ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ เปิด 11 บทบาท 'ศาล' ภายใต้ระบอบคสช.รอบปี 59
Posted: 28 Dec 2016 12:20 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการทำคำพิพากษาและคำสั่ง การดำเนินกระบวนการพิจารณา หรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจต่างๆ เกี่ยวกับศาล ในปี 2559 ที่ผ่านมา จำนวน 11 บทบาทด้วยกัน ประกอบด้วย ศาลทหารยังคงมี “บทบาท” พิจารณาคดีพลเรือน, เวลาเปิด-ปิดทำการของศาลทหารที่ไม่ปกติและศาลทหารบางแห่งไม่มีตุลาการประจำ, ศาลทหารกับกระบวนการยุติธรรมที่แสนล่าช้า, บทบาทตุลาการศาลทหารในเวทีนานาชาติทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน, ศาลไม่คุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกภายใต้การลงประชามติ ขณะประชาชนนับร้อยถูกดำเนินคดี, ศาลยุติธรรมรับรองการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. คุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหาร, ศาลอุทธรณ์รองรับอำนาจคณะรัฐประหาร ในคดีฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวของบก.ลายจุด, ศาลปกครองรับฟ้องเพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวมทบ. 11, กรณีเมื่อศาลให้ประกันตัวคดีมาตรา 112, การล็อกห้องอ่านคำพิพากษา พร้อมปิดกั้นการเข้าถึงเอกสารในคดี และศาลถอนประกันผู้ต้องหาจากการแสดงออกทางสังคมออนไลน์
โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตลอดปี 2559 ที่กำลังจะผ่านไป การใช้อำนาจโดยการกล่าวอ้างว่ากระทำในนามของ “กฎหมาย” และ “กระบวนยุติธรรม” ของคสช. ยังคงมีบทบาทอย่างเข้มข้นในการควบคุมจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของพลเมืองในสังคมไทย ทหารยังมีบทบาทในการเข้าแจ้งความ จับกุม และนำบุคคลที่แสดงออกทางการเมืองขึ้นพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร
ขณะเดียวกันศาลได้เข้ามามีบทบาทภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่ศาลทหารที่คสช.ประกาศให้มีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือนแทนศาลยุติธรรม แต่ศาลยุติธรรม หรือแม้แต่ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็เข้าไปมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการทำคำวินิจฉัยที่ยืนยันว่าการยึดอำนาจรัฐประหารของคสช.และการใช้อำนาจของคสช. ในห้วงกว่าสองปีที่ผ่านมากระทำในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งชอบด้วยกฎหมาย ดังที่ทราบกันว่าอำนาจตุลาการเป็นรากฐานหนึ่งของระบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐตามหลักการแบ่งแยกของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในแง่นี้อำนาจตุลาการที่รับรองสถานะและการใช้อำนาจของคสช. ไม่ว่าโดยการออกประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใดๆ จึงมีบทบาทสำคัญที่ส่งผลทางการเมืองหลังรัฐประหาร
ต่อไปนี้เป็นการรวบรวม 11บทบาทศาล ทั้งการทำคำพิพากษาและคำสั่ง การดำเนินกระบวนการพิจารณา หรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจต่างๆ ในปีพ.ศ.2559 พร้อมกับชี้ชวนให้ร่วมกันพิจารณาว่าระบบตุลาการเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาททางการเมือง และมีส่วนสำคัญต่อการสร้างหรือธำรงความขัดแย้งทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา มิใช่องค์กรที่อิสระอยู่นอกเหนือแยกขาดออกไปจากการเมือง และไม่สังกัดฝักฝ่ายใดๆตามหลักความเป็นอิสระและเป็นกลางหรือไม่
1) ยังคงมี “บทบาท” พิจารณาคดีพลเรือน
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 ให้ความผิดที่เกิดนับตั้งแต่วั
นที่ออกประกาศ ซึ่งมีประกาศคสช.ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารในคดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของชาติ คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคสช.และคดีอาวุธ อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม เริ่มตั้งแต่วันออกประกาศเป็นต้นไปหลังจากพลเรือนนับพันคนต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารด้วยผลของประกาศของคสช.กว่า 2 ปีที่ผ่านมา
