การปิดกั้นการเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัย
Posted: 26 Dec 2016 07:41 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

นักวิชาการส่งสารถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชี้ปัญหาผูกขาดทุนวิจัยเฉพาะนักวิจัยอาวุโส และผู้จบปริญญาเอก ถือเป็นการกีดกันนักวิจัยด้วยวุฒิการศึกษา สร้างระบบการพึ่งพิงขาดอิสระ จำกัดวงแคบๆ ขัดกับเป้าหมายการทำวิจัยของประเทศ และของมหาวิทยาลัยที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมให้อาจารย์และนักวิจัยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการทำวิจัยได้อย่างเสมอภาค พร้อมเสนอปรับเกณฑ์ทุนวิจัยให้รองรับผู้มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาเอก หรือเพิ่มทุนเพื่อให้โอกาสอาจารย์และนักวิจัยที่มีวุฒิการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาเอกได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนวิจัย

0000
จดหมายเปิดผนึกถึง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
เรื่อง
การปิดกั้นการเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัย

เรียน ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ด้วยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้รับการจัดตั้งผ่านพระราชบัญญัติสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ.2535 ที่มีจุดมุ่งหมายหนึ่งในการส่งเสริมการวิจัยประสานงานและสนับสนุนการวิจัย เผยแพร่ผลงานวิจัย และนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนประเมินผลของการดำเนินการดังกล่าว
ผู้เขียนมีความเห็นว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายทุนวิจัยเชิงวิชาการของ สกว.[1]  คือ "เน้นการสร้างนักวิจัยที่มีความสามารถสูงให้สร้างปัญญาและผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูง รับผิดชอบโดยฝ่ายวิชาการ มีเป้าหมายในการสร้างนักวิจัยอาชีพที่มีความสามารถสูงให้สร้างปัญญาและผลิตผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนวิจัย" ซึ่งแน่นอนว่า ในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน คณาจารย์และนักวิจัยมีทั้งที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก รวมทั้งอาจารย์อาวุโสซึ่งมีประสบการณ์วิจัยมาอย่างยาวนาน ซึ่งอาจารย์ที่เพิ่งจบการศึกษา โดยเฉพาะในระดับปริญญาโท (และปริญญาเอก) ส่วนมากยังไม่มีผลงานทางวิชาการและประสบการณ์การทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับอาจารย์อาวุโส การสนับสนุนให้อาจารย์ทำวิจัยอย่างต่อเนื่องโดยมีแหล่งทุนที่หลากหลายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการยกระดับอุดมศึกษาไทยให้เข้าใกล้มาตรฐานในระดับนานาชาติมากขึ้น
หากพิจารณารูปแบบการให้ทุนของ สกว. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการทำวิจัยที่สำคัญที่สุดของประเทศแล้ว การให้ทุนของ สกว. แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ทุนวิจัยพื้นฐานจากความคิดริเริ่มของนักวิจัยและชุดโครงการวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Basic Research) ในที่นี้จะให้ความสำคัญกับทุนวิจัยพื้นฐานเป็นหลัก และทุนวิจัยพื้นฐานแบ่งเป็น 7 ประเภทย่อย นั่นคือ ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.), ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น, ทุนวิจัยองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนา (วุฒิเมธีวิจัย สกว.), ทุนพัฒนานักวิจัย (เมธีวิจัย สกว.), ทุนเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยของอาจารย์รุ่นกลางในสถาบันอุดมศึกษา (สกว. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา), ทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ (สกว. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) และทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่
ทุนวิจัยพื้นฐานแบ่งเป็น 7 ประเภทย่อย นั่นคือ ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.), ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น, ทุนวิจัยองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนา (วุฒิเมธีวิจัย สกว.), ทุนพัฒนานักวิจัย (เมธีวิจัย สกว.), ทุนเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยของอาจารย์รุ่นกลางในสถาบันอุดมศึกษา (สกว. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา), ทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ (สกว. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) และทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่
จาก 7 ประเภท จะเห็นได้ว่า 5 ประเภทแรกเป็นทุนที่ให้ความสำคัญกับนักวิจัยและอาจารย์ระดับอาวุโสที่ต้องมีประสบการณ์ทั้งสิ้น ขณะที่ทุนวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ 2 ทุนหลังนั้น ก็พบว่า การประกาศให้ทุนได้กีดกันอาจารย์และนักวิจัยจำนวนมากด้วยวุฒิการศึกษานั่นคือ ทุนดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้เฉพาะอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีคุณวุฒิระดับปริญญาเอก หรือเทียบเท่าเท่านั้น
ในปัจจุบันอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากที่มีประสบการณ์งานเขียนทางวิชาการ การทำวิจัยต่างๆ แม้จะไม่ได้จบระดับปริญญาเอก โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เป็นกลุ่มคนที่มีผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบ แต่ด้วยเกณฑ์ดังกล่าวทำให้อาจารย์และนักวิจัยจำนวนมากไม่สามารถขอทุนได้ตามเงื่อนไขดังกล่าว แต่ต้องพึ่งพิงการรับทุนวิจัยในฐานะเป็นทีมวิจัยร่วมกับอาจารย์ระดับอาวุโส แน่นอนว่า ปฏิเสธมิได้ว่าด้านหนึ่งแล้วในเบื้องต้นมันได้ช่วยเอื้อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเหล่านั้นภายใต้คำแนะนำของนักวิจัยผู้มีประสบการณ์ แต่ขณะเดียวกัน มันกลับทำให้นักวิจัยเหล่านั้นขาดอิสระ และจำต้องพึ่งพิงไปจนกว่าจะมีคุณวุฒิระดับปริญญาเอก วิธีการเช่นนี้ยังอาจนำไปสู่ปัญหาที่นักวิจัยรุ่นใหม่จำกัดตัวอยู่ในวงแคบๆ เฉพาะที่ใกล้ชิดหรือสัมพันธ์กับนักวิจัยอาวุโสที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้ ยังขัดกับเป้าหมายของการส่งเสริมการทำวิจัยของประเทศ และของมหาวิทยาลัยที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมให้อาจารย์และนักวิจัยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการทำวิจัยได้อย่างเสมอภาค ผลก็คือ การทำงานภายใต้สภาวะอันจำกัดเช่นนี้ไม่สามารถช่วยให้สังคมไทยไปสู่ข้อเสนอที่หลากหลายและสามารถนำไปแก้ไขวิกฤตของสังคมที่กำลังเผชิญอยู่ได้
การตัดสินพิจารณาทุน จึงไม่ควรตัดโอกาสการนำเสนอโครงร่างงานวิจัย (proposal) ด้วยการคัดเลือกเฉพาะผู้จบปริญญาเอกเท่านั้น มิพักจะกล่าวว่าทุนดังกล่าวติดป้ายว่าเป็น ทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและอาจารย์รุ่นใหม่ โปรดอย่าลืมว่า อาจารย์และนักวิจัยระดับมหาวิทยาลัยทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่นั้น จำนวนมากยังไม่มีคุณวุฒิในระดับปริญญาเอก เช่น ม.เชียงใหม่ ร้อยละ 25.96[2], ม.ธรรมศาสตร์ ร้อยละ 35.81[3], ม.เกษตรศาสตร์ ร้อยละ 38.21[4], ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ร้อยละ 69.32[5], ม.ราชภัฏนครราชสีมา ร้อยละ 69.79[6] ฯลฯ  ดังนั้นเกณฑ์เช่นนี้ยิ่งถ่างโอกาสการเข้าถึงทุนให้กับผู้มีศักยภาพแต่ไร้คุณวุฒิ ทั้งที่งานวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกควรถูกตัดสินผ่านประเด็นคำถามวิจัย กรอบการวิจัย และสมมติฐานงานวิจัยที่มีคุณภาพและความเป็นไปได้ อันจะนำไปสู่ผลงานที่หลากหลาย การขยายโอกาสเช่นนี้น่าจะเป็นคุณให้กับวงการวิจัยในระดับประเทศมากกว่า และการได้รับทุนวิจัยยังเป็นการพัฒนาศักยภาพให้พวกเขาอยู่ในเส้นทางพัฒนาตนไปสู่การศึกษาระดับปริญญาเอกที่ผู้ให้ทุนปรารถนาในทางอ้อมอีกด้วย
ผู้เขียนมีข้อเสนอต่อวงการวิชาการไทยโดยรวมและต่อหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะ สกว. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพและมีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนางานวิจัยของประเทศ คือ สกว. น่าจะมีการปรับเกณฑ์ทุนวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ให้รองรับผู้มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาเอก หรือจะเลือกให้คงกรอบการพิจารณาดังกล่าวไว้ให้กับอาจารย์ผู้มีวุฒิปริญญาเอกเช่นเดิม แต่ไปเพิ่มทุนเพื่อให้โอกาสอาจารย์และนักวิจัยที่มีวุฒิการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาเอกได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนนี้เช่นกัน นี่อาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่ไม่ทำให้ทุนวิจัยถูกผูกขาดอยู่ในกลุ่มนักวิจัยอาวุโส และนักวิจัยที่จบในระดับปริญญาเอกเพียงเท่านั้น

จึงเรียนมาเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

ด้วยความนับถือ

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

26 ธันวาคม 2559

เชิงอรรถ
[1] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. เข้าถึงจาก. "ทุนวิจัยเชิงวิชาการ". http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=15&Itemid=139 เข้าถึงเมื่อ 22 ธันวาคม 2559
[2] คำนวณจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. "บุคลากร". เข้าถึงจาก http://www.cmu.ac.th/servicesinfo.php?mainmenu=21 (10 มิถุนายน 2559) เข้าถึงเมื่อ 23 ธันวาคม 2559
[3] มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. "ข้อมูลและสถิติ". เข้าถึงจาก https://www.tu.ac.th/index.php/th/326-th-th/teach/survey/219-data#อาจารย์และบุคลากร เข้าถึงเมื่อ 23 ธันวาคม 2559
[4] คำนวณจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  "ตารางที่ 2 รายงานจำนวนบุคลากรสายวิชาการของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2558 จำแนกตามตำแหน่งทางวิชาการและระดับการศึกษา". เข้าถึงจาก http://www.person.ku.ac.th/new_personweb/stat/2558/UOC_STAFF_2_2558.PDF (23 กุมภาพันธ์ 2559) เข้าถึงเมื่อ 23 ธันวาคม 2559
[5] คำนวณจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. "สรุปข้อมูลบุคลากร (สายวิชาการ) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่". เข้าถึงจาก http://www.dhrm.cmru.ac.th/web58/datas/file/tabenprawat/1480667341.pdf (พฤศจิกายน 2559) เข้าถึงเมื่อ 23 ธันวาคม 2559
[6] คำนวณจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา. "รายงานจำนวนอาจารย์จำแนกตามตำแหน่งทางวิชาการและระดับการศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559". เข้าถึงจาก http://www.old.nrru.ac.th/UserFiles2011/File/report/2-2559.pdf  (2559) เข้าถึงเมื่อ 23 ธันวาคม 2559

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.