คลังสหรัฐฯ มั่นใจไม่ผิดนัดชำระหนี้ / Fed ชี้ระบบการเงินสหรัฐฯ มีเสถียรภาพกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

Fed ชี้ระบบการเงินสหรัฐฯ มีเสถียรภาพกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

ประธานคณะผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ แจเน็ท เยลเล่น กล่าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า ปัจจุบันระบบการเงินของสหรัฐฯ มีเสถียรภาพมากกว่าช่วงก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย พร้อมขอให้รัฐบาลและรัฐสภาอเมริกันใช้วิธีปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านการเงินต่างๆ ที่เริ่มใช้มาในสมัยประธานาธิบดีโอบาม่า แทนการยกเลิกกฎเกณฑ์เหล่านั้น

ประธานคณะผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า แม้การควบคุมทางการเงินมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อการกู้ยืมที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็มีรายงานหลายชิ้นที่ชี้ว่ากฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ช่วยป้องกันความเสี่ยงทางการเงินได้ไม่น้อยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น กฎเกณฑ์ที่กำหนดให้สถาบันการเงินใหญ่ๆ ต้องกันเงินสดสำรองมากขึ้นนั้น ถือว่าเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมหากสถาบันการเงินเหล่านั้นมีปัญหาเหมือนที่เคยเปิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2008 ซึ่งรัฐบาลต้องใช้มาตรการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินขนาดใหญ่เหล่านั้น

คลังสหรัฐฯ มั่นใจไม่ผิดนัดชำระหนี้

รมต.การคลังสหรัฐฯ สตีเว่น มนูชิน แสดงความมั่นใจว่ารัฐสภาสหรัฐฯ จะเพิ่มระดับเพดานการกู้ยืมเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนนี้ ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้

รมต. มนูชิน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า ตนได้พูดคุยกับผู้นำในทั้งสองสภาแล้ว และบอกว่าทุกคนต่างมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน คือการเพิ่มเพดานการกู้ยืมเงินเพื่อให้รัฐบาลชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด และว่าสำหรับตนแล้ว ร่างกฎหมายเพิ่มเพดานการกู้ยืมเงินนี้ควรผ่านความเห็นชอบโดยไม่มีวาระอื่นพ่วงไปด้วย

หากรัฐสภาสหรัฐฯ ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องนี้ภายในวันที่ 30 ก.ย. รัฐบาลสหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือทางการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ

อเมริกาเผชิญปัญหา “ช่องว่างของทักษะฝีมือการทำงาน”

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ปัจจุบันแรงงานอเมริกันกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “ช่องว่างของทักษะฝีมือการทำงาน” คือการที่แรงงานจำนวนมากยังตกงาน ขณะที่บริษัทต่างๆ ไม่สามารถหาพนักงานที่มีทักษะฝีมือที่เหมาะสมมาเติมในตำแหน่งงานที่ขาดแคลนได้

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ เพิ่มโปรแกรมฝึกฝนทักษะการทำงานให้แก่พนักงาน เหมือนที่หลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก ทำสำเร็จมาแล้ว

รายงานสำรวจระบุว่า เมื่อปีที่แล้วมีการเปิดตำแหน่งงานใหม่ในสหรัฐฯ ทั้งหมด 146 ล้านตำแหน่ง ในจำนวนนี้มีเพียง 500,000 ตำแหน่งที่จ้างพนักงานที่ผ่านการฝึกฝนทักษะการทำงานแบบใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดงานในส่วนนี้ยังมีศักยภาพอยู่มาก

เวลานี้โรงงานหลายแห่งในสหรัฐฯ ต่างเสนอโปรแกรมการฝึกทักษะให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการที่จะขยายแนวคิดนี้ไปทั่วประเทศจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วย

source; - http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=166095053201316270

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.