Posted: 29 Aug 2017 01:12 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เล่าประสบการณ์-จริยธรรมคนทำหนัง ชี้สารคดีคือความจริงที่ต้องถกเถียงต่อ เหตุไม่มีรูปแบบตายตัว จากเรื่องราวภายนอกจนเรื่องส่วนตัว ชี้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำทุกชนชั้นเล่าเรื่องตัวเองได้ เปิดมุมหลากหลาย ทำเส้นแบ่งระหว่าง เรื่องแต่ง และ เรื่องจริง พร่าเลือน


ภาพจากเพจ DOC Forum

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา DOC Forum โดยคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้ผลิตสารคดีชาวไทยถึงพัฒนาการและเทรนด์ของการผลิตงานสารคดีในไทย ณ ห้องออดิทอเรียม ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมพูดคุยโดยภาณุ อารี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนลและผู้กำกับสารคดีขนาดสั้นและยาวหลายเรื่อง และสมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี “หมอนรถไฟ” ดำเนินรายการโดย ญาณิน พงศ์สุวรรณ

สารคดีหมายถึงอะไร


ภาณุ: ถ้าจะให้สรุปเป็นเรื่องที่ยาก ในความคิดผมคือบทบันทึกความจริงที่ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยวิธีการตรงไปตรงมาหรืออาศัยเทคนิคการเล่าเรื่องแบบหนัง นำเสนอหลายรูปแบบ แต่โดยพื้นฐานคือความจริง ซึ่งความจริงนี้บริสุทธิ์แค่ไหนต้องมาพูดอีกที

สมพจน์: ตอบยากมากๆ ทุกวันนี้ความเป็นไปได้มันเยอะมาก เรามองกว้างมาก จึงมองว่าอะไรก็เป็นสารคดีเป็นศิลปะได้หมด อ.ที่เคยสอนก็มองว่าหนัง fiction ก็เป็นสารคดี เพราะมันคือการบันทึกการแสดงเรื่องที่จำลองขึ้นมา

คำว่า “สารคดี” จำเป็นต้องมีสาระรึเปล่า

ภาณุ: ประเด็นคือตัวเนื้อหา วิธีการนำเสนอมันเปลี่ยนแปลงไปมาก สารคดีบางเรื่องเป็นการบันทึกความเป็นมาเป็นไปวัฒนธรรมของสังคม สารคดีเกี่ยวกับลิตเติ้ลโพนี่ (Bronies, 2012) เล่าว่าทำไมคนอเมริกันชอบตัวการ์ตูนตัวนี้ วิธีการนำเสนอมันแค่การมีกล้องไปบันทึกเฉยๆ เราอาจสนุกกับพฤติกรรมซับเจคในหนัง คำว่าสาระอาจแทนว่าเราได้เรียนรู้อะไร และมันเปิดโลกทัศน์กับเรา

สมพจน์: คำว่าสาระเอาไปตีความได้อีกว่าแค่ไหนคือสาระ documentary documentation มันต่างยังไง เช่น หมาวิ่งเฉยๆ เป็นอะไร เราไม่ได้มองว่าสารคดีต้องมีสาระ แค่การบันทึกก็เป็นสาระได้แล้ว อย่างย้อนไปหกสิบปีมีคนมาบันทึกภาพในเมืองไทย พอเราดูในตอนนี้ก็จะรู้สึกมีคุณค่าบางอย่าง อาจดูเหมือนไม่มีคุณค่าในตอนนั้นแต่ถึงจุดหนึ่งมันจะมีคุณค่าบางอย่าง

ภาณุ อารี (ภาพจากเพจ DOC Forum)

