กระทรวงแรงงานเผยยอดแรงงานไทยไปขุดทองเมืองนอก ณ เดือนมีนาคมกว่า 153,000 คน ส่งเงินกลับประเทศกว่า 10,000 ล้านบาท
กระทรวงแรงงานเผยสถิติแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศและยังคงทำงานอยู่ในต่างประเทศช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จำนวน 153,264 คน จัดส่งโดยรัฐจำนวน 5,385 คน สร้างรายได้กลับประเทศ 10,249 ล้านบาท ย้ำแรงงานต้องพัฒนาทักษะทันยุคประเทศไทย 4.0 และกลับมาพัฒนาประเทศตนเอง
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เดือนมีนาคมที่ผ่านมามีแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศและยังคงทำงานอยู่ในต่างประเทศ จำนวน 153,264 คน ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงนิยมไปทำงานไต้หวันมากที่สุด จำนวน 74,240 คน รองลงมาเป็นอิสราเอล สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ตามลำดับ โดยทำงานตำแหน่งคนงานเกษตรมากที่สุด รองลงมาเป็นคนงานทั่วไป พนักงานทั่วไป พนักงานฝึกงาน และผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ ตามลำดับ ซึ่งในส่วนของการจัดส่งโดยรัฐนั้นมีจำนวน 5,385 คน (เดือนตุลาคม 2559 - มีนาคม 2560) โดยประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่จัดส่งมากที่สุด จำนวน 359 คน ตามด้วยสาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน มีรายได้ส่งกลับประเทศผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนมีนาคม 2560 จำนวน 10,249 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ส่งกลับฯ ในเดือนมีนาคม 2559 มีจำนวน 10,005 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.44
นายวรานนท์ฯ กล่าวต่อว่า การเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยวิธีรัฐจัดส่งเป็นการจัดส่งของกรมการจัดหางาน ซึ่งคนหางานไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ นอกจากค่าใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเพื่อให้แรงงานไทยมีรายได้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในยุคประเทศไทย 4.0 แรงงานจะต้องพัฒนาตนเองให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต้องนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาประเทศ สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตต่อไป ทั้งนี้ หากคนหางานใดสนใจจะไปทำงานต่างประเทศขอให้ติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่ใกล้บ้านและขอย้ำว่าต้องไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 23/4/2560
เตือนนายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างหยุดในวันแรงงานแห่งชาติ ฝ่าฝืนถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติ และต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเท่ากับวันทำงาน หากฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีให้ลูกจ้างทำงานต้องได้เงินเพิ่มไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของวันปกติ
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพุทธศักราช 2541 มาตรา 29 ได้กำหนดให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย จึงขอชี้แจงการปฏิบัติเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้หยุดงาน ในวันแรงงานแห่งชาติ และจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดงานได้ เนื่องจากมีลักษณะงานที่จำเป็นหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดอาจจะเสียหายแก่งาน เช่น งานในกิจการโรงแรม ร้านขายอาหาร สถานพยาบาล งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง เป็นต้น ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะให้หยุดชดเชยวันอื่นแทนหรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้าง กรณีที่ตกลงกันว่าจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ สำหรับกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันแรงงานแห่งชาติ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำ
อธิบดีกรมสวัสดิการฯ กล่าวต่อว่า นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากลูกจ้าง นายจ้างมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1546
ก.แรงงาน ย้ำสถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างดีขึ้น
กระทรวงแรงงานโดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยผลการติดตามสถานการณ์แรงงานตามยุทธศาตร์แรงงานเพื่อคุ้มครองสิทธิลูกจ้าง ย้ำสถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างอยู่ในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง พบลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและได้มายื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานลดลง สอดคล้องกับข้อมูลลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคมที่มีจำนวนลดลง พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันปัญหาและให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบทันท่วงที
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กสร.ได้ติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาตร์กระทรวงแรงงานในการส่งเสริม พัฒนาและคุ้มครองสิทธิด้านแรงงาน และจากข้อมูลการเลิกจ้างที่ลูกจ้างได้มายื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานในเดือนมีนาคม 2560 มีลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 221 คน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งมีลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 1,536 คน ทั้งนี้ กสร.ได้ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ เป็นเงิน 1,695,437 บาท นอกจากนี้อัตราการเลิกจ้างในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยในเดือนมกราคม – มีนาคม 2560 มีจำนวนอัตราการเลิกจ้าง 29,076 คน / 26,875 คน / 25,901 คน ตามลำดับ ขณะที่จำนวนผู้ประกันตนรายใหม่ในเดือนมีนาคม 2560 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 32,794 คน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากภาพรวมแล้วถือได้ว่าสถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างมีทิศทางที่ดีขึ้น
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีการเลิกจ้างในช่วงเดือนมีนาคม 2560 มีจำนวน 42 แห่ง โดยแบ่งเป็นกิจการที่มีการเลิกจ้าง 5 อันดับแรก ดังนี้
1) กิจการประเภทการผลิตและจำหน่าย 2) กิจการสื่อสาร โทรคมนาคม 3) กิจการโรงแรม/สถานบันเทิง/งานบริการ 4) กิจการประเภทอื่นๆ (เช่น จัดทำเอกสาร ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ)/รักษาความปลอดภัยและ 5) กิจการก่อสร้าง/ขนส่ง ซึ่งกสร.ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้คำแนะนำนายจ้าง ลูกจ้างให้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานการเปิดเผยของนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)ที่ระบุว่า การปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยและของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นนโยบายสำคัญอีกประการหนึ่งของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการให้ผู้ใช้แรงงาน ได้รับการคุ้มครองและมีสภาพการจ้าง การทำงานที่เป็นธรรม มีหลักประกันการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งทางกสร. ได้ยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. … ขึ้นและได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง ข้าราชการ นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แต่เพื่อให้ได้มุมมองและแนวคิ
ดในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานที่
รอบด้านและกว้างไกลมากขึ้น กสร.ยังเชิญชวนลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนทั่วไปมาร่
วมแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์
ของกรมสวัสดิการและคุ้
มครองแรงงาน
www.labour.go.th เพื่อจะได้รวบรวมความคิดเห็
นนำไปประมวลผลและหาบทสรุ
ปในการปรับปรุงแก้ไขร่
างกฎหมายให้สมบูรณ์ต่อไป
เล็งผุด ร่าง พ.ร.บ.สิทธิประโยชน์บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ชี้พนง.ไม่มีสิทธิสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ-กองทุน กบข.
