เมื่อโรฮิงญาคือ “ไก่ดำ”
นักวิจัยปัญหาโรฮิงญาเปิดศัพท์เฉพาะในหมู่นักค้ามนุษย์และแก๊งค์ขนคน เผยโรฮิงญากลายเป็น “ไก่ดำ” และเป็น “สินค้า” ส่วนแคมป์กักคนเรียก “คอก” ตั้งค่าหัวเรียกค่าไถ่หรือขาย 60,000 - 100,000 บาทต่อคน
พุทธณี กางกั้น นักวิจัยที่ทำงานร่วมกับกลุ่มฟอร์ติฟายไรท์บอกเล่าเรื่องราวจากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการค้ามนุษย์กลุ่มโรฮิงญาในการเสวนาเรื่อง “1 ปีวิกฤติผู้อพยพชาวโรฮิงญา: การอพยพย้ายถิ่นอย่างไม่ปกติในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน” เมื่อวานนี้คือ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเปิดเผยข้อมูลของการทำงานของเครือข่ายว่า เป็นการทำกันอย่างเป็นกระบวนการ จุดประสงค์เพื่อทำกำไร ในขณะที่โรฮิงญาเองส่วนหนึ่งก็อยากแสวงหาที่ที่ดีกว่าเนื่องจากปัญหาในประเทศตนเอง ซึ่งเรื่องนี้การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาโรฮิงญาของประเทศต่างๆยังไปไม่ถึงรากเหง้าของปัญหา อย่างไรก็ตาม นอกจากคนที่อยากออกนอกประเทศแล้ว ยังมีคนที่ถูกหลอกหรือบังคับให้ร่วมทางออกนอกประเทศเนื่องจากเครือข่ายขนคนต้องการทำยอดให้ได้ตามที่ต้องการ
พุทธณีกล่าวว่า สมาชิกในขบวนการบางรายลงทุนซื้อเรือและนำไปดัดแปลงเพื่อจะนำไปขนโรฮิงญาและชาวบังคลาเทศ พวกเขาประเมินว่า เรือแต่ละลำหากจะขนให้คุ้มและได้กำไรจะต้องมีคนไม่ต่ำกว่า 4-500 คน และกว่าที่จะทำให้ได้คนในจำนวนที่ต้องการก็อาจจะต้องรอไม่ต่ำกว่าสามเดือน ในระหว่างนั้นพวกเขาจะมีคนที่ต้องการเดินทางไปรอเรื่อยๆ เท่ากับว่าจะมีคนที่ต้องไปลงเรือรอเป็นคนแรกๆและอยู่ในเรือนานมากกว่าคนอื่นๆ ในระหว่างทาง ความแออัดของเรือทำให้พวกเขาต้องนั่งอยู่ในท่าเดียวตลอด อาหารก็มีจำกัดมาก คนเหล่านี้จะเริ่มมีปัญหาร่างกายช่วงล่างเริ่มบวม คือเป็นอัมพฤกษ์ไปแล้วครึ่งตัว หลายคนเมื่อไปถึงจุดหมายซึ่งจะเป็นแถวระนองหรือไม่ก็เกาะใกล้เคียงกับเกาะหลีเป๊ะ บางคนลงจากเรือเองไม่ได้ เมื่อเข้าไปอยู่ในค่ายซึ่งสภาพอาหารจำกัด อากาศชื้น ก็จะยิ่งเจ็บป่วยมากขึ้น จึงพบว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปทลายค่ายหลายคนเดินไม่ได้ต้องนำส่งโรงพยาบาล และมีคนที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลเพราะร่างกายอ่อนแอ