เพราะอะไรถึงสนใจทำสารคดี

ภาณุ: ผมอยู่ในยุคที่เป็นยุคปลายของการใช้ฟิล์ม ถ้าฟิล์มยังนิยมผมคงไม่มีโอกาสได้ถ่าย เพราะฟิล์ม 16 มม. ราคาแพง ขั้นตอนยุ่งยาก ผมอยู่ในยุคกล้องซุปเปอร์ 8 (กล้องฟิล์ม 8 มม. ซึ่งมีขนาดเล็ก พกพาสะดวก) และคนที่มีอิทธิพลมากคือ คุณเจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) มีโอกาสได้ดูหนังที่พี่เจ้ยทำแล้วเปิดโลกเรามาก มันเปลี่ยนโลกทัศน์เราเลย เพราะเมื่อก่อนเราติดภาพสารคดีตามทีวี เราตีค่าสารคดีไว้สูงส่งมากๆ เราเคยดูแค่สารคดีเรื่องของธรรมชาติ โลก วัฒนธรรม แต่หนังของพี่เจ้ยเป็นเรื่องส่วนตัว พ่อแม่พี่น้อง ความทรงจำ เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ เป็นงานที่ผสมระหว่างความเป็นหนังทดลองและสารคดี งานพี่เจ้ยพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นงานที่ใครก็ทำได้ เพียงแต่เราจะพลิกมุมไหน

เช่น หนังสั้นที่ชื่อเรื่องเป็นเบอร์โทรศัพท์ยาวๆ (0016643225059, 1994) พี่เจ้ยบันทึกบทสนทนาระหว่างเขากับแม่ช่วงที่เขาเรียนอยู่ที่อเมริกา คุยกันมีสาระบ้างไม่มีสาระบ้าง แต่วิธีที่เขานำเสนอมีความแหวกแนว เราจึงรู้สึกว่าสารคดีไม่ต้องยึดฟอร์ม ไม่ต้องเขียนเสียงบรรยายภาพไปพร้อมกับภาพแบบที่เคยเรียน

ตอนเด็กที่บ้านชอบถ่ายหนัง 8 มม. บังเอิญมีหนังชุดหนึ่งถ่ายตอนเป็นเด็กแล้วไปเที่ยวแดนเนรมิต ปี 2000 แดนเนรมิตปิดตัว เลยคุยกับพี่เจ้ย เขาบอกว่าทำไมไม่เอาภาพฟุตเทจนี้มาทำ แล้วลองไปสัมภาษณ์คนนู้นคนนี้ เพราะตอนนั้นเราอายุ 4-5 ขวบ เราจำอะไรไม่ได้เลย ก็เลยต้องไปตามหาความทรงจำ สัมภาษณ์ผู้คน ลองเอาภาพที่มีอยู่มาผสมกัน พอทำแล้วรู้สึกมาถูกทาง ไม่จำเป็นต้องไปค้นคว้าอะไรมากมาย สมัยนั้นกล้อง ที่อัดเสียงก็ดีขึ้น สะดวกแก่การพกพา รู้สึกค้นพบทาง ออกมาเป็นหนังสารคดีเรื่อง “แดนเนรมิต”


สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ (ภาพจากเพจ DOC Forum)

สมพจน์: ตอนปริญญาตรีไม่ได้เรียนด้านหนัง แม่กับพ่อเป็นคนพาเข้าไปดูหนังตั้งแต่เด็ก จริงๆ อยากเป็นอนิเมเตอร์ เรียนสถาปัตย์จบแล้วก็ไม่อยากทำด้านนี้ มีกล้องวิดีโอตัวหนึ่ง ไปดูตามเทศกาลมูลนิธิหนังไทย ก็มีเรื่องแปลกๆ เราเลยทำหนังโดยถ่ายเพื่อนคนหนึ่งบ่นๆไปเรื่อยๆ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เทรนด์ของคนสมัยนั้น ฯลฯ เขาบ่นไปสักพักเสียงเขาก็เฟดไป กลายเป็นเสียงเราวิจารณ์เขาอีกที ทำเสร็จตัดเสร็จในวันเดียว แล้วก็ส่งมูลนิธิฯ ซึ่งก็ไม่ได้เข้ารอบอะไรหรอก

