Posted: 29 Nov 2016 03:37 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
นักวิจัยระบุแบบเรียนไทย ‘ตอน’ เด็กเรื่องความหลากหลายทางเพศ ความเสมอภาคทางเพศ และความฉลาดรู้เรื่องเพศ ตีตราคนหลากหลายทางเพศ ‘เป็นคนผิดปกติทางจิตใจอย่างยิ่ง’ ตอกย้ำหลักสูตรสุขศึกษาตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงความรู้ด้านเพศสภาพ ‘เพนกวิ้น’ ชี้เด็กสมัยนี้ไม่โง่ รู้ว่าแบบเรียนค้านสายตา ซัดการศึกษาไทยมุ่งครอบงำ ไม่ทำให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง
งานเสวนา 'ความหลากหลายทางเพศในแบบเรียนไทย: บทวิเคราะห์แบบเรียนสุขศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น'
เป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์แม่วัยรุ่น แม่วัยใส หรือท้องไม่พร้อม-แล้วแต่จะเรียก-ของประเทศไทยมีจำนวนสูงเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ปี 2557 มีทารกเกิดจากแม่วัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี วันละ 334 คน สะท้อนความล้มเหลวของการเรียนการสอนสุขศึกษา-เพศศึกษาของไทยอย่างไร้ข้อแก้ตัว เมื่อ ‘คำสอน’ ในหลักสูตรยังแอบอิงกับศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีที่ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เยาวชนไทยอยู่ ผลพวงที่ตามมาจึงเป็นดังที่เห็น
ความล้มเหลวของการสอนสุขศึกษา-เพศศึกษา ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น ทว่า ยังฉายออกมาจากตัวเนื้อหาที่เหมารวมและผลักให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมทางสังคม ลองดูเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือของสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ที่ชื่อ ‘ชุดกิจกรรมพัฒนาการคิด สุขศึกษาและพลศึกษา ม.1’ (พ.ศ.2555) ที่ระบุว่า
‘การเบี่ยงเบนทางเพศเป็นความผิดปกติที่เกิดในคนที่มีความรู้สึกทางเพศ เจตคติ ตลอดจนพฤติกรรมทางเพศที่แสดงออกแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ของสังคมที่พึงปฏิบัติ’
หรือ คู่มือครู สุขศึกษาและพลศึกษา ม.1 (พว.) เขียนว่า
‘เพศชายที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ทั้งกับเพศหญิงและเพศชายด้วยกันเอง นักเรียนคิดว่าเป็นพฤติกรรมที่มีลักษณะเบี่ยงเบนทางเพศหรือไม่ เพราะเหตุใด
‘(ตัวอย่างคำตอบ เป็นพฤติกรรมที่มีลักษณะเบี่ยงเบนทางเพศ เพราะมีประสบการณ์ทางเพศ ภาวะอารมณ์ ความรักกับทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม ซึ่งถือเป็นความผิดปกติทางจิตใจอย่างยิ่ง)’
แบบเรียนสุขศึกษา ‘ตอน’ นักเรียนเรื่องเพศ
เพราะแบบเรียนเกิดการประทับตราและถ่ายทอดสู่นักเรียนเช่นนี้ 29 พฤศจิกายน 2559 จึงมีการจัดโครงการเวทีสาธารณะเรื่อง ‘ความหลากหลายทางเพศในแบบเรียนไทย: บทวิเคราะห์แบบเรียนสุขศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น’ ขึ้นที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ โดยวิจิตร ว่องวารีทิพย์ ผู้วิจัย อธิบายสิ่งที่ค้นพบว่า
แบบเรียนสุขศึกษาไทย ทำการ ‘ตอน’ เรื่องเพศนักเรียนใน 3 ประเด็นคือ
