สหภาพฯรถไฟค้านตั้ง 'กรมการขนส่งทางราง' ย้ำกรมฯควรเป็นผู้กำกับไม่ใช่เป็นผู้เข้ามาบริหาร

Posted: 30 Dec 2016 05:32 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

30 ธ.ค. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ อนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง 2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป 3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลา และแผนการขนส่งทางราง ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง และ 4. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่รวม 3 บริษัท โดยเร็ว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.59 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการจัดตั้งกรมขนส่งทางรางและการจัดตั้งบริษัทเดินรถบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อนและบริษัทบริหารทรัพย์สิน และหลังจาก ครม.มีมติดังกล่าว วันนี้(30 ธ.ค.59) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่อง ความเคลื่อนไหว กรณีการจัดตั้ง "กรมการขนส่งทางราง"

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า อำพน ทองรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึง การจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางที่ ครม. มีมติดังกล่าวว่า สหภาพฯรถไฟคัดค้านการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยากจะฝากข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า บทบาทหน้าที่ของกรมขนส่งทางรางควรเป็นแค่ผู้กำกับดูแลนโยบาย ไม่ใช่เป็นผู้เข้ามาบริหารงานอย่างที่ระบุไว้ในเนื้อหาที่ครม.อนุมัติ นอกจากนี้มองว่าการเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งบันบนระบบรางอย่างเสรี การตั้งบริษัทลูกคือ บริษัทเดินรถและบริษัทซ่อมบำรุง เป็นการสอดไส้ในเนื้อหาที่ทางสหภาพฯ ไม่เห็นด้วย

“เนื้อหาที่สอดแทรกทั้งการให้อำนาจกรมการขนส่งทางรางเข้ามาบริหาร การตั้งบริษัทลูกคือ บริษัทเดินรถและบริษัทซ่อมบำรุง ทางสหภาพฯการรถไฟไม่เห็นด้วย และจะดำเนินการคัดค้านให้ถึงที่สุด เนื่องจากมองว่าจำเป็นต้องตั้งกรมการขนส่งทางราง ปัจจุบันสามารถดำเนินการบริหารจัดการภายในองค์กรได้อยู่แล้ว หากให้อำนาจในการบริหาร โดยเฉพาะการเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันบนระบบรางอย่างเสรีอาจจะเกิดปัญหากับการรถไฟฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากหยุดเทศกาลปีใหม่ทางสหภาพฯ จะนัดประชุมสมาชิกเพื่อหารือและกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน” อำพนกล่าว

อำพน กล่าวว่า สำหรับการตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน ทางสหภาพฯ เห็นด้วย เนื่องจากการบริหารพื้นที่รถไฟกว่าแสนไร่ ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ชำนาญการที่จะมาดูแลในเรื่องนี้ จึงมองว่าหากมีการตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินนี้ขึ้นจะทำให้มีการจัดการที่ดินทางรถไฟให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินในเชิงพาณิชย์




แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.