ชายแดนแห่งชาติ:สำนวนจากรัฐกัมพูชา บนกรณีความขัดแย้งปราสาทเขาพระวิหาร
Posted: 26 Dec 2016 07:55 AM PST    (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

บทความของ Kimly Ngoun ว่าด้วย การบรรยายเรื่องชายแดนแห่งชาติ: สำนวนจากรัฐกัมพูชา และ วาทกรรมที่เป็นที่นิยมในเหตุการณ์ความขัดแย้งปราสาทเขาพระวิหาร บทบาทของปราสาทเขาพระวิหารโดดเด่นขึ้นภายใต้ห้วงเวลาแห่งความขัดแย้ง กรณีพิพาทระหว่างไทยกับเขมร นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลต่อประเทศกัมพูชา ทั้งรัฐและประชาชนต่างได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทนี้ทั้งสิ้น  ตลอดระยะเวลาแห่งความขัดแย้งได้ก่อให้เกิด กระแสชาตินิยมขึ้นในทั้งกัมพูชาและไทย รัฐต่างพยายามสร้างบทบาทของตนขึ้นภายใต้สถานะของผู้ที่กำลังปกป้อง“เขตแดน” ทั้งที่ในช่วงก่อนหน้าจะเกิดเหตุกรณีพิพาทนี้ รัฐบาลกัมพูชาแทบไม่ได้ให้ความสำคัญบริเวณโดยรอบ และกับปราสาทเขาพระวิหารเลย แต่ภายหลังจากการได้รับชัยชนะบนเวทีศาลโลก บริเวณโดยรอบปราสาทเขาพระวิหารกลับถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ดูราวกับว่า “...ปราสาทเขาพระวิหารหลังได้รับคำตัดสินให้ตกเป็นของกัมพูชา จะกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความภาคภูมิใจของเขมร…”[1]
อย่างไรก็ตาม การที่ถูกมองว่าปราสาทเขาพระวิหารนั้น เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ และความภาคภูมิใจ ก็เป็นเพียงมุมมองหนึ่งที่กลุ่มชนชั้นนำเขมรได้สร้างขึ้น หลังจากที่ไม่เคยยิ่งใหญ่อีกเลยนานนับ 500 ปี[2] กองจมอยู่บนการถูกกดขี่ระหว่างสองชาติเพื่อนบ้าน หรืออีกมุมหนึ่งก็เป็นเสมือนโอกาส รัฐบาลเองก็ตระหนักถึงความไม่มั่นคง เพราะถูกจับตามองและตำหนิว่าเป็นผู้ขายชาติให้กับเวียดนาม ฉะนั้นกรณีพิพาทจึงเสมือนเป็นโอกาสที่ให้รัฐบาลได้หยิบฉวยไปใช้ในฐานะ “ผู้ปกป้องเขตแดน” และนำมาซึ่งการเดินหน้าสู่การใช้นโยบายสร้าง “ชาติ” ของรัฐ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อว่ารัฐบาลกัมพูชา ได้พยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวแก่ “คนในชาติ” โดยใช้กรณีเขาพระวิหาร แต่หากมองในบริบทท้องถิ่นแล้ว กรณีพิพาทเขาพระวิหารได้นำเอาความเปลี่ยนแปลงอย่าง มหาศาลมาสู่คนชายขอบในจังหวัดพระวิหาร ทั้งผู้อยู่อาศัยใหม่และเก่า ชาวบ้านเดิม และผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ ตำรวจ ทหาร และชนพื้นเมืองชาวกูยในที่ราบสูง ซึ่งมองว่า “ชาติ” พัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็วภายหลังเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา จากพื้นที่ป่ารกชัฏอดีตที่มั่นสุดท้ายเขมรแดงสู่ที่โล่งมากผู้คน คับคั่งคาสิโนทัวร์ท่องเที่ยว และต่างนิยามตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชาวกัมพูชาเพื่อรับผลประโยชน์ที่พึงได้จากรัฐ ยังผลมาซึ่งปัญหาการแย่งพื้นที่ดำรงชีวิตของคนที่อยู่เก่าและผู้มาใหม่ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงนโยบายการสร้างชาติของรัฐ ที่ไม่สามารถอธิบายให้ง่ายต่อความเข้าใจได้ว่า ทำไปเพื่อ “ปกป้อง หรือไม่ปกป้องชายแดน” หรือ “เป็นศัตรูหรือเป็นมิตรกับไทย” แต่กระทำไปบนความเข้าใจที่ง่ายต่อชนชั้นนำและคนกลุ่มอื่นๆในพื้นที่โดยรอบเท่านั้น ซึ่งคนเหล่านี้ใช้ข้อพิพาทชายแดนในการเล่าเรื่องของชาติ และสะท้อนออกมาในรูปแบบที่ซับซ้อน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประเด็นสำคัญของบทความนี้ นอกจากแสดงให้เห็นว่า รัฐพยายามนำเอากรณีพิพาทเขาพระวิหาร มาสร้างความเป็นชาติ สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้แก่คนกัมพูชาแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าปราสาทเขาพระวิหารนั้น ตั้งอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งความหลากหลายที่กำลังเปลี่ยนแปลงและดำรงอยู่รายรอบ อันสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างรัฐและประชาชน ที่ต่างให้ความหมายแก่ปราสาทเขาพระวิหารที่แตกต่างกันออกไป แต่เชื่อมโยงกันได้ภายใต้ความเป็นชาติกัมพูชา โดยผู้เขียนขอหยิบยกมาอธิบายเพียงประเด็นที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดคือ ประเด็นที่ว่าด้วย “การตระหนักถึงสำนึกความเป็นชาติที่เกิดขึ้นบนความหลากหลายภายใต้กรณีเขาพระวิหาร”
การตระหนักถึงชาติเกิดขึ้นในหลากหลายมุมมอง ดังที่บทความนี้ได้หยิบยกผ่านสำนวนของผู้ถูกสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ชาวบ้าน ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ต่างก็มีมุมมองต่อชาติที่แตกต่างกันออกไป ดังกรณีที่ผู้เขียนจะยกตัวอย่างนี้เพื่อประกอบคำอธิบายว่าชาติในที่นี้คืออะไร “คุณทำอย่างไรเมื่อลูกคุณป่วย?” เธอตอบว่า “ฉันพาเขาไปหาหมอ” เมื่อถามว่าทำไมเธอไม่ใช้ยาแผนโบราณหรือพิธีกรรมรักษา เธอตอบว่า “ฉันเคยเห็นบางคนในหมู่บ้านตายจากการบำบัดดังกล่าว”[3]คำสัมภาษณ์หญิงสาวชาวกูย ที่อาศัยอยู่ในป่าได้สะท้อนให้เห็นสำนึกต่อความเป็นชาติกัมพูชา สังเกตได้ว่าเธอเลือกที่จะเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐ(กัมพูชา) มากกว่าการอยู่กับความเชื่อแบบรากเหง้าเดิม นี่ก็เป็นหนึ่งในการตระหนักถึงชาติเช่นกัน เพราะเธอเลือกที่จะนิยามตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชาวกัมพูชา เพื่อรับผลประโยชน์ที่พึงได้จากรัฐ ถึงแม้จะขัดแย้งกันกับผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ก็ตาม กระทั่งคนในพื้นที่จังหวัดพระวิหารเอง ก็มีการตระหนักถึงความเป็นชาติเช่นกัน อย่างคำสัมภาษณ์ที่แดกดันรัฐบาลที่ว่า “ผมต้องขอขอบคุณประเทศไทยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง มิฉะนั้น จังหวัดของผมจะต้องถูกปล่อยแยก”[4]ถึงเป็นการตำหนิรัฐบาล แต่ก็เท่ากับยอมรับว่าตนยังเป็นส่วนหนึ่งของชาติกัมพูชา ภายหลังจากตัดถนนใหม่ และรัฐเข้ามาบริหารอย่างจริงจังจะพบว่าหลายคนในจังหวัด ดูจะเพิ่มความคล่องตัว การค้า ขนส่ง วิถีชีวิต และท้องถิ่นมีศักยภาพมากขึ้น[5]นับเป็นผลดี แต่กระนั้นก็ตามการแข่งขันก็ทวีสูงขึ้นด้วย ซึ่งหากมองจากสองกลุ่มนี้จะพบว่าต่างก็มีมุมมองต่อความเป็นชาติที่เหมือนกัน แต่การเข้าถึงความเป็นชาตินั้นต่างกัน ชาติในที่นี้คือกัมพูชา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดยังไงก็คนกัมพูชา ไม่อาจเป็นอื่นไปได้ เพราะสุดท้ายแล้วรัฐจะดำเนินนโยบายไปเช่นไร ผู้ที่รับผลของนโยบายนั้นก็คือประชาชนของกัมพูชาเอง ในเมื่อพวกเขาเหล่านี้ต่างยอมรับผล และดำเนินตามกฎกรอบระเบียบของนโยบายรัฐ ย่อมเท่ากับว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชาตินั้นด้วย
