‘หมอนิ่ม’ อาชญากรหรือเหยื่อความรุนแรง กระบวนการยุติธรรมที่ละเลยบริบท

Posted: 27 Dec 2016 08:38 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เสียงสะท้อนคดี ‘หมอนิ่ม’ ทิชา ณ นคร บอกความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ตั้งคำถามเหตุใดกระบวนการยุติธรรมไม่สนใจบริบท นิยามกฎหมายคับแคบ นักวิชาการระบุ ความรุนแรงในครอบครัวคือกระบวนการฆ่าอย่างหนึ่งที่ฝ่ายชายกระทำต่อผู้หญิง เป็นอาชญากรรมที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ผู้ต้องขังหญิงคนนี้ เดิมอาชีพทำนา รูปร่างอวบ สวย เป็น อสม. พูดเก่ง ร้องเพลงเก่ง มีลูกสองคน เลิกกับสามีเก่า แล้วมีสามีใหม่ กินเหล้า และทำร้ายร่างกายเธอตลอดเวลา อยู่มาได้สองสามปีก็ทนไม่ไหว ขอเลิก ฝ่ายผู้ชายบอกว่ามึงจ้างกูให้หย่าสิ กูหย่า จ่ายให้ 2 หมื่น ก็ยอมหย่า แต่พอเงินหมด ฝ่ายชายก็กลับมาขอคืนดี

“ผู้ชายคนนี้มักจะทำร้ายร่างกายเธอต่อหน้าลูก ลูกสาวก็กอดแม่ ลูกชายก็กราบขอร้องไม่ให้ทำ จนฝ่ายหญิงเริ่มทนไม่ไหว ไปซื้อปืน แต่ปืนแตกตอนลองยิง เลยไปซื้อมีดสปาร์ตามา เหน็บหลังตลอดเวลา คืนเกิดเหตุ ผู้หญิงปวดท้องเมนมาก ปลุกสามีให้พาไปส่งโรงพยาบาล ฝ่ายชายก็บอกว่ากลางวันทำไมไม่เจ็บ ไม่ไป ฝ่ายหญิงเลยจะเหมารถข้างบ้านให้ไปส่งให้ ผู้ชายก็เลยบอกว่าจ้างกูสิ ให้เงินสองร้อยจะไปส่ง ระหว่างทางก็ด่าแม่ฝ่ายหญิงตลอด ฝ่ายหญิงก็โมโห ทะเลาะกันจนมอร์เตอร์ไซค์ล้ม ลงไม้ลงมือ ฝ่ายหญิงก็ชักมีดปาดโดนผู้ชายนิ้วห้อย ฝ่ายชายก็พูดว่าแม่อย่าทำพ่อเลย ฝ่ายหญิงพูดว่า ถ้ากูเจ็บร้อยเท่า มึงต้องเจ็บกว่ากูพันเท่า ระหว่างนั้นลูกสาวก็กลัวจะเกิดเรื่องเลยให้เพื่อนพาขี่มอร์เตอร์ไซค์ตามไปทันเห็นเหตุการณ์พอดี แต่ฝ่ายชายไม่ตาย เข้าโรงพยาบาลแล้วให้การว่าลูกกับเมียร่วมมือกัน ฝ่ายหญิงจึงยอมสารภาพ เพื่อกันไม่ให้ลูกเข้ามาเกี่ยวข้อง”

เป็นคำบอกเล่าของกฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จากการพูดคุยกับผู้ต้องขังหญิงรายหนึ่ง เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงความรุนแรงในครอบครัวที่ถูกพูดถึงในการเสวนา ‘เมื่อกระบวนการยุติธรรมมองเห็น ‘เหยื่อความรุนแรง’ เป็น ‘อาชญากร’’ ที่จัดขึ้นที่โรงแรมเอเชีย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นการสะท้อนจากกรณี ‘หมอนิ่ม’ พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ ที่ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจากข้อหาจ้างวานฆ่าอดีตสามี เอ๊กซ์หรือจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย

ประเด็นนี้ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนขาย บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า

“อยากฟันธงและรับผิดชอบสิ่งที่ตนเองพูดว่า การตัดสินนี้เกี่ยวโยงกับสังคมไทยทั้งระบบ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญในตัวเด็กหรือหญิงคนหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องของหมอนิ่มคนเดียว”

ทิชาอธิบายความเป็นมาและบริบทของสถานการณ์ว่า 11 กรกฎาคม 2556 พญ.นิธิวดี ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจเนื่องจากถูกจักรกฤษณ์ทำร้ายร่างกาย ซึ่งเมื่อมีการตรวจค้นบ้านฝ่ายชายก็พบหลักฐานหลายอย่าง จนนำไปสู่การตั้งข้อหาจักรกฤษณ์ แต่สุดท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) ในเวลานั้น ก็เข้ามา-ทิชาใช้คำว่า-เกลี้ยกล่อม โดยไม่ได้ดูรากเหง้าของปัญหา

“คุณต้องการความมั่นคงของครอบครัว สนใจแต่ความสมบูรณ์ของครอบครัว แต่ภายใต้ครอบครัวมีชีวิตอยู่ หมอนิ่มบอกว่ายินดีให้อภัย แต่ไม่ขอกลับไปอยู่ด้วย แต่นักการเมืองไม่ได้ยิน คิดแค่ว่าต้องกลับมาคืนดีกัน”

“เรามองการทำร้ายผู้หญิงเป็นกระบวนการใช้อำนาจของฝ่ายชาย แต่กฎหมายมองเป็นการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ไม่ใช่ที่สาธารณะจึงถูกตีความอย่างหนึ่ง แต่ในบางสังคมการทำร้ายร่างกายในครอบครัวเป็นกระบวนการฆ่าอย่างหนึ่งของฝ่ายชายตั้งแต่เริ่มต้น เพราะผู้หญิงจำนวนมากจบชีวิตด้วยการตาย”

หลังจากเหตุการณ์ข้างต้นไม่เพียงเดือนเศษ จักรกฤษณ์ก็ถูกสังหาร เป็นที่มาของคดีที่เกิดขึ้น ทิชาตั้งข้อสังเกตว่า

“หมอนิ่มถูกตัดสินประหาร ทำไมความรุนแรงที่ไปแจ้งความ ไม่ปรากฏในคำพิพากษา เพราะถ้าไม่พูดเรื่องนี้เท่ากับเรากำลังส่งผ่านชุดความคิดนี้ไปสู่คนรุ่นต่อไป มันจะเป็นภาระที่หนักมาก ที่บอกว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว เรากำลังสร้างมรดกบาปให้คนรุ่นต่อไป เรื่องนี้ไม่ควรจบลงที่ผู้หญิงคนหนึ่งแบกรับความรับผิดชอบจากการตายครั้งนี้โดยที่กระบวนการยุติธรรมไม่สนใจบริบทที่เกิดขึ้น”

ด้าน นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระในฐานะคนทำงานกับผู้ต้องขังหญิง ตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นกระบวนการที่ทำให้เหยื่อเป็นอาชญากร เช่นเดียวกับการที่ผู้หญิงถูกสามีทำร้ายอย่างรุนแรงจนต้องตอบโต้ด้วยการสังหารสามี ผู้หญิงก็ถูกทำให้เป็นอาชญากรไปโดยกระบวนการนี้

“เรามองการทำร้ายผู้หญิงเป็นกระบวนการใช้อำนาจของฝ่ายชาย แต่กฎหมายมองเป็นการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ไม่ใช่ที่สาธารณะจึงถูกตีความอย่างหนึ่ง แต่ในบางสังคมการทำร้ายร่างกายในครอบครัวเป็นกระบวนการฆ่าอย่างหนึ่งของฝ่ายชายตั้งแต่เริ่มต้น เพราะผู้หญิงจำนวนมากจบชีวิตด้วยการตาย”

