ย้อนทบทวนนับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์ในเดือนเมษายน 2548 ซึ่งต่อมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือพลเรือน บทบาทของฝ่ายตุลาการได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญคู่ขนานไปกับอิทธิพลของพลังการเมืองนอกรัฐสภาทั้งกลุ่มทุน กองทัพ และฝ่ายอนุรักษ์นิยม สวนทางกับดาวอับแสงอย่างนักการเมืองและอำนาจของประชาชน
ไทม์ไลน์ตุลาการภิวัตน์ภาค 1 เมษายน 2549 ถึงรัฐประหาร คปค./คสช. และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 (คลิกเพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่)
ไทม์ไลน์ตุลาการภิวัตน์ภาค 2 เลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ถึงยุบพรรคพลังประชาชน ตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐธรรมนูญ 2550 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 (คลิกเพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่)
ไทม์ไลน์ตุลาการภิวัตน์ภาค 3 เลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึง รัฐประหาร คสช. (คลิกเพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่)
ไทม์ไลน์ตุลาการภิวัตน์ภาค 3.1 ยุค คสช. รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ถึงรัฐธรรมนูญ 2560 และวันตัดสินคดีจำนำข้าว (คลิกเพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่)
ย้อนรอยสถานการณ์ทางการเมือง คำพิพากษา และเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม นับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์ (Judicialization of Politics) โดยเฉพาะหลังจากการประชุมของประมุข 3 ศาลในเดือนเมษายน 2548 โดยนับแต่นั้นมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน บทบาทของฝ่ายตุลาการได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญในพื้นที่การเมืองไทย คู่ขนานไปกับอิทธิพลของพลังการเมืองนอกรัฐสภาทั้งกลุ่มทุน กองทัพ และฝ่ายอนุรักษ์นิยม และมีบ่อยครั้งที่บทบาทของฝ่ายตุลาการทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง ถึงขั้นพลิกขั้วรัฐบาลหรือเป็นบันไดที่นำไปสู่ระบอบที่ไม่ใช่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมด้วยตุลาการศาลปกครองสูงสุด และชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการ ทรงชี้แนะให้พิจารณาว่าการที่ต้องมีการเลือกตั้งภายใน 30 วัน หลังยุบสภานั้นถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งทรงแสดงความเห็นว่าการเลือกตั้งโดยมีผู้สมัครพรรคเดียวไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องข้อเสนอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน และมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยทรงกล่าวว่า "เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้" การปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มิได้ให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจทำอะไรได้ทุกอย่าง และทรงแนะแนวทางให้ฝ่ายตุลาการ คือ ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกันหารือเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
[1.]
28 เมษายน 2549
ประมุข 3 ศาลประชุมพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการเมือง
นายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฎิบัติหน้าที่ประธาน ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอัขราทร จุฬารัตน์ ประธาน ศาลปกครองสูงสุด และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา กำลังประชุมหาทางออกแก้วิกฤติการเมือง เมื่อวันที่ 28 เมษายน (ที่มาของภาพ: หนังสือพิมพ์แนวหน้า, 29 เมษายน 2560)
หลังจากนั้น นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นายอัขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุดและนายผันจันทรปาน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับคณะตุลาการทั้ง 3 ฝ่ายประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการเมือง ที่อาคารสำนักงานยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก
ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ส่งเรื่องที่บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการออกพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาฯและกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยคณะผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา อธิบายว่าคำร้องดังกล่าว เป็นวาระเร่งด่วนมีหลักฐานขัดเจนไม่จำเป็นต้องเรียกกกต.มาชี้แจงและคณะผู้ตรวจการเห็นว่ามีปัญหาความชอบธรรมด้านกฎหมายจึงส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ
ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินฯให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตร 17 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความใน 4 ประเด็นคือกำหนดระยะเวลาสำหรับการเลือกตั้งซึ่งห่างจากวันยุบสภาเพียง 35 วัน การจัดคูหาเลือกหันหน้าออกทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ การที่พรรคการเมืองใหญ่จ้างพรรคเล็กลงแข่งเป็นต้น
8 พฤษภาคม 2549
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ
ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย 9/2549 ให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นผู้ส่งเรื่องให้พิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งและการหันคูหามิชอบ และสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่
ผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาคือ บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานพีเน็ต
16 พฤษภาคม 2549
ศาลปกครองกลางให้การเลือกตั้ง 2 เมษายนเป็นโมฆะ
ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาที่ 607-608/2549 ให้การเลือกตั้ง 2 เมษายนเป็นโมฆะ กรณี กกต. หันคูหาเลือกตั้งออก ทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยลับทั้งทางข้อเท็จจริงและในความรู้สึกของผู้มาใช้สิทธิ ไม่ชอบด้วยมาตรา 104 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ 2540
