กสม. ชี้โครงการเศรษฐกิจพิเศษตากยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้านรองผู้ว่าฯตาก เผยเสียงต่อต้านเป็นเพียงส่วนน้อย
เวทีรับฟังความคิดเห็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ตามโครงการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก วานนี้ ล่มเนื่องจากกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่นและชาวบ้าน ประท้วงด้วยการเดินออกจากเวทีโดยให้เหตุผลว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ชอบธรรม เนื่องจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยังไม่ได้รับมอบกรรมสิทธิในพื้นที่จากกรมธนารักษ์ จึงไม่สามารถเข้ามาดำเนินการกิจกรรมใดๆ ได
จากกรณีที่เกิดขึ้น นางพรพนา ก๊วยเจริญ ที่ปรึกษาของกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น เผยกับบีบีซีไทยว่า ชาวบ้านเห็นว่าการจัดเวทีดังกล่าวเป็นการลัดขั้นตอนทางกฎหมาย เพราะที่ดินยังไม่ได้ส่งมอบให้กับกนอ. เนื่องจากยังมีข้อพิพาทกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และยังไม่มีการวางผังเมืองเฉพาะให้เรียบร้อย จึงมีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่ควรแก้ปัญหาที่ค้างคากับชาวบ้านก่อนดำเนินการต่อไป
ด้าน นายสุทธา สายวาณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ประธานในที่ประชุมวานนี้ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า เวทีดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ซึ่งยังไม่การลงมติในเรื่องใดๆ การจัดเวทีศึกษาผลกระทบจึงสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม นายสุทธากล่าวว่าโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากหากมีการดำเนินการต่อเนื่องจะส่งผลดีเป็นลูกโซ่ โดยระบุว่าตั้งแต่มีการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีกลุ่มทุนให้การสนใจลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
นายสุทธา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของกระแสสังคมที่ออกมาต่อต้านนั้น เป็นเพราะความเข้าใจไม่ตรงกัน โดยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 769 ไร่ ซึ่งถ้าเทียบกับพื้นที่โครงการทั้งหมด 800,000 กว่าไร่ ยังนับว่าเป็นเพียงส่วนน้อย โดยต่อจากนี้จะเดินหน้าทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนตามนโยบายของรัฐบาล
ด้าน นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีถึงกรณีดังกล่าว ว่า ประเด็นหลักที่หลายฝ่ายมีความกังวล คือแนวคิดของโครงการที่เป็นระบบสั่งการลงมาจากรัฐบาล ซึ่งต่างจากที่ภาคส่วนในพื้นที่ได้รวมกันหาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจแม่สอดมากว่า 7 ปี ซึ่งเน้นต่อยอดศักยภาพ 3 ด้าน คือ ด้านการส่งออกสินค้า ด้านระบบการขนส่งสินค้า และด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสามด้านมีศักยภาพในพื้นที่อยู่แล้ว
นางเตือนใจ ระบุด้วยว่า กสม. คิดว่าจะใช้แม่สอดเป็นต้นแบบเกี่ยวกับการเรียกร้องเรื่องโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีทั้งหมด 10 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากภาคประชาชนมีความเข้มแข็งมาก เป็นต้นแบบที่รัฐบาลควรหันมารับฟัง ซึ่งความร่วมมือวางแผนของภาคส่วนในพื้นที่ตลอดระยะเวลา 10 ปี ได้ทำรายได้มหาศาลต่อประเทศ ทั้งนี้ ตนมองว่านโยบายดังกล่าวชาวบ้านทั่วไปได้รับผลประโยชน์น้อย อาจเป็นการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนมากกว่า
ก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 17/2558 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าถาวร และพื้นที่สาธารณประโยชน์ ใน อ.แม่สอด เพื่อรองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2,182 ไร่ ทั้งนี้ ขอบเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก มีพื้นที่ทั้งสิ้น 886,875 ไร่ ใน 3 อำเภอ ได้แก่ แม่สอด พบพระ และแม่ระมาด โดยเบื้องต้นได้สร้างผลกระทบกับชาวบ้านจำนวนมาก ซึ่งต้องอพยพย้ายถิ่นฐานและสูญเสียที่ดินทำกิน
(ภาพประกอบจากเครือข่าย)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.