Posted: 26 Aug 2017 04:04 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ผู้นำแรงงาน-สภานายจ้างเห็นต่างปลดล็อก 39 อาชีพสงวน

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงแรงงานเตรียมปลดล็อกอาชีพสงวนของคนไทยให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ ว่า ขอให้คิดดีๆ เพราะไม่ใช่ว่าคนไทยไม่ทำงานแล้ว อย่างอาชีพก่อสร้าง ก่ออิฐ ฉาบปูนไม่ใช่ว่าคนไทยไม่ทำ เพียงแต่ค่าแรงที่ได้รับอยู่ตอนนี้ไม่พอสำหรับค่าครองชีพในเมืองไทย ถ้าปลดล็อกหมดอนาคตคนไทยจะทำอย่างไร นายจ้างก็คงคิดแต่จะเอาแรงงานต่างด้าวมาทำ ที่สำคัญ ถ้าสมมติมีการปลดล็อกแล้ว ต้องอย่าลืมว่าการก่ออิฐ ฉาบปูน นี่เป็นงานระดับฝีมือ การเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำตรงนี้ก็ต้องให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ ผ่านการรับรองการพัฒนาฝีมือด้วย ไม่ใช่ว่าเอาแรงงานต่างด้าวระดับไหนมาทำก็ได้ จะกลายเป็นว่าเอาคนที่ไม่มีฝีมือมาทำก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในเมืองไทย แล้วเรื่องคุณภาพจะว่าอย่างไร

“ต้องเข้าใจก่อนว่าเอาแรงงานมาในฐานะอะไร ต้องทำงานให้ตรงกับที่ขอเข้ามาทำงาน ขอโควตาอะไรมาก็ทำอันนั้น อย่างการขายของหน้าร้านทำกันเยอะ แรงงานเหล่านี้มาจากไหน บางคนมาจากการเป็นแรงงานประมงด้วยซ้ำ ดังนั้นรัฐต้องกำกับให้แรงงานทำงานตรงกับโควตา”

ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้าง กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่กระทรวงแรงงานจะปลดล็อก 39 อาชีพสงวนของคนไทยให้กับแรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ และควรทำมานานแล้ว เพราะกฎหมายเดิมมีการใช้มานานกว่า 40 ปี ไม่มีความทันสมัย อาชีพเหล่านี้คนไทยไม่ทำกันแล้ว ถ้าไม่แก้ไขก็จะกลายเป็นช่องให้เกิดการรีดไถในอนาคตได้ เพราะว่าตรวจไปตรงไหนก็เป็นแรงงานต่างด้าวหมด ส่วนตัวมองว่าควรปลดล็อคทั้ง 39 อาชีพ เขียนให้กว้างๆ ส่วนอาชีพไหนที่กระทรวงแรงงานยังมองว่าควรต้องสงวนก็ให้เขียนเป็นประกาศกระทรวงเอาไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการแก้ไขในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ปรากฏอยู่ในมาตรา 7 พูดง่ายๆ ว่าในบทบัญญัติโทษ 4-8 แสนบาท หรือโทษจำคุก นั้น ล้วนแต่อ้างอิงมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติเรื่องอาชีพสงวนสำหรับคนไทย แต่ พ.ร.ก.ฯ ไม่ได้ระบุว่าอาชีพอะไร และระหว่างรอกฎหมายลูกก็ให้ใช้กฎหมายเก่า ซึ่งอาชีพที่บัญญัติไว้เมื่อ 40 ปี คนไทยไม่ทำแล้ว ในขณะที่กฎหมายใหม่บัญญัติโทษสูง บอกว่าเมียนมาเป็นกรรมกรไม่ได้ ก่อสร้างไม่ได้ ประมงไม่ได้ต้องให้คนไทยทำเท่านั้น ซึ่งมันขัดกับข้อเท็จจริง ถ้าตำรวจจี้ที่ไหนก็เจอที่นั่น” นายธนิต กล่าว

ที่มา: เดลินิวส์, 21/8/2560

คนงานฟาร์อีสท์ปั่นทอจี้นายจ่ายเงินชดเชยตามคำสั่งศาล

(21 ส.ค.) สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า “บริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6” ตั้งอยู่ ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ได้เร่งให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานทั้ง 95 ราย รายละตั้งแต่ 27,000-99,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 3 จ.นครราชสีมา

หลังจากทางบริษัทได้เลิกจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม โดยการประกาศย้ายสถานประกอบกิจการไปอยู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาทำให้แรงงานไม่สามารถย้ายตามไปทำงานได้ ทั้งบีบบังคับทางอ้อมให้แรงงานเซ็นเอกสารสมัครใจลาออกจากงานเองเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งมีแรงงานกว่า 140 รายที่จำใจยอมเซ็นลาออกและรับเงินช่วยเหลือตามที่ทางบริษัทเสนอให้เพียงคนละ 10,000 บาท แต่มีแรงงานอีก 95 คนที่มองว่าการเลิกจ้างไม่มีความเป็นธรรม จึงร่วมกันยื่นฟ้องร้องต่อศาลแรงงานภาค 3 ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 2559

กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ศาลได้พิพากษาให้จำเลยหรือนายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานทั้ง 95 ราย แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมานานกว่า 1 เดือนแล้ว ทางบริษัทยังเพิกเฉยไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานตามคำพิพากษาศาลแต่อย่างใด และในวันนี้ตัวแทนแรงงานยังได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้ากรณีขอรับเงินการว่างงานที่สำนักงานประกันสังคม จ.บุรีรัมย์ พร้อมนำคำพิพากษาศาล และเอกสารที่เกี่ยวข้องเข้ายื่นต่อเจ้าหน้าที่ด้วย เนื่องจากประกันสังคมยังไม่สามารถจ่ายเงินกรณีว่างงานให้แรงงานได้ จนกว่าทางนายจ้างจะเซ็นเปลี่ยนแปลงในเอกสารจากลาออกเป็นเลิกจ้าง จึงจะสามารถจ่ายเงินได้

นางมล นาคนวน หนึ่งในตัวแทนแรงงาน บอกว่า หลังถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมก็สร้างความเดือดร้อนให้แรงงานเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากทางบริษัทตามกฎหมายแล้ว หลายคนต้องตกงานเพราะอายุมากแล้ว เมื่อถูกเลิกจ้างจะไปสมัครทำงานที่อื่นไม่มีใครรับ ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้ตามสิทธิรู้สึกดีใจและมีความหวังขึ้นมาบ้าง แต่ทางนายจ้างกลับเบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงินตามคำพิพากษาศาล

นายบุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากแรงงานถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและมีเจตนาไม่สุจริตตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 ก็ได้เข้ายื่นฟ้องร้องต่อศาลแรงงานภาค 3 จ.นครราชสีมา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย กระทั่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ หรือลูกจ้างตามสิทธิกรณีถูกเลิกจ้างทั้ง 95 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 6,808,000 บาท โดยศาลได้ออกคำบังคับเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 60 ให้นายจ้างปฏิบัติตามภายใน 15 วันนับแต่วันรับทราบบังคับ แต่ขณะนี้นายจ้างยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ทั้งที่หลังปิดกิจการนายจ้างได้มีการทยอยขายเครื่องจักรในหลายๆ จังหวัดแต่กลับไปจดทะเบียนเปิดกิจการใหม่ ซึ่งถือเป็นการหลบเลี่ยงไม่จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย

ด้านนายประถม วิสุทธิพรปิติกุล นักวิชาการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากที่ทางบริษัทได้ประกาศย้ายสถานประกอบการ ทำให้แรงงานกว่า 200 คนได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถย้ายไปทำงานกับนายจ้างได้ ทางประกันสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ส่วนกรณีเงินว่างงานที่ยังไม่สามารถจ่ายได้นั้นเพราะยังติดปัญหาเรื่องเอกสาร เนื่องจากนายจ้างยังไม่เซ็นเปลี่ยนแปลงในเอกสารจากลาออกเป็นการเลิกจ้าง ซึ่งทางประกันสังคมจะได้ทำหนังสือแจ้งนายจ้างตามขั้นตอนเป็นเวลา 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 45 วัน แต่หากนายจ้างยังไม่มาทางสำนักงานประกันสังคมก็จะดำเนินการแจ้งความเอาผิดตามขั้นตอนต่อไป

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21/8/2560

วอนช่วยเหลือแรงงานไทยป่วยหนักในเกาหลีใต้ จ.ตาก

นางเกสร แก้วบุญธรรม อายุ 41 ปี ชาวบ้านตำบลโป่งแดง อำเภอเมือง จังหวัดตาก วอนขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือ นายวิรัตน์ แก้วบุญธรรม อายุ 42 ปี สามีที่ไปทำงานอยู่ในโรงงานเล็ก ๆ ที่เมืองมกโพ ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อประมาณ 8 เดือนที่แล้ว แต่ประสบอุบัติเหตุลื่นล้มหมดสติ อาการสาหัส ในขณะทำงาน ตอนนี้เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ห้อง ICU ของโรงพยาบาลที่เกาหลีใต้ ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดมีค่ารักษาสูงถึง 4 แสนบาท และอาจต้องใช้เงินในการรักษาสูงถึง 1 ล้านบาท แต่ครอบครัวไม่มีเงินพอ อีกทั้งหากจะนำผู้ป่วยกลับมารักษาที่ประเทศไทย ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บทางสมอง แพทย์ไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้าย จึงอยากวิงวอนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเมตตาเข้าไปดูแลช่วยเหลือสามีที่นอนไม่รู้สึกตัวอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ ให้ได้รับการดูแลตามกระบวนการช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนด้วย ล่าสุดทางผู้ว่าราชการจังหวัดตาก รับปากจะประสานหน่วยงานหาทางเข้าช่วยเหลือ