ตามที่ศูนย์ทนายความฯ ได้รับข้อมูลสถิติของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร จากกรมพระธรรมนูญ ซึ่งต้นสังกัดของศาลทหาร พบว่าระหว่าง 22 พ.ค.2557 - 31 พ.ค.2559 มีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร จำนวน 1,811 คน และเป็นจำนวนกว่า 1,546 คดี โดยมีคดีที่ยังไม่เสร็จสิ้นการพิจารณากว่า 517 คดี นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ยังไม่เป็นคดีหรือไม่มีการฟ้องร้องคดีในศาลทหาร แต่การกระทำเกิดขึ้นก่อนจะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 หรือกระทำก่อนวันที่ 12 ก.ย. 2559 ดังนั้น แม้จะมีคำสั่งหัวหน้าคสช. ดังกล่าว แต่ยังมีพลเรือนอีกมากกว่า 517 คดี ที่ยังคงเผชิญชะตากรรมในศาลทหารต่อไป
ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.สำราญราษฏร์ในคดีที่ล่าสุดที่จะถูกพิจารณาในศาลทหาร
นอกจากนี้ ภายหลังการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ยังคงมีการดำเนินคดีบุคคลในศาลทหารอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ที่แสดงความเห็นในเวทีเสวนาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 12 ก.ย.58 แต่ปรากฏว่าหมายจับออกเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2559 เช่นเดียวกับกรณีของศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความที่ถูกแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ร่วมกับ 14 นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากเหตุการณ์เมื่อเดือนมิ.ย.2558 แต่กลับเพิ่งมีการออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อ เดือน ก.ย.2559 โดยหากมีการสั่งฟ้องคดี ทั้งสองคดีก็จะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เนื่องจากเป็นคดีที่มีการกระทำเกิดขึ้นระหว่างมีการประกาศใช้ศาลทหารนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าแม้จะหยุดใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน แต่ก็ยังมีพลเรือนที่ยังถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ทั้งคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและคดีที่ยังไม่มีการฟ้องคดีเลย แต่ปรากฏว่าในระยะเวลาสองปีกว่านี้ มีคดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีสืบเนื่องจากเหตุผลการเมืองในศาลทหารที่มีการสืบพยานจนเสร็จและมีคำพิพากษาแล้วเพียงสองคดีเท่านั้น
2) เวลาเปิด-ปิดทำการของศาลทหารที่ไม่ปกติและศาลทหารบางแห่งไม่มีตุลาการประจำ
ตามปกติแล้ว “ศาล” จะมีเวลาทำการตามเวลาราชการคือตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 16.30 น. แต่ปรากฏว่าการพิจารณาคดีในศาลทหาร กลับมีเวลาทำการที่ไม่แน่นอน และไม่ใช่เพื่อเป็นไปในทางคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังกรณี 15 ผู้ต้องหาตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย (นปป.) ที่ถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ภายหลังจากเสร็จสิ้นการสอบปากคำผู้ต้องหาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปขอฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพฯ เมื่อศุกร์ที่ 19 ส.ค.59 เวลา 14.30 น. และทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาในวันเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าเนื่องจากใกล้หมดเวลาราชการแล้ว ไม่ให้ยื่นคำร้องขอประกันตัวในวันดังกล่าว แต่ให้มายื่นในวันจันทร์ ทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกส่งตัวไปคุมขังภายในเรือนจำถึง 3 วัน แต่ในวันเดียวกันนี้ เวลา 20.30 น. ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น กลับมีการเปิดทำการเพื่อรับฟ้อง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จากคดีทำกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พ.ค.58 โดยให้คุมขังนายจตุภัทร์ระหว่างการพิจารณาคดี จึงทำให้นายจตุภัทร์ถูกนำไปขังที่เรือนจำกลางขอนแก่นตั้งแต่คืนดังกล่าว
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ระหว่างรอการพิจารณาคดีที่ศาลทหารขอนแก่น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่เมื่อปี 2558 ในกรณี 14 นักศึกษา-นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ เปิดรอรับคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนจนถึงเวลา 22.00 น. และกว่ากระบวนการขอฝากขังและคัดค้านทั้งหมดจะเสร็จสิ้น ก็เป็นเวลา 00.30 น.ไปแล้ว ราวกับศาลทหารจะเปิดปิดทำการได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากเจ้าหน้าที่รัฐจะดำเนินการ ทาง “กฎหมาย” กับผู้ต้องหาทางการเมือง
