สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญขอระงับใช้ ม. 44 เร่งรัดรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
Posted: 24 Dec 2016 09:32 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ขอให้ ครม.และ คสช.ระงับการใช้มาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ต่อต่อเอกชนผู้ประกอบการรายเดียว ระบุหากข้อเรียกร้องนี้ไม่เป็นผล ต้องหาข้อยุติในการนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองต่อไปแน่นอน
25 ธ.ค. 2559 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยออกแถลงการณ์ "ขอให้ ครม.และ คสช.ระงับการใช้มาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ต่อต่อเอกชนผู้ประกอบการรายเดียว" โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.กรณีที่ คสช.ใช้มาตรา 44 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ - ท่าพระซึ่งปัจจุบันยังมีปัญหาในการเชื่อมต่อและร่วมใช้ระบบรถไฟฟ้าการพิจารณาคัดเลือกเอกชน และการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเเละเพื่อให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยให้เจรจาร่วมกันกับผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลให้ดำเนินการโครงการส่วนต่อขยายและดำเนินการให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลกับผู้รับสัมปทานดังกล่าวเพื่อให้สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกันและการกำหนดระยะเวลาการดำเนินโครงการสายสีน้ำเงินให้มีระยะเวลาการดำเนินการโครงการสิ้นสุดลงพร้อมกันหรือสอดคล้องกันนั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนหรือเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนผู้ประกอบการรายเดียว
2.ข้อเท็จจริงดังกล่าวมีโครงการรถไฟฟ้าเกี่ยวข้อง 3 โครงการ คือ
(1)โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ ซึ่งปัจจุบันเปิดให้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 โดยทาง รฟม.ได้ทำการเปิดประมูลและจ้างเอกชนรายบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้เดินรถ
(2)โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างเสร็จประมาณ 80% และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี2561 อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเดินรถ
(3)โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อมีสถานีเตาปูนเป็นสถานีเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ - ท่าพระ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะโดยจ้างเอกชนรายบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้เดินรถ โดยวิธีการเจรจาตรง ไม่มีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปแต่อย่างใด
3.ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ประชาชนผู้ใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่ใช้เส้นทางสถานีปลายทางที่สถานีบางซื่อ และถ้าจะไปใช้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย(ยังก่อสร้างไม่เสร็จ)ที่สถานีต่อไปซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง(เปิดใช้บริการแล้วเช่นกัน)คือ สถานีเตาปูน ซึ่งมีระยะทางประมาณ 1 กม.นั้น ประชาชนผู้ใช้บริการจะต้องใช้วิธีเดินทางวิธีอื่นโดย รฟม.ให้บริการรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เพื่อเดินทางต่อไปยังสถานีเตาปูนเพื่อใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เปิดใช้บริการแล้ว
4.กรณีเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีนำเงินส่วนต่อขยายดังกล่าวจะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนหรือเอื้อประโยชน์เอกชนผู้ประกอบการรายเดียว พิจารณาได้จากเหตุผลดังต่อไปนี้
4.1 กรณีปัญหาดังกล่าว ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิท สถานีสยาม ซึ่งเดินรถโดยบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)โดยสถานีสยามไม่มีการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน เป็นเวลาประมาณ 20 ปี ประชาชนผู้ใช้บริการก็ไม่มีปัญหาใดๆในการเดินทางเป็นต้น
4.2 การเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงการข่ายเดียวกัน นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องให้เอกชนรายเดียวดำเนินการ เพราะจะทำให้เอกชนรายเดียวผูกขาดการให้บริการและมีอำนาจต่อรองสูง โดยจะเอาประชาชนมาเป็นตัวประกันโดยอ้างว่าต้องให้บริการเดินรถอย่างต่อเนื่องจะหยุดให้บริการแก่ประชาชนไม่ได้ เพราะขณะนี้กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างดำเนินการจัดให้มีระบบตั๋วร่วมซึ่งสามารถใช้บัตรเพียงใบเดียว สำหรับการเดินทางในภาคขนส่งได้ทุกระบบโดยเริ่มต้นใช้กับรถไฟฟ้าทุกโครงการเป็นหลัก อันเป็นความหมายของการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงการข่ายเดียวกันที่ถูกต้อง และการใช้ระบบตั๋วร่วมเป็นระบบที่ใช้ในต่างประเทศและประสบความสำเร็จแล้ว เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย จีน ฯลฯ