พุทธณีเปิดเผยอีกว่า เครือข่ายขนคนจะคิดต้นทุนในการขนย้ายผู้คนเหล่านี้ และเรียกค่าไถ่หรือขายในราคาที่ได้กำไร ทำให้ค่าหัวของโรฮิงญาตกคนละ 60,000 ถึง 100,000 บาท ในการเรียกค่าไถ่ คนเหล่านั้นอาจถูกทำร้ายเพื่อให้โทรศัพท์หาคนมาจ่ายเงินให้ก่อนที่จะได้เดินทางไปต่อ คือไปยังมาเลเซียหรือไม่ก็อินโดนีเซีย แต่ก็ยังมีบางกรณีที่จ่ายเงินแล้ว แต่ไม่ได้ไปก็มี
“ต้นทุนในการขน “ไก่ดำ” จะเฉลี่ยตกคนละ 2.6 หมื่นบาท การ “ขาย” โรฮิงญาจึงมีราคาต่ำสุด ที่ 6 หมื่นถึงหนึ่งแสนบาท” นอกจากนั้นเธอบอกว่า “ยังมีคำที่คนในวงการเรียก เช่นที่เราเรียกกันว่าแคมป์ เขาเรียกกันว่าคอก ซึ่งเป็นคำที่เราเรียกที่ใส่วัวควาย เวลาคุยกันถึงโรฮิงญาที่จะเข้ามาใหม่ พวกเขาจะเรียกว่า “สินค้ามาแล้ว” เช่นถามกันว่า วันนี้ไปคอกไหนบ้าง” มีการทำสายรัดข้อมือสีต่างๆเพื่อบอกว่าพวกเขาจะอยู่ที่ “คอก” ไหน
อย่างไรก็ตามในบรรดาผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการขนคนและค้ามนุษย์นั้น ก็ยังมีคนที่ได้รับการปฏิบัติด้วยดีในแคมป์และรวมทั้งที่ได้ไปมาเลเซียก็มี เห็นได้ว่าบางคนอาจจะต้องยอมทำอะไรบางอย่าง เช่นถ้าเป็นผู้หญิงอาจจะถูกเรียกไปรับใช้ใกล้ชิดคนที่เป็นนายหรือ “บอส” “เราเองบอกไม่ได้ว่าเขาถูกข่มขืนหรือไม่ แต่พวกเขาจะถูกเรียกตัวไปอยู่ลำพัง หรือยอมทำงานให้บอส คนเหล่านี้จะมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่ดีหน่อย”
ในส่วนของการปฏิบัติของไทยนั้น เธอบอกว่าไทยก็พยายามอย่างมากที่จะนำความยุติธรรมให้ผู้เสียหาย มีการนำคนผิดเข้ากระบวนการยุติธรรม แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง กล่าวคือ สำหรับโรฮิงญาหรือผู้เสียหายนั้นมีถ้าไม่อยู่ในห้องกักต่อไป ซึ่งขณะนี้ในภาคใต้ของไทยไม่มีพื้นที่มากพอจะรองรับแล้ว ต้องส่งไปทางภาคอีสาน และในห้องกักนั้นพื้นที่คับแคบทำอะไรได้น้อยมาก ทำให้มักจะหลบหนี บางรายถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต ส่วนที่หนีออกไปก็อาจจะกลับเข้าสู่วงจรของการถูกนำไปค้าอีก ส่วนโรฮิงญาที่ถูกดำเนินคดีในฐานะเข้าเมืองผิดกฎหมายจะถูกส่งตัวกลับอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเธอเรียกร้องว่าไม่ควรทำเพราะคนเหล่านี้กลับบ้านตัวเองไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะกลับสู่มือผู้ค้าอีกเช่นกัน
นักวิจัยปัญหาโรฮิงญากล่าวอีกว่า มีสัญญาณที่ดีจากรัฐบาลซึ่งพยายามแก้ปัญหาโรฮิงญาและการค้ามนุษย์ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์สามารถออกไปทำงานได้ แต่ทั้งนี้เรื่องนี้ยังมีเพียงคำสั่ง ยังไม่มีผลในทางปฎิบัติ แต่คนที่ทางการจับมาดำเนินคดียังมีน้อยมากแค่ 20% ของคนที่อยู่ในเครือข่าย