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES เผยว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 60 เวลาประมาณ 19.00-21.30 น.ตนพร้อมด้วยคณะ ประกอบด้วย ผศ. ดร. รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์แห่งประเทศไทย (ทปสท) ผศ. ดร. พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการฯ CHES และสมาชิกส่วนหนึ่ง ได้เข้าร่วมประชุมกับ ดร. สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการการอุดมศึกษา(เลขาฯกกอ.) และคณะทำงานด้านการยกร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา
"ที่ประชุมเป็นการพูดคุยกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ที่ขณะนี้ ใน 80 มหาวิทยาลัย ทั้งในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ(ม.นอกระบบ)และมหาวิทยาละยของรัฐนั้น มีบุคลากรที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ประมาณ 1.9 แสนคน และมีข้าราชการที่จำนวนลดลงเหลือประมาณ 2 หมื่นคน นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรประเภทต่างๆที่สังกัดอยู่ในระบบ เช่น พนักงานจากเงินรายได้ พนักงานราชการ ลูกจ้างต่างๆ ซึ่งสิทธิสวัสดิการความมั่นคงในอาชีพต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ์รักษาพยาบาล ที่พนักงานมหาวิทยาลัยต้องใช้ร่วมกับระบบประกันสังคมอยู่ขณะนี้ ส่วนข้าราชการก็ใช้สิทธิ์ราชการต่อ ประกอบกับปัญหาสมองไหลที่พนักงานมหาวิทยาลัยที่เก่งๆ ลาออกจากอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อไปสมัครรับราชการในกรมกองต่างๆ ด้วยอยากได้สิทธิ์รักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ"รศ.ดร.วีรชัยกล่าว
รศ. ดร. วีรชัย กล่าวต่อว่า อีกปัญหาหนึ่งของระบบพนักงานมหาวิทยาลัยคือ ไม่มีสิทธิ์ในเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มั่นคง พนักงานมหาวิทยาลัยไม่สามารถเข้าร่วมกองทุน กบข. ได้ และแต่ละมหาวิทยาลัยไปดำเนินการจัดตั้งสิทธิ์ทั้งสองอย่างเอง ตามอัตภาพ เป็นเบี้ยหัวแตก ที่ประชุมมีความเห็นพ้องในเบื้องต้น ในการที่จะยกร่าง พรบ. สิทธิประโยชน์บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งจะโพกัสไปที่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสิทธิรักษาพยาบาล ของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาเป็นหลัก
‘’ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ถกกันอย่างมาก ถึงร่าง พ.ร.บ. บริหารงานบุคคล ซึ่งกำลังมีความแตกแยกในหมู่ประชาคมอุดมศึกษาอยู่ในขณะนี้ และร่วมกันถกประเด็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุ่งก่อนนำเสนอรัฐบาลตามลำดับ ทั้งนี้ ทาง CHES เห็นว่า เมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว อาจต้องเปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ. นี้ ด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ใช่พนักงานมหาวิทยาลัยเป็นหลัก แต่ยังมีข้าราชการและบุคลากรอีกหลายประเภท ในเบื้องต้น ได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ.เป็นพ.ร.บ. ระเบียบบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ’’ รศ. ดร. วีรชัย กล่าวในที่สุด
ครม.เห็นชอบกม.ประกันสังคม 3 ฉบับ เพิ่มทางเลือกขยายสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนตามมาตรา 40
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎหมาย 3 ฉบับ เพื่อปรับปรุงพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 เพิ่มเติมทางเลือกใหม่ เพื่อเป็นการออมในระยะยาว และเป็นของขวัญวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องกับการทำงานของ ป.ย.ป. โดยสนับสนุนให้ลูกจ้างเข้าถึงระบบประกันสังคม
สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. ... เพื่อกำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยเพิ่มเติมคุณสมบัติของบุคคลซึ่งมิใช่ลูกจ้างที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตน จากเดิมกำหนดไว้เพียง “มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์” เป็น “มีสัญชาติไทย หรือเป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยมีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ หรือเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ลูกจ้างที่เคยเป็นผู้ประกันตน) และไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือของรัฐวิสาหกิจ
2. ร่างพ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน พ.ศ. .... เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน โดยได้แก้ไขอัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเข้ากองทุนโดยการจ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 70 บาท (เดิมเดือนละ 100 บาท) จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย หากจ่ายเงินสมทบเป็นอัตราเดือนละ 100 บาท (เดิมเดือนละ 150 บาท) จะครอบคลุมกรณีชราภาพ ด้วย และได้เพิ่มสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนเป็นประเภทที่ 3 โดยหากจ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 300 บาท จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรด้วย นอกจากนี้ยังแก้ไขอัตราเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากวันละ 200 บาท เป็นวันละ 300 บาท ปีละไม่เกิน 30 วัน เว้นแต่เป็นผู้ประกันตน (ประเภทที่ 3) จะมีสิทธิปีละไม่เกิน 90 วัน และเพิ่มสิทธิการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้แม้จะมิใช่เป็นผู้ป่วยใน แต่ให้ได้รับในอัตราวันละ 200 บาท ปีละไม่เกิน 30 วัน รวมทั้งยังได้เพิ่มสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้ เงินสงเคราะห์บุตรและเงินค่าทำศพ ให้สอดคล้องกับการเพิ่มสิทธิของประโยชน์ทดแทนประเภทที่ 3 ดังกล่าว