จากนั้นก็ไปฝึกงานกับพี่เจ้ย ได้ดูหนังพี่เจ้ยก็รู้ว่าความเป็นไปได้มันอะไรอีกเยอะมาก เลยอยากทำหนังที่จริงจังมากขึ้น ตอนนั้นมูลนิธิฯ มีโครงการทำหนังสั้นเรื่อง “ลอยฟ้า” ตีโจทย์ยังไงก็ได้ เพื่อนในกองถ่ายยืมกล้องไปถ่ายงานบุญบั้งไฟที่บ้านของเขาจังหวัดสุรินทร์ เราจึงขอฟุตเทจของเขามาทำเป็นหนังเรา แลกกับว่าเราจะตัดหนังให้เขาอีกเรื่องหนึ่งโดยใช้ฟุตเทจเดียวกันที่มี มันจึงเป็นหนังเราที่เราไม่ได้ถ่ายเอง แบ่งเป็นสองท่อนคล้ายกับหนังพี่เจ้ยในยุคนั้นเลย ครึ่งแรกพูดเรื่องการเดินทางไปอวกาศ กับฟุตเทจภาพคนมองฟ้า เราตัดภาพบั้งไฟออกทั้งหมด ท่อนสองพูดเรื่องวิถีชาวบ้านไม่มีการบรรยายแต่เป็น text วิ่งบนจอ คล้ายรายงานข่าว เราพยายามเล่นฟอร์มของความเป็นหนัง มันมีความเป็นสารคดี และการรายงานข่าว ย้อนแย้งระหว่างอนาคต ความก้าวหน้า และ อดีต วัฒนธรรมดั้งเดิม จึงอาจเป็นสารคดีทดลองในแง่ที่มันบันทึกชีวิตจริง แต่ขณะเดียวกันก็มีฟอร์มอย่างอื่นที่ไม่เชิง fiction แต่ก็ไม่ใช่สารคดีทั่วไป ออกมามันก็ประสบความสำเร็จ ได้ไปเทศกาลต่างๆ หลังจากนั้นก็ทำสารคดีเชิงทดลองมาตลอด
การเกิดสารคดีที่ผสมเรื่องแต่ง งานสารคดีไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการเล่าตรงไปตรงมา สามารถพลิกแพลงได้ การพลิกแพลงมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

สมพจน์: การมี fiction มาอยู่ในสารคดีจริงๆ เป็นขนบที่ทำมานานแล้ว อย่างการเป็นละครจำลองเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเพราะไปถ่ายเหตุการณ์จริงไม่ได้ สารคดีเป็นภาพยนตร์อย่างหนึ่งเหมือนกัน มีศาสตร์การตัดต่อ ผสมเสียง มีการจัดวาง หนังเป็นความจริงล้วนๆ ไม่ได้อยู่แล้ว

เราไม่ได้เป็นนักข่าวที่ต้องนำเสนอความจริงทั้งหมด หลายคนก็พูดว่าความจริงมันมีหลายชุดอยู่แล้ว การทำสารคดีของเราจึงเป็นการถ่ายทอดความจริงในแบบของเรา แบบที่เราอยากสื่อสาร ดีหรือไม่ดีอาจเกี่ยวกับการเปิดพื้นที่ทางความคิด ความจริงไม่ได้มีชุดเดียว

แต่มันนำไปสู่คำถามว่าภาพข่าว เป็นสารคดีได้มั้ย แต่เราคงไม่นำภาพข่าวไปทำให้มัน abstract ถ้าเราเป็นนักข่าว แต่สารคดีเหมือนทำให้เราค้นหาตัวเองได้มากขึ้น

ภาณุ: อาจมีเส้นแบ่งระหว่าง fiction กับ non-fiction แต่ทุกวันนี้เส้นนี้มันบางลง แต่สุดท้ายตัวหนังจะบอกได้เองว่าน้ำหนักของมันไปอยู่ตรงไหน เช่น #BKKY (นนทวัฒน์ นำเบญจพล, 2016) การนำเรื่องสัมภาษณ์มาแต่งใหม่ มีนักแสดงมาแสดง ก็ยังอาจเป็นสารคดี แต่ก็มีหนังที่เห็นว่าการถ่ายแบบสารคดีอาจทำให้มีพลัง เช่น เปรตเดินดิน (Cannibal Holocaust, 1980) ตอนหนังเปิดตัวคนก็เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่สุดท้ายคือเทคนิคอย่างหนึ่ง

ตรงข้ามกับหนังปัจจุบันเช่น Cartel Land (2015) ที่เกี่ยวกับเรื่องค้ายา มันสนุกเหมือนเป็นหนังจริงๆ เลย คนทำอาจมองว่าวิธีเล่าแบบนี้มันอาจได้กลุ่มผู้ชมกว้างกว่า สนุกกว่า

ผมรู้สึกว่าถ้ามองในมุมหนึ่งมันคงมีเส้นแบ่ง แต่ในความคลุมเครือของเส้นแบ่งก็คงเป็นเรื่องความสนุกของคนดูและคนทำ คนดูหลอกคนทำสำเร็จ คนทำจับไต๋คนดูได้