ฉะนั้นการก่อตัวของสำนึกความเป็นชาติ จึงก่อกำเนิดขึ้นจากตัวของบุคคลเหล่านั้นเอง การขัดผลประโยชน์ หรือการแสวงหาประโยชน์จากสิ่งนั้น ก็ล้วนแต่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “...เราใช้ชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ เป็นโลกที่มีการลากเส้นแบ่งเขตบนแผนที่อย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงถึงเขตแดนภายใต้การปกครองของรัฐชาติต่างๆ เรา, คนส่วนใหญ่ในโลกใบนี้, ต่างถือสัญชาติหนึ่งใดไว้อันแสดงถึงการสังกัดเป็นพลเมืองของรัฐชาติหนึ่งใด...”[6]จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดขึ้นได้ ในเมื่อเขาพระวิหารเมื่อตกเป็นของกัมพูชาโดยสมบูรณ์[7]รัฐบาลกัมพูชาจึงมีสิทธิในการจัดการเข้าไปพัฒนา ซึ่งการพัฒนาที่ว่า บทความนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงนัยยะแฝงทางการเมือง ผ่านการใช้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นตัวแทนของ ความภาคภูมิใจและชัยชนะของกัมพูชา เพื่อใช้เป็นสัญญะของการสร้างความรู้สึกชาตินิยมร่วม โดยยกเอาเขาพระวิหารเป็นเสมือนตัวแทนของความภาคภูมิใจและชัยชนะของกัมพูชาสิ่งที่น่าสังเกตคือการหยิบยกเอาเขาพระวิหาร มาเป็นตัวแทนของความภูมิใจแห่งชาติกัมพูชา สามารถสร้างความตระหนักร่วมของความเป็น“ชาติ”ได้อย่างแนบเนียนและนิ่มนวล อาจด้วยเหตุที่ว่าเขมรตระหนักถึงบทเรียนราคาแพง จากความคิดแบบชาตินิยมทางชาติพันธุ์ ที่พัฒนาไปสู่ความคิดแบบคลั่งชาติ [Chauvinism] หรือความคิดแบบคลั่งเผ่าพันธุ์ [Ethnocentrism] ที่ถึงขั้นทำลายล้างกลุ่มชนที่มองว่าเป็นศัตรู[8]ดังกรณีของเขมรแดง
การกระทำของคนชายขอบ ราวกับดำรงอยู่ภายใต้ผลของนโยบายที่รัฐได้ส่งมอบให้ และจัดการดำเนินตาม อีกทั้งรัฐบาลเองยังสามารถดำรงอยู่บนการรับรู้ของประชาชนที่ว่า รัฐบาลโฆษณาตนว่าเป็นผู้ที่สามารถรักษาเขตแดนของประเทศเอาไว้ได้ หวังสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชน เพราะฮุนเซนกลัวการลุกขึ้นมาของประชาชนมากกว่าโรคร้ายที่คุกคามอยู่[9] ทั้งยังหวังอุดช่องโหว่ทางการเมืองของตน[10]ซึ่งกำลังถูกคุกคามจากฝ่ายค้าน CNPP[11] ถึงแม้ว่าก่อนหน้าการได้รับชัยชนะในศาลโลกของเขมร ไทยก็ยังมีทีท่าที่จะพยายามยันฝ่ายเขมรไว้อย่างแข็งขัน โดยไม่ยอมเสียแม้แต่ตารางเดียว ทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดมากขึ้น และไม่ช่วยให้การเจรจาตกลงระหว่างไทยและกัมพูชา มีความราบรื่นสมกับที่จะสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันสืบไป[12] คนชายขอบเหล่านั้นกลับไม่ได้หวาดกลัวการปะทะกันของทหารเลย[13]พวกเขาไม่ได้ห่วงความตึงเครียดตามแนวชายแดน บรรดาแม่ค้าในตลาดของเมืองกล่าวว่า “ในช่วงต่อสู้บริเวณชายแดน ตลาดของเราเปิดเป็นปกติและชีวิตในเมืองเป็นไปอย่างปกติ”[14]ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านี้ต่างรับรู้ว่าตนอยู่เหนือความขัดแย้ง อันเป็นความขัดแย้งในเรื่องที่คนชายขอบเหล่านั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญมากไปกว่าการดำรงอยู่ของตน การดำรงอยู่ในฐานะคนในชาติกัมพูชา ชาตินิยมที่เกิดขึ้นนี้ดูซับซ้อนและยากที่จะอธิบาย การเกิดขึ้นเสมือนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการดำรงอยู่ในฐานะของคนในชาติ แต่ไม่ใช่เชื้อชาติ เขาพระวิหารเป็นตัวแทนความภูมิใจของคนชั้นนำและรัฐบาล แต่ในทางกลับกันคือสิ่งที่เปิดโอกาสให้ชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น และการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ หากมองเช่นนี้จะทำให้เห็นว่า เส้นเขตแดนแทบไม่ได้มีความหมายอะไรต่อตัวของพวกเขา กรณีพิพาทก็เช่นกัน การต่อสู้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการป้องกันอาณาเขตของชาติ และเขาพระวิหารก็เป็นเสมือนตัวแปรสำคัญ การหยิบเอาเขาพระวิหารมาเป็นตัวอธิบายถึงความเป็นชาติในแบบฉบับของรัฐบาล ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินเข้าใจ แต่การประกาศชัยชนะของรัฐบาลที่มีต่อเขาพระวิหารทำให้เกิดข้อสงสัยที่ว่า แล้วคนชายขอบเหล่านั้น อยู่บนส่วนไหนของความขัดแย้ง กัมพูชาเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูกับไทย เพราะในเมื่ออธิปไตยเหนือเขาพระวิหารคือชัยชนะของกัมพูชาที่ชิงกลับไปจากไทย ชาตินิยมที่เกิดขึ้นมันจึงไม่ได้เกิดบนพื้นฐานที่ว่ารัฐเป็นผู้จัดการก่อให้เกิดเช่นไร แต่มันเกิดขึ้นบนสำนึกรู้ของคนในชาติเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ต้องบังคับ การที่รัฐพร่ำโฆษณาถึงชัยชนะและเกียรติที่ได้จากกรณีเขาพระวิหาร มันจึงไม่ใช่ตัวแทนของความภาคภูมิใจของชาติกัมพูชา แต่เป็นเพียงหมุดหมายให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นภายใต้ขอบขัณฑ์เขาพระวิหารนี้ ดังนั้นข้อมูลทั้งมวลที่ปรากฏในบทความนี้ จึงเน้นหนักและเพียงพอที่จะทำให้เห็นถึง ความตระหนักถึงความเป็นชาติ ที่กำเนิดเกิดจากตัวบุคคลไม่ใช่เกิดโดยรัฐ และเกิดขึ้นบนความหลากหลายไม่ใช่เกิดบนชาติเชื้อเดียว และทั้งหมดนี้คือคำอธิบายประเด็นที่ว่าด้วย “การตระหนักถึงสำนึกความเป็นชาติที่เกิดขึ้นบนความหลากหลายภายใต้กรณีเขาพระวิหาร”
ในส่วนท้ายนี้ผู้เขียนมีข้อเสนอเล็กน้อย เพราะเห็นถึงคุณค่าแก่การศึกษาในภายภาคหน้า บทความนี้ถือเป็นหนึ่งในบทความ ที่สะท้อนให้เห็นการศึกษาบทบาทของคนผู้อยู่ข้างล่างของสังคม คนชายขอบของประเทศ อันถือเป็นแนวทางการศึกษาใหม่ ผู้เขียนเชื่ออย่างแน่วแน่ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ จากมุมมองของฐานแห่งพีระมิดชนชั้น ย่อมทำให้เราพบเส้นทางการศึกษาใหม่ เส้นทางที่จะนำพาไปสู่ความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์จากอีกมุมมองหนึ่ง งานเขียนเรื่องเรย์ อิเลโต้ โดยทวีศักดิ์ เผือกสม ก็เป็นอีกหนึ่งในชิ้นงานที่ทำขึ้นเพื่อเป็นหมุดหมายแก่นักเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อบอกแก่ผู้ชนว่าประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ก็หลุดออกมาจากกรอบของบูรพคดีศึกษาได้เช่นกัน[15] ซึ่งการศึกษาประวัติศาสตร์จากผู้ที่อยู่ข้างล่าง จะทำให้เราเข้าใกล้ความเป็นตัวตนมากขึ้น บทความเกี่ยวกับกัมพูชาชิ้นนี้ ถือได้ว่าเป็นเสมือนหนึ่งในแนวทางอันดีที่สะท้อนให้เห็น เส้นทางแห่งการแสวงหาและเขียนประวัติศาสตร์จากมุมมองของคนผู้อยู่ข้างล่าง ถึงแม้ว่าหลักฐานจะเป็นของชนชั้นนำก็ตาม แต่เราเลือกที่จะแสวงหาร่องรอย และแซะร่องแทรกตัวออกมาจากกรอบของประวัติศาสตร์ชาติแบบชนชั้นนำ ด้วยงานของพวกเขา และนำพาประวัติศาสตร์ไปสู่มุมมองใหม่และคำอธิบายเพื่อตัวเรา ดังคำที่ว่าประวัติศาสตร์ คือศาสตร์ที่ศึกษาการกระทำในอดีตของมนุษย์[16] ไม่ใช่แค่อดีตของวีรบุรุษ หรือการกระทำของรัฐแต่เพียงเท่านั้น


เชิงอรรถ
[1]Kimly Ngoun . “Narrating the national border: Cambodian state rhetoric vs popular discourse on the Preah Vihear conflict” Journal of Southeast Asian Studies (2016) : 210.
