เปิดร่าง พ.ร.บ.คอมฯฉบับผ่าน สนช.-เครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้ยังมีกม.ด้านสิทธิข้อมูลข่าวสารให้จับตาอีก
Posted: 21 Dec 2016 08:12 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

มาแล้ว ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับผ่าน สนช. เครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในข้อมูลข่าวสารที่ต้องจับตาต่อ ด้านกลุ่มพลเมืองต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ฯ ยันโจมตีเว็บรัฐบาลต่อ ขี้ใช้ม.44 คว่ำพ.ร.บ.คอมฯ
ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้ มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอต่อ สนช. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2559 ในระหว่างการอภิปรายวาระ 2 ของ สนช.เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ดังนี้
- ตัดคำว่า "การบริการสาธารณะ" ออกจากมาตรา 12 และ 14 (2) ด้วยเหตุผลว่ามีคำอื่นที่ครอบคลุมความหมายอยู่แล้ว
- ยุบรวมมาตรา 20 กับมาตรา 20/1 เข้าด้วยกัน
- เปลี่ยนสัดส่วน "คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลกลาง" ในมาตรา 20/1 [เดิม] จาก 5 คน (รัฐ 3 เอกชน 2) เป็น 9 คน (รัฐ 6 เอกชน 3)
ด้านเครือข่ายพลเมืองเน็ต ขอบคุณผู้ร่วมแคมเปญคัดค้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ผ่าน change.org ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 370,000 ชื่อและว่า การรณรงค์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการติดตามตรวจสอบกฎหมายและมาตรการการควบคุมข้อมูลข่าวสาร อันเนื่องมาจากการเสนอร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจ/ความมั่นคงดิจิทัล” 10 ฉบับ เมื่อปลายปี 2557/ต้นปี 2558 หลังจากร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ผ่านไปแล้ว เรายังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในข้อมูลข่าวสารของพวกเราเองต้องติดตามต่อไป
- ระยะสั้น 1: ติดตามตรวจสอบ “กฎหมายลูก” หรือประกาศกระทรวงดิจิทัล ที่จะใช้กับมาตรา 11, 15, 17/1, และ 20 โดยเฉพาะประกาศตามมาตรา 15 และ 20 ที่จะเกี่ยวกับการตรวจสอบ ระงับ และลบข้อมูลโดยตรง
- ระยะสั้น 2: ติดตามตรวจสอบ ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ คือ ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งใกล้จะเข้าสู่ สนช.ในเดือนมกราคม และอีกฉบับคือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ที่ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการพ.ร.บ.คอม ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรา 20 (3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่
- ระยะกลาง 1: หลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้และประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ติดตามว่าในระหว่างให้มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ประชาชนจะมีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องนโยบายของพรรคการเมืองมากน้อยเพียงใด จะมีการใช้กฎหมายเช่นมาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือกฎหมายอื่นๆ มากดดันหรือปิดกั้นข้อมูลจนทำให้ประชาชนไม่สามารถมีข้อมูลที่รอบด้านในการตัดสินใจลงคะแนนหรือไม่
- ระยะกลาง 2: หลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้และมีรัฐบาลใหม่แล้ว หากต้องการจะเสนอแก้ไขกฎหมาย เราสามารถทำได้ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องมีการขอเอกสารแสดงตัวตนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 ฉบับลงประชามติ มาตรา 133 บัญญัติไว้ว่า "มาตรา 133 ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน และจะเสนอได้ ก็แต่โดย
(1) คณะรัฐมนตรี
(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจ านวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
(3) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (2) หรือ (3) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี"
- ระยะยาว ร่วมปฏิรูปกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพทางข้อมูลข่าวสารของประชาชน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรศัพท์และโทรคมนาคม กฎหมายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ กฎหมายคุ้มครองนักข่าวและผู้เปิดเผยความไม่ชอบมาพากล (whistleblower)
ขณะเดียวกัน กลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall #opsinglegateway เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า จะยกระดับการโจมตีเว็บไซต์ของรัฐบาลยิ่งกว่าเดิม เพราะข้อเสนอไม่ได้รับการตอบสนอง พร้อมชี้ว่า ทุกอย่างจะหยุดลง หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ยกเลิกมติการประชุม สนช.วันที่ 16 ธ.ค. และยุติกระบวนการยกร่างกฎหมายนี้เท่านั้น

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.