สมพจน์: อยากเสริมว่าเทศกาลสารคดีเดี๋ยวนี้ไม่แบ่งอีกต่อไปแล้วว่าอันไหนคือสารคดีหรือเรื่องแต่ง อย่าง True/False Film Festival ชื่อเทศกาลก็บอกอยู่แล้วว่าอะไรจริงอะไรไม่จริงมันแยกยาก เช่น หนังที่เราชอบมากในเทศกาล เราพบว่ามันไม่ได้เป็นสารคดีเลย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องหนึ่งตามถ่ายครอบครัวครอบครัวหนึ่งอยู่แต่ในบ้านแคบๆ เรื่องราวเข้มข้นดุเดือดมาก ลูกทะเลาะกัน แม่ร้องไห้ เรารู้สึกสุดยอดมาก ถ่ายได้ยังไง ตัวละครไม่ aware กล้องเลย แล้วพอมาคุยกับโปรแกรมเมอร์ เขาบอกว่าผู้กำกับ manipulate เหตุการณ์ทั้งหมดเลย เช่น ให้คุยเสียงดังขึ้น หรือบอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้สิ ไม่แน่ใจว่าดีกรีถึงตรงไหนแต่การมีผู้กำกับในบ้านหลังนั้นมีผลมากทำให้ตัวละครแสดงออกแบบนี้ เราไม่แน่ใจว่าเราชอบหนังน้อยลงไหม แต่เราได้ตั้งคำถามกับความเป็นสารคดีมากขึ้น

อีกเรื่องจิตแพทย์คุยกับแม่กับลูก ทุกคนเปิดใจ เข้มข้นมาก ตอนจบขึ้นว่าเนื่องจากเป็นเหตุผลทางศีลธรรม เราไม่สามารถถ่ายการบำบัดจริงๆ ได้ ทั้งหมดคือการแสดง แต่เราคิดว่าทุกอย่างมันจริงมาก จนเรามานั่งคิดว่าที่ขึ้นว่าเป็นการแสดงจริงๆ โกหกเรารึเปล่า เขาพยายามปิดบังเพื่อป้องกันซับเจคหรือเปล่า

สมัยก่อนอุปกรณ์มันใหญ่มาก ต้องมีอุปกรณ์บันทึกเสียงอีก แต่พอการมาถึงของกล้องฟิล์ม 16 มม. กล้องมันเล็ก เราเริ่มเข้าไปถ่ายที่ไหนก็ได้ ยุคนั้นก็มีคนที่เชื่อว่ากล้องนี่แหละทำให้ความจริงเปิดเผยขึ้น คนไม่เปิดเผยตัวตน แต่การมีอยู่ของกล้องทำให้คนเปิดเผย แสดงออกมากขึ้น แต่พอมายุคนี้คนรู้จักกล้องมากขึ้น เล่นกับกล้องได้มากขึ้น คนเริ่มรู้ว่ามีการเปิดเผยตัวตนผ่านกล้องเป็นอย่างไร รู้ว่าจะวางตำแหน่งตัวเองต่อหน้ากล้องอย่างไร เปิดเผยตรงไหนไม่เปิดเผยตรงไหน

อุปกรณ์การถ่ายทำมีผลต่อผลงานที่ทำหรือไม่ มีผลต่อแนวทางหนังหรือเปล่า

ภาณุ: อุปกรณ์มีผล แต่ที่สำคัญกว่าคือวิธีคิด เช่น เหตุการณ์พฤษภา 53 เราจะพบว่ามีฟุตเทจมากมายในเน็ต อาจจะไม่ต้องถ่ายเองก็ได้ เป็นยุคที่กล้องย่อขนาดเข้าไปอยู่ในมือถือ ทุกคนสามารถถ่ายได้หมด เราเห็นตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของเหตุการณ์ ถ้าเราเล่าดีๆ อาจจะได้มุมมองที่น่าสนใจ อุปกรณ์กล้องอาจไม่ต้องดีที่สุดก็ได้

ขณะเดียวกันสารคดีบางประเภทกล้องดีก็อาจนำเป็น เช่น หนังของอุรุพงษ์ (อุรุพงษ์ รักษาสัตย์) ซึ่งต้องสวยงาม ขึ้นอยู่กับประเภทที่เราจะเล่า ที่สำคัญคือความคิดเราจะเล่าอะไร ช่องทางสารคดีมันไปได้ไกล การได้ดูเยอะๆ ช่วยสร้างความกระจ่างให้ความคิดเรา