ที่มา: ch7.com, 23/8/2560

ก.แรงงาน เล็งออกกฎหมายจ้างงาน “คนชรา” แบบรายชั่วโมง ช่วยผู้สูงอายุไม่พร้อมทำงานเต็มเวลา 8 ชั่วโมง รับค่าจ้างวันละ 300 บาท

ในเวทีเสวนา “ขยายอายุการจ้างงาน : คุณค่าต่อสังคมไทย” จัดโดยสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ผศ.ศุภชัย ศรีสุชาติ นักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การขยายการจ้างงานผู้สูงอายุจะมีต้นทุนสูงขึ้น จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี สร้างแรงจูงใจในการจ้างแรงงานผู้สูงอายุด้วย ส่วนสถานประกอบการต้องมาร่วมกันวางแผนหาแนวทางร่วมกันด้วย ต้องมีการประเมินว่า ตำแหน่งงานไหนที่ผู้สูงอายุทำได้ และสามารถปรับตัวใช้เทคโนโลยีได้ด้วย อย่างอุตสาหกรรมภาคบริการ ผู้สูงอายุน่าจะอยู่ได้ เพราะมีการพัฒนาศักยภาพอยู่เรื่อยๆ แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มที่ใช้แรงงานมาอย่างเข้มข้น จนกำลังหมดเมื่ออายุมากขึ้น อย่างกลุ่มเกษตร ประมง หรือการแกะเปลือกกุ้ง ผู้สูงอายุไม่สามารถทำได้แล้ว ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์แล้ว

นายมาโนชญ์ แสงแก้ว ผู้อำนวยการกองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่กำหนดไว้ หากสถานประกอบการไม่มีกฎกติกากำหนดอายุเกษียณไว้ ก็ให้กำหนดไว้ที่อายุ 60 ปี ซึ่งตรงนี้จะเป็นการกำหนดค่าชดเชยก่อนอายุ 60 ปี หากเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดก็จะได้เงินชดเชย ส่วนการส่งเสริมให้มีการจ้างผู้สูงอายุมากขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่า ผู้สูงอายุบางคนทำงานเต็มศักยภาพ แต่กฎหมายปัจจุบันกำหนดแค่วันละ 300 บาท จึงเปิดโอกาสให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณางานในบางประเภท คือ ผู้สูงอายุ หรือเด็กนักเรียนทำงานพาร์ทไทม์ ให้ทำงานรายชั่วโมงได้ ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ทางคณะกรรมการค่าจ้างก็จะไปศึกษารายละเอียดต่อ ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งกรณีผู้สูงอายุที่ไม่พร้อมทำงานเต็ม 8 ชั่วโมง ก็ทำรายชั่วโมงได้ และยังมีมาตรการทางภาษีให้ได้อีกประมาณ 200 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งจะมีการทำคลังข้อมูลรวบรวมไว้ว่า สถานประกอบการใดต้องการแรงงานผู้สูงอายุ ประเภทงานใดบ้าง ก็จะมีจัดไว้ที่สมาร์ทจ็อบเซนเตอร์ ที่กระทรวงแรงงานด้วย สำหรับระบบสวัสดิการที่เหมือนกันหมดในทุกเจนอาจมีปัญหา เพราะคนแต่ละเจนต้องการสวัสดิการต่างกัน อาจต้องมีการจัดสวัสดิการที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานพยายามพูดคุยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

นายวิชิต วรรณศร ผู้แทนบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บริษัทไม่ได้ออกนโยบายว่าเกษียณแล้วต้องจ้างต่อทันที แต่เปิดโอกาสคนเกษียณหลังอายุ 55 ปีให้สมัครเข้ามาได้ ซึ่งก็สามารถเอาเงินเกษียณก่อนได้ และสมัครใหม่ได้ตามที่บริษัทเปิด ซึ่งหากเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ต้องมีการผ่านการพิจารณา มีคณะกรรมการในการคัดเลือก ขณะเดียวกันทุกตำแหน่งที่ยังสามารถทำงาน และบริษัทยังจ้างอยู่ก็เปิดให้สมัครเช่นกัน ส่วนเงื่อนไขค่าตอบแทน หากยังทำงานตรงนั้นได้ตามที่บริษัทคาดหวังไว้ เงินเดือน สวัสดิการก็เหมือนเดิม แต่หากเงินเดือนไม่เหมือนเดิม แสดงว่าไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมแล้ว

