ทัศนะของคนทำงานด้านผู้ลี้ภัยต่อการเยือนไทยของออง ซาน ซูจี

ปัญหาผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และคนไร้สัญชาติในเมียนมา เป็นประเด็นท้าทายการทำงานรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา แม้การเยือนไทยในระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย. นี้ นางซูจี จะมีแผนเดินทางไปพบปะกับแรงงานจากประเทศเมียนมา ที่ ต.มหาชัย อ.เมือง จ. สมุทรสาคร แต่กำหนดการเยี่ยมผู้ลี้ภัย ณ ที่พักพิงชั่วคราว ที่จ.ราชบุรี ถูกยกเลิกไปด้วยปัจจัยด้านสภาพอากาศ ขณะที่การพบปะระดับผู้นำประเทศระหว่างไทยและเมียนมา ก็ไม่มีวาระหารือเรื่องนี้

นายศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัย และคนไร้รัฐระบุว่า เรื่องของบุคคลไร้สัญชาติเป็นสิ่งที่รัฐบาลเมียนมาควรให้ความตระหนัก เพราะในไทยเองยังมีแรงงานจากเมียนมาที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติอยู่ราว 600,000 คน ขณะที่กำหนดเวลาผ่อนผันอนุญาตให้คนเหล่านี้ทำงานโดยมีเอกสารประจำตัวที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลเมียนมากำลังจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
นอกจากเรื่องของคนกลุ่มดังกล่าวแล้วนายศิววงศ์ เห็นว่ายังมีประเด็นที่นาง ออง ซาน ซู จี ควรหยิบยกมาพูดคุยในระหว่างการเยือนไทยครั้งนี้แต่กลับละเลย คือเรื่องของชาวโรฮิงญาและผู้อพยพกว่า 1 แสนคน ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย กับการหาแนวทางในการส่งผู้อพยพเหล่านั้นกลับประเทศ ซึ่งประเด็นหลังนี้มีจุดที่น่าเป็นห่วงอยู่ 3 เรื่อง คือ 1. ความพร้อมของรัฐบาลเมียนมาในการจัดหาที่ทำกินให้ 2.การจัดหาอาชีพรองรับ และ 3.สวัสดิภาพของผู้อพยพที่อาจได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์กับกองทัพของรัฐบาลเมียนมา

นายศิววงศ์ซึ่งทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเสนอว่า รัฐบาลเมียนมาต้องทบทวนกฎหมายว่าด้วยสัญชาติและพลเมือง และคืนสถานะให้ชาวโรฮิงญา ซึ่งจำนวนไม่น้อยสูญเสียสัญชาติไปเพราะถูกเพิกถอนในช่วงรัฐบาลนายพลเนวิน นอกจากนี้จะต้องอนุญาตให้หน่วยงานระหว่างประเทศเข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ เพื่อช่วยเหลือทั้งชาวพุทธและมุสลิมที่ยังประสบทั้งปัญหาความยากจนและความรุนแรงในพื้นที่ไม่ให้ต้องหลบหนีออกจากบ้านเกิด

เขากล่าวด้วยว่ารัฐบาลเมียนมาต้องยุติการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ให้การรับรองสนธิสัญญาปฏิญญาเกี่ยวกับสิทธิของบุคคล ลดจำนวนคนไร้รัฐ และผลักดันกระบวนการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของอาเซียน ที่เรียกว่า “กระบวนการบาหลี” ซึ่งเป็นข้อตกลงของประเทศอาเซียนในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยในภูมิภาค อย่างจริงจังซึ่งจะแก้ได้ทั้งปัญหาผู้อพยพลี้ภัยและการค้ามนุษย์



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.