Posted: 28 Aug 2017 02:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ภายหลังจากที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้ไปศาลตามกำหนดในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ก็ได้ปรากฏบทกวีจากบุคคลที่มีชื่อเสียง 2 คน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการกระทำของของคุณยิ่งลักษณ์ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘รูญ ระโนด อันเป็นนามปากกาซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าคือ อาจารย์จรูญ หยูทอง ผู้กว้างขวางในดินแดนปักษ์ใต้

สำหรับเนื้อหาบทกวีที่ทางอาจารย์จรูญ ได้เขียนไปนั้น สามารถเข้าอ่านได้ใน Facebook ซึ่งทางผู้เขียนก็ได้เปิดให้สาธารณะเข้าอ่านได้อย่างกว้างขวาง


(บทกวีของ ‘รูญ ระโนด ที่ขออนุญาตนำมาลงประกอบไว้ ณ ที่นี้)

ใครพาหูหนี
เธอพาหูหนีหายไม่มาหา
หูไม่ดีไม่มีค่าพาบัดสี
บัดสีหูไม่อยู่ให้เห็นเป็นราคี
เหมือนเห็นหมีจึงหนีมาน่าเอ็นดู
ด้วยหูเธอไม่ดีมีปัญหา
น้ำในหูเพรื่อพร่าคารูหู
ไปรักษาให้หายดีทีละรู
อย่าลบหลู่คนหูไม่ดีที่ไม่มา
แล้วเธอพาหูหนีไปที่ใด
ข่าวว่าเป็นดูไบตามเขาว่า
เมื่อหูหายคงหวนกลับมารับอาชญา
จะกลับมาพร้อมหูดีหูสีเดิม.

25 สิงหาคม 2560

ภายหลังที่ได้อ่านบทกวีของทางอาจารย์จรูญ แล้ว ผมมีประเด็นบางประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยนและคิดว่าจะเป็นประโยชน์ไม่เพียงเฉพาะกับผู้เขียนเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงบุคคลอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจเห็นพ้องด้วยกับบทกวีที่ได้ปรากฏขึ้น

ในเบื้องต้น เช่นเดียวกันกับหลายคนที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่าบทกวีดังกล่าวมีลักษณะของการนำ “ความเป็นหญิง” มาเยาะเย้ยผ่านการใช้ภาษาแบบสองแง่สองง่าม ด้วยการเล่นกับคำว่า “หู” และถ้อยคำอื่นๆ ผมคิดว่าถ้าใครที่ได้อ่านผ่านหูผ่านตาก็คงเข้าใจถึงความหมายที่ผู้เขียนตั้งใจจะเสียดสีคุณยิ่งลักษณ์

แต่เพราะเหตุใดจึงต้องนำเอาความเป็นหญิงมาล้อเลียน หรือเป็นเป้าแห่งการโจมตีเพื่อความพึงพอใจของตน

หากยังไม่ลืมกัน เมื่อคุณยิ่งลักษณ์ เผชิญกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงกันข้าม การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้จำกัดเอาไว้เพียงข้อถกเถียงในเชิงนโยบายเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการใช้ “เรือนร่าง” มาเป็นประเด็นของการอภิปราย เช่น การพูดของคุณหมอท่านหนึ่งว่ายินดีจะทำ “รีแพร์” ให้กับคุณยิ่งลักษณ์ หรืออาจารย์หนุ่มซึ่งคิดว่าตนเองหน้าตาดีที่ยินยอมจะสละตนไป “ล่อเพื่อชาติ” เป็นต้น

แน่นอนว่าการหยิบเอาประเด็นดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวสามารถสร้างความสะใจหรือสนองต่ออารมณ์ของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้เป็นอย่างดี แต่คำถามก็คือว่าการใช้ประเด็นเช่นนี้สามารถทำให้เกิดการใช้สติปัญญาในการพิจารณาปัญหามากน้อยเพียงใด มากไปกว่านั้น ไม่ว่าจะโดยตระหนักรู้หรือไม่ก็ตาม การใช้แง่มุมในลักษณะเช่นนี้กลับเป็นการเหยียบสถานะของ “ความเป็นหญิง” โดยรวมให้ตกต่ำลงไปมากยิ่งขึ้น

การมุ่งเสียดสีต่อบุคคลที่ตนเองได้จัดว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้ามด้วยการใช้ประเด็นที่ไม่ได้สัมพันธ์กับประเด็นปัญหาโดยตรงเลยจะนำประโยชน์อันใดมาสู่สาธารณะ นอกจากเป็นการสะท้อนถึงอคติทางเพศอย่างรุนแรงที่มีต่อฝ่ายหญิง ซึ่งผมไม่คิดว่าควรเป็นวิธีมองจากกวีผู้ซึ่งมีอารมณ์อ่อนไหวและเห็นใจต่อมวลมนุษยชาติมิใช่หรือ

สำหรับประเด็นที่คุณยิ่งลักษณ์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดนั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรต้องมีการถกเถียงเช่นกัน

ตั้งแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนานเป็นทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับภายหลังการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา หากพอจะยอมรับความจริงกันอยู่บ้าง ก็จะเห็นได้ว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้นกับระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอยู่ไม่ใช่น้อย เฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายที่ตรงกันข้ามกับชนชั้นนำเดิม กรณีของไผ่ ดาวดิน ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนอยู่มิใช่หรือว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

ความไม่ปกติที่เกิดขึ้นจึงย่อมส่งผลให้บุคคลที่ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาต่างเลือกเส้นทางที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของตนเอง การรับสารภาพของไผ่ หรือการตัดสินไม่มาศาลของคุณยิ่งลักษณ์ก็อยู่ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว

