กลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเรียกร้องไทย ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหตุเพราะทั้งบทบัญญัติและการบังคับใช้ล้วนขัดแย้งข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธะต้องทำตาม
คณะผู้รายงานพิเศษจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุในจดหมายถึงรัฐบาลไทยลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เรียกกันทั่วไปว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฎหมายคอมพิวเตอร์ ซึ่งมักถูกนำมาใช้ประกอบกัน
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพิ่งเผยแพร่จดหมายฉบับนี้เมื่อ 27 พฤษภาคม 2559 ก่อนหน้าการประชุมสมัยที่ 32 ของคณะมนตรีฯ ซึ่งกำหนดมีขึ้นระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน-1 กรกฎาคม
จดหมายมีเนื้อความทักท้วงคำชี้แจงของรัฐบาลไทย ที่อ้างเหตุผลความจำเป็นของกฎหมาย 112 พร้อมกับชี้ว่า ทั้งตัวบทบัญญัติและการบังคับใช้ ไม่สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ 2 ฉบับที่ประเทศไทยเคยให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตาม
รัฐบาลไทยชี้แจงสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนในจดหมายลงวันที่ 10 ธันวาคม 2557 ว่า จำเป็นต้องใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อปกป้องสิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่น รักษาความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อย
ต่อข้ออ้างนี้ คณะผู้รายงานพิเศษโต้แย้งว่า ตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้น ถือเป็นเรื่องชอบธรรมที่จะวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความเห็นคัดค้านทางการเมืองต่อบุคคลสาธารณะทุกประเภท รวมถึงประมุขของรัฐ การแสดงออกที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่จะลงโทษ พร้อมกับแสดงความวิตกว่า ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯถูกสั่งจำคุกเป็นเวลานาน
คณะผู้รายงานทักท้วงว่า ไทยมีพันธะที่จะต้องเคารพยอมรับสิทธิของประชาชนที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง ตามข้อบทที่ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีเมื่อ 29 ตุลาคม 2539
ประการต่อมา คณะผู้รายงานตั้งข้อสังเกตว่า นับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีการใช้กฎหมาย 112 เจาะจงจับกุมคุมขังนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคลื่อนไหวชุมนุม และว่า เสรีภาพในการสมาคมและการชุมนุมโดยสงบนั้นเป็นสิทธิที่ข้อตกลง ICCPR รับรองไว้ในข้อบทที่ 21 และ 22
จดหมายยังหยิบยกกรณีการควบคุมตัวบุคคล และการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีหมิ่นสถาบันฯด้วย คณะผู้รายงานวิงวอนรัฐบาลไทย ขอให้ประกันว่า บุคคลจะไม่ถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจ และผู้ต้องหาจะได้รับการพิจารณาคดีในศาลที่มีความเป็นกลางและมีอิสระ ตามข้อบทที่ 9 และ 14 ของ ICCPR
นอกจากนี้ คณะผู้รายงานแสดงความวิตกอย่างยิ่งยวดต่อกรณีผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯไม่ได้รับอนุญาตประกันตัว โดยเฉพาะกรณีหลายรายกำลังเจ็บป่วยหนัก  ขณะที่มีรายงานว่าสถานที่ควบคุมตัวขาดบริการทางการแพทย์ที่เพียงพอ
ในประเด็นนี้ จดหมายอ้างถึงพันธะของไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในข้อบทที่ 12 ที่ระบุว่า รัฐภาคีรับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงนี้เมื่อ 5 กันยายน 2542
คณะผู้รายงานตอบรับคำชี้แจงของไทยเมื่อ 10 ธันวาคม 2558 ที่ระบุว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพร้อมจะปรับเปลี่ยนตามสภาพสังคม พร้อมกับเรียกร้องให้ไทยแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112


“ดังนั้น เมื่อพิจารณาความเร่งด่วนของเรื่องนี้ ความร้ายแรงของข้อกล่าวหา และข้อวิตกต่างๆข้างต้น เราขอเรียกร้องรัฐบาลไทยอีกครั้ง ขอให้ดำเนินการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกฎหมายคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เพื่อให้สอดรับกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งสร้างหลักประกันที่จะมีกระบวนการไต่สวนที่เหมาะสมและเป็นธรรม”

Photo:  AFP


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.