"จาตุรนต์" สับ กกต.ไร้ความชอบธรรมร้ายแรง ทำผิดหน้าที่ จัดเวทีชี้นำ จูงใจ ปชช.รับร่าง รธน. ปิดกั้น-คอยจ้องจับผิดฝ่ายเห็นต่าง อัด "วิษณุ" ใช้งบฯ ราชการชี้นำ รับ ร่างฯ ท้าออกทีวีดีเบตชน
วันที่ 12 มิ.ย. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการลงพื้นที่จัดเวทีชี้แจง “ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน” ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จ.นครศรีธรรมราช ว่า เท่ากับ กกต.หลอกลวงประชาชนทั้งประเทศ เพราะ กกต.บอกว่า จะไปส่งเสริมให้มีคนไปออกเสียงประชามติกันมากๆ แต่จริงๆ แล้วเป็นการไปเปิดเวทีเพื่อให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาล ไปชี้แจงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ และไปจูงใจชี้นำประชาชนให้รับร่างรัฐธรรมนูญอยู่ฝ่ายเดียว นอกจากไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นแล้ว ในเวทีนั้น กกต. ยังได้ไปข่มขู่ผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง โดย กกต.ได้ยกตัวอย่างกรณีต่างๆ ที่อาจผิดกฎหมาย รวมทั้งเวทีนั้นได้มีการพูดถึงการที่ คสช. และรัฐบาล จะจัดการกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเวลานี้ กกต.กำลังทำผิดหน้าที่ แทนที่ กกต.จะทำหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนไปออกเสียง ส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงสิทธิเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ กกต.กลับกำลังทำหน้าที่ตัวเองเหมือนว่า ต้องทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการลงประชามติให้ได้ เรื่องทั้งหมดจึงเป็นการกระทำในลักษณะที่ทำให้การทำประชามติในครั้งนี้ เป็นเรื่องขาดความชอบธรรมอย่างร้ายแรง
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนการที่รัฐบาลส่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปชี้แจง เท่ากับให้มองเห็นว่ารัฐบาลไปชี้นำประชาชน โดยผ่านเวทีท่ีต้องใช้งบประมาณราชการ นายวิษณุ ได้ชี้แจงในลักษณะคิดเองฝ่ายเดียว ไม่เปิดโอกาสให้คนเห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นบ้าง นายวิษณุ ได้บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะช่วยดับทุกข์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ได้พูดว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 เกิดจากอะไร ไม่มีการพูดว่าเหตุใดฝ่ายความมั่นคงและกองทัพ จึงเลือกทำหน้าที่ต่อเมื่อมีรัฐบาลที่ตัวเองสนับสนุนเท่านั้น และเพื่อช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างที่จะมีรัฐบาลที่ตัวเองพร้อมสนับสนุนก็มีการดำเนินการที่รุนแรงเกินความจำเป็น แต่เมื่อมีรัฐบาลที่กองทัพไม่สนับสนุน ก็ไม่มีการร่วมมือกับรัฐบาลในการรักษากฎหมาย และความสงบเรียบร้อย
นอกจากนั้น ฝ่ายตำรวจก็ไม่สามารถรักษากฎหมายได้ เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมไม่เอื้ออำนวย ส่ิงเหล่านี้เป็นต้นตอความทุกข์ของประเทศนี้ และมาบัดนี้ทาง คสช. และรัฐบาล ก็ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้น ในขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำลังจะสร้างทุกข์ใหม่ให้กับประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับส่ิงที่นายวิษณุพูด ถึงเรื่องที่บอกว่าสร้างความอึดอัดให้นักการเมือง เพราะไม่มีการตรวจสอบ แต่จริงๆ แล้ว ถ้านักการเมืองจะเห็นว่าเป็นปัญหาคือ ร่างรัฐธรรมนูญนี้เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว จะมีผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาเป็นผู้กำหนดใครจะเป็นรัฐบาล รวมทั้งการออกกฎหมายและแก้กฎหมายต่างๆ เท่ากับรัฐบาลและสภาจะไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน และนั่นหมายถึงเกิดเป็นความทุกข์สำหรับประชาชนทั้งประเทศ ส่ิงที่น่าอึดอัดไม่ใช่ฝ่ายการเมืองถูกเข้มงวด แต่ที่น่าอึดอัดคือ ผู้ที่มีอำนาจ องค์กรที่มีอำนาจทั้งหลาย รวมทั้งกำกับรัฐบาล จะไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยกลไกใดๆ รวมทั้งประชาชน ส่ิงเหล่านี้ไม่มีการพูดถึง และไม่เปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างแสดงความคิดเห็นได้เลย