โดยโพธิพงศ์ บรรลือวงศ์, น.พ.ประมวล วีรุตมเสน และพวก 10 คน เป็นผู้ยื่นคำร้อง
31 พฤษภาคม 2549
ธีรยุทธ บุญมี พูดเรื่อง ‘ตุลาการภิวัตน์’ ก่อนจะนำเสนองานวิจัยเรื่องตุลาการภิวัตน์ใน 2 เดือนถัดมา
รายละเอียดหนังสือของนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ถึงสุชิน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา เมื่อ 1 มิถุนายน 2549 (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์)
1 มิถุนายน 2549
ที่ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ทำจดหมายถึง สุชิน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา แจ้งมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ไม่ขอเสนอชื่อ 2 กกต. เนื่องจาก กกต. 3 คนที่เหลือทำหน้าที่บกพร่อง ขาดคุณสมบัติหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ในจดหมายตอนหนึ่ง ประธานศาลฎีกาได้อ้างว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจของศาล “ตามที่ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ” โดยใจความในจดหมายระบุว่า
“ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยโดยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล แต่ในเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะว่างเว้นรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสงวนรักษาระบอบการปกครองและความสงบสุขของราชอาณาจักรไว้ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางศาลได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจของศาลตามที่ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ” (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์)
20 กรกฎาคม 2549
พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง 15 ตุลาคม 2549
พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2549 พ.ศ.2549 กำหนดวันเลือกตั้ง 15 ตุลาคม 2549
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักราชเลขาธิการฯ ได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 ข้อ ได้แก่ 1. เหตุผลที่ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฤษฎีการเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยเพราะมีพระราชประสงค์ให้ประเทศชาติกลับไปสู่ความสงบโดยเร็ว 2. มีพระราชประสงค์ให้การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไปให้มีความเรียบร้อย และยุติธรรม
25 กรกฎาคม 2549
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 กกต. จัดเลือกตั้งรอบใหม่โดยไม่มีอำนาจ
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก4 ปี ต่อ 3 กกต. คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. และพวก กรณีร่วมกันจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตรอบใหม่เมื่อวันที่ 23 และ 29 เมษายน 2549 โดยไม่มีอำนาจ และออกหนังสือเวียนถึง ผอ.กต.เขต ให้เปิดรับผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนสมัครใหม่ โดยผู้ฟ้องคือ ถาวร เสนเนียม ส.ส.ประชาธิปัตย์
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2551 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และในเดือนมิถุนายน 2556 ศาลฎีกายกฟ้อง (ที่มา: คมชัดลึก)
15 กันยายน 2549
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 กกต. ไม่เร่งสอบข้อเท็จจริงจ้างพรรคเล็ก
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี 3 กกต. คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. และพวก กรณีไม่เร่งสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคการแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย ลงสมัครเลือกตั้ง โดยผู้ฟ้องคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
ต่อมา 14 พฤษภาคม 2551 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และ 3 มิถุนายน 2559 ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุกคนละ 2 ปี
19 กันยายน 2549
รัฐประหาร คปค./คมช.
ช่วงหนึ่งของการอ่านแถลงการณ์โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย)
รัฐประหารนำโดย พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ใช้ชื่อว่า ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (คปค.) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 และยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ตั้ง ‘คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ’ ขึ้นแทน
30 พฤษภาคม 2550
ตุลาการรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทยและ 3 พรรคเล็ก
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย 3-5/2550 ยุบพรรคไทยรักไทยกับพรรคเล็กได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรค มีกำหนด 5 ปี
19 สิงหาคม 2550
ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เห็นชอบ 57.81% ไม่เห็นชอบ 42.19%
24 สิงหาคม 2550
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
[2.]
23 ธันวาคม 2550
ผลการเลือกตั้งทั่วไป พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี
25 พฤษภาคม 2551
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเริ่มต้นชุมนุม โดยอ้างว่ารัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
27 มิถุนายน 2551
ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 สั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม. ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งหนุนกัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
โดยผู้ร้องคือ สุริยะใส กตะศิลา และพวกรวม 13 คน
30 มิถุนายน 2551
ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย 5/255 รับรองคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีอำนาจตรวจสอบและฟ้องคดี กรณีหวยบนดิน โดยคำวินิจฉัยอ้างเจตนารมณ์ในคำปรารภในพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้า คปก.
