ศาลเลื่อนพิพากษา คดีรัฐฟ้องไล่ชาวบ้านรุกที่ดินโคกภูกระแต พื้นที่เขต ศก.พิเศษนครพนม
ศาลเลื่อนพิพากษา คดีรัฐฟ้องไล่ชาวบ้านรุกที่ดินโคกภูกระแต พื้นที่เขต ศก.พิเศษนครพนม
Posted: 23 Dec 2016 12:52 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ศาลจังหวัดนครพนมเลื่อนอ่านคำพิพากษา คดีรัฐฟ้องไล่ชาวบ้านรุกที่ดินสาธารณะโคกภูกระแต พื้นที่ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตาม ม.44 นัดใหม่อีกครั้ง 26 ม.ค. 2560
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2559 นักข่าวพลเมือง TPBS รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ชาวบ้าน ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม ราว 60 คน เดินทางมาศาลจังหวัดนครพนม เพื่อติดตามผลคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมเป็นโจทย์ยื่นฟ้องชาวบ้าน ต.อาจสามารถ จำนวนรวม 29 คน ข้อหาบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวมีการแยกฟ้องเป็นหลายคดีตั้งแต่ช่วงปี 2557 ต่อมาศาลจังหวัดนครพนมได้สั่งให้ร่วมคดีพิจารณา มีจำเลยจำนวน 29 คน โดยได้มีการนัดสืบพยายโจทย์และพยานจำเลยช่วยเดือน ต.ค.และพ.ย.ที่ผ่านมา และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 ธ.ค. 2559
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลจังหวัดนครพนมได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีไปเป็นวันที่ 26 ม.ค. 2560 เนื่องจากมีจำเลย 3 คนไม่สามารถเดินทางมารับฟังคำพิพากษาได้
“เป็นการรอต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีหลักประกัน ยิ่งยืดเยื้อยิ่งเป็นปัญหา ทำให้ชาวบ้านดำเนินการต่อไม่ได้ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการมาศาลเรื่อยๆ” แหล่งข่าวที่ร่วมสังเกตุการณ์คดีให้ความเห็น
แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านต้องดิ้นรนหาหลักทรัพย์เพื่อมาค้ำประกันและใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ชาวบ้านบางรายต้องไปกู้หนี้ยืมสินและต้องเป็นภาระต่อไปอีก เพราะดอกเบี้ยได้เกิดขึ้นแล้วระหว่างที่รอให้ถึงวันนัดหมายอีกครั้ง ตรงนี้เป็นภาระที่ชาวบ้านต้องแบกรับ
คดีดังกล่าวเป็นข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชน กรณีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ให้ภูกระแตบ้านห้อม เนื้อที่ 2938-2-47 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่ราษฎรใช้ร่วมกัน โดยมีแนวเขตทับที่ดินของชาวบ้านที่อยู่อาศัยมานาน ตั้งแต่เมื่อปี 2521
ถึงปัจจุบัน ที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตตามที่ราชการออก นสล. เป็นที่ตั้งของ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้อม ม.1 บ้านไผ่ล้อม ม.4 บ้านอาจสามารถ ม.6 และบ้านห้อม ม.11 มีชาวบ้านกว่า 400 หลังคาเรือน โดยที่บางคนมี น.ส.3 บางคนถือเพียงใบสำเนาที่บ่งบอกว่าทางราชการเคยออก น.ส.3 ให้ และบางคนยังถือ น.ส.2 ไว้
ปัญหาเขตเศรษฐกิจพิเศษซ้อนทับปมขัดแย้งที่สาธารณะประโยชน์
จากการผลักดันให้พื้นที่ จ.นครพนมเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ กระทั่งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้มีประกาศฉบับที่ 2/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะ 2 ลงวันที่ 24 เม.ย. 2558 ในข้อ 4 ของประกาศดังกล่าว ระบุว่า ให้ท้องที่ ต.กุรุคุ ต.ท่าค้อ ต.นาทราย ต.นาราชควาย ต.ในเมือง ต.บ้านผึ่ง ต.โพธิ์ตาก ต.หนองญาติ ต.หนองแสง ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม และต.โนนตาล ต.รามราช ต.เวินพระบาท อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม”
ต่อมาวันที่ 18 ม.ค. 2559 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีมติเห็นชอบให้ใช้ที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต เนื้อที่ 1,860 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 2938 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.นครพนม เพื่อสนับสนุนให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และภาคเอกชนเช่าพื้นที่ระยะยาว
กรณีดังกล่าวยิ่งสร้างความซับซ้อนให้กับปมความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการใช้กฎอัยการศึก ( พ.ศ.2557) และนำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาจัดการปัญหาในพื้นที่
ทั้งนี้ ก่อนจะมีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม หน่วยงานภาครัฐได้พยายามเคลียร์พื้นที่ที่จะใช้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว โดยในวันที่ 29 ก.ค. 2557 เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้สนธิกำลังเข้าจับกุมชาวบ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม จำนวน 14 ราย โดยอ้างว่าชาวบ้านทั้งหมดบุกรุกที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตบ้านไผ่ล้อม
อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และคำสั่ง คสช. ที่ 64 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2557 เข้าดำเนินการจับกุมชาวบ้าน
ต่อมา ในระหว่างวันที่ 18 – 22 ส.ค. 2557 อ.เมืองนครพนม ร่วมกับ กอ.รมน.จว.นพ. ได้เชิญราษฎรที่ถูกกล่าวอ้างว่า บุกรุกที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม จำนวน 284 ราย มาทำพันธสัญญาและทำความเข้าใจในการดำเนินการขอคืนพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64 และคำสั่ง คสช. ที่ 66 ที่หอประชุมอำเภอเมืองนครพนม
การดำเนินการดังกล่าวนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งว่า เป็นการดำเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กรณีเรียกผู้บุกรุกที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ มาทำพันธสัญญา โดยมีสรุปข้อมูลว่า มีผู้บุกรุกจำนวน 284 ราย ผู้บุกรุกมาพบเจ้าหน้าที่จำนวน 277 ราย ผู้บุกรุกไม่มาพบเจ้าหน้าที่จำนวน 5 ราย มีผู้ยินยอมออกจากพื้นที่บุกรุกจำนวน 256 ราย และมีผู้บุกรุกอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ครอบครองจำนวน 21 ราย
จากนั้น วันที่ 22 ต.ค. นายอำเภอเมืองนครพนม ได้มีหนังสือมอบอำนาจให้นายสุภชัย ท้าวกลาง ตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) อำเภอเมืองนครพนม เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ จำนวน 21 ราย
คดีดังกล่าวนี้พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม เป็นโจทย์ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ถูกจับต่อศาลจังหวัดนครพนม ในฐานความผิด ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด อันเป็นการทำลายป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่มีสิทธิครอบครองหรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง หรือ เผาป่า กระทำด้วยประการใดอันเป็นการทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน โดยคำขอท้ายคำฟ้องของพนักงานอัยการระบุขอให้ศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอศาลสั่งให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครอง พร้อมทั้งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าว
ต่อมา ศาลจังหวัดนครพนมได้สั่งให้ร่วมคดีพิจารณา มีจำเลยจำนวน 29 คน โดยได้มีการนัดสืบพยายโจทย์และพยานจำเลยช่วยเดือน ต.ค.และพ.ย.ที่ผ่านมา
แสดงความคิดเห็น