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22/8/2560

คนไทยออมเงินเพื่อเกษียณลดลง

แบงก์ชาติเปิดผลสำรวจพบคนไทยเข้าถึงบริการทาง การเงินเพิ่มขึ้น แต่ยังมีถึง 11% ที่เลือกไม่ใช้บริการทางการเงิน ส่วนใหญ่รายได้ต่ำ ขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่กล้าไปติดต่อ กลัวถูกปฏิเสธ นอกจากนี้ ผลจากเศรษฐกิจซบทำให้คนส่วนหนึ่งไม่ฝากเงิน ที่สำคัญยังพบว่าคนไทยวางแผนออมเงินเพื่อเกษียณลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 56 ขณะที่ผลจากมาตรการรัฐทำให้คนไทยก่อหนี้ในระบบได้มากขึ้น จึงใช้บริการหนี้นอกระบบลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือนเป็นประจำทุก 3 ปี เพื่อประเมินและติดตามการเข้าถึงบริการการเงินของประชาชน เพื่อนำผลสำรวจมาประกอบการจัดทำนโยบาย โดยปี 59 ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นหัวหน้าครัวเรือนหรือตัวแทนครัวเรือนอายุ 15 ปีขึ้นไป 10,866 ครัวเรือน ในทุกภูมิภาคของประเทศใน 11 บริการ ได้แก่ 1.เงินฝาก และเงินออม 2.สินเชื่อ 3.การโอนเงิน 4.การชำระเงิน 5.บัตรเครดิต 6.ประกันชีวิต 7.ประกันวินาศภัย 8.กองทุนรวม 9.ตราสารการลงทุนภาครัฐ 10.ตราสารการลงทุนภาคเอกชน และ 11.การเล่นแชร์

ผลสำรวจปี 2559 พบว่า ครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มขึ้นอยู่ที่อัตรา 97.3% จาก 95.8% ในปี 56 และมีครัวเรือนที่ใช้บริการทางการเงินทั้งสิ้น 86.3% อย่างไรก็ตาม มีครัวเรือนที่เลือกจะไม่ใช้บริการทางการเงิน 11.0% ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่ใช้บริการ จะพบว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังเป็นช่องทางหลัก ขณะที่กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินอื่นๆเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันครัวเรือนใช้บริการจากผู้ให้บริการนอกระบบลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นผลจากการดำเนินนโยบายรัฐที่สนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการจากผู้ให้บริการในระบบและกึ่งในระบบ

สำหรับครัวเรือนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน มีสัดส่วนลดลงจาก 4.2% ในปี 56 ลงมาอยู่ที่ 2.7% ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดหรือรายได้ต่ำในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ยังพบว่าเพศชายและหญิงเข้าถึงบริการ ทางการเงินได้เท่าเทียมกันที่ 97% และ 97.6% ตามลำดับ โดยบริการทางการเงิน 3 ประเภทที่ใช้บริการมากที่สุดคือ โอนเงินและชำระเงิน รองลงมาเป็นเงินฝาก และสินเชื่อ

ทั้งนี้ หากพิจารณาแยกรายบริการจะพบว่า ครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 94.2%จาก 92.5%ในการสำรวจครั้งก่อน แต่สัดส่วนครัวเรือนที่เลือกจะไม่ใช้บริการเงินฝากเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ครัวเรือนมีฐานะการเงินและรายได้ไม่เพียงพอที่จะออมเงิน ขณะที่มีการเข้าถึงบริการสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 94.1% จาก 93.4% โดยส่วนใหญ่ใช้บริการกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้บริการกึ่งในระบบ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ส่วนบริการโอนเงินและชำระเงินสามารถเข้าถึงบริการเพิ่มเป็น 98.6% จาก 96.9%

สำหรับช่องทางการใช้บริการทางการเงินพบว่า สาขาธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และตู้เอทีเอ็มยังคงเป็นช่องทางที่ครัวเรือนใช้บริการมากที่สุด อย่างไรก็ดี พบว่าครัวเรือนใช้บริการโอนเงินและชำระเงินผ่านร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เกตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีการใช้บริการผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นและอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่พอใจกับช่องทางปัจจุบัน แต่บางส่วนยังต้องการเพิ่ม โดยครัวเรือนในเขตเมืองต้องการสาขาและตู้เอทีเอ็ม ขณะที่ครัวเรือนนอกเขตเมืองต้องการให้มีตัวแทนของสถาบันการเงินให้บริการนอกสถานที่

การสำรวจยังพบว่า ครัวเรือนมีปัญหาการใช้บริการทางการเงินลดลงเมื่อเทียบกับปี 56 ปัญหาส่วนใหญ่ คือ ไม่พึงพอใจในบริการของสถาบันการเงิน เช่น รอคิวนาน พนักงานไม่สุภาพ และขายผลิตภัณฑ์พ่วง ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่เหมาะสม พนักงานให้ข้อมูลไม่เพียงพอ