8 กรกฎาคม 2551
ศาลฎีกานักการเมืองเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งยงยุทธ ติยะไพรัช ซื้อเสียงกำนัน
ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งที่ 5019/2551เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กรณี กกต.ร้องเรียนว่าแจกเงินเพื่อจูงใจให้กลุ่มกำนันอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นหัวคะแนน เพื่อช่วยให้ผู้สมัครพรรคพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้ง
8 กรกฎาคม 2551
ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 547/255 ยืนยันคำสั่งศาลปกครองกลางคุ้มครองชั่วคราว กรณีเพิกถอนร่างแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา
8 กรกฎาคม 2551
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ขัดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา
9 กันยายน 2551
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘สมัคร’ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกรณีชิมไปบ่นไป
ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำคำวินิจฉัย 12-13/2551ให้สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร ‘ชิมไปบ่นไป’
คดีนี้ผู้ร้องคือเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และวุฒิสมาชิกรวม 29 คน
17 กันยายน 2551
สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนสมัคร สุนทรเวช
7 ตุลาคม 2551
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมหน้ารัฐสภาเพื่อขัดขวางไม่ให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำให้มีเหตุปะทะและเกิดการสลายการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
9 ตุลาคม 2551
ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าการชุมนุมเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 ของพันธมิตรฯ มิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และการปิดกั้นมิให้เข้าออกรัฐสภาเพื่อมิให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะเกิดผลกระทบต่อภาระหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าสลายการชุมนุมเพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำของผู้ชุมนุมได้ แต่จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยคำนึกถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุม โดยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้นายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามหลักสากล หากจะมีการสลายการชุมนุม ให้กำชับผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการตามขั้นตอนจากเบาถึงหนัก จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
21 ตุลาคม 2551
ศาลฎีกาตัดสินจำคุกทักษิณ 2 ปี-คดีที่ดินรัชดา
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกจำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาท ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ณ ป้อมเพชร) ภรรยา ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฎิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีและเป็นเจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 86, 91, 152 และ 157 โดยศาลตัดสินจำคุกทักษิณ ชินวัตร 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนพจมาน ชินวัตร ยกฟ้อง เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม ทักษิณและพจมานตัดสินใจอยู่ต่างประเทศและไม่ยอมมารายงานตัวต่อศาล จึงทำให้มีการออกหมายจับ โดยคดีของทักษิณมีอายุความ 15 ปี คือถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2566
ผลสืบเนื่องของคดี ต่อมาเมื่อ 24 กันยายน 2553 ศาลแพ่งพิพากษาให้คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ส่งมอบที่ดิน 4 แปลง คืนให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน เนื่องจากเห็นว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน ระหว่างกองทุนฟื้นฟูฯ และคุณหญิงพจมานเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เป็นโมฆะกรรม พร้อมทั้งให้กองทุนฯ คืนเงินซื้อขายที่ดินจำนวน 772 ล้านบาท ให้กับ คุณหญิงพจมาน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่คุณหญิงพจมาน ฟ้องกลับกองทุนฟื้นฟูฯ ให้คืนเงินซื้อที่ดิน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552
24 พฤศจิกายน 2551
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมภายในพื้นที่ของสนามบินดอนเมือง และวันถัดมาได้เข้าไปชุมนุมภายในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ
2 ธันวาคม 2551
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน-มัชฌิมาธิปไตย-ชาติไทย
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 18-20/2551 ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี กรณียงยุทธ ติยะไพรัช ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
3 ธันวาคม 2551
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยุติการชุมนุม
9 ธันวาคม 2551
อดีตพรรคร่วมรัฐบาลสลับขั้ว พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
14 เมษายน 2552
แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศยุติการชุมนุม หลังจากเริ่มชุมนุมมาตั้งแต่ 26 มีนาคม จนกระทั่งเกิดเหตุจลาจลนำมาสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสลายการชุมนุม
30 ธันวาคม 2552
ศาลปกครองกลาง ตัดสินคดีหมายเลขดำที่ 984/2551, 1001/2551 และ 1024/2551 มีคำสั่งเพิกถอนแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีปราสาทเขาพระวิหาร สมัยนพดล ปัทมะ เป็น รมว.กระทรวงการต่างประเทศ
21 กันยายน 2552
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้องคดีจัดซื้อกล้ายางพาราในปี 2546 จำนวน 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท ที่ต้นกล้าตายเกือบหมด โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งเรื่องให้กับ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ฟ้อง
จำเลยคดีดังกล่าวมีทั้งหมด 44 คน ในจำนวนนี้มีอดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณทั้งสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.), วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง, สรอรรถ กลิ่นประทุม อดีต รมว.เกษตร, เนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตร และอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการเครือบริษัทซีพี, บริษัท รีสอร์ทแลนด์ , บริษัทเอกเจริญการเกษตร รวมทั้งจำเลยที่เป็นข้าราชการระดับบริหารกับกรรมการของบริษัทผู้เสนอราคาจัดซื้อกล้ายาง โดยศาลเห็นว่า คชก. จำเป็นต้องช่วยเหลือเกษตรกร การดำเนินงานไม่ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เงื่อนไขการประกวดราคาเปิดกว้าง ตรวจสอบผู้เสนอราคาถูกต้อง และบริษัทเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติไม่มีการฮั้วประมูล (ที่มา: ไทยรัฐ)
26 กุมภาพันธ์ 2553
ยึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน คดีขายหุ้นชินคอร์ป
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553มีคำพิพากษายึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นชินคอร์ป 4.6 หมื่นล้านบาท
12 มีนาคม 2553
แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมใหญ่เรียกร้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่
10 เมษายน 2553
สลายการชุมนุม นปช. ที่ ถ.ราชดำเนิน
13 - 19 พฤษภาคม 2553
สลายการชุมนุม นปช. ที่ราชประสงค์
2 พฤศจิกายน 2553
คณะรัฐมนตรีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 รวม 2 ประเด็น คือ ม.190 การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศไม่ต้องผ่านสภา และ ม.93-98 กลับมาใช้ระบบเลือกตั้งแบบ เขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน และระบบบัญชีรายชื่อเขตเดียวทั่วประเทศ 125 คน
โดยมาจากข้อเสนอ 6 ประเด็นของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำโดย สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
8 พฤจิกายน 2553
ศาลรัฐธรรมนูญมี คำวินิจฉัย 7/2553 ความเป็นรัฐมนตรีของกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ ไม่สิ้นสุด กรณีทำจดหมายแนะนายกรัฐมนตรีเร่งคดีทักษิณ
ผู้ร้องคือ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กับวุฒิสมาชิกรวม 19 คน
29 พฤศจิกายน 2553
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 15/2553 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบริษัททีพีไอโพลีน เนื่องจากกระบวนการยืนคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยผู้ร้องคือ นายทะเบียนพรรคการเมือง
9 ธันวาคม 2553
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 16/2553 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบ.ทีพีไอโพลน เนื่องจากข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติ
โดยผู้ร้องคืออัยการสูงสุด
11 กุมภาพันธ์ 2554
รัฐสภาลงมติผ่านวาระ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 93-98 และ 190
3 มีนาคม 2554
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 (ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา [1], [2])
[3.]
