พลังหญิงเพื่อหญิง
ในจำนวนประชากรโลกซึ่งเป็นผู้ไม่รู้หนังสือนั้นเป็นผู้หญิงถึง 2 ใน 3 โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ชี้ว่าเด็กหญิงราว 17 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือ และมีโอกาสตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
บรรดาผู้หญิงเองต่างตระหนักถึงปัญหานี้ และพยายามทำทุกทางเพื่อให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเรียนรู้ เช่นที่ อินเดียและเคนยา ผู้หญิงที่มีโอกาสได้รับการศึกษาได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มสอนหนังสือและทักษะอาชีพให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเธอสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้
องค์กรพรอทซาฮัน เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงนิวเดลี ที่ทำงานช่วยเหลือเด็กหญิงในสลัม โดยให้ความรู้ด้านการศึกษาทั้งวิชา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ การถ่ายภาพ การผลิตภาพยนตร์ และศิลปะเชิงสร้างสรรค์แก่เด็กๆ
โซนาล คาปูร์ ผู้ก่อตั้งองค์กรบอกว่า “พรอทซาฮัน” ซึ่งมีความหมายถึงการเกื้อหนุนให้กำลังใจ ได้ให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส และเป็นกำลังใจให้พวกเธอได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเอง คาปูร์ได้แนวคิดจัดตั้งองค์กรนี้หลังจากได้พบกับผู้มีครรภ์คนหนึ่งในสลัม เมื่อปี 2553 หญิงคนนี้มีลูกอยู่ก่อนแล้วถึง 6 คน ตอนที่พบกันนั้นผู้หญิงคนนี้ส่งลูกสาวคนโตอายุ 7 ปี ไปทำงานในซ่องเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว คาปูร์ถามเธอว่า จะทำอย่างไรกับลูกคนที่ 7 ที่กำลังจะลืมตาดูโลก คำตอบที่ได้รับคือ “ถ้าเป็นลูกชายก็จะให้เรียนหนังสือ แต่ถ้าได้ลูกสาวก็จะบีบคอเสียตั้งแต่คลอดออกมา”
คาปูร์ยังพบด้วยว่าในขณะที่เด็กชายในสลัมมีโอกาสได้เล่าเรียน แต่เด็กหญิงที่อยู่ในสลัมจำนวนมากถึง 95% ไม่เคยได้รับโอกาสนี้ พวกเธอยังถูกล่วงละเมิดทางเพศ เธอจึงจัดตั้งองค์กรพรอทซาฮันขึ้นมาเพื่อหาทางโน้มน้าวให้พ่อแม่เห็นว่าลูกสาวควรได้รับโอกาสในชีวิตไม่ต่างจากลูกชาย เมื่อพวกเธอร่ำเรียนจนมีความรู้ก็จะได้สืบทอดความรู้นั้นให้คนอื่น ๆ ต่อไป
อีกซีกโลกหนึ่งที่เคนยา ก็มีองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานช่วยเหลือสตรีในทำนองเดียวกัน เฮชิมา เคนยา ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงที่ลี้ภัยหนีสงครามจากประเทศบ้านเกิด เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก บุรุนดี ซูดานและโซมาเลีย หลายคนดั้นด้นมาถึงเคนยาในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด และเป็นเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน องค์กรเฮชิมา เคนยา จัดตั้งกลุ่มมาอิชา ทำงานช่วยสอนหนังสือ และทักษะอาชีพอย่างการตัดเย็บเสื้อผ้าและทำผ้าพันคอย้อมสีเพื่อนำไปขาย
นายเบเนดิคท์ กังกา รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการระดับประเทศของเฮชิมา เคนยา บอกว่า ผู้หญิงเหล่านี้ได้เรียนรู้การทำธุรกิจไปในตัว เพราะผ้าพันคอที่ทำขึ้นถูกส่งไปขายทั้งในและต่างประเทศ เป็นรายได้ที่ทำให้พวกเธอสามารถลืมตาอ้าปากได้ และยังสนับสนุนให้พวกเธอรู้จักออมเงินเพื่อจะมีโอกาสตั้งตัวได้ภายใน 2 ปี
เมื่อปีที่แล้ว ผ้าพันคอที่ผลิตโดยกลุ่มมาอิชาทำเงินได้ถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 5.2 ล้านบาท รายได้ส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ในกองทุนเยียวยาสภาพจิตใจและรักษาพยาบาลผู้หญิงที่เคยตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไปพบกับผู้หญิงที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหยิบยื่นโอกาสให้เด็ก ๆ เหล่านี้ ติดตามรายละเอียดได้ในวิดีโอนี้ค่ะ #GirlPower #ChangingTheRules
แสดงความคิดเห็น