และ 3.ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. ... เพื่อกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน เป็นการกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม โดยมีอัตราที่แตกต่างกันตามประเภทประโยชน์ทดแทน ซึ่งไม่เกินกึ่งหนึ่งที่ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
"ข้อดีของมาตรา 40 คือ ไม่ต้องมีการตรวจสุขภาพ ไม่ตัดสิทธิบัตรทองหากขาดเงินสมทบยังเป็นสมาชิกต่อได้ และรัฐบาลช่วยจ่ายเงินสมทบด้วย" พล.อ.ศิริชัย กล่าว
รมว.แรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบอยู่ราว 21 ล้านคน ซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แล้ว 2.2 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าที่จะให้มีการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนฯ เพิ่มเติมในปีนี้อีก 3 ล้านคน โดยรัฐบาลมีภาระที่ต้องจ่ายเงินสมทบและทดแทนในปีแรกราว 400 ล้านบาท และคาดว่าหากมีผู้สมัครเข้าระบบทั้งหมดจะเพิ่มเป็นปีละ 3,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถดูแลได้
สำหรับการจ่ายเงินสมทบนั้นปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถจ่ายผ่านได้เคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านสะดวกซื้อ, ห้างสรรพสินค้า และธนาคารพาณิชย์ และในอนาคตจะขยายไปยังตู้เติมเงินด้วย
คสรท.ลุยเรียกร้องสิทธิ "กรรมกร" วันเมย์เดย์ ไม่ร่วมภาครัฐ-สภาลูกจ้างฯ กสร.แจงจัดงานลดบันเทิง-สีสัน
คสรท.ยันเดินหน้าเรียกร้องสิทธิ "กรรมกร" วันเมย์เดย์เอง ไม่ร่วมภาครัฐและสภาองค์การลูกจ้างฯ หวั่นไม่สามารถเรียกร้องได้เต็มที่ พร้อมยื่น 10 ข้อเรียกร้องถึง "บิ๊กตู่" เพื่อผู้ใชแรงงาน ด้าน กสร.แจงจัดกิจกรรมวันแรงงานเน้นลดสีสัน ลดความบันเทิง ถวายอาลัยในหลวงรัชกาลที่ ๙ เร่งเดินหน้าขยายสิทธิ "ลูกจ้าง" ตามข้อเรียกร้อง
ความคืบหน้าการจัดงานวันเมย์เดย์ หรือวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. ซึ่งผู้นำแรงงานเสียงแตกแยกเป็น 2 เวที โดยกลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) จะไม่ร่วมกิจกรรมกับสภาองค์การลูกจ้างและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ที่ได้รับงบจัดงานจากรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน 4.9 ล้านบาท ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชน กรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เพราะไม่ได้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน และบางส่วนนำไปจัดกิจกรรมความบันเทิง ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะจัดในช่วงนี้
วันนี้ (25 เม.ย.) นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวระหว่างแถลงข่าวจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2560 ว่า เนื่องจากปีนี้ต้องเตรียมสถานที่สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานวันแรงงานแห่งชาติเป็นประจำทุกปี จึงย้ายมาจัดงานพิธีทางศาสนาที่กระทรวงแรงงาน และจัดเวทีวันแรงงานแห่งชาติที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 แทน ซึ่งการจัดงานก็จะเน้นเรื่องการถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เช่น ริ้วขบวนต่างๆ ก็จะลดสีสันของการเดินขบวนเรียกร้องลง หรือการแสดงต่างๆ บนเวที ก็จะไม่หวือหวา ไม่นุ่งน้อยห่มน้อย เรียกว่าทั้งหมดมีความซอฟต์ลงจากทุกปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านแรงงาน เช่น ศาสตร์พระราชาในการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อผู้ใช้แรงงาน มาตรฐานแรงงานไทย เป็นต้น รวมถึงการจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูก (สินค้าธงฟ้า) จากกระทรวงพาณิชย์ และบริการตัดผมฟรี
เมื่อถามถึงงบประมาณการจัดงานที่น่าจะลดลง เพราะกิจกรรมต่างๆ มีการลดสีสันลงไป นายสุเมธ กล่าวว่า งบประมาณในการจัดงานไม่ได้เพิ่มไปจากทุกปี ส่วนที่ลดสีสันการจัดงานลงนั้นคือลักษณะของการจัดกิจกรรม แต่จำนวนกิจกรรมต่างๆ ยังมีเหมือนเดิม และอาจเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วย แต่บรรยากาศการจัดงานจะลดสีสันหรือลดความซอฟต์ลงเท่านั้น ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ ก็เป็นไปตรามระเบียบราชการ
เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องวันแรงงาน นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2560 กล่าวว่า ข้อเรียกร้องหลักๆ มีทั้งหมด 5 ข้อ แบ่งเป็นแรงงานเอกชน 3 ข้อ รัฐวิสาหกิจ และแรงงานนอกระบบอย่างละ 1 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 2. การปฏิรูปประกันสังคมใหม่ๆ หลายเรื่องๆ โดยเฉพาะการปรับให้เป็นองค์กรอิสระ 3. ไม่ให้มีการแปรรูปหรือขายรัฐวิสาหกิจ 4. การตั้งสถาบันแรงงานนอกระบบ เพื่อดูแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าแรงงานในระบบ แต่คุณภาพชีวิตยังไม่ดีเทียบเท่า ซึ่งการมีสถาบันก็จะทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น และ 5. การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ
นายสุเมธ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องต่างๆ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล อย่างเรื่องการรับรองอนุสัญญาฯ เนื่องจากมีรายละเอียดมาก เบื้องต้นก็จะพิจารณาฉบับที่ 98 ก่อน ซึ่งขณะนี้ก็มีการพิจารณาร่วมกัน 3 ฝ่ายแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนกลุ่มรัฐวิสาหกิจ ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็อนุมัติให้กระทรวงการคลังและ ก.แรงงาน หารือกฎเกณฑ์การผลักดันให้พนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับสิทธิประโยชน์และมีการปรับสิทธิประโยชน์มากขึ้น ส่วนการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการก็จะขยายการจัดตั้งมากขึ้น โดยปี 2560 จะขยายเพิ่มขึ้นอีก 30 แห่ง ส่วนการดูแลแรงงานนอกระบบก็อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีความพิเศษคือเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมผลักดันกรอบกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะได้ร่างใน พ.ค.นี้
"กรมฯได้มีการปรับปรุงสิทธิสวัสดิการต่างๆให้ลูกจ้าง อาทิ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน แก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2553 อาทิ เพิ่มเติมเรื่องการเกษียณอายุหรือครบสัญญาจ้าง และการต่ออายุข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ดำเนินการจัดทำกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงาน คาดว่าปลาย พ.ค.นี้ น่าจะมีตัวร่างออกมา เพื่อดูแลแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม ส่วนที่มีข้อเสนอให้ปฏิรูปประกันสังคมนั้น เข้าใจว่าขณะนี้สำนักงานประกันสังคมกำลังดำเนินการ" นายสุเมธ กล่าว
นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา คสรท.ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรม ทำเนียบรัฐบาล และในวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พ.ค. กลุ่ม คสรท.ยังคงมีกิจกรรมเรียกร้องเพื่อผู้ใช้แรงงานทุกคน แต่จะไม่ขอเข้าร่วมกับทางสภาองค์การลูกจ้างและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ที่จัดงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน เนื่องจาก คสรท.มองว่า วันแรงงานคือวันของกรรมกร ก็ควรเป็นผู้ใช้แรงงาน กรรมกรทุกคนต้องเป็นผู้จัด เป็นผู้เรียกร้อง หากเป็นภาครัฐก็จะไม่ใช่ ไม่สามารถเรียกร้องได้อย่างเต็มที่ โดยวันที่ 1 พ.ค.นี้ คสรท.และเครือข่ายรวมกว่า 3,000 คนจะรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลาประมาณ 09.00 น. เสร็จแล้วจะเดินไปยังองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เพื่อจัดกิจกรรมเรียกร้อง เพื่อผู้ใช้แรงงาน จากนั้นเป็นอันเสร็จกิจกรรม
นายชาลี กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ประกอบด้วย 1.รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฎิบัติ อาทิ ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย 2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน อาทิ กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี 3. รัฐต้องให้สัตยาอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฎิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48)
4. รัฐต้องปฎิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจ ในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อาทิ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ 5. รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว 6. รัฐต้องปฎิรูประบบประกันสังคม เช่น จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐนายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของพรบ. ประกับสังคมพ.ศ.2533 และนำเงินส่งสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา33 เป็นต้น
7. รัฐต้องดูแลให้มีการปฎิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมหมวด 5 มาตรา 53) 8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการยกเลิกหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม 9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวคล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง และ 10.รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ
ต.ค.59-เม.ย.60 รวบต่างด้าวทำงานผิด กม. พบค้าขาย หาบเร่ แผงลอยมากสุด กว่า 3,761 คน ดำเนินคดีนายจ้างกว่า 519 ราย
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559-เมษายน 2560) กรมการจัดหางานได้ร่วมบูรณาการกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าว ตามคำสั่ง คสช.ที่ 100 และ 101/2557 โดยลงพื้นที่/กิจการกลุ่มเสี่ยงที่จะมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวฝ่าฝืนกฎหมาย มีผลการตรวจสอบคือ ตรวจสอบนายจ้าง จำนวน 4,805 แห่ง เป็นเขตกรุงเทพมหานคร (คำสั่งที่ 100/2557) จำนวน 1,296 แห่ง เขตในส่วนภูมิภาค (คำสั่งที่ 101/2557) 3,509 แห่ง