10 พฤษภาคม 2554
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งทั่วไป
3 กรกฎาคม 2554
ผลการเลือกตั้งทั่วไป พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
13 กุมภาพันธ์ 2555
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยจะแก้ไขมาตราเดียวคือ มาตรา 291 เพื่อปลดล็อกให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ
22 กุมภาพันธ์ 2555
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 5-7/2555พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เพื่อวางระบบจัดการน้ำ และ พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
13 กรกฎาคม 2555
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรทำประชามติ
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 18-22/2555 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ “ควร” ทำประชามติ
กรณีนี้มีผู้ร้อง 5 ราย คือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์, นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทรและคณะ
5 ตุลาคม 2555
ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ 1569/2552 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรีชดใช้ให้กับผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 250 ราย จากกรณีตำรวจสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ปิดล้อมรัฐภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
ผู้ฟ้องคือชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 250 ราย ซึ่งเป็นประชาชนที่สูญเสียอวัยวะสำคัญและได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 เฉพาะผู้ฟ้องที่ 45 ถูกคนเสื้อแดงดักทำร้ายขณะรถติดไฟแดงที่ ถ.วิภาวดี ซอย 3 ไม่ได้ถูกกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาลจึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้ และพิพากษาให้ยกฟ้อง
29 มกราคม 2556
กลุ่ม 29 มกราปลดปล่อยนักโทษการเมือง ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อช่วยนักโทษการเมือง
7 มีนาคม 2556
วรชัย เหมะ ส.ส.เพื่อไทยนำทีม ส.ส.รวม 42 คนยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภา
4 เมษายน 2556
รัฐบาลตัดสินใจไม่ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 แต่แก้ไขรายมาตราแทน โดยนำเสนอ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา ในประเด็นที่มาของวุฒิสมาชิก, มาตรา 190 หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ และมาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรค
7 สิงหาคม 2556
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาวาระแรกของสภา มีการชุมนุมต่อต้านหน้าสภาโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ
28 กันยายน 2556
รัฐสภาลงมติผ่านวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในประเด็นที่มาของวุฒิสมาชิก
31 ตุลาคม 2556
ชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สถานีรถไฟสามเสน ก่อนขยายตัวเป็น กปปส.
1 พฤศจิกายน 2556
สภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่านวาระ 3 พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
4 พฤศจิกายน 2556
รัฐสภาลงมติผ่านวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในประเด็นมาตรา 190
20 พฤศจิกายน 2556
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ไม่ชอบ
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ15-18/2556 การดําเนินการ พิจารณา และลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรณีแก้ไขที่มาวุฒิสมาชิก เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญมีเนื้อความที่เป็นสาระสําคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการกระทําเพื่อให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550
ส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 ขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง เห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขจึงให้ยกคําร้อง
29 พฤศจิกายน 2556
เปิดตัวแกนนำ กปปส.