สมพจน์: หมอนรถไฟถ่ายด้วยกล้อง Mini DV Canon XL2 เห็นได้ชัดว่าคุณภาพของภาพสู้ HD ไม่ได้ ตอนนั้นเราถอดใจว่ามันคงเป็นหนังโบราณๆ แต่ตอนนี้กลับชอบที่นอกจากบันทึกรถไฟโบราณๆ แล้วภาพก็ยังอยู่ในยุคสมัยนั้น

สมัยนี้เทคโนโลยีเข้าถึงมือคนได้มากขึ้น กล้องไม่แพงมากก็มีภาพและเสียงที่มีคุณภาพ ทำให้ชนชั้นไหนก็เล่าเรื่องของตัวเองได้ดีมากขึ้น สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ได้มากขึ้น ยุคที่สารคดีไม่ได้อยู่ในรูปแบบหนังหรือรายการทีวี กลายเป็นทุกคนอยากถ่ายอะไรก็ถ่ายได้

โกโปร โดรน มันทำให้เราเห็นภาพในมุมมองใหม่ๆ เช่น มีการเอากล้องไปติดหัวเหยี่ยว ภาพที่ได้ก็จะแปลกตาเป็นมุมมองที่มนุษย์ไม่เคยเห็นถ้าไม่มีเทคโนโลยีแบบนี้

ภาณุ: แต่ผมยังคิดว่าการเล่า การนำเสนอ จะได้รับการยอมรับและพูดถึงหรือไม่ คนดูก็ตัดสินได้ บางทีไวรัลก็อาจดีก็ได้ แต่สุดท้ายคนดูจะบอกได้เองว่างานประเภทไหนที่ทรงพลัง หรืองานที่ดูจบตื่นเต้นแล้วสุดท้ายคนก็ลืมมันไป


ญาณิน พงศ์สุวรรณ (ภาพจากเพจ DOC Forum)

สุดท้ายคนดูจะแยกเรื่องจริงออกจากเรื่องไม่จริงอย่างไร เช่น ไวรัลต่างๆ

สมพจน์: สุดท้ายเราว่ามันก็ต้องแยก แต่ก็ยากที่จะบอกว่าอะไรจริงไม่จริง แต่อย่างเราไม่เคยเชื่อไวรัลพวกนี้เลย อาจเพราะเราเรียนภาพยนตร์มา เราจะมีเซ้นส์ว่า ทำไมเสียงดีกว่าปกติ อัดเสียงยังไง หรือการแสดงอันนี้ไม่เนียน แต่แน่นอนเราไม่สามารถเชื่อตัวเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราห้ามเทรนด์นี้ไม่ได้ สุดท้ายเทคโนโลยีก็ดีขึ้นเรื่อยๆ คนดูก็จะถูกหลอกได้มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นคนต้องตระหนักว่าไม่สามารถเชื่ออะไรได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อีกแล้ว

อย่างสำนักข่าว CNN เขาเครียดมากเวลามีคนส่งคลิปข่าวมา เพราะเขาไม่สามารถยืนยันได้เลยว่าจริงไม่จริง เขาต้องพิสูจน์อย่างหนัก เขามีสำนักงานตรวจสอบคลิปพวกนี้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่เขาก็บอกว่าตรวจจับได้ในระดับหนึ่ง อย่างเก่งก็ 30-40 เปอร์เซ็นต์ จึงอาจบอกได้ว่าเราอยู่ในยุคที่ไม่สามารถเชื่ออะไรแล้วว่าจริงหรือไม่จริง

หรือ Adobe เพิ่งออกโปรแกรมใหม่ ที่วิเคราะห์วิธีการเปล่งเสียง น้ำเสียง ยิ่งมีข้อมูลวิเคราะห์มากโปรแกรมก็ยิ่งแม่นยำ คุณสามารถพิมพ์ประโยคอะไรก็ได้ แล้วโปรแกรมก็จะพูดออกมาเป็นเสียงคนคนนั้น ประโยชน์ก็คือใช้งานในภาพยนตร์ คือการพากย์เสียงใหม่ ADR (Automated Dialogue Replace) โดยไม่ต้องเรียกนักแสดงตัวจริงซึ่งอาจค่าตัวแพงมาอัดเสียงใหม่ แต่ก็อาจมีความอันตรายที่จะเกิดขึ้น เช่น หากมีกรณีขึ้นโรงขึ้นศาลฟ้องร้องเรื่องการพูด คนอาจเคลมได้ว่า ไม่ได้พูด นี้เฟค ใช้โปรแกรม