อธิบดี กกจ. กล่าวอีกว่า ตรวจการทำงานของแรงงานต่างด้าว จำนวน 66,411 คน เป็นเขตกรุงเทพฯ 34,527 คน เขตภูมิภาค 31,884 คน ดำเนินคดีนายจ้างทั้งสิ้น 519 คน เขตกรุงเทพฯ 127 คน เขตภูมิภาค 392 คน ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวจำนวนทั้งสิ้น 3,761 คน เป็นเขตกรุงเทพฯ 1,292 คน เขตภูมิภาค 2,469 คน โดยดำเนินคดีแรงงานเมียนมามากที่สุด จำนวน 1,493 คน รองลงมาเป็นสัญชาติอื่นๆกัมพูชา และลาว ตามลำดับ
"ส่วนใหญ่กระทำผิดจากการประกอบอาชีพค้าขาย หาบเร่ แผงลอย รองลงมาคือ มัคคุเทศก์/นำเที่ยว และพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ โดยจะอนุญาตให้ทำงานได้ใน 2 ตำแหน่งงานคือ กรรมกรใน 24 ประเภทกิจการ และงานรับใช้ในบ้าน เท่านั้น"อธิบดีกกจ. กล่าว
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่าหากพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้แล้วนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน โดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษปรับตั้งแต่ 400,000 ถึง 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน
"ผมขอย้ำเตือนนายจ้างว่าหากประสงค์จะจ้างแรงงานต่างด้าว ขอให้จ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยนำเข้าตามระบบMOUซึ่งนายจ้างจะได้สบายใจ และสามารถตรวจสอบแรงงานได้ เพื่อความปลอดภัยของนายจ้าง สอบถามข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสการจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ โทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694"อธิบดี กกจ.กล่าวในที่สุด
จับแรงงานเขมรกว่า 500 คน กลางสวนลำไยสระแก้ว สารภาพจ่ายหัวละ 2,500 บาท ลอบเข้าไทย
(26 เม.ย.) พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว เดินทางมาร่วมตรวจสอบการจับกุมชาวกัมพูชาที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง กว่า 500 คน ที่หอประชุมเทศบาลวังน้ำเย็น ภายหลังจากเจ้าหน้าที่กองร้อยทหารพรานที่ 1306 กรมทหารพรานที่่ 13 กองกำลังบูรพา ทหาร ชุดประสานพื้นที่ ร.12 พัน.1 รอ. ฝ่ายปกครองวังน้ำเย็น และตำรวจภูธรอำเภอวังน้ำเย็น ร่วมกันจับกุมตัวได้ในพื้นที่ ม.2 ต.วังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว หลังมีการนำมาพักซุกซ่อนไว้ในบ้าน และสวนลำไย ของ นายพนัส และนางน้อย ปลาทอง อยู่บ้านเลขที่ 267 ม.2 ต.วังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา
โดย นายเหวือ อายุ 25 ปี ชาวกัมพูชาให้การว่า มีบ้านอยู่ที่ อ.พระตะบอง ประเทศกัมพูชา เคยเข้ามาทำงานในประเทศไทยที่ จ.ฉะเชิงเทรา อยู่กับรถตอกเสาเข็ม ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท แต่กลับบ้านไปช่วงสงกรานต์จึงต้องจ่ายค่านายหน้า และค่ารถให้แก่ผู้นำพาหัวละ 2,500 บาทเพื่อไปส่ง โดยเดินเท้าเข้ามาจากฝั่งประเทศกัมพูชาพร้อมกันประมาณ 200 คน ตั้งแต่เมื่อวานนี้ตอนประมาณ 21.00 น. และมารวมตัวกันอยู่ในไร่มัน ข้าวโพด และสวนลำไย จนถูกทหารเข้าจับกุมตัวเสียก่อน ขณะนี้ไม่มีเงินเหลือติดตัวแม้แต่บาทเดียว
พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยต่างๆ ทำงานบูรณาการกัน ซึ่งชาวกัมพูชากลุ่มนี้หลบหนีเข้ามาเพื่อต้องการกลับเข้าไปทำงาน หลังจากกลับบ้านช่วงสงกรานต์ โดยใช้วิธีการเดินเข้ามา และนำไปซุกอยู่ในสวนลำไย เพื่อรอให้รถมารับตัวเข้าไปในพื้่นที่ชั้นในเมือง บางคนเดินเท้ากันมาถึง 3 วัน ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องจัดหาอาหาร และดูแลให้พักค้างตามหลักมนุษยธรรมที่เทศบาลวังน้ำเย็นก่อน เพื่อทำประวัติ และดำเนินการผลักดันตามกฏหมาย รวมทั้งดำเนินการต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการนำพาด้วย
ทั้งนี้ มีรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า จากการเข้าตรวจค้นเป้าหมายแรกบริเวณห้องเช่าไม่มีเลขที่ บ้านทรัพย์นิยม ม.2 ต.วังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น สามารถจับกุมเเรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ซึ่งหลบซ่อนอยู่ภายในห้อง จำนวน 166 คน และบริเวณบ้านเลขที่ 267 บ้านทรัพย์นิยม ม.2 ต.วังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านของ นายพนัส ปลาทอง และนางน้อย ปลาทอง ซึ่งขณะเข้าจับกุมไม่พบเจ้าของบ้าน โดยจับกุมแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ซึ่งหลบซ่อนอยู่ในสวนลำไยหลังบ้าน จำนวน 301 คน
รวมทั้งสิ้นประมาณ 477 คน และจากการซักถามชาวกัมพูชาว่าทั้ง 2 เป้าหมายเป็นเครือข่ายเดียวกัน โดยจะมีรถทยอยมาจากชายแดนไทย-กัมพูชา มาพักไว้บริเวณดังกล่าว เพื่อที่จะส่งไปทำงานตามจุดต่างๆ ใน กทม. โดยจะคิดค่ารถคนละ 2,200-2,500 บาท เมื่อไปส่งถึงจุดหมายแล้ว
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.พิษณุ เพ็งเดือน ผกก.สภ.วังน้ำเย็น กล่าวว่า ยังคงมีการนำตัวชาวกัมพูชาที่จับกุมได้มาเพิ่มเติมบางส่วน คาดว่าตัวเลขจะมีมากกว่า 500 คน ภายหลังจับกุมได้นำตัวมาไว้ที่หอประชุมเทศบาลวังน้ำเย็น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือ และผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
