'พิชัย นริพทะพันธุ์' แจงละเอียดทำไม 2 ปี หลังการปฏิวัติมีแต่ความเสื่อมถอย ชี้การลงทุนในไทยกลับลดลงถึง 90% แต่ไม่หันกลับมามองปัญหาของตัวเอง อ้างว่าภาพลักษณ์ประเทศไม่ดีเพราะมีคนใส่ร้าย อีกทั้งคสช. เขียนและกำหนดบังคับใช้ขึ้นมาเอง แต่สิ่งเหล่านั้นกลับไปขัดแย้งกับกฏบัตรสหประชาชาติ ที่ทั่วโลกให้การรับรอง
หลังจากทีมีการถกเถียงกันระหว่าง โฆษกรัฐบาลและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย วันนี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน แจงละเอียดทำไม 2 ปี หลังการปฏิวัติมีแต่ความเสื่อมถอย
2 ปีรัฐประหารผ่านไป คำถามเดิมยังคงอยู่ ประเทศไทยและคนไทยดีขึ้นหรือแย่ลงจาก 2 ปีที่แล้ว อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง พวกเขาอาจจะพอใจและสบายใจที่ได้อยู่ในสภาวะที่เป็นอย่างนี้ เพราะพวกเขาอาจจะได้ประโยชน์ และอาจจะชมชอบการปกครองแบบนี้เป็นทุนเดิม แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ เชื่อได้ว่าคงรู้ซึ้งถึงความเสื่อมถอยในทุกด้านได้เป็นอย่างดี
การปฏิวัติที่อ้างสาเหตุว่ามาจากการทุจริต ความแตกแยกของคนในชาติ และเพื่อการปฏิรูป กลับกลายเป็นเพียงแค่วาทกรรมเท่านั้นเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้เพราะปัญหาการทุจริตในเรื่องต่างๆ ของรัฐบาลหลังการปฏิวัติ ก็ยังเป็นข้อสงสัยของคนทั้งประเทศ
ส่วนความแตกแยกของคนในชาติกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อรัฐบาลเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ในขณะที่การปฏิรูปยังไม่มีใครเข้าใจเลยว่าจะปฏิรูปอะไร และปฏิรูปอย่างไร
เท่าที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจคือ จะมีการปฏิรูปเพียงเพื่อจะทำอย่างไรให้พรรคที่เป็นที่นิยมของ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องไม่กลับมาชนะการเลือกตั้งอีก ซึ่งยิ่งทำให้ความนิยมในพรรคการเมืองนั้นกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ถูกทำให้ดูเหมือนเป็นผู้ร้ายในช่วงปฏิวัติ
ความเสื่อมถอยที่เห็นได้ชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มีแต่เสียงบ่นระงมจากคนทุกระดับชั้น และหากมองตัวเลขเศรษฐกิจย้อนหลังแล้วจะพบว่าในปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 0.7% ซึ่งถือว่าต่ำมาก และเป็นการเจริญเติบโตที่ต่ำที่สุดในอาเซียนจนถูกขนานนามให้เป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ทั้งๆ ที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนั้นบอกว่าประเทศจะโตได้ 2% แต่ก็ต้องลดลงมาเรื่อยๆ
ถัดมาในปี 2558 รัฐบาลออกประมาณการว่า เศรษฐกิจจะโต 4% แต่เมื่อเวลาผ่านไปเศรษฐกิจก็ยังคงซบเซา จนทำให้รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจทั้งหมดในกลางปี 2558 แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น การส่งออกที่ติดลบใน 6 เดือนแรก กลับยิ่งติดลบหนักขึ้นในครึ่งปีหลัง เป็นการทำสถิติใหม่ของการส่งออกที่ติดลบตลอดทั้ง 12 เดือน และทั้งปีการส่งออกติดลบถึง 5.78% แย่ที่สุดในรอบหลายปี
แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นกลับเป็นการลงทุนจากต่างประเทศที่ในปี 2558 การลงทุนต่างประเทศหายไปถึง 90% และยอดการขอส่งเสริมการลงทุนที่เคยสูงถึงปีละกว่าล้านล้านบาทมาตลอดหลายปี เหลือเพียงไม่กี่แสนล้านบาท หรือหายไปกว่า 78% แถมบริษัทที่ขอส่งเสริมการลงทุนไว้แล้วกลับมาขอเลื่อน เวลาไม่ยอมที่จะลงทุน
การลงทุนที่ลดลงอย่างมากนี้ นอกจากจะแสดงถึงความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่หายไปจนแทบจะไม่เหลือแล้ว ยังจะทำให้การส่งออกในอนาคตลดลง และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตก็จะลดลงไปด้วย และจะเป็นปัญหาสำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่จะไม่มีงานทำ อีกทั้งปัญหาอาชญกรรมและปัญหาต่างๆ จะตามมาอีกในไม่ช้า
