ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 61 วรรค 2 พ.ร.บ. ประชามติ ขัด รธน. หรือไม่
บ่ายนี้ นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายในสัปดาห์นี้ มติดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา
โดยการประชุมครั้งนี้มีนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานการประชุมและเห็นว่ากฎหมายมาตราดังกล่าวมีความคลุมเครือในเนื้อหา ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ประชาชนสับสนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และอาจจะมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ไปในทางที่ต้องดำเนินคดีกับประชาชน ซึ่งแม้ท้ายที่สุดศาลจะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยก็ถือว่าประชาชนได้รับผลกระทบไปแล้วหากมีการดำเนินคดีเกิดขึ้น ซึ่งที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหากให้มีการดำเนินการลงประชามติด้วยความสับสนเช่นนี้จะทำให้การออกเสียงลงประชามติเกิดความวุ่นวายมากกว่าความสงบเรียบร้อย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) นำหนังสือพร้อมรวบรวมรายชื่อจำนวน 107 ชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ อดีต ส.ว. ร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ม.61 วรรค 2 ขัดรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 หรือไม่ โดยระบุว่า มาตราที่เป็นปัญหาคือมาตรา 61 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ผู้ที่ดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”
โดยผู้ร้องทั้ง 107 คนเห็นว่ามาตรานี้เป็นการบัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดโดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ เช่นคำว่า "รุนแรง" "ก้าวร้าว" "ปลุกระดม" ซึ่งเป็นคำที่ไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกอย่างใดจะผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งขัดต่อหลักการของกฎหมายอาญาที่ต้องชัดเจนแน่นอนให้ประชาชนสามารถทราบถึงขอบเขตของสิทธิเสรีภาพได้ ส่วนการแสดงออกด้วยถ้อยคำที่ "หยาบคาย" นั้น ตามปกติแล้วแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่ก็ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย การบัญญัติมาตรา 61 วรรคสองเช่นนี้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขต โดยไม่มีเหตุอันสมควร ‪#‎ประชามติ‬

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.