แรงงานขอ 3 ปีข้างหน้าค่าแรงแตะ 410 บาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท 1,258 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 97 ยังมีภาระหนี้สิน เนื่องจากกู้ยืมเงินมาซื้อยานพาหนะ รองลงมาเป็นการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และซื้อที่อยู่อาศัย โดยมีหนี้สินเฉลี่ยประมาณ 131,000 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 8 ปี
ทั้งนี้ หนี้เริ่มเข้าสู่ระบบมากขึ้น มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 46.4 ดีที่สุดในรอบ 4 ปี จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 39.3 ตามนโยบายรัฐที่ให้ประชาชนเข้าถึงสถาบันการเงินมากขึ้น ทำให้ภาระการชำระหนี้ลดลง แต่ยังประสบปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เนื่องจากรายได้เท่าเดิม แต่ราคาสินค้าแพงขึ้น และวันหยุดแรงงาน 1 พฤษภาคมนี้ ยังคาดว่าบรรยากาศจะคึกคักเหมือนปีที่ผ่านมา ในการเดินทางไปท่องเที่ยว การเลี้ยงสังสรรค์ การทานอาหารนอกบ้าน และการทำบุญ เฉลี่ยมีมูลค่าการใช้จ่ายประมาณคนละ 1,335 บาท คาดว่าจะมีการใช้จ่ายรวมทั้งประเทศประมาณ 2,115 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3 ส่วนประเด็นที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ อันดับแรก ยังต้องการให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ควรมีการปรับขึ้นทุกปี โดยใน 3 ปีครั้งหน้า ควรปรับเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 410 บาท
นอกจากนี้ แม้ภาระหนี้ภาคแรงงานจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับหนี้มาใช้ในการซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ และบ้านมากขึ้น รวมทั้งยังมีความสามารถในการชำระอยู่ในระดับที่ดี และเริ่มมีการออมเพิ่มขึ้น ขณะที่สัญญาณการจ้างงานน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น หลังจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อัตราการว่างงานสูงขึ้นร้อยละ 1.3 โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้อัตราการจ้างงานลดลง โดยช่วงสิ้นปีคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือไม่เกินร้อยละ 1
เกิดเหตุรถบัสรับส่งพนักงานยางระเบิดเสียหลักตกเกาะกลาง ที่สระบุรี ดับ 1 เจ็บกว่า 30 ราย
(27 เม.ย. 2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ผ่านมา ตำรวจสภ.หนองแคได้รับแจ้งเหตุรถบัสรับส่งพนักงานตกเกาะกลางถนนบริเวณจุดกลับรถ ถ.พหลโยธิน กม.ที่ 88 ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 30 คน เสียชีวิต 1 ราย จึงเดินทางไปยังที่เกิดเหตุพร้อมประสานอาสาสมัครกู้ภัยสว่างสระบุรี
โดยในที่เกิดเหตุพบรถบัสรับส่งพนักงานหมายเลขทะเบียน 30-1248 ลพบุรี อยู่ที่ร่องการถนน ในสภาพพลิกตะแคง มีนายรุ่งโรจน์ ขำบาง อายุ 49 ปี เป็นคนขับ ส่วนผู้บาดเจ็บนอนร้องครวญครางกระจัดกระจายผู้บนพื้นถนนจำนวนกว่า 30 ราย เจ้าหน้าจึงเร่งช่วยเหลือลำเลียงนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลหนองแค 17 ราย , โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สระบุรี 12 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลแล้วเป็นชาย 1 ราย
จากการสอบสวนในเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ทราบว่า รถบัสคันดังกล่าวออกจากบริษัทเพื่อจะไปส่งพนักงานที่อำเภอดอนพุด ถึงจุดเกิดเหตุยางล้อขวาด้านหน้าระเบิด ทำให้เสียหลักพุ่งลงเกาะกลางถนนจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายรายและเสียชีวิตดังกล่าว
เครื่องจักรก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงหน้าวัดดอนเมืองหล่นลงมา เบื้องต้นคนงานเสียชีวิต 3 คน
เกิดเหตุเครื่องจักรก่อสร้างรถไฟฟ้าหล่นลงมาทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน ภายในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ถนนกำแพงเพชร 6 เขตพื้นที่สน.ดอนเมือง ทราบชื่อ นายไมตรี สุภาศิริวัฒน์, นายสงัด เทศสินทัศน์, นายสันติพงษ์ แซ่ว่าง ซึ่งเป็นคนงานของคนงานของบริษัทอิตาเลียนไทย
จากการสอบถามนายบุญสืบ พานคำ วิศวกรคุมงาน เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุ ตัว support (ตัวสีส้มยึดหัวเสาให้แน่น) ที่วางอยู่บนหัวเสาเกิดล้มลงมา ขณะเลื่อน ตัว truss (ตัวสไลด์ไปอีกเสานึง) ผ่านตัว support ไป 5 เมตร ตัว support ก็ล่วงลงมาทำให้คนงานขณะปฏิบัติหน้าที่ร่วงลงมาพร้อมกับคนงานเสียชีวิตทันที 3 ราย
เบื้องต้นตำรวจ สน.ดอนเมืองได้ควบคุมตัววิศวกรคุมงาน พร้อมคนงานบางส่วน ไปสอบสวนเพื่อสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้ง ทั้งนี้หลังเกิดพลตำรวจโทศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมผู้อำนวยการเขตดอนเมือง อยู่ระหว่างลงพื้นที่เพื่อสอบปากคำด้วยตนเอง
พลตำรวจโทศานิตย์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นจากการสอบถามวิศวะกรคุมงานเล่าว่า ต้องหาสาเหตุว่าตัวล็อคของ support ที่ยึดอยู่บริเวณเสารถไฟฟ้าหลุดออกมาได้อย่างไร เบื้องต้นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบ หากตรวจพบว่ามีความประมาทก็จะต้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทรับเหมา ผู้รับเหมา วิศวะกรคุมงาน
