ศาลแถลงปี 2559 พบ 'คดีแพ่ง-ล้มละลาย-แรงงาน' พุ่ง
Posted: 23 Dec 2016 07:24 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
แถลงผลการดำเนินงานด้านคดีของศาลยุติธรรมทั่วประเทศประจำปี 2559 พบสถิติคดีแพ่ง คดีล้มละลาย และคดีแรงงาน พุ่งสูงขึ้น โดยคดีแพ่งช่วง 10 เดือนแรกปี 2559 มี 993,229 คดี ส่วนปี 2558 อยู่ที่ 750,692 คดี คดีล้มละลายปี 2559 มี 5,641 คดี ปี 2558 อยู่ที่ 5,195 คดี ส่วนคดีแรงงานปี 2559 มี 17,026 คดี ส่วนปี 2558 อยู่ที่ 13,979 คดี
เว็บไซต์แนวหน้า รายงานเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2559 ที่ห้องประชุมชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 13.30 น. นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วยนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม และนายพิสิษฐ นิ่งน้อย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะประจำสำนักประธานศาลฎีกา ร่วมแถลงผลการดำเนินงานด้านคดีของศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ประจำปี 2559
นายอธิคม เปิดเผยว่า ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 มีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม จำนวน 1,736,954 คดี ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเสร็จ 1,488,890 คดี มีคดีค้าง 248,064 คดี ขณะที่การไกล่เกลี่ยคดี มีคดีแพ่งเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 345,095 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 300,932 คดี ส่วนคดีอาญาเข้าสู่ระบบ 12,300 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 6,763 คดี ซึ่งศาลก็จะดำเนินการส่งเสริมการระงับข้อพิพาทต่อไป โดยดำเนินการเป็นโครงการส่งเสริมการระงับข้อพิพาทของภาคและศาล กับโครงการส่งเสริมพัฒนาและเผยแพร่การระงับข้อพิพาททางเลือก
เมื่อถามว่ามีสัญญาณที่แสดงถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจากสถิติคดีแพ่ง คดีล้มละลาย และคดีแรงงานที่ผ่านมาหรือไม่ นายอธิคม กล่าวว่า มีสัญญาณหรือไม่ขอให้ดูจากตัวเลขคดีทางเศรษฐกิจ เริ่มจากคดีแพ่ง ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 พบว่ามี 993,229 คดี ส่วนปี 2558 ตัวเลขอยู่ที่ 750,692 คดี ขณะที่คดีล้มละลาย ในปี 2559 อยู่ที่ 5,641 คดี เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 ตัวเลขคดีอยู่ที่ 5,195 คดี ส่วนคดีแรงงานปี 2559 มีจำนวน 17,026 คดี ในปี 2558 อยู่ที่ 13,979 คดี ซึ่งปริมาณเพิ่มขึ้นพอสมควรจะเป็นสัญญาณหรือไม่ต้องช่วยกันพิจารณา
นายอธิคม ยังกล่าวถึงการอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนว่า คือการเปิดทำการศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ซึ่งหลังจากเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีคดีค้างเก่าที่โอนมาจากแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 77 คดี และมีคดียื่นฟ้องใหม่ 151 คดี ปัจจุบันศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีจำนวนคดีที่ต้องพิจารณา 228 คดี โดยในปี 2560 จะทยอยเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 ให้ครบ 9 แห่ง
ด้านนายสืบพงษ์ กล่าวเสริมถึงการบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมให้มีความรวดเร็วว่า ปัจจุบันศาลยุติธรรมได้เร่งพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี โดยสถิติคดีที่ผ่านมาศาลชั้นต้นพิจารณาคดีแล้วเสร็จ ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน มีจำนวน 705,338 คดี และช่วงระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน มีจำนวน 187,862 คดี ซึ่งตัวอย่างคดีสำคัญคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ที่อยู่ในการพิจารณาของศาล ขณะนี้ได้สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะสืบพยานฝ่ายจำเลยเสร็จไม่เกินเดือนมีนาคม 2560
นอกจากนี้ นายพิสิษฐ ได้กล่าวถึงการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่จะนำมาอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในด้านคดีว่า ประธานศาลฎีกาได้มีนโยบายต่อการพัฒนาระบบงานศาลยุติธรรมให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก ทั่วถึง เท่าเทียมกันและเสียค่าใช้จ่ายน้อย โดยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้ดำเนินการให้คู่ความที่หมายถึงโจทก์จำเลยและทนายความดำเนินการคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ผ่านทางเว็บไซต์ได้ ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับศาลยุติธรรมทั่วประเทศ หลังจากสำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกระเบียบว่าด้วยการให้บริหารคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาระหว่างศาลยุติธรรมทั่วประเทศ พ.ศ.2559 เพื่อแก้ปัญหาการต้องใช้เวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ ในปี 2560 ศาลยุติธรรมได้จัดทำระบบการยื่นคำฟ้อง การส่งคำคู่ความหรือคำสั่งศาล และเอกสารอื่นโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Filing ซึ่งจะให้คู่ความและประชาชนที่มีคดีสามารถยื่นคำฟ้อง การส่งคำคู่ความหรือคำสั่งศาล และเอกสารอื่นโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งจะเน้นคดีที่มีลักษณะไม่ยุ่งยาก หรือซับซ้อนเกินไป เช่น คดีบัตรเครดิต คดีสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคาร คดีเช่าซื้อ ซึ่งจะเริ่มนำร่องที่ศาลแพ่งธนบุรี เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านระบบแล้ว ก่อนที่จะขยายมาที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่ง ซึ่งมีคดีลักษณะดังกล่าวจำนวนมาก แล้วจึงนำไปใช้ในศาลยุติธรรมทั่วประเทศช่วงเดือนเมษายน ปี 2561
ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมยืนยันว่าได้วางมาตรการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลของศาล โดยคู่ความที่จะใช้บริการต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนต่อศาลให้เห็นว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นคำฟ้องและเอกสารผ่านระบบ E-Filing ซึ่งธนาคารโลก หรือ World Bank ได้จัดลำดับความน่าเชื่อถือในการลงทุน Doing Business 2016 ของประเทศไทยกับการนำสื่อเทคโนโลยีมาใช้ในศาลยุติธรรม Court Automation ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะเสริมสร้างความน่าเชื่อถือที่ต่างชาติจะนำเงินมาลงทุนในประเทศไทย
แสดงความคิดเห็น