1-การตอนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ที่มาจากวิธีคิดที่มองว่ามีแค่สองเพศ ชายกับหญิง เท่านั้น เพศที่เกินจากนี้เป็นการเบี่ยงเบนทางเพศและเป็นปัญหาทางเพศ ใช้คำตีตรา แปะป้าย ใช้องค์ความรู้เก่า ที่ไม่มีการอัพเดท เสนอภาพแต่ภาพคนแต่งกายข้ามเพศ และพยายามหาสาเหตุความเบี่ยงเบนโดยการอธิบายว่าเกิดจากการเลียนแบบ ครอบครัวไม่อบอุ่น ทั้งหมดนี้ถือเป็นความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่ถูกผลิตขึ้นผ่านแบบเรียน
2-การตอนเรื่องความเสมอภาคทางเพศ แบบเรียนสุขศึกษา ม.ต้น ไม่มีนิยามความเสมอภาคระหว่างเพศ แต่จะยกตัวอย่างว่าต้องให้โอกาสหญิง-ชายเท่าเทียมกัน แต่ก็ยังมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า แต่เราคงไม่อยากให้ผู้หญิงลุกขึ้นมามีสามีหลายคนใช่หรือไม่ เนื้อหายังเน้นไปที่การวางตัวให้เหมาะสมทางเพศและต้องอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่ดีงามของไทย รักนวลสงวนตัว สุภาพเรียบร้อย ผู้ชายมีความเป็นชายชาตรี ผู้หญิงต้องพูดจาอ่อนหวาน ต้องให้เกียรติเพศชาย ไม่ฟุ้งเฟ้อ เรื่องการวางตัวเมื่ออยู่กับเพศตรงข้าม และการภูมิใจกับเพศของตัวเอง
"และสังคมก็จะคิดว่าศีลธรรมจะเป็นคำตอบของทุกอย่างที่ช่วยคลี่คลายปัญหา วัฒนธรรมไทยดีที่สุด เพราะแบบเรียนบอกแบบนั้น”
3-การตอนความฉลาดรู้เรื่องเพศ ซึ่งพบว่าแต่ละสำนักพิมพ์เน้นย้ำการระมัดระวังตัวของผู้หญิงหรือการรักนวลสงวนตัวสูงมาก หรือเรื่องการช่วยตัวเอง บางสำนักพิมพ์ระบุเป็นความเบี่ยงเบน ขณะที่บางสำนักพิมพ์บอกว่าทำได้ แต่ไม่ควรทำบ่อย รวมไปถึงการสั่งให้ยึดมั่นวัฒนธรรมไทย เด็กดีต้องไม่มีเซ็กส์ในวัยเรียน ถ้ามีความต้องการทางเพศให้นั่งสมาธิ ดำรงตนบนหลักศีลธรรม เป็นต้น
“แบบเรียนลักษณะนี้ทำให้เกิดความพยายามซ่อมเด็ก (หมายถึงซ่อมให้กลับมาเป็นเพศที่ตรงกับเพศกำเนิด) ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน รู้สึกกดดัน อาจฆ่าตัวตาย ทำให้ยากที่จะเกิดความเสมอภาคทางเพศ ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดกลับเป็นฝ่ายถูกตั้งคำถาม ขณะที่พ่อแม่เองก็ถูกกดดัน ถ้าวันหนึ่งลูกเกิดชอบเพศเดียวกัน อยากทาลิปสติก พ่อแม่ก็จะกลัวว่าเราเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีหรือเปล่า พ่อแม่กลายเป็นแพะ และสังคมก็จะคิดว่าศีลธรรมจะเป็นคำตอบของทุกอย่างที่ช่วยคลี่คลายปัญหา วัฒนธรรมไทยดีที่สุด เพราะแบบเรียนบอกแบบนั้น” วิจิตร สรุป
ในการพูดคุยมีตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ วรรณี จันทรศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาสื่อการเรียนรู้ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้ให้ข้อมูลว่า ในการตรวจประเมินคุณภาพสื่อการเรียนรู้ของเอกชนนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะประเมินโดยยึดตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เนื้อหาในแบบเรียนจะต้องสอดคล้องกับตัวชี้วัด สาระของหลักสูตร และหลักสูตรแกนกลาง เช่น ถ้ากำหนดคำว่า การเบี่ยงเบนทางเพศ ผู้ผลิตแบบเรียนเอกชนก็ต้องนำเสนอเรื่องนี้ เพียงแต่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดในการนำเสนอ
ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่ความผิดปกติ
ถ้าการผลิตแบบเรียนผูกกับหลักสูตรแกนกลางย่อมสะท้อนว่า หลักสูตรแกนกลางตามไม่ทันพลวัตรเรื่องเพศ ทั้งในเชิงสังคม มานุษยวิทยา และการแพทย์ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร แพทย์ประจำคลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า ปัญหาที่มาจากบทเรียนน่าจะมาจากผู้เขียนหรือผู้เกี่ยวข้องไม่มีความเข้าใจเรื่องเพศอย่างลึกซึ้ง เพราะองค์ความรู้เรื่องเพศมีพลวัตร แม้แต่ในวงการแพทย์ก็ใช่ว่าแพทย์ทุกคนจะเข้าใจ
“ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า เพศมีความซับซ้อนมากกว่าแค่ชายกับหญิง ถ้าวันหนึ่งคุณตื่นขึ้นมาจากที่เคยมีจู๋ แล้วไม่มีจู๋ หรือจากที่เคยมีหน้าอก แล้วไม่มีหน้าอก คุณจะยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงหรือเปล่า ดังนั้น เพศจึงเกี่ยวกับสมองหรือความคิดด้วยที่บอกว่าเราเป็นชายหรือหญิง ในภาษาฝรั่งจึงมีอีกคำหนึ่งคือ Gender หรือเพศสภาพ ซึ่งเป็นเรื่องความรู้สึก จิตใจ เพศจึงมีอัตลักษณ์ทางเพศด้วย”
แล้วรู้หรือไม่? บัญชีจำแนกโรค International Classification of Diseases (ICD) ขององค์การอนามัยโลก ที่เคยระบุว่าการรักเพศเดียวกันเป็น ‘ความผิดปกติทางจิต’ ได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ 17 พฤษภาคม 2533 ขณะที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขเองก็ทำหนังสือยืนยันว่า การรักเพศเดียวกันไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต ตามที่องค์การอนามัยโลกยืนยัน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2545 ซึ่งแม้จะช้าไป 12 ปี แต่ก็ชัดเจนว่าความหลากหลายทางเพศไม่ใช่ความผิดปกติ
น่าแปลกใจและน่าสนใจว่า ทำไมหลักสูตรแกนกลางของไทยจึงช้ากว่าองค์การอนามัยโลก 26 ปี และช้ากว่ากรมสุขภาพจิต 14 ปี
การศึกษาที่จับคนใส่กรอบ
“แบบเรียนไทยมีปัญหาอย่างไร เราก็รู้กันมานานแล้ว มันมีลักษณะเหยียดเพศ แต่ข่าวดีในข่าวร้ายก็คือแม้จะมีปัญหาร้อยแปด แต่มันมีอิทธิพลทำให้นักเรียนเชื่อแค่ไหนกัน ผมคิดว่าคงไม่มีใครมองว่าแอลจีบีทีเป็นโรคจิตสักเท่าไหร่แล้ว ผมว่าเด็กสมัยนี้ไม่ได้โง่ การที่แบบเรียนเขียนสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้วและค้านสายตาคน เท่ากับเป็นการทำลายตัวแบบเรียนเอง เขียนมายังไงก็ไม่ต้องคิดมาก เพราะไม่ได้อ่านอยู่ดี” เป็นความเห็นแบบถอนรากถอนโคนของพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น จากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
สำหรับพริษฐ์ เขาคิดว่าอาจไม่ต้องสนใจแบบเรียนมากนัก เพราะการเรียนรู้ของนักเรียนก้าวพ้นแบบเรียนไปแล้ว ที่น่ากังวลกว่าคือตัวการศึกษาไทยเองต่างหากที่ชอบจับคนใส่กรอบ ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่รวมถึงศาสนา อายุ อาชีพ ฐานะ เป็นต้น อย่างประเด็นชุดนักเรียน พริษฐ์เชื่อว่าน่ากังวลกว่าแบบเรียนด้วยซ้ำ เพราะเป็นรูปแบบของการครอบงำที่แนบเนียนกว่ามาก เขาย้ำว่า
“สิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่ามองแค่เรื่อเหยียดเพศ แต่ให้มองว่าการศึกษาไทยไม่ได้ทำให้คนเราเป็นตัวของตัวเอง”
แม้ว่าแบบเรียนอาจไม่มีอิทธิพลต่อนักเรียนเช่นดังที่พริษฐ์ว่า แต่เมื่อมันถูกประทับความชอบธรรมจาก ‘ราชการ’ มันย่อมกลายเป็นข้อมูลที่ถูกอ้างอิง หยิบใช้ เพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์และเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ หากจะเกิดการแก้ไขหลักสูตร เราคงปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการเล่นเดี่ยวตามลำพังไม่ได้ มิเช่นนั้น แบบเรียนสุขศึกษาไทยคงก้าวไม่พ้นกรอบเพศชาย-หญิงและศีลธรรม-วัฒนธรรมอันดี
แสดงความคิดเห็น