ภาณุ: ผมมองว่าถ้าเรารู้แล้วว่านี่คือปัญหา มันอาจเป็นความสนุกที่จะค้นหาว่ามันคือความจริงหรือไม่จริง เช่น เราดูหนังเรื่องหนึ่งไม่แน่ใจว่าเรื่องจริงไหม เราก็ไปค้นคว้าดู เราก็ได้ความรู้

แต่ผมว่ามันก็เป็นความน่ากลัว เส้นระหว่างความจริงไม่จริงมันอาจกลายเป็นเส้นเสมือน สุดท้ายแล้วอาจไม่มี แต่เราก็ต้องหาแว่นขยายมาดูเพราะสุดท้ายผมเชื่อว่ามันก็มีความจริงไม่จริงอยู่ บางทีคนทำหนังก็อาจต้องมาเรียนรู้เรื่องจริยธรรม อันไหนควรทำไม่ทำ มันไม่ผิดแต่คนดูต้องตระหนัก ถ้าเขาไม่อยากเป็นเครื่องมือเขาก็ต้องมีการสืบค้น เรียนรู้ว่าความจริงคืออะไร

เรื่องจริยธรรม ทุกคนที่ถูกเราถ่ายต้องยินยอมไหม

ภาณุ: ต้องแบ่ง ถ้าเป็นซับเจคหลักก็ต้องมีการพูดคุยกับเขา ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าหาเขาอย่างไร หลอกเขามั้ย ถ้าเป็นส่วนเล็กๆ ที่กล้องแพนไปคงไม่จำเป็นต้องขออนุญาต

คนทำหนังต้องให้เกียรติให้ความเคารพต่อซับเจคด้วย เช่น เคยไปถ่ายหญิงมุสลิม มีอากัปกิริยาบางอย่างที่อาจไม่เหมาะกับความเป็นมุสลิม เราก็เอาไปให้เขาดู เขาโอเคให้ฉายได้ แต่พอฉายกลับโดนโจมตีจากกลุ่มมุสลิมที่เคร่ง เราจึงอาจต้องดูว่าฉายได้ที่ไหนบ้าง สุดท้ายต้องต่อรองกับตัวซับเจค เราเลือกทำสารคดีซับเจคก็เสี่ยงกับเราด้วย เช่น เรื่องการเมือง เราอาจได้หนังที่พูดแรงพูดตรง แต่ผลกระทบก็ต้องคำนึงด้วย

สมพจน์: ตอนถ่ายหมอนรถไฟ คำว่าจริยธรรมก็อยู่ในหัวตลอดเวลา หมอนรถไฟไม่ได้ตามตัวละครตัวไหนเป็นพิเศษ ทุกวันที่ไปถ่ายก็เจอคนแปลกหน้าตลอดเวลา เราต้องถามตัวเองตลอดตอนถ่าย ตอนตัด เราเลือกภาพที่รู้สึกโอเค ไม่ไปเสนอภาพที่เขาไม่ดีเกินไป แต่หนึ่งคือกล้องเราใหญ่ทุกคนรู้ เวลาหันหน้ากล้องไปทุกคนต้องรู้อยู่แล้ว เราจึงถือว่านั่นเป็นการขออนุญาตกลายๆ (หัวเราะ) สองคือเราพยายามไปขอชื่อทุกคนมาใส่ในเครดิต แต่สุดท้ายตัดต่อออกมาชื่อที่อยู่เครดิตก็อาจมีหรือไม่มีในหนัง