ผลกระทบหลักจากการส่งออกที่ลดและการลงทุนที่หดหายทำให้เศรษฐกิจปี 2558 ขยายตัวได้เพียง 2.8% ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้การเปรียบเทียบเศรษฐกิจจะต้องเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน จะไปเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีฐานเศรษฐกิจที่แตกต่าง และมีรายได้ต่อหัวของประชาชนที่สูงกว่ามากไม่ได้
ในปลายปี 2558 รัฐบาลคาดประมาณเศรษฐกิจในปี 2559 ที่จะโต 3.7% แต่พอเข้าต้นปี สภาวะเศรษฐกิจของประเทศเริ่มไม่เอื้ออำนวยประกอบภาวะเศรษฐกิจของโลกเริ่มมีปัญหา ซึ่งเมื่อมีการประกาศการส่งออกเดือนมกราคมที่ลดลงหนักถึงติดลบ 8.91% จึงมีการปรับการคาดประมาณเศรษฐกิจลดลงเหลือเพียง 3.5% และยังโชคดีที่การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมกลับมาเป็นบวก แต่เพราะได้อานิสงส์จากการส่งออกทองคำที่ประชาชนนำมาขายร้านทองกันมาก สาเหตุมาจากราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นและการส่งคืนยุทโธปกรณ์ ซึ่งถ้าหักสองรายการนี้ออก
การส่งออกที่แท้จริงทั้งสองเดือนจะยังคงติดลบ การส่งออกที่เป็นบวกในสองเดือนนี้ ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐกว่า 140,000 ล้านบาท รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้การเจริญเติบโตในไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.2% ซึ่งนับว่าสูงกว่าการคาดหมายของหลายสำนัก แต่แนวโน้มการเจริญเติบโตในไตรมาสที่สองอาจจะไม่ดีนัก เพราะการส่งออกในเดือนเมษายนกลับมาติดลบที่ 8% อีกทั้งปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงเข้าสู่โลว์ซีซั่น ประกอบกับภัยแล้งที่ทำให้เกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถปลูกผลผลิตทางการเกษตรได้ และรัฐบาลเองก็คงไม่สามารถอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลได้ตลอด
จึงต้องคอยดูต่อไปว่าการเจริญเติบโตในไตรมาสที่เหลือจะเป็นอย่างไร แต่มีแนวโน้มว่าน่าจะไม่ดีนัก
มีความพยายามที่จะอธิบายว่าที่เศรษฐกิจของไทยย่ำแย่นี้มาจากเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาที่เกิดจากภาวะการเมืองที่ไม่ปกติกลับยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยแย่ยิ่งขึ้น การที่หลายประเทศไม่ยอมเจรจาเขตการค้าเสรี อีกทั้งการกีดกันการค้าในรูปแบบต่างๆ ทำให้การส่งออกของไทยลดลงมากขึ้น อีกทั้งการลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาในอาเซียนไม่ได้ลดลง แต่การลงทุนในไทยกลับลดลงถึง 90% ประเทศไหนในโลกที่การลงทุนจากต่างประเทศลดหายไปถึงขนาดนี้ แล้วยังไม่หันกลับมามองปัญหาของตัวเอง ก็คงจะได้แต่นั่งรอเวลาแห่งความเสื่อมถอยในอนาคต ประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น ลาว เขมร เวียดนาม เมียนมา กลับมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเวียดนาม ที่ได้กลายเป็นประเทศดาวรุ่งของอาเซียนแทนที่ประเทศไทยไปแล้ว
ความเสื่อมถอยอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือ ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก ตลอดสองปีมานี้ปรากฏว่ามีข่าวสารทางด้านลบของประเทศไทยกระจายไปทั่วโลกอย่างสม่ำเสมอ ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารกระจายได้รวดเร็วทั่วโลก แม้จะมีความพยายามจะนำซิงเกิลเกตเวย์เข้ามาใช้แต่ก็ได้รับการต่อ ต้านจนต้องระงับไปก่อน แต่ก็ยังไม่แน่ว่าจะนำกลับมาใช้อีกหรือไม่