นอกจากนี้แล้ว ศูนย์ทนายความฯ ยังพบกรณีที่ตุลาการในศาลทหารหลายจังหวัดเดินทางไปปฏิบัติงานที่ศาลทหารอื่น ตามระบบการหมุนเวียนตุลาการในศาลมณฑลทหาร จนทำให้บางวัน ศาลทหารไม่มีตุลาการประจำอยู่ และไม่มีผู้พิจารณาคำร้องต่างๆ ที่ประชาชนไปยื่นต่อศาล เช่น กรณีช่างตัดแว่นพ่อลูกอ่อนที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ญาติได้เดินทางไปยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาที่ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 37 จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.59 แต่ไม่ได้รับการพิจารณาโดยตุลาการในวันดังกล่าว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระบุว่าตุลาการเดินทางไปพิจารณาคดีที่ศาลทหารอื่น ส่งผลให้สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคำร้องขอประกันตัวของผู้ต้องหาต้องล่าช้าออกไป
3) ศาลทหารกับกระบวนการยุติธรรมที่แสนล่าช้า
ปรากฏการณ์สำคัญของการพิจารณาคดีในศาลทหารที่ค่อยๆ เด่นชัดขึ้นในปีนี้ คือกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะในคดีที่จำเลยถูกขังในระหว่างพิจารณาคดีและมีการต่อสู้คดี ด้วยรูปแบบการนัดสืบพยานที่ไม่ต่อเนื่องกันเหมือนศาลพลเรือน ศาลทหารจะมีการนัดสืบพยานต่อนัดเป็นครั้งๆไป และแต่ละคดีมีการสืบพยาน 1 นัด เป็นเวลา 2 ถึง 3 เดือนต่อครั้ง บางคดีมีการพิจารณาคดีเฉพาะในช่วงเช้าในแต่ละนัดเท่านั้น ทำให้พยานบางปากต้องใช้เวลาสืบพยานหลายนัด อีกทั้งในหลายๆคดีพบว่ามีการเลื่อนการสืบพยานโจทก์บ่อยครั้ง ทั้งที่พยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องมาเบิกความเป็นพยานตามหมายเรียกพยานของศาล ซึ่งหากพยานที่โจทก์ออกหมายเรียกไว้ไม่มาศาล จะทำให้ต้องยกเลิกวันนัดในวันดังกล่าวและต้องหาวันนัดใหม่เพราะโจทก์จะออกหมายเรียกพยานมานัดละคนและทีละนัดเท่านั้น ทำให้จนถึงปัจจุบันจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองซึ่งจำเลยมีการต่อสู้คดี มีคดีที่สืบพยานเสร็จสิ้นและศาลทหารมีคำพิพากษาไปแล้วเพียงสองคดี
สิรภพ ขณะรอการพิจารณาคดีในศาลทหาร
ในปีนี้ ศาลทหารเพิ่งมีคำพิพากษาในคดีของสิรภพ ในข้อหาฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. เขาถูกควบคุมตัววันที่ 25 มิ.ย.57 ก่อนถูกฟ้องคดีต่อศาลวันที่ 15 ส.ค.57 โดยศาลทหารกำหนดวันนัดสืบพยานโจกท์ลำดับแรกวันที่ 11 พ.ย.57 แต่ก็ไม่สามารถสืบพยานปากแรกนี้ได้เป็นเวลากว่า 6 เดือน เพราะพยานติดภารกิจไม่สามารถมาศาลได้ กว่าการสืบพยานลำดับแรกนี้จะเสร็จสิ้นก็วันที่ 4 พ.ย.58 รวมระยะเวลาในการนัดและสืบพยานปากนี้ทั้งหมด 1 ปีเต็ม ก่อนที่การสืบพยานจะแล้วเสร็จและศาลอ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย.59 รวมเวลาพิจารณามากกว่า 2 ปี โดยคดีนี้จำเลยถูกขังในระหว่างการพิจารณาคดีและคดีฝ่าฝืนรายงานตัวมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสองปีเท่านั้น
ตัวอย่างความล่าช้าที่น่าสนใจ ได้แก่ คดีอัญชัญ จำเลยในคดีมาตรา 112 คดีนี้มีการจับกุมตัวจำเลยเมื่อวันที่ 30 ม.ค.58 หลังจากสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 เม.ย.58 กว่า 1 ปี 8 เดือน จึงมีการสืบพยานโจทก์ แต่มีการเลื่อนคดีเนื่องจากพยานโจทก์ไม่มาศาล 3 นัด และเนื่องจากนัดพิจารณาครั้งละวันไม่ใช่นัดต่อเนื่อง ทำให้แต่ละนัดห่างกันหลายเดือน คดีนี้สืบพยานโจทก์ไปแล้วเพียง 2 ปาก ทั้งจำเลยยังถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีตลอดมา เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว หรือในคดี “ขอนแก่นโมเดล” ที่มีการจับกุมผู้ต้องหาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ภายหลังรัฐประหาร แต่กว่าการสืบพยานโจทก์ปากแรกจะเริ่มขึ้น (28 ต.ค.59) ก็หลังจากอัยการยื่นฟ้องจำเลยมากว่า 2 ปี ทั้งโจทก์ยังอ้างพยานบุคคลรวม 90 ปาก ซึ่งหากสืบพยานได้ปีหนึ่งราว 10-12 ปาก คดีนี้อาจใช้เวลากว่า 7-9 ปีกว่าจะสืบพยานแล้วเสร็จ คดีนี้จำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี
4) บทบาทตุลาการศาลทหารในเวทีนานาชาติ UPR
ท่ามกลางการจับตาจากนานาชาติต่อสถานการณ์การใช้ศาลทหารต่อพลเรือน ปีที่ผ่านมายังเป็นปีที่มีการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodical Review หรือ UPR) ที่นครเจนีวา ซึ่งเป็นรอบการประชุมทบทวนสถานการณ์ของประเทศไทย ทางรัฐบาลไทยเองก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นศาลทหารโดยตรง ได้แก่ พันโทเสนีย์ พรหมวิวัฒน์ หัวหน้าตรวจและร่างกฎหมาย กรมพระธรรมนูญทหาร กระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นหนึ่งในทีมคณะผู้แทนรัฐบาลไปชี้แจงต่อที่ประชุม