ส่วนปัญหาที่พบว่ายังมีครัวเรือนที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือเลือกจะไม่ใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้น ส่วนใหญ่มีฐานะการเงินไม่ดีหรือรายได้ไม่เพียงพอ ขาดความรู้ความเข้าใจในบริการ ไม่กล้าไปติดต่อเพราะกลัวถูกปฏิเสธ และไม่สะดวกเดินทางไปใช้บริการ ทั้งนี้ หากพิจารณาพฤติกรรมการออมของภาคครัวเรือน พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ออมเงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน เจ็บป่วยหรือใช้ในยามเกษียณ และบริหารรายรับ-รายจ่าย โดยฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อออมเงินเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนมีการวางแผนและเริ่มออมเงินเพื่อยามเกษียณลดลงจาก 59% ในปี 56 เหลือเพียง 44%

ทั้งนี้ จากผลสำรวจข้างต้น มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ด้าน ดังนี้ 1.ควรส่งเสริมบทบาทของผู้ให้บริการที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์เพื่อเพิ่มการแข่งขันในระบบ และช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกและสามารถใช้บริการ ในราคาต่ำลง 2.ส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีบัญชี เพื่อการทำธุรกรรมพื้นฐาน เช่น ฝาก ถอน โอนเงินและชำระเงินโดยมีบริการที่ต่ำลง 3.ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินพื้นฐาน เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินและการออม เพื่อช่วยให้ประชาชนมีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 23/8/2560

สหภาพฯ กสท-ทีโอที ย้ำพนักงาน 2 บริษัทลูกไม่ใช่พนักงานรัฐวิสาหกิจ

สหภาพฯ กสท-ทีโอที จับมือ สรส. เดินหน้าคัดค้านตั้งบริษัทลูกต่อเนื่อง ย้ำอย่าไปอยู่ 2 บริษัทใหม่ เพราะจะทำให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจทันที ยันเดินหน้าทุกรูปแบบโดยจะส่งหนังสือแถลงการณ์คัดค้านพร้อมแนวคิดรวมบอร์ดเป็นชุดเดียว ฉบับล่าสุดต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันที่ 25 ส.ค. นี้อีกครั้ง

นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2560 สหภาพฯ กสท และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโดยนายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพฯ ทีโอที ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง ขอให้ยุติการแยกทรัพย์สิน จัดตั้งบริษัทลูก แต่ขอให้มีบอร์ดกำกับดูแลชุดเดียวกัน โดยมีตัวแทนจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้แก่ นายประกอบ ปริมล เลขาธิการ สรส. และประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงนายคมสัน ทองศิริ อดีตเลขาธิการ สรส. และเคยเป็นรองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงเคยเข้าร่วมชุมนุมกับพันมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมพนักงานทั้ง 2 บริษัทร่วมคัดค้านอีกกว่า 500 คน ขณะที่ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ผู้บริหารทีโอทียังคงเดินหน้าประชุมเพื่อตั้งบริษัท NBN เสมือนขึ้นมาก่อนการเกิดบริษัทจริงอีกด้วย

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สหภาพฯ ทั้ง 2 แห่ง รวมถึง สรส. ได้เดินหน้าคัดค้านอย่างเต็มที่ และขอให้พนักงานทั้ง 2 องค์กร ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co.) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co.) สหภาพฯ ของทั้ง 2 องค์กรเป็นองค์กรนิติบุคคลของพนักงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 40(4) ดำเนินการ และการให้ความร่วมมือ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหลังจากนี้ในวันที่ 25 ส.ค. จะเดินหน้าไปยื่นหนังสือดังกล่าวต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้งหนึ่งที่ศูนย์ดำรงธรรม

การออกแถลงการณ์ร่วมครั้งนี้สหภาพทั้ง 2 องค์กรขอให้พิจารณาแนวทางเลือก คือ การจัดตั้งคณะกรรมการทีโอที และคณะกรรมการ กสท โทรคมนาคม เป็นคณะกรรมการบริษัทชุดเดียวกัน กำหนดนโยบายในการบริหารใช้ทรัพยากร และสินทรัพย์ร่วมกัน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีขนาดโครงข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เป็นพันธมิตรกันโดยไม่แข่งขันกันเอง ร่วมมือกันทำธุรกิจ ลดต้นทุนบริการ ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการลงทุนซ้ำซ้อน ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ถ่วงดุลในราคาที่เป็นธรรม ประชาชนได้ประโยชน์จากบริการที่เข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความปลอดภัย ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ที่มีโครงข่ายของหน่วยงานรัฐเป็นผู้ให้บริการ ทำให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคง

การแยกทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายหลัก ออกจากบริษัทแม่เดิมไปยัง NBN และ NGDC ไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันจะทำให้ไม่มีหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงข่ายเอง ขาดโอกาสการสร้างรายได้จากธุรกิจ ขาดความเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทคู่แข่งเอกชนรายใหญ่ที่มีโครงข่ายพื้นฐานเป็นของตัวเองและให้บริการครบวงจร สำหรับการให้บริการประเภทคอนเวอร์เจนท์ และไอซีที โซลูชั่น

นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาได้วิเคราะห์แผนการดำเนินการของบริษัทใหม่ทั้ง NBN และ NGDC แล้ว พบว่ามีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องเกินกว่า 5 ปี ไม่มีความชัดเจนของที่มารายได้ อีกทั้ง มติ ครม. ส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนหน่วยงานมากขึ้นเป็น 4 องค์กร ไม่สามารถประสานการลงทุน หรือวางแผนที่สอดคล้องกัน วิธีการถ่ายโอนทรัพย์สินไปไว้ที่บริษัทลูกทั้งสองไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาการแข่งขันกันเอง ปัญหากฎระเบียบขั้นตอนการดำเนินงานที่ยุ่งยาก และใช้เวลาดำเนินงานนานขึ้น ปัญหาการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหาที่มีหน่วยงานรัฐกำกับดูแลหลายหน่วยงาน และยังไม่มีการสะสางปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐวิสาหกิจกับเอกชนที่มีมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท

ด้านนายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงาน ทีโอที กล่าวว่า เพื่อเป็นการยืนหยัดในเจตนารมณ์ขององค์กร จึงอยากขอรณรงค์ให้เพื่อนพนักงานทีโอที ไม่ไปสมัครงานใน 2 บริษัทลูกดังกล่าว ส่วนเรื่องการทำ NBN เสมือนก่อนการตั้งบริษัทนั้น ก็ไม่เห็นด้วย เพราะยิ่งทำให้มีการทำงานเดิมล่าช้าไปอีก ขณะที่ผู้บริหารทีโอที ก็เร่งเปิดรับสมัครพนักงานในบริษัทลูกให้เสร็จภายในต้นเดือน ก.ย. นี้ เพื่อจะให้สามารถเซ็นสัญญาจ้างพนักงานในระหว่างวันที่ 26-27 ก.ย. เพื่อให้ออกจากทีโอที ในเดือน ต.ค. จึงต้องการย้ำพนักงานว่าไม่ควรไปทำงานกับบริษัทใหม่ เพราะการจูงใจด้านสวัสดิการนั้น ไม่ได้ดีไปกว่าอยู่ที่ทีโอทีเดิมเลย โดยขอยืนยันว่าจะทำทุกทางเพื่อดำเนินการคัดค้านให้ถึงที่สุด รวมถึงจะดำเนินการตามกฎหมายทุกอย่างเพื่อคัดค้านการตั้งบริษัทลูก

ขณะที่นายคมสัน ทองศิริ อดีตเลขาธิการ สรส. กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับรัฐบาลที่มาโดยวิธีพิเศษชุดนี้อย่างมาก เพราะหากรัฐบาลทำกับ กสท และทีโอที ได้ รับรองได้ว่า รัฐวิสาหกิจอื่นก็ต้องถูกกระทำตามมาแน่นอน สอดคล้องกับความเห็นของนายประกอบ ปริมล เลขาธิการ สรส. และประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้พนักงานต่อสู้ถึงที่สุด เพราะผลจากการตั้งบริษัทลูกของการไฟฟ้าฯ ไม่ว่าจะเป็นที่ขนอม หรือราชบุรี ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สุดท้ายคนที่ไปอยู่ก็ไม่รอด และตกงานในที่สุด จึงขอให้พนักงานจงยืนหยัดต่อสู้ และไม่ต้องย้ายไปอยู่บริษัทลูก

“สิ่งที่ผู้บริหารบอกว่า การย้ายไปอยู่บริษัทลูก จะมีการนับอายุงานต่อนั้น คือ คำโกหก คำโต เพราะหากพนักงานย้ายไปเมื่อไหร่ เมื่อนั้น ก็จะหมดสภาพการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจทันที” นายสังวรณ์ กล่าวสรุป

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23/8/2560

สปส.แจงผู้ประกันตนเป็นมะเร็ง มีสิทธิรักษา-รับยาตามดุลยพินิจแพทย์

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีมีผู้ประกันตนโพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะที่ 3 แต่สิทธิประกันสังคมจ่ายยาให้เฉพาะ คนที่เป็นมะเร็งระยะแรกเท่านั้น จากกรณีดังกล่าวสำนักงานประกันสังคม ได้ให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ โดยผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับยาตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ประกันตน

ทั้งนี้การรักษาโรคมะเร็งแต่ละชนิด มีแนวทางการรักษาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถ้าการรักษาวิธีนั้น ๆ แล้วไม่ได้ผล หรือไม่ตอบสนองต่อยาที่รักษา สามารถใช้แนวทางการรักษาอื่นได้ โดยสำนักงานประกันสังคมคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล

ในกรณีที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา พิจารณาการรักษาโดยการปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ประกันตนจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น โดยโรงพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายไขกระดูก จะได้รับค่าบริการทางการแพทย์จากสำนักงานฯ ในอัตรา 750,000 บาทต่อราย หรือ 1,300,000 บาทต่อราย แล้วแต่กรณี

นายสุรเดช กล่าวว่า หลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ กรณีโรคมะเร็ง สปส.มีการจ่ายเพิ่มนอกเหนือ จากการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่าย ในกรณีให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานฯ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อรายต่อปี

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 24/8/2560

ก.แรงงาน แจงต่างด้าวทำงานขับวิน-ยานยนต์ มีความผิด

กระทรวงแรงงานแจง แจง แรงงานต่างด้าวทำงานรับจ้างขับขี่ยานยนต์หรือยานพาหนะ เช่น ขับวินมอเตอร์ไซต์ เป็นต้น มีความผิด เพราะเป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำ และหากมีใบอนุญาตทำงานแต่ทำงานแตกต่างจากประเภทงาน นายจ้าง ท้องที่หรือเงื่อนไขในการทำงาน ตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน จะมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินคดีได้ เนื่องจากไม่เข้าข่ายการยกเว้นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ชี้แจงกรณีที่แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาเข้ามาทำงานขับวินมอเตอร์ไซต์นั้นมีความผิด เนื่องจากเป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำ ตามประกาศกำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 คืองานขับขี่ยานยนต์หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกล ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ คนต่างด้าวดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ดังนี้ 1) หากทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานจะมีความผิดตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 101 2) หากมีใบอนุญาตทำงานแต่ทำงานแตกต่างจากประเภทงาน นายจ้าง ท้องที่หรือเงื่อนไขในการทำงาน ตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน จะมีความผิดตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ตามมาตรา 121 อย่างไรก็ตาม แรงงานขับวินมอเตอร์ไซต์ดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นบทลงโทษตามมาตรา 101 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 แต่หากแรงงานต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานประเภทอื่นและมาขับขี่วินมอเตอร์ไซต์จะมีความผิดตามมาตรา 70 ประกอบมาตรา 121 ซึ่งสามารถดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย โดยจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของแรงงานเมียนมาที่ขับวินมอเตอร์ไซต์ในครั้งนี้ต่อไป

นายวรานนท์ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าวินมอเตอร์ไซต์ชาวเมียนมาเรียกเก็บเงินจากแรงงานเมียนมาด้วยกันโดยอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการอำนวยความสะดวกเพื่อตรวจสอบหนังสือเดินทางของหน่วยงานรัฐนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเน้นย้ำให้ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตโปร่งใส ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีคำสั่งไม่ให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หรือกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใด โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น หากพบกระทำผิดจะต้องดำเนินการทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองกับพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ผู้นั้นอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด

ที่มา: Voice TV, 25/8/2560

กยศ.แจ้งนโยบาย-ผลการดำเนินงาน หลังเริ่มบังคับใช้ พ.ร.บ.ใหม่

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “ภายหลังจาก พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ กองทุนมีภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติใหม่ดังกล่าว ได้แก่ การออกกฎกระทรวงและระเบียบต่างๆ การประสานความร่วมมือกับกรมสรรพากรในการเชื่อมต่อระบบรับชำระหนี้ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ ให้องค์กรนายจ้างได้รับทราบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหักเงินเดือนพนักงานที่เป็นผู้กู้ยืม โดยกองทุนมีแผน จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคมมีแผนจะเริ่มนำร่องจัดประชุมสัญจร กับสมาชิกสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย โดยจะจัดขึ้นที่จังหวัดระยองเป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก

