กอริลลาเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือไม่?
กรณีเจ้าหน้าที่สวนสัตว์เมืองซินซินเนติ ในสหรัฐฯ ยิงปลิดชีพ “ฮารัมเบ” กอริลลาเพศผู้พันธุ์หายากเพื่อช่วยชีวิตเด็กชายที่พลัดตกลงไปในที่อยู่อาศัยของกอริลลาได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม โดยบางส่วนตั้งคำถามว่าการฆ่าฮารัมเบเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ ขณะที่สวนสัตว์ยืนกรานว่าการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ถูกต้องแล้ว เพราะการใช้ลูกดอกยาสลบอาจไม่ทันการณ์และจะยิ่งทำให้เด็กน้อยเป็นอันตราย ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านกอริลลาส่วนใหญ่ต่างมีความเห็นสนับสนุนสวนสัตว์ ทางด้านตำรวจก็เตรียมสอบสวนการกระทำของผู้ปกครองเด็ก
เมลิสซา โฮเกนบูม ผู้สื่อข่าวบีบีซีกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกอริลลาที่ถูกฆ่าเป็นกอริลลาหลังเงินสายพันธุ์ที่ลุ่มตะวันตก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง
โฮเกนบูม บอกว่า ในอดีตกอริลลาเคยถูกมองว่าเป็นสัตว์อันตรายที่สามารถฆ่าคนได้ทุกเมื่อ ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอภาพ “คิงคอง” ที่มีรูปลักษณ์คล้ายกับกอริลลา อย่างไรก็ตาม ทัศนคติเชิงลบเช่นนี้ได้เปลี่ยนไปในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 หลังจาก ไดแอน ฟอสซีย์ นักวานรวิทยาชื่อดังได้ศึกษากอริลลาภูเขา ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับฮารัมเบ แต่ก็มีความใกล้เคียงกันมาก และพบว่ากอริลลาเหล่านี้แทบจะไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง และส่วนใหญ่มักอยู่กันอย่างสงบสุข
ขณะที่เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ นักธรรมชาติวิทยาชื่อดังชาวอังกฤษ ได้เคยเข้าไปถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับฝูงกอริลลาของฟอสซีย์ ในปี ค.ศ. 1979 ซึ่งเผยให้เห็นว่ากอริลลาไม่ได้ดุร้ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ แถมลูกกอริลลาบางตัวยังเล่นกับแอทเทนเบอเรอห์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ฝูงกอริลลาที่ปรากฏในสารคดีของแอทเทนเบอเรอห์ มีความคุ้นเคยกับมนุษย์ที่ตามศึกษาพวกมันมานานหลายปี แต่ในธรรมชาติกอริลลาอาจเป็นสัตว์อันตราย เพราะพบว่ากอริลลาเพศผู้ที่เป็นจ่าฝูงมักจะปกป้องฝูงของตัวเองจากกอริลลาเพศผู้ตัวอื่น ซึ่งตามปกติพวกมันมักเริ่มต้นด้วยการส่งเสียงร้องคำราม และทุบอกเพื่อข่มขู่ศัตรู แต่หากไม่ได้ผลก็จะตรงเข้าโจมตี
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เหตุกอริลลาโจมตีมนุษย์มีรูปแบบคล้ายกัน แต่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อพวกมันถูกยั่วยุหรือทำให้ตื่นกลัว โดยเอียน เรดมอนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกอริลลาและเคยทำงานร่วมกับฟอสซีย์ ระบุว่า เหตุกอริลลาทำร้ายหรือฆ่ามนุษย์เกิดขึ้นน้อยมาก และส่วนใหญ่มักเป็นความผิดของมนุษย์ที่เพิกเฉยต่อสัญญาณเตือน หรือทำให้กอริลลาตื่นตกใจ
นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นต่างชี้ว่า กรณีกอริลลาที่อาศัยในป่าทำร้ายคนมีน้อยมาก และส่วนใหญ่มักเกิดจากสัญชาตญาณการป้องกันตัวเอง โดยการศึกษาพบว่ากอริลลามักแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อมนุษย์ผู้ใหญ่ เช่น นายพราน ไม่ใช่เด็ก และหากมีการโจมตีเกิดขึ้นก็มักไม่เป็นอันตรายถึงตาย ส่วนกรณีกอริลลาในสวนสัตว์ทำร้ายคนก็เกิดขึ้นน้อยมากเช่นกัน และส่วนใหญ่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า นักท่องเที่ยวที่เข้าไปดูกอริลลาเป็นจำนวนมากอาจทำให้สัตว์เกิดความเครียด และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา เนื่องจากพวกมันอยู่ในสถานที่จำกัดและไม่สามารถหนีไปจากผู้คนจำนวนมากได้นั่นเอง
เรดมอนด์ บอกว่า แม้จะพบว่ากอริลลาในสวนสัตว์เกิดความเครียดจากการที่ผู้คนเข้าไปดูมันเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่เคยมีรายงานกอริลลาในสวนสัตว์ฆ่าคน และก่อนหน้าเหตุการณ์ของฮารัมเบ เคยมีกรณีเด็กพลัดตกลงไปในกรงกอริลลา 2 ครั้ง แต่ทั้งสองเหตุการณ์เด็กไม่ถูกกอริลลาทำร้าย นั่นอาจเป็นเพราะขณะเกิดเหตุเด็กทั้ง 2 คนหมดสติทำให้กอริลลาไม่คิดว่าเด็กเป็นภัยต่อพวกมันนั่นเอง เรดมอนด์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดจากเหตุการณ์ครั้งล่าสุดนี้ คือการไม่ด่วนตัดสินการกระทำของสวนสัตว์เมืองซินซินเนติ แต่ควรเรียนรู้จากบทเรียนครั้งนี้และหาทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.