เราคิดว่าหนังเรื่องนี้ถ้าไปถ่ายในยุโรปคนยุโปต้องโวยวายแน่ๆ คนเอเชียเปิดกว้างในเรื่องนี้มากกว่า มีบางประเทศที่คุณอยู่ในพื้นที่สาธารณะคุณสามารถถูกถ่ายได้ไม่ผิดกฎหมาย หรือมันมีหนังบางเรื่องที่ไปถ่ายคนที่ชั่วร้ายมาก พอหนังฉายเขาฆ่าตัวตาย ไม่รู้เพราะแรงกดดันเกี่ยวกับหนังรึเปล่า หรือเรื่อง The Act of Killing (2012) ที่ตามถ่ายคนที่ฆ่าล้างคอมมิวนิสต์ในอินโดนิเซีย บางทีอาจเหมือนการไปถ่ายความชั่วร้ายของเขา บางครั้งมันอาจทำให้หนังกลายเป็นศาลเตี้ยรึเปล่า ซึ่งส่วนตัวเราดูหนังพวกนี้ได้ แต่ให้ทำคงทำไม่ได้

ข้อแนะนำ

ภาณุ: เมื่อก่อนเคยเชื่อว่าสารคดีไม่ต้องวางแผน แต่ถึงเวลาจริงๆ ยิ่งเราไม่วางแผนปัญหาจะมาอยู่ในตอนท้าย ยิ่งเรามีตัวเลือกเยอะความปวดหัวก็ยิ่งเยอะ ทำให้ยิ่งเกิดความขัดแย้ง การวางแผนคือเราอยากเห็นอะไรอยู่ในสารคดีนั้นบ้าง แล้วเราค่อยเดินไปถ่าย เช่น รู้ว่าวันนี้ต้องไปถ่ายอะไร เราก็ต้องนั่งลิสต์ว่าอยากเห็นภาพไหนบ้าง แต่พอไปถ่ายในสถานการณ์จริงมันอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิด แต่เรากำหนดได้คร่าวๆ ว่าจะโฟกัสที่ไหน ข้อดีคือไม่ต้องถ่ายเยอะ แต่รู้ว่าจะถ่ายอะไร ประหยัดงบมากขึ้น รู้ว่าเราจะเริ่มต้นและจบอย่างไร เขียนบทไว้ก่อนอาจไม่ใช่เรื่องผิด สมมติฐานอาจต้องตั้งไว้ก่อน การถ่ายไปก่อนแล้วค่อยไปตัดทีหลัง ถึงตอนนี้ผมว่าไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง

สมพจน์: การวางแผนสำคัญมาก แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะถ่ายทอดอะไร อย่างไรด้วย เช่น ทำสารคดีขอทุน ทุนบอกให้เขียนบทมาให้ดู สิ่งที่นักทำสารคดีจะทำคือจินตนาการเอาว่าซับเจคจะทำอะไรบ้าง เหมือนแต่ง fiction ขึ้นมา สำหรับเรามันประหลาดมาก

อย่างหมอนรถไฟมันทำอย่างนั้นไม่ได้ เราไม่ได้ตามตัวละครไหนเป็นพิเศษ สิ่งที่เกิดขึ้นคือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ มาประกอบกัน เราเดาไม่ได้ว่าเขาจะทำอะไรเมื่อไหร่ อาจใช้แค่สิบวินาทีจากที่ถ่ายเขา 10-20 นาที สิ่งที่ทำได้คือ ดูว่าหนังขาดอะไร แล้วเราก็รู้สึกหนังยังขาดนักเรียน นักท่องเที่ยว เด็ก อยู่นะ เราไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไรน่าสนใจตอนไหน เลยต้องถ่ายทิ้งไปเรื่อยๆ จึงเป็นปัญหา ใช้เวลามากในการตัดต่อ

จริงๆ ไม่แนะนำในการทำอย่างนี้ เพราะมันเหนื่อย การวางแผนมันช่วยได้เยอะ แต่บางครั้งก็ต้องอิมโพรไวซ์ แต่การมีอะไรให้เกาะเราก็จะไม่หลง ถ้ายึดการทำหนังสารคดีเป็นอาชีพมันจะมาล่องลอยแบบเราไม่ได้

แนวสารคดีไทยเพิ่มเติมที่อยากเห็น

ภาณุ: สารคดีที่พูดถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ไม่ไกลมาก มีวัตถุดิบมากพอที่จะเอามาเล่า และยังไม่ถูกแต่งเติม น่าสนใจที่เอามาเล่าในมุมคนรุ่นใหม่ อีกประเภทคือสารคดีที่สามารถเชื่อมโยงโลกได้ ในเชิงพาณิชย์มันอาจขายได้ สารคดีอาจอยู่ได้นานกว่าหนัง fiction อีก ยุค Netflix หนังขนาดกลางหายไป แต่สารคดียังมีที่ทางของมัน เช่น สารคดีอาหารที่ดูแล้วสนุก เช่น Jiro Dreams of Sushi (2011) Tsukiji Wonderland (2016) หรือสารคดีดนตรี สารคดีที่พูดถึงวัฒนธรรมร่วมสมัย ไม่อยู่ในกรอบเดิม ถ้าบ้านเรามีอาจทำให้วงการมันคึกคัก รวมถึงตลาดโลก

