต็มที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ ที่มี "ศุภชัย สมเจริญ" เป็นประธาน ปฏิบัติหน้าที่ "กรรมการ" การเลือกตั้ง วันเวลาผ่านมา 3 ปีเต็ม กกต.ทั้ง 5 คน แถลงตีปี๊บผลงาน 3 ปีผลงานโบแดงที่เห็นเป็นที่ประจักษ์คือการจัดประชามติ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นายศุภชัยกล่าวว่า นับแต่ กกต.ชุดนี้เข้ามาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ก็ต้องทำงานท่ามกลางวิกฤตการเมืองแต่ก็สามารถดำเนินการมาได้เรียบร้อย พร้อมได้กำหนดยุทธศาสตร์ 5 เรื่อง 1.การสร้างเครือข่ายป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง 2.พัฒนาศักยภาพนักจัดการเลือกตั้งมืออาชีพ 3. จัดตั้งหมู่บ้านปลอดการซื้อสิทธิขายเสียง 4. การเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกประชาชน และ 5.การเพิ่มประสิทธิภาพสืบสวนสอบสวนการวินิจฉัยและการดำเนินคดีในศาล โดยในปี 2560 กกต.จะเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งตามการดำเนินการของรัฐบาล
ทว่า ภารกิจ 3 ปีของ กกต.ชุดนี้ได้โต้คลื่นลมในช่วงที่การเมืองอย่างหนัก โดนข้อครหามากมาย เช่น เป็นกลไกเปิดประตูรัฐประหาร 22 พฤษภา 2557
เมื่อ กกต.ชุดนี้เข้ามาไม่ถึงเดือน ก็ตั้งโต๊ะแถลงให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทบทวนการจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 จนเกิดการตอบโต้กับคนในฝ่ายพรรคเพื่อไทยอย่างเผ็ดร้อน ส่วนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เข้ามาผสมโรงหลังจากนั้น โดยขอให้ กกต.ทบทวนการเลือกตั้งใหม่ เพราะเกรงว่าจะเสียเงินโดยไม่มีประโยชน์ ขณะเดียวกัน การเดินหน้ารับสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าก็เกิดปัญหาหลายจุด เนื่องจากมีกลุ่ม กปปส.ไปล้อมสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง แม้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.จะเกิดขึ้นได้ แต่ก็นำไปสู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันนั้นเป็นโมฆะ
ต่อมามีรายงานว่า กกต.มีมติเอกฉันท์ ฟ้องดำเนินคดีกับ กปปส. และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในความผิดที่ทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ โดยค่าเสียหายอยู่ที่ 2,400 ล้านบาท แต่ที่สุด กกต.ยังไม่มีการยื่นอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องร้องแต่อย่างใด
อีกปมหนึ่งคือการปลดเลขาธิการ กกต. "ภุชงค์ นุตราวงศ์" โดยที่ กกต.มีมติ 4 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 เลิกจ้าง เพราะไม่ผ่านการประเมิน นับเป็นการปลดเลขาธิการครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้ง กกต.ขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ 2540
หลังถูกปลด "ภุชงค์" เปรียบเปรยการถูกกดดันจาก กกต.ตลอดเวลาที่ผ่านมาทำนองว่า ถ้ามีคำไหนมากกว่าล้วงลูกได้ ก็คือคำนั้น
"ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา แต่การทำงานกับคณะกรรมการ กกต.ชุดนี้ ตลอด 2 ปีนั้นมีการล้วงลูกภายในสำนักงาน ทั้ง ๆ ที่เป็นอำนาจของเลขาธิการ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ ที่มีการตั้งและขึ้นเงินเดือน ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว กกต.แต่ละคน ทำให้แต่ละเดือน กกต.ต้องจ่ายเงินให้กับคนเหล่านั้นถึง 2 ล้านบาท เป็นเงิน 24 ล้านบาทต่อปี ทำให้ขณะนี้งบฯ ของ กกต.ร่อยหรอลงมาก
"การดำเนินงานในโครงการต่าง ๆ จนเป็นผลให้มีความล่าช้า กกต.มีคำสั่งให้ขยายเวลาการดำเนินโครงการออกไปเองและบางครั้ง สั่งระงับโครงการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ และในการประเมินผลการทำงานที่ผ่านมาก็ไม่เคยเปิดโอกาสให้ตนเข้าไปชี้แจงเลย"
"สมชัย ศรีสุทธิยากร" กกต. ตอบโต้ว่า ตำแหน่งเลขาธิการ กกต.ไม่ใช่ตำแหน่งประจำ แต่เป็นพนักงานจ้างมาบริหาร มีสัญญาจ้าง 5 ปีและทุกปีต้องประเมินผลงาน ถ้าประเมินผลงานแล้วต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์จะไม่ต่อสัญญา กกต.ไม่ได้รังแกนายภุชงค์
ที่สุด "ภุชงค์" เดินเรื่องยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรม แต่วงใน กกต.คาดว่าสุดท้ายแล้วกรณีนี้ "ภุชงค์" ก็จะเป็นฝ่ายแพ้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมาเป็นปี กกต.ยังไม่มีเลขาธิการตัวจริง คนที่ทำหน้าที่ "รักษาการ" ปัจจุบันคือ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.
อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ กกต.ชุดปัจจุบันถูกมองในแง่ลบ คือศึก "แย่งเก้าอี้ประธาน กกต." ที่เป็นการทวง "สัญญาใจ" ระหว่างกัน เพราะ "ศุภชัย" รับปากไว้ว่าจะเป็นประธาน แค่ 2 ปี แต่บัดนี้ล่วงเลยถึง 3 ปี ชื่อของหัวขบวน กกต.ก็ยังเป็นชื่อเดิม คนเดิม อย่างไรก็ตาม ศึกแย่งเก้าอี้ ต้องยุติชั่วคราว
เพราะเป็นจังหวะเดียวกับที่คณะกรรมการร่าง รัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณากฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ที่กำหนดคุณสมบัติ กกต.ใหม่ โดยกำหนดให้ กกต.ที่คุณสมบัติไม่ครบตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมีรายงานว่า กกต.ที่เปิดศึกกระชากเก้าอี้ประธาน กกต.จากศุภชัยนั้น อาจมีคุณสมบัติไม่ครบ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.