ด้าน นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยรายงานเบื้องต้นขณะเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุว่า จุดดังกล่าวเป็นงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่2 โดยมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นต์ เป็นผู้รับเหมางานก่อสร้าง ส่วนสาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าวนั้นจะต้องตรวจสอบพื้นที่โดยละเอียดอีกครั้ง โดยล่าสุดมาอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการ รฟท.ได้เดินทางลงตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุด้วย
อย่างไรก็ตามยืนยันว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ไม่กระทบกับการเดินรถของการรถไฟ เนื่องจากเครนดังกล่าว ล้มพาดไปด้านหลังซึ่งเป็นถนนโลคัล โรด ไม่ได้มีการล้มพาดมาบนราง
กระทรวงแรงงาน เผย 9 เดือน ให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวผ่านศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวแล้วกว่า 25,000 ราย
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เผยผลการให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวผ่านศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจำนวน 25,555 ราย โดยให้ความช่วยเหลือผ่านศูนย์ฯที่จังหวัดชลบุรีมากที่สุด จำนวน 7,818 คน โดยส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องการเปลี่ยนนายจ้าง สถานที่ทำงาน การต่ออายุใบอนุญาตทำงาน การออกนอกเขตพื้นที่ การรับประโยชน์ทดแทนในกรณีต่างๆ เป็นต้น
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้จัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวขึ้นเพื่อเป็นศูนย์บริการให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่ประสบปัญหาการทำงานในประเทศไทย โดยจะประสานให้ความช่วยเหลือ หรือส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือต่อไป เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว โดยได้จัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวไปแล้วจำนวน 10 จังหวัด ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก สงขลา สุราษฎร์ธานี ระนอง สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ขอนแก่น และนครราชสีมา โดยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 - วันที่ 26 เมษายน 2560 ได้ให้การช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวไปแล้วจำนวน 25,555 ราย แบ่งเป็น 1) แรงงานต่างด้าวได้รับคำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ เช่น การรับประโยชน์ทดแทน กรณีบาดเจ็บจากการทำงาน การขอรับเงินประกันค่าใช้จ่ายในการส่งตัวกลับฯ เงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างไม่จำเป็น นายจ้างจ่ายเงินไม่ตรงตามกำหนด การเปลี่ยนนายจ้าง สถานที่ทำงาน การต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ใบอนุญาตทำงานสูญหาย การออกนอกเขตพื้นที่ จำนวน 19,762 ราย 2) แรงงานต่างด้าวได้รับการเปลี่ยนนายจ้าง/เพิ่มนายจ้าง จำนวน 3,694 ราย 3) แรงงานต่างด้าวได้รับการเปลี่ยน/เพิ่มสถานที่ทำงาน/เปลี่ยนลักษณะงาน จำนวน 686 ราย 4) แรงงานต่างด้าวได้รับใบอนุญาตทำงานแทนใบอนุญาตทำงานชำรุด/สูญหาย จำนวน 145 ราย 5) แรงงานต่างด้าวได้รับการแก้ไขข้อมูลทางทะเบียน/คัดเอกสารหลักฐาน จำนวน 295 ราย 6) แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิที่พึงได้รับ เช่น เงินประกันส่งกลับฯ เงินประกันสังคม จำนวน 351 ราย 7) แรงงานต่างด้าวได้รับค่าจ้างค้างจ่าย จำนวน 238 ราย 8) ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จำนวน 64 ราย 9) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 282 ราย 10) ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งแรงงานกลับประเทศ จำนวน 38 ราย
นายวรานนท์ กล่าวในตอนท้ายว่า การให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวดังกล่าวส่วนใหญ่ให้ความช่วยเหลือผ่านศูนย์ฯในจังหวัดชลบุรี จำนวน 7,818 ราย รองลงมาคือระนอง จำนวน 4,359 ราย สมุทรปราการ จำนวน 2,541 ราย สงขลา จำนวน 2158 ราย ตาก จำนวน 1,604 ราย สมุทรสาคร จำนวน 1,602 ราย นครราชสีมา จำนวน 1,600 ราย ขอนแก่น จำนวน 1,584 ราย เชียงใหม่ จำนวน 1,536 ราย และ สุราษฎร์ธานี จำนวน 753 ราย และขอประชาสัมพันธ์ให้แรงงานต่างด้าวที่ต้องการขอความช่วยเหลือขณะที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ติดต่อได้ที่ศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวใน 10 จังหวัด ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 29/4/2560
วิศวกรรมสถานฯ -พฐ. เร่งหาเหตุคานเหล็กทับคนงาน “แรงงาน” ลั่น เอาผิดอาญา รับไม่ได้เกิดซ้ำซาก ดับแล้ว 8 ศพ
จากกรณีเมื่อช่วงค่ำวันที่ 28 เมษายน เกิดเหตุอุปกรณ์ก่อสร้างคานเหล็กของรถไฟฟ้าสายสีแดง หล่นลงมาทับ ทำให้คนงานเสียชีวิต 3ราย บริเวณหน้าโรงเรียนวัดดอนเมือง ถนนกำแพงเพชร 6 เขตดอนเมือง ซึ่งต่อมา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เจ้าหน้าที่ทีมวิศวกรของบริษัทอิตาเลี่บนไทย จำกัด พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ บัณฑิตย์ ผกก.สน.ดอนเมือง พ.ต.ท.รังสรรค์ สอนสิงห์ รองผกก.(สอบสวน)สน.ดอนเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุของคานเหล็กถล่ม