พันโทเสนีย์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 59 ว่าศาลทหารถูกนำมาใช้กับพลเรือนในความผิดที่จำกัด รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาในความผิดร้ายแรง จำเลยในศาลทหารยังได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้เข้ารับการไต่สวนในศาลพลเรือน ศาลทหารยังต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิของจำเลยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ตุลาการศาลทหารจำเป็นต้องมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในกฎหมายอาญา เช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลพลเรือน

ขณะที่หากติดตามสถานการณ์ของพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหารของไทยตลอดสองปีเศษที่ผ่านมาแล้ว พบว่าในความเป็นจริง คดีที่นำพลเรือนมาขึ้นศาลทหารจำนวนมากล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และไม่ใช่คดีร้ายแรงแต่อย่างใด เช่น คดีกินแม็คโดนัลด์ต่อต้านการรัฐประหาร, คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคสช., คดีจัดกิจกรรมรำลึกถึงการเลือกตั้ง, คดีเดินเท้าจากบ้านไปศาลทหารคนเดียว, คดีนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตในโครงการราชภักดิ์, คดีล้อเลียนหัวหน้าคณะรัฐประหาร, คดีนักวิชาการแถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร, คดีถ่ายรูปกับขันแดง, คดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ, คดีจัดเวทีวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เข้าไปสังเกตการณ์กิจกรรม ก็ถูกดำเนินคดีที่ต้องพิจารณาคดีในศาลทหาร เป็นต้น
พลเรือนที่ขึ้นศาลทหารยังไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับศาลพลเรือนดังที่พันโทเสนีย์กล่าว เช่น คดีที่เกิดขึ้นในช่วงการใช้กฎอัยการศึกไม่ได้รับสิทธิการอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลทหารไม่มีกระบวนการในการสืบเสาะ ไม่มีระบบทนายขอแรงในช่วงแรก ไม่ให้ทนายความคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาในบางคดี ความแตกต่างเรื่องรูปแบบหลักทรัพย์ในการประกันตัว หรือการนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่กำลังยื่นขอประกันตัวไปเรือนจำ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาหญิงหลายรายจากกระบวนการค้นตัวผู้ต้องหาก่อนเข้าเรือนจำ เป็นต้น ทั้งในกระบวนการพิจารณาตามธรรมนูญศาลทหารองค์คณะที่ร่วมเป็นตุลาการในศาลทหาร เป็นเพียงนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่แต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาทหารของหน่วยต่างๆ ไม่ได้จบการศึกษาด้านกฎหมายแต่อย่างใด
อีกทั้ง ในเมื่อกล่าวอ้างว่าศาลทหารไม่มีความแตกต่างจากศาลพลเรือน เหตุใดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ที่ระบุเรื่องการให้คดีกลับมาพิจารณาในศาลพลเรือน จึงต้องระบุเหตุผลในคำสั่งว่าเป็นการ “ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงอีก เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ใช้สิทธิ ปฏิบัติหน้าที่ของตน และได้รับความคุ้มครองตามกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ในเร็ววัน ตลอดจน ตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน” ราวกับจะยอมรับโดยนัยว่าภายใต้การใช้ศาลทหารต่อพลเรือนนั้นไม่ได้มีการคุ้มครองหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนอยู่แต่อย่างใด
5) ศาลไม่คุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกภายใต้การลงประชามติ ขณะประชาชนนับร้อยถูกดำเนินคดี
แม้ไม่เกินความคาดหมายว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2557 มาตรา 4 หลังประชาชนกลุ่มหนึ่งยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เหตุผลในคำวินิจฉัยก็สร้างความผิดหวังให้กับฝ่ายประชาธิปไตยอย่างมาก เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับรองให้ “องค์กรของรัฐมีบทบาทในการกำกับควบคุมการจัดการออกเสียงประชามติ..." ในสภาวะที่ประเทศประสบวิกฤตการณ์ทางการเมือง ยกเว้นหลักการสากลซึ่ง “รัฐมีหน้าที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้แสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ข้อมูลเหตุผลอย่างอิสระและเท่าเทียมกัน” หรือ Free&Fair!!