เปิดตัว 'คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข' (กปปส.) อย่างเป็นทางการ
9 ธันวาคม 2556
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา กลายเป็นรัฐบาลรักษาการ กำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557
21 ธันวาคม 2556
พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศบอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
8 มกราคม 2557
ศาลรัฐธรรมนูญชี้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.190 ไม่ชอบด้วยกระบวนการ
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 1/2557การพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและการที่ผู้ถูกร้องร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 ผิดมาตรา 68 วรรคหนึ่ง
24 มกราคม 2557
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2/2557 สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ตามที่ กกต. เสนอ ครม. และอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต. และ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
2 กุมภาพันธ์ 2557
วันเลือกตั้งทั่วไป 2 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ชุมนุม กปปส. ขัดขวางไม่ให้จัดการเลือกตั้งในหลายเขตเลือกตั้ง
7 มีนาคม 2557
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 โมฆะ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ
12 มีนาคม 2557
ศาลรัฐธรรมนูญตีตก พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 3-4/2557 มีวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศพ.ศ. … ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ จึงมีผลให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ เป็นอันตกไป
21 มีนาคม 2557
ศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะ เพราะไม่สามารถจัดได้ภายในวันเดียว
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 5/2557พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทน 2556 เฉพาะในส่วนที่กําหนดให้มีการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่สามารถจัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
7 มีนาคม 2557
ศาลปกครองคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่ถวิล เปลี่ยนศรี
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่ถวิลเปลี่ยนศรี เนื่องจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
7 พฤษภาคม 2557
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 9/2557 ความเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการของยิ่งลักษณ์ ชินวิตร สิ้นสุดลง กรณีศาลปกครองสูงสุดสั่งให้การโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นไปโดยมิชอบ
ผู้ร้องคือ ไพบูลย์ นิติตะวัน วุฒิสมาชิก
[3.1]
22 พฤษภาคม 2557
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร
คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหาร นอกจากนี้ยังมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 เรื่อง การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเป็นการยกเลิกประกาศฉบับที่ 5/2557 เรื่อง การสิ้นสุดชั่วคราวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง วุฒิสภา ศาล และองค์กรอิสระ ยังคงปฏิบัติหน้าที่
22 กรกฎาคม 2557
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
23 มกราคม 2558
สนช.ลงมติถอนยิ่งลักษณ์ปมจำนำข้าว
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช. ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าวด้วยคะแนน 190 ต่อ 18 งดออกเสียง 8 บัตรเสีย 3 คะแนน และยังส่งผลให้ยิ่งลักษณ์ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ส่วนนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา รอดจากการลงมติถอนถอน (ไทยรัฐ)
19 มีนาคม 2558
ศาลฎีกาแผนกนักการเมืองรับฟ้องยิ่งลักษณ์คดีจำนำข้าว
องค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีจำนำข้าว ตามที่เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2558 อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 โดยกล่าวหาว่าละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
19 เมษายน 2558
ศาลฎีกาแผนกนักการเมืองรับฟ้องบุญทรงและพวกคดีระบายข้าวจีทูจี
องค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ตามที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์, ภูมิ สาระผล อดีต รมช.กระทรวงพาณิชย์ และพวกรวม 21 ราย เมื่อ 9 เมษายนที่ผ่านมา
19 พฤษภาคม 2558
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาคดีจำนำข้าวนัดแรก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
28 พฤษภาคม 2558
ศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 2 ปี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้แก่ สนธิ ลิ้มทองกุล, จำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข และสุริยะใส กตะศิลา คดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาลและปักหลักชุมนุมเมื่อ 26 สิงหาคม 2551 ก่อนออกจากทำเนียบเมื่อ 3 ธันวาคม 2551 "แม้จำเลยจะมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ก็มีความผิดตามฟ้อง" ทนายจำเลยอุทธรณ์สู้คดีต่อ ศาลให้ประกันตัววงเงิน 2 แสนบาท ไม่มีเงื่อนไขการประกันตัว
29 มิถุนายน 2558
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาคดีจำนำข้าวนัดแรก บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์ และพวกรวม 21 ราย เดินทางมาสอบคำให้การ โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
30 ตุลาคม 2558