ข่าวสารด้านลบส่วนใหญ่เป็นเรื่องปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ จากการถูกเรียกปรับทัศนคติถึง 7 หน และหนสุดท้ายถูกกักตัว 7 วัน และยังถูกห้ามเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งที่ได้รับเชิญจากสถาบันที่น่าเชื่อถือทั้งในสหรัฐและในยุโรป การถูกเรียกตัวครั้งที่ 7 ที่ถูกกักตัวนาน 7 วันนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร เช่น ยูเอ็น แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ฮิวแมนไรตส์วอตช์ รัฐสภาอียู สหภาพรัฐสภา ฯลฯ เริ่มเข้ามาให้ความสนใจในปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ประชาชนเป็นจำนวนมากได้รับผลกระทบ
แม้รัฐบาลและ คสช. จะอ้างว่าเป็นการทำผิดกฎหมายของประเทศ ที่รัฐบาลและ คสช. เขียนและกำหนดบังคับใช้ขึ้นมาเอง โดยเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนให้ปฏิบัติตาม แต่กฎหมายเหล่านั้นกลับไปขัดแย้งกับกฎบัตรสหประชาชาติที่ทั่วโลกให้การรับรอง และประเทศไทยก็ได้รับรองเองเมื่อเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิ มนุษยชนของสหประชาชาติ (UN-OHCHR) ได้มาขอพบผู้เขียนถึงสองครั้งเพื่อขอความเห็น และยังพูดในเชิงติดตลกว่าผู้เขียนน่าจะเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกเรียกปรับทัศนคติ เพราะวิเคราะห์วิจารณ์เศรษฐกิจได้อย่างถูกต้อง แต่อาจจะไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ
หากได้ชมเทปบันทึกการประชุมสหประชาชาติที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทย ต้องส่งตัวแทนเข้าตอบข้อซักถามจากหลายประเทศ และได้ดูข่าวที่เอกอัครราชทูตของสหรัฐ นายกลิน เดวีส์ อ่านแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศของไทย อีกทั้งติดตามข่าวการแถลงการณ์ของรัฐสภาอียูที่มาเยือนประเทศไทย ก็จะเห็นได้ว่าภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาของประชาคมโลกได้ลดต่ำอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน การที่ยูเอ็นลดระดับกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยให้เหลือแค่ระดับสังเกตการณ์ และการให้สัมภาษณ์ของนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรตส์วอตช์ยิ่งตอกย้ำปัญหาสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในสายตาชาวโลกได้อย่างชัดเจน
ผลกระทบในเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศนี้จะส่งผลมายังการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการที่การลงทุนจากประเทศของไทยที่หดหายอย่างน่าตกใจก็น่าจะเกิดมาจากสาเหตุนี้ และอาจจะส่งผลให้มีการนำมาตรการต่างๆ ออกมาลงโทษประเทศไทย หากยังคงปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างมากมายเหมือนอย่างในสองปีที่ผ่านมานี้
สองปีที่ผ่านมามีความพยายามจะให้ข้อมูลที่สับสนกลับไปกลับมา บางครั้งก็บอกว่าเศรษฐกิจดีแล้ว ประชาชนมีความสุข ต่อมาก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจไม่ดีแต่สาเหตุเกิดมาจากรัฐบาลที่แล้ว ที่ถูกปฏิวัติมาแล้ว 2 ปี อีกทั้งบางครั้งก็อ้างว่าประเทศต่างๆ ให้การยอมรับประเทศไทย แต่บางครั้งก็อ้างว่าภาพลักษณ์ประเทศไม่ดีเพราะมีคนใส่ร้าย โดยไม่ได้คำนึงถึงข่าวสารของประเทศทางด้านลบที่กระจายไปทั่วโลก ที่เกิดจากการดำเนินการของรัฐบาลและ คสช.เอง ซึ่งผู้เขียนได้พยายามแนะนำรัฐบาลและ คสช.หลายหนในเรื่องให้หลีกเลี่ยงข่าวสารทางด้านลบนี้
จากประสบการณ์สองปีนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้จดจำบทเรียนอันเจ็บปวดนี้ และหวังว่าปัญหาอย่างเดิมจะไม่กลับมาเกิดขึ้นอีก โดยประชาชนส่วนใหญ่อยากจะให้กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงโดยเร็ว แต่ก็ยังสับสนว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรกับกติกาใหม่นี้ที่ดูเหมือนจะไม่แก้ปัญหาร้ายแรงเดิมๆ ของสองปีที่ผ่านมาให้หมดไปได้ แต่สุดท้ายแล้วประชาชนส่วนใหญ่จะต้องเป็นผู้กำหนดว่าจะต้องการเห็นประเทศนี้เดินหน้าต่อไปอย่างไร
แสดงความคิดเห็น