หากอาจารย์จรูญ ยังยืนยันว่าระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยยังอยู่ในสภาวะที่น่าเชื่อถือได้ ผมก็อยากเตือนความจำซึ่งอาจเลือนหายไปบ้างว่าเมื่อ พ.ศ. 2558 อาจารย์จรูญ และนักวิชาการอีก 7 คน ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวว่าฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “คดีมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ซึ่งเป็นผลมาจากการแถลงการณ์ร่วมกันของนักวิชาการที่มีไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของผู้มีอำนาจ ในตอนแรกผู้ต้องหาทั้งหมด 8 คน ต่างยืนยันว่ามิได้เป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่ง คสช. แต่อย่างใด

แต่ต่อมาภายหลังก็เป็นที่รับรู้กันว่าอาจารย์จรูญ และผู้ต้องหากลุ่มหนึ่ง “สมัครใจ” เข้ารับการปรับทัศนคติจากฝ่ายทหารอันเป็นเงื่อนไขให้มีการยุติคดี ผมเข้าใจดีว่าการตัดสินใจนี้ไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจอย่างสิ้นเชิงของทุกท่าน เพราะเท่าที่ได้รับทราบมาการถูกปรับทัศนคติครั้งนี้ได้มีการ “อบรม” แบบไม่อาจโต้แย้ง แต่ละคนต่างต้องก้มหน้ารับฟังแบบขมขื่นเพียงเพื่อให้คดีความทั้งหมดได้จบลง แน่นอนว่าการปรับทัศนคติไม่ใช่การหนีคดีในทางกฎหมาย แต่ในทางพฤตินัยจะสามารถอธิบายเป็นอื่นได้อย่างไร

สำหรับผมแล้ว การตัดสินใจในครั้งนี้ของอาจารย์จรูญ และกลุ่ม ก็ขึ้นอยู่เงื่อนไขและความพร้อมของแต่ละคน ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ เราทั้งหมดก็คาดเดาไม่ได้ว่าผลจะปรากฏออกมาในลักษณะเช่นใด ผมคิดว่าถ้าคดีที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในอำนาจการตัดสินของศาลทหาร ก็เชื่อว่าหลายคนอาจตัดสินใจไปในทิศทางที่แตกต่าง ดังนั้น การเหลือเพียงผมและอาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อีกหนึ่งคนในคดีก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปตัดพ้อต่อว่าคนอื่นแต่อย่างใด แต่ละคนต่างคนต่างมีเงื่อนไขและความจำเป็นที่แตกต่างกัน

เช่นเดียวกันกับกรณีของคุณยิ่งลักษณ์ สถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็ย่อมส่งผลให้เธอเลือกตัดสินใจในสิ่งที่น่าจะดีที่สุด ถ้าการกล่าวหาที่มีต่อคุณยิ่งลักษณ์ เกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติเราก็อาจได้เห็นภาพที่ต่อสู้ทางกฎหมายที่แตกต่างกันออกไป การเยาะเย้ยคุณยิ่งลักษณ์ ว่า “หนีคดี” จึงเป็นเรื่องที่อาจต้องขบคิดถึงเงื่อนไขต่างๆ มากขึ้น

ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองได้ทำให้ผู้คนที่โดดเข้ามาอยู่ภายในความขัดแย้งต่างพยายามใช้เหตุผล วาทะ ความเห็น ชักนำให้คนเข้ามาอยู่ในฝักฝ่ายของตน แน่นอนว่าการกระทำเหล่านี้ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด แต่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งก็คือ การนำเสนอแต่ความเห็นซึ่งมุ่งเร้าอารมณ์หรือตอบสนองต่อความสะใจของตน ฝ่ายตน สีตน เพียงอย่างเดียว จนทำให้ไม่มีการถกเถียงกันด้วยเหตุผลหรือปัญญาอันจะช่วยทำให้สังคมไทยสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ เขียนด้วยความหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการชวนให้แต่ละฝ่ายหันมาพิจารณาความขัดแย้งต่างๆ ด้วยปัญญากันมากขึ้น ผมไม่ได้หวังว่าอาจารย์จรูญ รวมถึงมิตรสหายหรือฝ่ายของคุณจรูญ จะหันมามองโลกด้วยสายตาแบบที่ผมมองทั้งหมด เพราะนั่นคงเป็นเรื่องที่ยากจะเกิดขึ้นได้ภายสถานการณ์ที่เป็นอยู่

แต่ผมหวังว่าจะทำให้เกิดการถกเถียงหรือโต้แย้งบนฐานของข้อมูล เหตุผล ปัญญา ที่ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนหรือถกเถียงกันได้มากขึ้น อาจารย์จรูญ ในฐานะผู้กว้างขวางแห่งดินแดนปักษ์ใต้ก็ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดความเห็นของผู้คนไม่น้อย ผมได้แต่หวังว่าจะได้เห็นการนำเสนอความเห็นและการโต้แย้งที่น่าจะช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่จะช่วยนำสังคมไทยให้ก้าวพ้นไปจากบรรยากาศแห่งความกลัว ซึ่งผมก็คาดว่าอาจารย์จรูญก็คงไม่พึงพอใจกับสถานการณ์แบบนี้มากเท่าไหร่

จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ไม่ได้ต้องการเยาะเย้ย เสียดสี หรือถากถางใครเป็นกรณีเฉพาะ สังคมไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างสันติและเกิดความเสมอภาคได้ แต่ละคนแต่ละฝ่ายคงต้องขบคิดและช่วยกันเป็นอย่างมาก อาจารย์จรูญ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมและจะเป็นส่วนที่ช่วยนำพาให้ความเห็นที่แตกต่างได้นำไปสู่การแสวงหาทางออกให้กับสังคมไทยในอนาคตข้างหน้าด้วยเช่นกัน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.