ประยุทธ์ใช้มาตรา 44 อุ้มคณะทำงานจำนำข้าวพ้นรับผิดอาญา-แพ่ง-วินัย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2558 เรื่อง การคุ้มรองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด โดยมีผลต่ออายุคณะกรรมการสอบคดีจำนำข้าว ตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57 เพื่อหาคนทำผิดให้ชดใช้ค่าเสียหาย และคุ้มครองคณะทำงานไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย
29 ธันวาคม 2558
ป.ป.ช.ปัดตกข้อหาอภิสิทธิ์-สุเทพ-อนุพงษ์สลายชุมนุมปี 53
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. กับพวกสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ตกไป โดยระบุว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปเช่นกัน
ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่พกอาวุธปืนติดตัวเพื่อป้องกันตัวเอง หากภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้อาวุธปืนโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นความรับผิดเฉพาะตัว
19 เมษายน 2559
กำหนดวันออกเสียงประชามติ 8 สิงหาคม 2559
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กําหนดวันออกเสียงประชามติ โดยกำหนดให้วันที่ 8 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติ ในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รวมทั้งคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
29 มิถุนายน 2559
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว
ศาลรัฐธรรมนูญมี คำวินิจฉัยที่ 4/2559 เห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ก่อนหน้านี้จอน อึ๊งภากรณ์และคณะยื่นหนังสือร้องเรียน โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย จรัญ ภักดีธนากุล, ชัช ชลวร, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, บุญส่ง กุลบุปผา, ปัญญา อุดชาชน, วรวิทย์ กังศศิเทียม, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี
7 สิงหาคม 2559
ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เห็นชอบ61.35% ไม่เห็นชอบ 38.65% ลงประชามติคำถามพ่วง เห็นชอบ 58.07% ไม่เห็นชอบ 41.93%
25 สิงหาคม 2559
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และตัดสินจำคุก 1 ปี รอลงอาญา 5 ปีนายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
28 กันยายน 2559
ศาลรัฐธรรมนูญมี คำวินิจฉัยที่ 6/2559 วินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติ และให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับแก้ถ้อยคำในคำปรารภให้สอดคล้องกันต่อไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 มาตรา 37/1
โดยผู้ร้องคือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้ว หรือไม่
26 ตุลาคม 2559
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 7/2559 การปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นสามารถกระทำได้ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้มีหน้าที่ปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้สมบูรณ์ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป
คณะรัฐมนตรีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดกรณีการปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญภายหลังการลงประชามติ
16 พฤศจิกายน 2559
ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษากลับให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหม 1163/2555 เมื่อปี 2555 ที่มีผลปลดอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะออกจากทหารกองหนุน-เรียกคืนเบี้ยหวัด กรณีขาดการตรวจคัดเลือกทหารแล้วนำไปใบสำคัญ (ใบ สด.9) แทนฉบับที่ชำรุดสูญหายอันเป็นเท็จมาแสดงต่อสัสสดี จ.นครนายก ทำให้ไม่มีคุณสมบติเข้ารับราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร ตำแหน่งอาจารย์สอนในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) โดยศาลเห็นว่าคำสั่งไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและกฎเกณฑ์ที่ถือปฏิบัติ และไม่อาจตีความปิดช่องว่างทางกฎหมายให้เป็นผลร้ายกับโจทก์ผู้ถูกกล่าวหา
โดยต่อมาในวันที่ 13 มกราคม 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ยื่นฎีกาของคดีนี้
17 กุมภาพันธ์ 2560
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพออกคำสั่ง ศอฉ. สลายชุมนุมปี 2553 ถือว่าไม่ได้กระทำในฐานะส่วนตัว เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ต้องให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูล
ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำสั่งในคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา กรณีจำเลยทั้งสองออกคำสั่ง ศอฉ. ให้เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่การชุมนุมจาก นปช. บริเวณถนนราชดำเนินและแยกราชประสงค์ ตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อภิสิทธิ์ และสุเทพ ออกคำสั่งขณะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และ รองนายกรัฐมนตรี ฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัว ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจในการสอบสวน โดยเป็นการตัดสินยืนตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 28 สิงหาคม 2557
6 เมษายน 2560
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มีการแก้ไขคำปรารภ และแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 8 มาตราเมื่อเทียบกับร่างรัฐธรรมนูฉบับที่มีการลงประชามติ
โดยมีการแก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง เปิดทางวุฒิสภาสมัยแรกที่มาจากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขอีก 7 มาตรา ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะบางประเด็นได้ โดยเนื้อหาที่แก้ไข เช่น มาตรา 5 องค์กรแก้วิกฤต มาตรา 12 คุณสมบัติองคมนตรี มาตรา 15 อำนาจการแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง มาตรา 16, มาตรา 17 การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร มาตรา 19 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนที่รัฐสภาอีก และมาตรา 182 เกี่ยวกับเรื่องผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