เพราะฉะนั้น ตนคิดว่า กกต.ไม่ควรจัดเวทีในลักษณะนี้ต่อไป กกต.ควรเปลี่ยนบทบาทไปส่งเสริมให้มีการลงประชามติ และส่งเสริมให้มีเวทีให้ 2 ฝ่ายมาแสดงความเห็นโต้แย้งกันได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลจากทุกฝ่าย ไม่ใช่ทำในลักษณะที่ร่วมมือกับฝ่ายที่มีอำนาจ เพื่อจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปให้ได้ โดยไม่ถูกต้องชอบธรรมอย่างที่ทำอยู่ และเวลานี้ยากมากที่จะเปิดให้ 2 ฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน มีแต่การให้ฝ่ายที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญได้ชี้นำประชาชนได้ตามใจชอบ แล้ว กกต.ก็คอยจับผิดฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และไม่เคยชี้แจงว่าส่ิงที่ทำได้มีอะไรบ้าง ที่จะชี้แจงเป็นเพียงเล็กน้อยและคลุมเครือ
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การจัดเวทีให้ 2 ฝ่ายได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเท่ากัน ถ้าจะให้ดีโดยที่ กกต.ขอให้เชิญทั้ง 2 ฝ่าย ปรากฏทาง กรธ.ใช้วิธีไม่ไปเลยมีฝ่ายไม่เห็นด้วยฝ่ายเดียว สื่อเลยไม่กล้าจัด ทางที่ดีถ้า กรธ.ไม่ไป ทาง กกต.ควรให้ทางรัฐบาลไปโดยให้ นายวิษณุ ไป ทางฝ่ายไม่เห็นด้วยก็ยินดีไปถกกับ นายวิษณุ เพื่อชี้ให้เห็นว่าส่ิงที่นายวิษณุพูดไม่เป็นความจริง กำลังชักจูงให้ประชาชนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะสร้างปัญหาให้กับประเทศ ไม่ใช่ตามที่นายวิษณุกล่าวอ้าง
นอกจากนี้ กกต.ยังเตรียมรับมือพิจารณาคำร้อง ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ยื่นศาลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 หรือไม่ ฟังดูแล้วหาทางจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ที่เห็นต่างอยู่ต่อไป โดยไม่เกิดสำนึกบ้างเลยว่า การมีบางองค์กรของรัฐเห็นว่า กฎหมายมีปัญหา ก็ควรที่ กกต.มาคิดว่าจะส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นได้อย่างไร ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร กกต.ก็จะหาวิธีจำกัดสิทธิเสรีภาพของฝ่ายที่เห็นต่างให้มากย่ิงขึ้น ซึ่งทำให้โอกาสแสดงความคิดเห็นต่างถูกจำกัด และในการลงประชามติครั้งนี้ โดยประชาชนได้รับฟังความเห็นจากฝ่ายเดียวเป็นอย่างเดียว กลายเป็นความไม่ชอบธรรมกับการรับร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต
เมื่อถามว่า มองว่าเวลานี้ โอกาสที่จะไม่เกิดหรือเลื่อนการทำประชามติ เกิดขึ้นได้หรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เวลานี้ผู้มีอำนาจพูดในลักษณะที่จะเปิดช่องทางไว้ เพื่อที่จะเลื่อน หรือยกเลิกประชามติ โดยอ้างว่ามีความวุ่นวาย ก่อกวนขัดขวางการทำประชามติ ซึ่งการขัดขวาง ก่อกวนไม่มีขึ้นเลย และไม่ได้อยู่ในความคิดของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะส่ิงที่เขาต้องการคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ว่าการเปิดช่องหรือให้ล้มประชามติ อาจจะไปโยงกับสถานการณ์ โดยเฉพาะช่วงใกล้ทำประชามติแล้วค้นพบว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีโอกาสไม่ผ่าน อ้างเหตุผลล้มประชามติได้ แต่ว่า ถ้าจะมีการล้มโดยอ้างเหตุความวุ่นวาย การเลื่อนหรือล้มประชามติก็จะทำให้เป็นปัญหา ทำให้เกิดความไม่ยอมรับต่อผู้มีอำนาจสั่งให้เลื่อนหรือล้มประชามติได้
แสดงความคิดเห็น