ปัจจุบันกองทุนมีผู้กู้ยืม 5,284,309 ราย ประกอบด้วย ผู้กู้ที่ชำระเสร็จสิ้นแล้ว 670,772 ราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,411,822 ราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและปลอดหนี้ 1,151,520 ล้านราย และอื่นๆ (เสียชีวิต/ทุพพลภาพ) 50,135 ราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 553,492 ล้านบาท จากช่วงที่ผ่านมากองทุนได้มีมาตรการติดตามหนี้โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ทำให้กองทุนมีผลการชำระหนี้ดีขึ้นตามลำดับ ทำให้กองทุนไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินในการจัดสรรวงเงินการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2560 และปีการศึกษา 2561 โดยปี 2558 กองทุนได้รับชำระหนี้ 18,318 ล้านบาท ปี 2559 ได้รับชำระหนี้ 21,419 ล้านบาท และในปี 2560 กองทุนคาดการณ์ว่าจะได้รับชำระหนี้ประมาณ 25,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 ยังมีผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้กองทุนและค้างชำระหนี้ ซึ่งกองทุนได้ดำเนินคดีในปีนี้ประมาณ 140,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 15,000 ล้านบาท จึงขอฝากถึงผู้กู้ยืมที่ได้รับหมายศาลว่าไม่ต้องกังวลขอให้ไปตามที่ศาลนัดหมายเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยและทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งทางกองทุนจะเปิดโอกาสให้สามารถผ่อนชำระได้อีก 9 ปีเต็ม หรือสามารถติดต่อขอชำระหนี้ปิดบัญชีก่อนถึงวันที่ศาลนัด โดยให้ส่งหลักฐานการปิดบัญชีและใบเสร็จค่าทนายความให้กับฝ่ายคดีและบังคับคดี หมายเลขโทรสาร 02-016-4940 หากชำระครบถ้วนแล้วกองทุนจะดำเนินการถอนฟ้องให้ ทั้งนี้ กองทุนขอขอบคุณผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนและประชาชนทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการส่งมอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนไทย โดยช่วยสร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อการชำระเงินคืนกองทุน เพราะการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาก็เปรียบเสมือนการให้ทุน แก่เยาวชนเพื่อไปสร้างอนาคตของตนเอง และสร้างทุนมนุษย์ให้กับผู้กู้ยืม เมื่อถึงเวลาก็อยากให้ผู้กู้ยืมส่งมอบโอกาสคืนทุนการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป” ผู้จัดการกองทุนฯกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 25/8/2560



เร่งฝึกช่างทำขาเทียม แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานช่างทำขาเทียม

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเข้าเยี่ยมชมการฝึก สาขาการทำขาเทียมใต้เข่า สำหรับผู้พิการที่มีตอขาซับซ้อน ว่า สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคเหนือตอนบน 1 สาขาดิจิตอล สาขาท่องเที่ยวและบริการ สาขาเมคาทรอนิกส์และสาขาออโตเมชัน(เชียงใหม่) ร่วมกับมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดำเนินการฝึกอบรมภายใต้โครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มทักษะและขีดความสามารถให้กับช่างเครื่องช่วยคนพิการ ที่ปฏิบัติงานในโรงงานทำขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชน ระหว่างวันที่ 21-25 สิงหาคม 2560 (35 ชั่วโมง) จำนวน 20 คน ซึ่งช่างทั้งหมดนี้ ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ 700 ชั่วโมงมาแล้ว ณ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อให้มีทักษะในการทำขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาดระดับใต้เข่าที่มีตอขาซับซ้อน อีกทั้งสามารถทำขาเทียมให้กับคนพิการขาขาดระดับใต้เข่าได้ขาเทียมที่ดีมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เนื่องจากการทำขาเทียมในลักษณะนี้ ต้องอาศัยทักษะความปราณีต เพื่อให้ลอยต่อของขาเทียมแนบสนิทและไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่ผู้ใช้งานเมื่อต้องเดินหรือยืนนานๆ

ช่างที่เข้าอบรมในครั้งนี้ ผ่านการอบรมในหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน ซึ่งมีระยะเวลาฝึกถึง 4 เดือน และฝึกภาคปฏิบัติ (ภาคสนาม) เป็นระยะเวลา 1 เดือน เมื่อฝึกอบรมเสร็จสิ้นแล้ว กพร.จะดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือก่อนส่งตัวเข้าทำงานในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้จบฝึกมีทักษะได้มาตรฐานและพร้อมที่จะให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน สถาบันฯ เชียงใหม่ ดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร เตรียมเข้าทำงาน สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ รวมแล้ว 3 รุ่น หลังจบฝึกอบรมทางมูลนิธิขาเทียมก็จะส่งให้ไปทำงาน ณ โรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และเมื่อผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 2 แล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะบรรจุให้เป็นพนักงานราชการ โดยได้รับเงินเดือนกว่า 10,000 บาท จึงทำให้ผู้จบหลักสูตรดังกล่าวมีงานทำทุกคน

การนำแนวพระราชดำริต่างๆ มาจัดทำเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยื่น ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อให้การดำเนินงานของกระทรวงแรงงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับนโยบายของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเป็นไปตามวาระปฏิรูป 8+1 การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การร่วมกับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะ ในการประกอบอาชีพ อีกทั้งเพื่อสนับสนุนและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้บรรลุตามพระราชประสงค์

การฝึกทักษะให้กับช่างทำขาเทียม เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานในสาขาดังกล่าว และฝึกแรงงานใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานช่างทำขาเทียมให้เพียงพอกับความต้องการ และสามารถผลิตขาเทียมเพื่อบริการคนพิการได้อย่างทั่วถึงและได้มาตรฐาน สามารถนำไปประกอบอาชีพ มีรายได้เพื่อดูแลครอบครัวอีกด้วย นายธีรพล กล่าว

ที่มา: บ้านเมือง, 26/8/2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.