4.3 ในปัจจุบันนี้ การเดินรถโครงการรถไฟฟ้ามีผู้ประกอบการอยู่ 2 ราย คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) การเปิดประมูลเป็นการทั่วไปจึงเป็นโอกาสอันดีของรัฐบาลที่จะเชิญผู้ประกอบการเดินรถในต่างประเทศ(เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย จีน เป็นต้น) ร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศเข้าร่วมประมูลการเดินรถไฟฟ้าในโครงการต่างๆ ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายดังกล่าว เพื่อให้เกิดมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมีระบบรถไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนรวมทั้งความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในยุโรปดังเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ที่รฟม.ได้ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาพร้อมระบบเครื่องกลและไฟฟ้ารวมทั้งงานให้บริการการจัดการเดินรถและบำรุงรักษา มีเอกชนสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ จำนวนทั้งสิ้น 17 ราย
4.4 อย่างไรก็ดีมติคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 สรุปว่า ไม่เห็นชอบการขออนุมัติการดำเนินการ โดยการเจรจาตรงกับผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ โดยยังคงให้ใช้วิธีการประมูล และกระทรวงการคลัง มีความเห็นโดยสรุปว่า การคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุนโดยวิธีเปิดประมูลเป็นการทั่วไป จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้บริการและเกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ของรัฐอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ เพื่อเกิดความโปร่งใสในการคัดเลือกเอกชน เห็นควรให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้ในการคัดเลือกเอกชน
ทั้งนี้ การคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินกิจการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ โดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ได้ใช้ระยะเวลาดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปี แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จึงเป็นการดำเนินการที่ล่าช้าของ รฟม.เอง
4.5 นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจะใช้วิธีการเจรจาตรงโดยไม่เปิดประมูลนั้น ขัดกับหลักการและเหตุผล ในการตราพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2559 ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่งจะให้ความเห็นชอบใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ขณะนี้อยู่รอระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป มีบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างส่วนหนึ่งว่า “...โดยมุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นสำคัญซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงิน มีการวางแผนการดำเนินงานและมีการประเมินผลการปฏิบัติงานซึ่งจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีการส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ...” ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้มุ่งเน้นเรื่องปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นสำคัญ
สรุปแล้ว การใช้มาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินดังกล่าว โดยจะมีการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2559 นี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)ได้ทำสัญญา 3โครงการอันมีลักษณะเป็นการผูกขาด โดย 2 โครงการที่รัฐบาลให้ใช้วิธีการเจรจาตรง ไม่ได้เปิดประมูลเป็นการทั่วไป คือโครงการสายสีม่วงและโครงการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ทั้งๆที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยกับวิธีการเจรจาตรงก็ตาม เท่ากับว่ารัฐบาลได้กระทำเป็นตัวอย่างที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ความโปร่งใส การเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบและหากในการเจรจา ถ้า บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ขอไม่จ่ายเงินค่าสัมปทานประมาณ 50,000 กว่าล้านบาทตามสัญญาเดิม (โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ) รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร
กรณีดังกล่าวจะเป็นประเด็นที่ประชาชนควรจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะจะนำเข้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2559 นี้แล้ว
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงใคร่เรียกร้องมายังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โปรดระงับหรือถอนเรื่องดังกล่าวออกจากการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเสีย เพื่อให้นำกลับมาดำเนินการตามครรลองที่กฎหมายกำหนด หยุดการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเฉพาะราย ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อนึ่งหากข้อเรียกร้องนี้ไม่เป็นผลสมาคมฯจำต้องหาข้อยุติในการนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองต่อไปแน่นอน
แสดงความคิดเห็น