หนังสือ “รัฐธรรมนูญ” โดยปิยบุตร แสงกนกกุล ต่อไปนี้คือ “น้ำจิ้ม” จากบทที่หนึ่ง “ประวัติข้อความคิดรัฐธรรมนูญ”
คำว่า Constitution แต่เดิมหมายถึงระบบปกครองของรัฐโบราณหรือกฎหมายเฉพาะ จนกระทั่งการปฏิวัติอเมริกาและฝรั่งเศสที่ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนตัวผู้ปกครอง แต่เป็นการ “เปลี่ยนระบอบ” จึงก่อเกิดความหมาย “รัฐธรรมนูญ” แบบสมัยใหม่ อันเป็นผลจากการแตกหักกับระบอบเก่า ประชาชนหลุดพ้นจากพันธการของอำนาจศาสนาและกษัตริย์ แล้วกำหนดกติกาการปกครองในระบอบใหม่ด้วยตนเอง
รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ “สัญญา” ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน แต่เป็น “การกระทำฝ่ายเดียว” โดยประชาชนที่ใช้ “อำนาจสถาปนา” กำหนดรูปแบบการเมืองของรัฐผ่าน “รัฐธรรมนูญ” ให้เป็นต้นธารของสถาบันการเมืองและการใช้อำนาจรัฐทั้งปวง อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญคือ อำนาจของการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบ รัฐธรรมนูญสมัยใหม่คือ “การปฏิวัติ” (หน้า 14)
ในประเทศไทย “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม” ที่ร่างโดยปรีดี พนมยงค์ และประกาศใช้เมื่อ 27 มิถุนายน 2475 นับว่า มีลักษณะใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ในความหมายที่เป็น “การกระทำฝ่ายเดียว” ของคณะราษฎรที่เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ทำการ “เปลี่ยนระบอบ” ให้พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้ว่านักกฎหมายของคณะราษฎรเองจะอธิบายว่า นี่เป็น “ข้อตกลงระหว่างประมุขรัฐกับราษฎร” ขณะที่นักกฎหมายฝ่ายกษัตริย์นิยมก็อธิบายว่า เป็นการที่ “พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์อธิปัตย์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ราษฎร”
ตั้งแต่รธน. 2540 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญไทยก็ถูกมองเป็นแค่ “เครื่องมือปฏิรูป” เพื่อแก้ปัญหาสารพัดในระบบการเมือง เช่น นักการเมืองทุจริต รัฐบาลอ่อนแอ ฯลฯ และวนเวียนอยู่กับระบบเลือกตั้ง องค์ประกอบรัฐสภา สส. สว. คิดประดิษฐ์องค์กรใหม่ ๆ เพิ่ีมขึ้น ๆ
แต่ทว่า นับแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผ่านการปฏิวัติสยามจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่เคยมีการยกระดับข้อคิดไปถึง “ปัญหาขั้นมูลฐาน” ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือ “ใครเป็นผู้ทรงอำนาจปฐมในการสถาปนารัฐธรรมนูญ?”
บ่ายเสาร์นี้ 4 มิ.ย. คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์!

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.