Atukkit Sawangsuk

จากผู้ใหญ่บ้านกราบรองนายกฯ ถึงจับคนแก่ตัดไม้พะยูงในที่นาตัวเอง ในภาพรวม มันสะท้อนยุครัฐราชการเป็นใหญ่ กรณีแรก เราจะไม่เห็นภาพอย่างนี้ในยุคเลือกตั้ง เราเห็นแต่นักการเมืองไหว้หมากับเสาไฟฟ้า จะเฮี่ยยังไง นักการเมืองก็ไม่ต้องให้ประชาชนมากราบกราน แต่นี่คือระบอบคนดีปกครองบ้านเมือง แล้วรัฐราชการก็เป็นใหญ่ลงไปตามลำดับชั้น

กรณีไม้พะยูง มันคือการใช้ดุลพินิจของรัฐราชการ ในยุคที่ชาวบ้านไม่มีปากเสียง ซ้ำยังอยู่ในระบอบบ้าจี้ (คำสั่งห้ามตัดไม้พะยูงนี่เป็นคำสั่ง คสช.นะครับ ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจที่ตำรวจบ้าจี้ ถ้าไม่เอาผิดชาวบ้านก็กลัวตัวเองผิด) ทั้งไก่อู ทั้งกระทรวงยุติธรรม ออกมาพูดว่าต้องทำความเข้าใจชาวบ้าน (ไม่รู้กฎหมาย) ไอ้บ้า ไม่มีใครพูดสักคำว่านี่คือการใช้อำนาจใช้ดุลพินิจเกินกว่าเหตุ ไม่ต้องมาประชุมกันให้เปลืองงบ ตำรวจจับคนแก่มา เห็นสมควรว่าไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ไม่หลบหนี แจ้งข้อหา สอบสวน แล้วปล่อยตัว ไม่ต้องประกันไม่ต้องคุมขัง ทำสำนวนเสนอสั่งไม่ฟ้อง หรือไปถึงอัยการ สั่งไม่ฟ้อง ทำได้ทั้งนั้น มันไม่ใช่อาชญากรรม ตัดไม้ในที่ตัวเอง ทำยังกะชาวบ้านเสียสิทธิในทรัพย์สินไปแล้ว

กฎหมายไทยให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจสูง (ตกทอดมาจากยุคโบราณ+ยุคเผด็จการ) มันเป็นที่มาทั้งการทุจริต ใช้อำนาจเกินเหตุ กร่าง ใหญ่ เป็นเจ้าเป็นนาย (แล้วนักการเมืองก็มาสวมระบอบนี้ แต่นักการเมืองมันยังต้องไหว้กระทั่งหมากับเสาไฟฟ้าไง) ฉะนั้นอย่าแปลกใจเลยครับว่าอะไรจะเกิดกับ พรบ.คอมพ์ ซึ่งวันก่อน อ.นิติ มธ. ก็บอกว่ามันต้องสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมกับเสรีภาพ แต่พอเอาไปให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจ มันก็น่ากลัว พูดง่ายๆ ก็จะเป็นแบบตำรวจจราจรเรียกจับแมงไซค์นั่นละ เดินรอบคันต้องได้อะไรผิดซักอย่าง

00000

ใบตองแห้งวิพากษ์กรณีจับ 2 ชายชราตัดไม้พยุงในที่ดินตัวเอง สะท้อนปัญหาความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายที่มีรายละเอียดจุกจิกแต่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐดุลพินิจกว้างขวาง
นายอธึกกิต แสวงสุข หรือ “ใบตองแห้ง” นักวิเคราะห์ข่าวประจำรายการใบตองแห้งออนแอร์ กล่าวถึงกรณีการจับกุมชายชรา 2 ราย วัย 80 และ 70 ปีตามลำดับ ที่จังหวัดมหาสารคาม ว่าเป็นประเด็นปัญหาเดียวกับการออก พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการจับ-ปรับรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า กฎหมายไทยหลายฉบับนั้นมีลักษณะเป็นกฎหมายเทคนิค ซึ่งมีรายละเอียดจุกจิก แต่ขณะเดียวกันกลับเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวาง นำมาซึ่งปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ไมเป็นธรรม 
กรณีของไม้พะยูงนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายคือการจำแนกแยกแยะว่าไม้ท่อนใดผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมาย แต่ทรัพย์สินเมื่อเกิดในที่ดินของใครก็ต้องเป็นของคนนั้น สิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นๆ ยังคงอยู่ กรณีเช่นนี้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้ตั้งแต่แรกแต่กลับไม่ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นกรณีที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง
เช่นเดียวกับกรณีของ พ.ร.บ. คอมฯ ซึ่งบัญญัติกฎหมายไว้คลุมเครือโดยเฉพาะมาตรา 14 ที่ระบุถึงข้อความที่อาจจะผิดกฎหมาย หรือบิดเบือน ซึ่งเปิดโอกาสให้เข้าหน้าที่ตีความอย่างว้างขวาง ไม่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน
ที่สุดแล้ว ใบตองแห้งชี้ว่าการบัญญัติกฎหมายไม่ควรเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจกว้างขวางอย่างที่กำลังเป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกฎหมายเทคนิคที่มีความจุกจิกเพราผลที่สุดคือ เมื่อประเทศอยู่ในยุคที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นใหญ่ ประชาชนไม่มีอำนาจ ประชาชนก็คือผู้ได้รับกระทบจากการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ 
Source : FB Atukkit Sawangsuk & http://news.voicetv.co.th/thailand/446169.html

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.