นักวิจัยปัญหาโรฮิงญาเปิดศัพท์เฉพาะในหมู่นักค้ามนุษย์และแก๊งค์ขนคน เผยโรฮิงญากลายเป็น “ไก่ดำ” และเป็น “สินค้า” ส่วนแคมป์กักคนเรียก “คอก” ตั้งค่าหัวเรียกค่าไถ่หรือขาย 60,000 - 100,000 บาทต่อคน
พุทธณี กางกั้น นักวิจัยที่ทำงานร่วมกับกลุ่มฟอร์ติฟายไรท์บอกเล่าเรื่องราวจากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการค้ามนุษย์กลุ่มโรฮิงญาในการเสวนาเรื่อง “1 ปีวิกฤติผู้อพยพชาวโรฮิงญา: การอพยพย้ายถิ่นอย่างไม่ปกติในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน” เมื่อวานนี้คือ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเปิดเผยข้อมูลของการทำงานของเครือข่ายว่า เป็นการทำกันอย่างเป็นกระบวนการ จุดประสงค์เพื่อทำกำไร ในขณะที่โรฮิงญาเองส่วนหนึ่งก็อยากแสวงหาที่ที่ดีกว่าเนื่องจากปัญหาในประเทศตนเอง ซึ่งเรื่องนี้การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาโรฮิงญาของประเทศต่างๆยังไปไม่ถึงรากเหง้าของปัญหา อย่างไรก็ตาม นอกจากคนที่อยากออกนอกประเทศแล้ว ยังมีคนที่ถูกหลอกหรือบังคับให้ร่วมทางออกนอกประเทศเนื่องจากเครือข่ายขนคนต้องการทำยอดให้ได้ตามที่ต้องการ
พุทธณีกล่าวว่า สมาชิกในขบวนการบางรายลงทุนซื้อเรือและนำไปดัดแปลงเพื่อจะนำไปขนโรฮิงญาและชาวบังคลาเทศ พวกเขาประเมินว่า เรือแต่ละลำหากจะขนให้คุ้มและได้กำไรจะต้องมีคนไม่ต่ำกว่า 4-500 คน และกว่าที่จะทำให้ได้คนในจำนวนที่ต้องการก็อาจจะต้องรอไม่ต่ำกว่าสามเดือน ในระหว่างนั้นพวกเขาจะมีคนที่ต้องการเดินทางไปรอเรื่อยๆ เท่ากับว่าจะมีคนที่ต้องไปลงเรือรอเป็นคนแรกๆและอยู่ในเรือนานมากกว่าคนอื่นๆ ในระหว่างทาง ความแออัดของเรือทำให้พวกเขาต้องนั่งอยู่ในท่าเดียวตลอด อาหารก็มีจำกัดมาก คนเหล่านี้จะเริ่มมีปัญหาร่างกายช่วงล่างเริ่มบวม คือเป็นอัมพฤกษ์ไปแล้วครึ่งตัว หลายคนเมื่อไปถึงจุดหมายซึ่งจะเป็นแถวระนองหรือไม่ก็เกาะใกล้เคียงกับเกาะหลีเป๊ะ บางคนลงจากเรือเองไม่ได้ เมื่อเข้าไปอยู่ในค่ายซึ่งสภาพอาหารจำกัด อากาศชื้น ก็จะยิ่งเจ็บป่วยมากขึ้น จึงพบว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปทลายค่ายหลายคนเดินไม่ได้ต้องนำส่งโรงพยาบาล และมีคนที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลเพราะร่างกายอ่อนแอ
พุทธณีเปิดเผยอีกว่า เครือข่ายขนคนจะคิดต้นทุนในการขนย้ายผู้คนเหล่านี้ และเรียกค่าไถ่หรือขายในราคาที่ได้กำไร ทำให้ค่าหัวของโรฮิงญาตกคนละ 60,000 ถึง 100,000 บาท ในการเรียกค่าไถ่ คนเหล่านั้นอาจถูกทำร้ายเพื่อให้โทรศัพท์หาคนมาจ่ายเงินให้ก่อนที่จะได้เดินทางไปต่อ คือไปยังมาเลเซียหรือไม่ก็อินโดนีเซีย แต่ก็ยังมีบางกรณีที่จ่ายเงินแล้ว แต่ไม่ได้ไปก็มี