สมพจน์: วงการหนังไทยมันมีแบบตลาดไปเลย กับศิลปะไปเลย อาจขาดสิ่งที่อยู่กึ่งกลาง สารคดีที่สนุกเข้าถึงแมสแต่ก็มีคุณค่าทางศิลปะ เรายังไม่มีคนทำสารคดีที่มาในเชิงวิชาการ เจอนัลลิสต์ สารคดีเมืองนอกมีเชิง investigate หรือเชิงวิชาการอย่างหนัง essay film คนทำหนังไทยสนใจศิลปะมากกว่าวิชาการลึกๆ แต่ส่วนหนึ่งประเทศไทยก็อาจมีข้อจำกัดเยอะ เจอตอที่อาจไปต่อไม่ได้แล้ว เป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่อยากเห็น

หมอนรถไฟ (Railway Sleepers)

คือ ภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวเรื่องแรกของ สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ ใช้เวลาทำอยู่นานถึง 8 ปี ได้ฉายรอบเวิลด์ พรีเมียร์ที่ เทศกาลภาพยนตร์ปูซาน เมื่อปลายปี 2016 ตามมาด้วยการถูกคัดเลือกเข้าฉายในสายฟอรัม ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน 2017

เกี่ยวกับการทำเสียงในเรื่องหมอนรถไฟ

หมอนรถไฟถือเป็นหนังสารคดีที่ทำเรื่องเสียงค่อนข้างดีมาก สมพจน์เล่าว่าใช้ไมค์ช็อตกัน หรือบางทีให้ผู้ช่วยช่วยถือไมค์บูมที่ต่อกับหัวกล้องบ้าง เสียงที่ลมตีก็มีเยอะ เสียงที่โอเคก็มี แต่ขั้นโพสต์ใช้เวลาตัดต่อและปรับแต่งเรื่องเสียงนานมาก

ทำไมเลือกรถไฟ

สมพจน์เล่าว่า เกิดจากตอนไปเรียนอเมริกาต้องขึ้นรถไฟไปเรียน เราเห็นเด็กถามพ่อ เราฟังไม่รู้เรื่องแต่เข้าใจว่าเขาถามอะไร เด็กมีความซื่อในการถาม ส่วนรถไฟมันพาเราไปทุกที่ในประเทศไทย ไอเดียตอนแรกของหนังจะถ่ายสิบครอบครัว สลับกับภาพวิว พอมาถ่ายจริงก็รู้สึกมีอย่างอื่นน่าสนใจไม่ใช่แค่เด็ก และอาจารย์เราเคยบอกว่านักศึกษาข้อเสียคือไม่มีเงิน แต่ข้อดีคือมีเวลา

ซีนทดลองตอนท้าย

สมพจน์กล่าวว่า พยายามหาวิธีเล่าประวัติศาสตร์รถไฟไทย รู้สึกมันสำคัญแต่ไม่แน่ใจว่าจะเอาไปอยู่ในหนังอย่างไร เราไม่อยากให้เป็นสารคดีประเภทการรถไฟไทยเกิดขึ้นเมื่อไหร่แบบมีเสียงบรรยาย

ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดยวิศวกรอังกฤษที่ทำงานการรถไฟไทยมาตั้งแต่เริ่มต้น เล่าด้วยคนจริงๆ เราอยากเอาคนๆนี้เข้าไปอยู่ในรถไฟ วิธีการคือเราก็สร้างเขาขึ้นมา แต่เราเอาเขาไปรวมกับผู้โดยสารทั้งหมด และให้เขาพูดสิ่งที่เรารีเสิร์ชขึ้นมา อยากเล่นกับฟอร์มของความเป็นสารคดีเป็นความสนใจส่วนตัว การที่มันเป็นความฝันๆ หลอนมันเป็นประวัติศาตร์ในแง่มุมของเรา

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.