[2] เรื่องเดียวกัน หน้า 217.
[3] เรื่องเดียวกัน หน้า 231.
[4] เรื่องเดียวกัน หน้า 223.
[5] เรื่องเดียวกัน หน้า 221.
[6]บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์, ความเป็นชาติ : รัฐชาติและชาตินิยมในยุคโลกาภิวัตน์, [ออนไลน์], แหล่งที่มา, http://hadesworld-boonsong.blogspot.com/2013/10/blog-post_6048.html.
[7]นกบินเดี่ยว , เรื่องเล่าเขาพระวิหาร, [ออนไลน์], แหล่งที่มา,
https://nokbindeaw.wordpress.com/2008/07/06/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/.
[8] บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์, ความเป็นชาติ : รัฐชาติและชาตินิยมในยุคโลกาภิวัตน์, [ออนไลน์], แหล่งที่มา, http://hadesworld-boonsong.blogspot.com/2013/10/blog-post_6048.html.
[9] นันทเดช เมฆสวัสดิ์ , ทหารเขมร – ไทย ใครยิงใครก่อน, มาจากสาเหตุอะไร, ทำไมรบกันนาน และอนาคตจะเป็นอย่างไร เกี่ยวกับการเมืองไทยหรือไม่ ฯลฯ, [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559.
[10]สำนักข่าวชายขอบ, เลือกตั้งกัมพูชา”ฮุน เซน”ถูกท้าทาย”สมรังสี”หวังเสียงคนรุ่นใหม่, [ออนไลน์] , สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559
“ถ้าเราดูภาพรวมของประเทศ ประชาชนแค่อยากมีชีวิตที่ดี อยากได้เสรีภาพ ความยุติธรรม แต่ปัจจุบันเราเห็นว่าการปกป้องเหล่านั้น โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกินทำได้ยากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ชาวกัมพูชาต้องช่วยกันผลักดันระบอบประชาธิปไตยให้ดีดว่าเดิม ต้องช่วยกันป้องกันแผ่นดินของเราเอง เพราะผู้นำวันนี้ ติดบุญคุณเวียดนามเยอะ ใช้หนี้กันไม่รู้จักหมด เราต้องคัดค้านกันทุกเรื่องที่ผู้นำเอาที่ดินไปให้สัมปทานแก่ต่างชาติ และปราบปรามการทุจริตทุกรูปแบบ เพื่อเอาเงินส่วนนั้นมาขึ้นเงินเดือนข้าราชการและให้สวัสดิการประชาชน” นายวน ชัย กล่าว.
[11] Kimly Ngoun . “Narrating the national border: Cambodian state rhetoric vs popular discourse on the Preah Vihear conflict” Journal of Southeast Asian Studies (2016) : 219.
[12] นิธิ เอียวศรีวงศ์ , นิธิ เอียวศรีวงศ์: อนาคตไทย-กัมพูชาจากคำพิพากษา,[ออนไลน์], แหล่งที่มา, http://prachatai.com/journal/2013/11/49864.
[13]Kimly Ngoun . “Narrating the national border: Cambodian state rhetoric vs popular discourse on the Preah Vihear conflict” Journal of Southeast Asian Studies (2016) : 225.
[14] เรื่องเดียวกัน.
[15]ทวีศักดิ์ เผือกสม, เรย์นัลโด อิเลโต้ว่าด้วยคนชั้นล่าง ประวัติศาสตร์ชาติ และความรู้แบบอาณานิคม (ฉบับปรับปรุงสำหรับการจัดพิมพ์ , 2558).
[16]นิธิ เอียวศรีวงศ์, ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก(กรุงเทพ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ,2525) หน้า 8.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.