ทั้งประชาชนยังต้องผิดหวังซ้ำสองจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้องที่ภาคประชาสังคมฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศกกต.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ เนื่องจากมีเนื้อหาที่จำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นจนเกินสมควรและขัดต่อกฎหมายศาลปกครองวินิจฉัยในทางเทคนิคกฎหมายเท่านั้นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีได้ โดยใช้เหตุผลว่า ประกาศดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำ การฝ่าฝืนไม่มีโทษทางอาญา
การไม่คุ้มครองการแสดงออกของประชาชนในการออกเสียงประชามติดังกล่าว ปรากฏผลให้เห็นในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกในช่วงประชามติซึ่งมีอย่างน้อย 207 คน ในจำนวนนี้ถูกกล่าวหาว่าผิดพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 อย่างน้อย 47คน มีกิจกรรมที่ถูกข่มขู่และห้ามจัดมากมายไม่นับว่าประชาชนโดยทั่วไปตกอยู่ในความหวาดกลัวไม่กล้าแสดงความเห็น หรือแม้แต่ใส่เสื้อ Vote No ที่น่าตกใจมีการดำเนินคดีนักข่าว และนักสิทธิมนุษยชนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ด้วย
ในบรรดาคดีที่ถูกตั้งหาข้อหาว่า ผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ซึ่งผู้ต้องหามักจะงุนงงสงสัยว่า ถูกดำเนินคดีได้อย่างไร แต่ทั้งศาลพลเรือนและศาลทหารกลับอนุญาตให้ฝากขังและให้ประกันด้วยเงินประกันสูงลิบ (60,000-200,000 บาท) สร้างภาระหนักหนาแก่ประชาชนที่แค่ใช้สิทธิแสดงความเห็นในเรื่องที่สำคัญกับชีวิตตนอย่างรัฐธรรมนูญลงท้ายด้วยอัยการส่งฟ้อง และศาลรับฟ้องนับแต่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติจนถึงปัจจุบันอย่างน้อย 8 คดีแล้ว ทั้งที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ยากว่า การดำเนินคดีต่อไปมีประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร
แม้ว่ายังไม่มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยยืนยันต่อสู้คดี แต่แนวโน้มของศาลที่ปรากฏให้เห็นดังเช่นในนัดสมานฉันท์ของคดีแจกสติ๊กเกอร์ Vote No ศาลจังหวัดราชบุรีมีลักษณะเจรจาให้จำเลยรับสารภาพ และได้บันทึกลงในกระบวนพิจารณาว่า “ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย ขั้นตอนการดำเนินคดี และการเสริมสร้างการรู้สำนึกและความรับผิดชอบจากการกระทำความผิดตามขั้นตอนแล้ว จำเลยทั้ง 5 คนแถลงยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องและประสงค์ที่จะต่อสู้คดี”
เช่นนี้แล้ว สาธารณชนก็ไม่อาจมีความหวังได้ว่า ปลายทางของกระบวนการยุติธรรมจะเอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน!!!
6) ศาลยุติธรรมรับรองการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. คุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหาร
ในรอบปี 2559 คสช. ยังคงใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหารด้วยการอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้งฉบับที่ 3/2558และฉบับที่ 13/2559 ที่ออกมาตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง แต่ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการใช้อำนาจคุมตัวบุคคลของ คสช.ลักษณะนี้ คือการที่ศาลยุติธรรมยั