ล่าสุดเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 เมษายน นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายสมภพ ปราบณรงค์ ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายอำนวย ภู่ระหงษ์ ผู้อำนวยการกองความปลอดภัยแรงงาน พร้อมนายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ตรวจสอบที่เกิดเหตุ เพื่อหาหลักฐานและสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ
นายธเนศ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบความผิดปกติของคานเหล็กเส้นแรงดึงสูงสำหรับคอนกรีต โดยจะมีเหล็กที่เรียกว่าทีทีบาร์ ซึ่งเป็นตัวยึดต่อตอม่อ ขาดในขณะที่กำลังเคลื่อนตัวส่งผลให้โครงสร้างเหล็กทั้งหมดร่วงหล่นลงมา โดยปกติเหล็กดังกล่าวมีทั้งหมด 6 เส้น แต่ขณะนี้ตรวจสอบเพียง1เส้นที่ขาด โดยพบว่าขาดแนวตัดขวาง จากแรงเฉือนที่รุนแรงซึ่งจะต้องนำเหล็กเส้นที่พบเข้าห้องแล็บ เพื่อตรวจสอบภายในอย่างละเอียดว่าขาดเพราะอะไร ทั้งนี้เบื้องต้นในส่วนระบบการปฏิบัติยังไม่พบข้อบกพร่อง ที่เกิดจากความประมาท แต่น่าจะเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งการเคลื่อนตัวจากตอม่อหนึ่งไปยังอีกตอม่อหนึ่งนั้น จะมีแรงเสียดสีอยู่แล้ว เมื่อตัวทรัคเคลื่ิิอนไปแล้วเกิดสะดุดคนควบคุมจึงพยายามถอยหลังเพื่อเคลื่อนตัวไปข้างหน้าใหม่ โดยจังหวะนั้นน่าจะทำให้เกิดแรงเสียดสีที่แรงขึ้น จนเป็นเหตุให้เหล็กทีทีบาร์ขาด กระทั่งตกลงมาได้ อย่างไรก็ตามต้องตรวจสอบรายละเอียดว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากความประมาทหรือข้อผิดพลาดจุดใดทั้งนี้หากเจ้าหน้าที่วิศวกรรมสถานฯและเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบแล้วเสร็จ ก็จะยกทรัคเหล็กออก แล้วก็น่าจะเปิดสัญจรได้ตามปกติภายในวันอังคารที่ 2 พฤษภาคมนี้
นายธเนศ กล่าวอีกว่า การก่อสร้างมีระเบียบมาตรฐานในการปฏิบัติอยู่แล้ว หากมีการยกสิ่งของหรือก่อสร้างก็จะมีการปิดกั้นพื้นที่ ซึ่งครั้งนี้ก็พบว่าทางบริษัทอิตาเลี่ยนไทยที่รับผิดชอบการก่อสร้างนี้ได้มีการปิดกั้นพื้นที่แล้ว และเลือกที่จะใช้เวลากลางคืนในการทำงานเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะกระทบกับประชาชนที่สัญจร แต่ต้องยอมรับว่าการทำงานในช่วงเวลากลางคืนนั้นอาจไม่สะดวก และเกิดความผิดพลาดได้ หลังจากนี้จึงต้องให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้ดี เพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีหลังจากนี้ยังสามารถดำเนินการก่อสร้างต่อเนื่องได้ตามปกติ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น
ด้านนายสุเมธ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต และไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น การก่อสร้างดังกล่าวนั้นเคยทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาแล้ว 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 8 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางเราไม่สบายใจมาก ว่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขนาดนี้ได้อย่างไร แต่ละครั้งก่อนหน้านี้เราได้มีการเปรียบเทียบปรับ แต่ครั้งนี้จะไม่ยอม ต้องดำเนินคดีทางอาญา โดยก่อนจะไปแจ้งข้อหานั้นจะเชิญเจ้าหน้าที่ บริษัทที่รับผิดชอบมาตอบคำถามว่า เมื่อพบว่ามีเหตุขัดข้อง ทำไมจึงยังปล่อยให้คนงานยืนอยู่ในจุดเกิดเหตุ แทนที่จะกันให้ออกนอกพื้นที่ ซึ่งจะต้องตรวจสอบว่า เกิดจากความประมาทหรือไม่ หากพบว่าเกิดจากความประมาท จะส่งตัวแทน แจ้งความดำเนินคดีอาญาในข้อหาฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพ.ศ.2554 ซึ่งครั้งนี้กระทรวงฯจะชดเชยตามสิทธิจากกองทุนชดเชยให้คนงานที่เสียชีวิต นอกจากดำเนินคดีอาญาแล้ว กระทรวงแรงงานมีอำนาจในการสั่งปรับปรุงแก้ไข หากไม่แก้ ก็จะสั่งระงับการทำงานของบริษัททันที
ขณะที่พ.ต.ท.รังสรรค์ กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่แจ้งข้อหาแก่ผู้ใด อยู่ระหว่างสอบพยาน และให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบหาสาเหตุที่เป็นต้นตอในการเกิดเหตุดังกล่าว พร้อมทั้งรอผลสรุปจากวิศวกร ว่าสาเหตุเกิดจากระบบ หรือความประมาทของผู้ใดหรือไม่ ก่อนจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ต่อมาเวลา 11.30 น.พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมกล่าว ว่าวันนี้เดินทางมาดูความปลอดภัยของพื้นที่เนื่องจากยังไม่มีความปลอดภัยทั้งหมด และจะต้องเปิดให้ประชาชนสัญจรไปมาบริเวณนี้ รวมถึงตรวจสอบข้อเท็จจริงของการสูญเสียว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในคดีทางอาญา เบื้องต้นได้รับรายงานว่าสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งคนงานและพยานในที่เกิดเหตุไปแล้ว 12 ปาก มีบางประเด็นที่เชื่อมโยงไปถึงผู้กระทำผิดได้บางส่วน ซึ่งก็ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุดที่ผ่านมามีการเกิดอุบัติเหตุในลักษณะนี้มาแล้ว 6 ครั้ง ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้นขอความร่วมมือวิศวกรและผู้ประกอบการให้ใส่ใจและระมัดระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะดำเนินคดีกับผู้ที่พยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงทั้งหมด เพราะว่ามีความเสียชีวิต พร้อมเตรียมดำเนินคดีกับวิศวกรคุมงานหากพบกระทำความผิด แต่ขอรวบรวมพยานหลักฐานเสียก่อน