“ต้นทุนในการขน “ไก่ดำ” จะเฉลี่ยตกคนละ 2.6 หมื่นบาท การ “ขาย” โรฮิงญาจึงมีราคาต่ำสุด ที่ 6 หมื่นถึงหนึ่งแสนบาท” นอกจากนั้นเธอบอกว่า “ยังมีคำที่คนในวงการเรียก เช่นที่เราเรียกกันว่าแคมป์ เขาเรียกกันว่าคอก ซึ่งเป็นคำที่เราเรียกที่ใส่วัวควาย เวลาคุยกันถึงโรฮิงญาที่จะเข้ามาใหม่ พวกเขาจะเรียกว่า “สินค้ามาแล้ว” เช่นถามกันว่า วันนี้ไปคอกไหนบ้าง” มีการทำสายรัดข้อมือสีต่างๆเพื่อบอกว่าพวกเขาจะอยู่ที่ “คอก” ไหน
อย่างไรก็ตามในบรรดาผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการขนคนและค้ามนุษย์นั้น ก็ยังมีคนที่ได้รับการปฏิบัติด้วยดีในแคมป์และรวมทั้งที่ได้ไปมาเลเซียก็มี เห็นได้ว่าบางคนอาจจะต้องยอมทำอะไรบางอย่าง เช่นถ้าเป็นผู้หญิงอาจจะถูกเรียกไปรับใช้ใกล้ชิดคนที่เป็นนายหรือ “บอส” “เราเองบอกไม่ได้ว่าเขาถูกข่มขืนหรือไม่ แต่พวกเขาจะถูกเรียกตัวไปอยู่ลำพัง หรือยอมทำงานให้บอส คนเหล่านี้จะมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่ดีหน่อย”
ในส่วนของการปฏิบัติของไทยนั้น เธอบอกว่าไทยก็พยายามอย่างมากที่จะนำความยุติธรรมให้ผู้เสียหาย มีการนำคนผิดเข้ากระบวนการยุติธรรม แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง กล่าวคือ สำหรับโรฮิงญาหรือผู้เสียหายนั้นมีถ้าไม่อยู่ในห้องกักต่อไป ซึ่งขณะนี้ในภาคใต้ของไทยไม่มีพื้นที่มากพอจะรองรับแล้ว ต้องส่งไปทางภาคอีสาน และในห้องกักนั้นพื้นที่คับแคบทำอะไรได้น้อยมาก ทำให้มักจะหลบหนี บางรายถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต ส่วนที่หนีออกไปก็อาจจะกลับเข้าสู่วงจรของการถูกนำไปค้าอีก ส่วนโรฮิงญาที่ถูกดำเนินคดีในฐานะเข้าเมืองผิดกฎหมายจะถูกส่งตัวกลับอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเธอเรียกร้องว่าไม่ควรทำเพราะคนเหล่านี้กลับบ้านตัวเองไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะกลับสู่มือผู้ค้าอีกเช่นกัน
นักวิจัยปัญหาโรฮิงญากล่าวอีกว่า มีสัญญาณที่ดีจากรัฐบาลซึ่งพยายามแก้ปัญหาโรฮิงญาและการค้ามนุษย์ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์สามารถออกไปทำงานได้ แต่ทั้งนี้เรื่องนี้ยังมีเพียงคำสั่ง ยังไม่มีผลในทางปฎิบัติ แต่คนที่ทางการจับมาดำเนินคดียังมีน้อยมากแค่ 20% ของคนที่อยู่ในเครือข่าย
แสดงความคิดเห็น