21 เมษายน 2560
ศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก 12 เดือน อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง หมิ่นประมาท อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีปราศรัยเมื่อ 11 และ 17 ตุลาคม 2552 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและทำเนียบรัฐบาล กล่าวหาอภิสิทธิ์ว่าสั่งทหารฆ่าประชาชน ปล้นอำนาจจากประชาชน และไม่ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตในโครงการต่างๆ
โดยอริสมันต์ ถูกคุมขังอยู่ก่อนแล้วที่เรือนจำพัทยา จ.ชลบุรี ในคดีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตัดสินจำคุก 4 ปี กรณีพาผู้ชุมนุม นปช. บุกโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เพื่อขัดขวางการประชุมผู้นำอาเซียนเดือนเมษายนปี 2552
9 มิถุนายน 2560
ศาลฎีกาประทับรับฟ้องคดีที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ ฟ้องธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอและพวก กรณีสรุปสำนวนคดีสลายการชุมนุมปี 2553 โดยไม่สุจริต มีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา หลังธาริตสรุปสำนวนกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
20 กรกฎาคม 2560
ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.1962/2552 ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332
กรณีจตุพรปราศรัยที่วัดไผ่เขียว ย่านดอนเมือง วันที่ 10 พฤษภาคม 2552 กล่าวว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลภายใต้ทรราชฟันน้ำนม เป็นคนสั่งทหารให้ไปยิงประชาชน เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือดฆ่าประชาชน จะต้องถูกประหารชีวิต ข้อหาฆ่าคนตาย ฯลฯ โดยศาลพิพากษากลับให้จำคุกจตุพรเป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา และให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน 7 วัน
โดยก่อนหน้านี้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2555 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อ 26 ธันวาคม 2557 ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่ารูปคดีมีเหตุผลที่ทำให้จำเลยเชื่อว่าน่าจะมีมูลเหตุในเรื่องที่ได้กล่าวถึงจริง เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) ไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาท
24 กรกฎาคม 2560
จำลอง ศรีเมือง เดินทางมาขึ้นศาลอาญา รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 (ที่มา: เพจ Banrasdr)
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ลดโทษ 1 ใน 3 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้แก่ สนธิ ลิ้มทองกุล, จำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข และสุริยะใส กตะศิลา คดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 26 สิงหาคม - ธันวาคม 2551 โดยระบุว่าการกระทำของพวกจำเลยมิได้เป็นประโยชน์เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงเห็นควรพิพากษาลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์จึงพิพากษาแก้จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปี ให้เป็นจำคุก 1 ปี โดยลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยทั้ง 6 เป็นเวลาทั้งสิ้น 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
โดยคดีดังกล่าวเมื่อ 28 พฤษภาคม 2558 ศาลชั้นต้นเคยตัดสินจำคุกจำเลยทั้ง 6 คนเป็นเวลา 2 ปี
2 สิงหาคม 2560
ศาลฎีกาแผนกนักการเมืองยกฟ้องสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพวกคดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯ 7 ตุลาคม 2551
สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เดินทางมาฟังคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุม 7 สิงหาคม 2551 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ที่มาของภาพ: Facebook/Banrasdr Photo)
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินยกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 7 ตุลาคม 2551ระบุไม่ปรากฏข้อเท็จจริงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลัง
คดีดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากการสลายการชุุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ
25 สิงหาคม 2560
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีนโยบายจำนำข้าวที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลย ฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เป็นจำนวนเงิน 5 แสนล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และพิพากษาคดีทุจริตระบายข้าว(จีทูจี) ที่บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์ และภูมิ สาระผล อดีต รมช.กระทรวงพาณิชย์ เป็นจำเลย
ผลกระทบของคำพิพากษาแบบตุลาการภิวัตน์
ในงานเสวนาวิชาการ "เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" ซึ่งจัดในเดือนเมษายน 2559 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน และหนึ่งในสมาชิกของนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ เสนอว่า บทบาทของตุลาการภิวัตน์ที่ผ่านมาได้ทำลายพลังของกลุ่มการเมืองเดียวกันทั้งหมดคือ ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ซึ่งทั้งหมดจบลงด้วยการล้มรัฐบาล (อ่านการนำเสนอของปิยบุตร)
ในการนำเสนอของปิยบุตร เขาเสนอว่าคำพิพากษากลุ่มนี้ส่งผลกระทบทางการเมืองอยู่ 4 รูปแบบ กลุ่มที่หนึ่ง คำพิพากษาที่กำจัดนักการเมืองโดยตรง กลุ่มที่สอง คำพิพากษาที่ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล กลุ่มที่สาม คำพิพากษาที่ปกป้องแดนอำนาจของพวกเขาเอง และกลุ่มที่สี่ สร้างสุญญากาศในทางการเมือง