นภาภรณ์อธิบายต่อว่า เมื่อเกิดกรณีทำนองนี้ มักจะเกิดคำถามกับฝ่ายหญิงว่า แล้วทำไมไม่หนี นั่นเป็นเพราะเกิดภาวการณ์เรียนรู้ว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เป็นอาการของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายมาเป็นเวลายาวนาน จนเกิดการควบคุม การบังคับให้ผู้หญิงไปไหนไม่ได้ เช่น ถ้าหนีไป แล้วกลับมาจะถูกกระทำหนักกว่าเดิม หรือในอเมริกามีการจับพ่อแม่ฝ่ายหญิงมามัดไว้ และขู่ว่าถ้าฝ่ายหญิงไม่กลับมาจะไม่ให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงกินข้าว อาชญากรรมทำนองนี้ต้องเรียกว่าเป็นอาชญากรรมที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ หรือเป็นอาชญากรรมที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ถามว่าคดีทำนองนี้ในสังคมไทยที่เกี่ยวกับการฆ่าแบบนี้ถูกตีความอย่างไร หนึ่ง-ฝ่ายชายกำลังทำร้ายร่างกายฝ่ายหญิงอย่างรุนแรง ฝ่ายหญิงคว้ามีดเสียบคอ ตายสนิท โทษไม่หนักหนา แต่ติดคุก บอกว่าไม่ได้ตั้งใจ สอง-กฎหมายไทยจะพิจารณาเรื่องนี้ว่าเป็นการป้องกันตัว แต่จะพิจารณาว่าถ้าจะฆ่าเพราะป้องกันต้องมีกำลังความสามารถทัดเทียมกัน นึกถึงฝ่ายหญิงถูกทำร้ายจากฝ่ายชาย ถ้าเขาเหวี่ยงเรา เราไม่ใช่มีด คงไม่รอด กฎหมายป้องกันตัวจึงไม่สามารถใช้กับผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายและฆ่าสามีได้ เพราะจะไม่เข้าข่ายการป้องกันตนเอง เนื่องจากมีนิยามที่ค่อนข้างคับแคบ และสาม-เจตนาฆ่า ทนายบอกว่าการกระทำรุนแรงหยุดไปแล้ว แต่คุณเพิ่งมาวางแผนฆ่า แต่อย่างที่บอกว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นกระบวนการฆ่าที่ดำเนิมาอย่างต่อเนื่อง

“ส่วนตัวจะเพิ่มอีกประเด็น เนื่องจากมีโอกาสอ่านคำพิพากษา คดีนี้หมอนิ่มปฏิเสธ มูลเหตุหนึ่งที่ทำให้ศาลตัดสินประหาร เพราะหมอนิ่มมีเหตุจูงใจ ถูกทำร้ายมาก่อน กลายเป็นว่าถ้าเราถูกทำร้าย สามีถูกฆ่า เราจะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยทันที หมอนิ่มมีเหตุจูงใจ แต่ถ้าเรามองกลับกัน สมมติศาลตัดสินว่ามีเหตุจูงใจ ก็น่าจะลดโทษ ถ้าศาลเชื่ออย่างนั้น ท่านควรเอาเหตุจูงใจนี้มาลดโทษ ไม่ใช่ประหาร นี่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเรา เป็นกระบวนการที่ไม่ละเอียดอ่อนกับปัญหาที่ละเอียดอ่อนมาก”

ด้านกฤตยา กล่าวว่า

“ดิฉันคิดว่าสังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจ ยังขาดแนวคิด ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ไม่เคยถูกนำไปอยู่ในโรงเรียนกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ในไทยสอนกฎหมายล้าหลังมาก จึงได้มีกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ทำความเข้าใจกับความรู้ที่เกิดขึ้น”

คดีหมอนิ่มจึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของกระบวนการยุติธรรมที่ดูจะละเลยบริบทของการก่อคดี และกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการใช้อำนาจของผู้ชายไปโดยปริยาย ดังที่ทิชากล่าวไว้ คดีนี้จะกลายเป็นมรดกบาปที่ส่งทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.