กลุ่มแรก คำพิพากษาที่เข้าไปจัดการนักการเมืองโดยตรง คือ กำจัดนักการเมืองที่ถูกมองเป็นศัตรู เป็นภัยต่อชนชั้นนำจารีตประเพณี ต่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลุ่มนี้คือ การยุบพรรค เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี การปลดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ยึดทรัพย์สิน ผลคือนักการเมืองเหล่านี้ต้องถูกขับออกไปจากการเมือง ไม่ถาวรก็ชั่วคราวระยะเวลาหนึ่ง แล้วรัฐบาลต้องล้มลงต้องมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล
กลุ่มที่สอง คำพิพากษาที่ส่งผลทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล โดยธรรมชาติของความเป็นศาล ไม่สามารถตัดสินคดีที่ปลดรัฐบาลล้มรัฐบาลได้อยู่บ่อยๆ มีข้อจำกัดของความเป็นศาล ซึ่งถ้าทำมากๆ อาจทำให้ศาลเสียหายได้ แต่ก็มีวิธีอยู่นั่นคือ มีคำพิพากษาที่ออกมาแล้วบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลหรือเปิดช่องให้องค์กรอื่นเล่นงานได้ต่อ เช่น คำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหาร หรือคำพิพากษาศาลปกครองที่พิพากษาว่าการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วหลังจากนั้นก็มี ส.ว.กลุ่มหนึ่ง เอาผลจากคำพิพากษานี้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้มีการปลดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กลุ่มที่สาม คำพิพากษาที่ส่งผลปกป้องแดนอำนาจของตัวเอง โดยปิยบุตรยกตัวอย่างกรณีของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งถือเป็นหัวใจของพวกเขา เมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีเสียงข้างมากชูธงจะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเริ่มต้นก็จะถูกขวางทันที โดยเมื่อรัฐสภาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญในเวลานั้นแม้ว่าไม่ได้ตัดสินว่าทำไม่ได้ แต่ก็บอกว่าต้องทำประชามติเสียก่อน รัฐบาลซึ่งคำนวณแล้วว่าได้ไม่คุ้มเสีย จึงเปลี่ยนไปแก้ไขรัฐธรรมนูญทีละมาตรา แต่พอแก้ไขที่มาของวุฒิสมาชิกจากเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง มาเป็นเลือกตั้งทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความแบบพิสดารว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยเปลี่ยนให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย หรือไม่ยอมให้แก้ไขมาตรา 190 ไม่ให้แก้ไขเรื่องยุบพรรค เหล่านี้เหมือนการป้องกันแดนอำนาจของตัวเอง เพราะหากเสียส่วนนี้ไปศาลรัฐธรรมนูญจะพลิกโฉมทันที
และกลุ่มที่สี่ คำพิพากษาที่ส่งผลให้เกิดสุญญากาศ ตอนรัฐบาลทักษิณ สมัคร สมชาย ยิ่งลักษณ์ จะมีการชุมนุมต่อต้าน จุดประสงค์ของผู้ชุมนุมต่อต้านไม่ได้ต้องการให้ยุบสภา เพราะเขามองว่ายุบแล้วเลือกตั้งใหม่ได้พวกเดิมกลับมา จึงมีข้อเสนอเช่น ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งบ้าง หรือเสนอมาตรา 7 เสนอนายกรัฐมนตรีพระราชทานบ้าง แต่อยู่ดีๆ มีข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้ ต้องเกิดสุญญากาศก่อน ดังนั้นเมื่อรัฐบาลยุบสภา ขั้นตอนต่อไปคือต้องไปเลือกตั้ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลายเป็นรัฐบาลรักษาการ อำนาจหายหมด ราชการประจำไม่ฟังแล้ว พอจะเลือกตั้งก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าเลือกตั้งไม่ได้ และสุดท้ายก็จะมีคำพิพากษาออกมาว่าการเลือกตั้งนั้นใช้ไม่ได้ เราจึงมีคำพิพากษาเรื่องนี้ 2 ครั้ง ล้มการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 และล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อให้การเลือกตั้งเสียไป พอเสียไปรัฐบาลก็ไม่มี เป็นรัฐบาลรักษาการก็เข้าสู่สภาวะสุญญากาศ และทั้งสองครั้งจบด้วยการรัฐประหาร
ปิยบุตรเสนอด้วยว่ามี 4 เหตุปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดคำพิพากษาแบบตุลาการภิวัตน์ ประกอบด้วย
1.ตัวบทรัฐธรรมนูญ ตัวบทที่เขียนไว้ชัดเจนว่าให้อำนาจศาล ศาลก็ไม่ลังเลใจที่จะใช้อำนาจเนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หรือมีช่องทางการส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา องค์กรนั้นองค์กรนี้ และมีตัวบทมันไม่ชัดแต่ศาลตีความให้อำนาจตัวเอง
2. นักร้อง หรือ คนที่ไปร้องศาล ปิยบุตรยกตัวอ่างสุภาษิตกฎหมายละตินที่บอกว่า 'ไม่มีคำฟ้อง ไม่มีผู้พิพากษา' กล่าวคือถ้าไม่มีคนไปฟ้องศาลตัดสินไม่ได้ ทีนี้ศาลอยู่ดีๆ จะเปิดประตูเรียกให้คนมาฟ้องก็ไม่ได้ จึงต้องมีกลุ่มที่ขะมักเขม้นขยันขันแข็งในการร้องศาลตลอดเวลา
3. วาทกรรมตุลาการภิวัตน์
และ 4. สร้างให้สังคมเชิดชูศาลเป็นกลาง ซึ่งข้อเสนอนี้เองที่ทำให้ศาลออกมา บนวาทกรรมที่ว่า ศาลมีความเป็นกลาง เป็นอิสระ เรื่องทุกเรื่องที่ขัดแย้งกันต้องไปจบที่ศาล มีความคิดว่าถ้าขัดแย้งกันเมื่อไรต้องมีศาลชี้ขาด ทั้งที่กระบวนการทางการเมืองบางเรื่องไม่ต้องจบที่ศาล แต่ของไทยต้องไปที่กระบวนการศาลตลอด
ซึ่งทั้ง 4 ปัจจัยนี้ผลักดันให้เกิดชุดคำพิพากษาตุลาการภิวัตน์ขึ้นมาได้
2. นักร้อง หรือ คนที่ไปร้องศาล ปิยบุตรยกตัวอ่างสุภาษิตกฎหมายละตินที่บอกว่า 'ไม่มีคำฟ้อง ไม่มีผู้พิพากษา' กล่าวคือถ้าไม่มีคนไปฟ้องศาลตัดสินไม่ได้ ทีนี้ศาลอยู่ดีๆ จะเปิดประตูเรียกให้คนมาฟ้องก็ไม่ได้ จึงต้องมีกลุ่มที่ขะมักเขม้นขยันขันแข็งในการร้องศาลตลอดเวลา
3. วาทกรรมตุลาการภิวัตน์
และ 4. สร้างให้สังคมเชิดชูศาลเป็นกลาง ซึ่งข้อเสนอนี้เองที่ทำให้ศาลออกมา บนวาทกรรมที่ว่า ศาลมีความเป็นกลาง เป็นอิสระ เรื่องทุกเรื่องที่ขัดแย้งกันต้องไปจบที่ศาล มีความคิดว่าถ้าขัดแย้งกันเมื่อไรต้องมีศาลชี้ขาด ทั้งที่กระบวนการทางการเมืองบางเรื่องไม่ต้องจบที่ศาล แต่ของไทยต้องไปที่กระบวนการศาลตลอด
ซึ่งทั้ง 4 ปัจจัยนี้ผลักดันให้เกิดชุดคำพิพากษาตุลาการภิวัตน์ขึ้นมาได้
แสดงความคิดเห็น