Posted: 24 Aug 2017 04:09 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หมอหยุยหวั่นควบรวมรัฐวิสาหกิจเอาสมบัติชาติให้เอกชนดูแล ยก ม. 77 ระบุ ร่าง ก.ม. ยังไม่ได้ประชาพิจารณ์ครบถ้วนพอจะเสนอ สนช. ทำความรู้จักบรรษัทฯ ผ่านร่าง พ.ร.บ. ระบุหน้าที่ 4 ด้าน ทุนหนึ่งพันล้าน แบ่งเป็นร้อยล้านหุ้น ให้กระทรวงการคลังโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าบรรษัทภายใน 180 วัน หลังบังคับใช้

เมื่อ 23 ส.ค. 2560 สำนักข่าว มติชน รายงานว่า นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระบุว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ (รสก.) พ.ศ... ในสัปดาห์หน้า โดย พ.ร.บ. ถูกร่างขึ้นเพื่อปฏิรูปการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคม โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เสนอแนะให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทแทน

ด้านวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า เท่าที่ดูกฎหมายฉบับนี้จะรวมรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ 11 แห่ง เช่น ทีโอที ไปรษณีย์ ขสมก. ปตท. การบินไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยฯ ให้เป็นบรรษัทรัฐวิสาหกิจบริหารในลักษณะบอร์ดโดยมี คนร.เป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งในมาตรา 44-48 กำหนดให้ คนร. แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน มาบริหารบรรษัทรัฐวิสาหกิจ ซึ่งบรรษัทนี้จะควบรวมกิจการ หุ้น ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ให้มารวมไว้ในที่เดียวกัน หรือเป็นการบริหารแทนกระทรวงการคลัง ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มากเพราะเป็นการเอาสมบัติของชาติมาให้เอกชนดูแล โดยเฉพาะกรรมการผู้ทรงวุฒิจำนวน 9 คนที่จะมีอำนาจในการบริหาร ทั้งยังระบุว่าร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้รับฟังความเห็นอย่างครบถ้วนดีพอที่จะส่งมาให้ สนช. พิจารณาได้ เพราะยังไม่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนหรือผู้เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 โดยได้ทำการรับฟังผู้ถือหุ้น คนบางกลุ่ม ขณะที่ตัวแทนจากสหภาพของรัฐวิสาหกิจมีการรับฟังน้อยมาก

ร่าง พ.ร.บ. ระบุหน้าที่ 4 ด้าน ทุนหนึ่งพันล้าน แบ่งเป็นร้อยล้านหุ้น ให้กระทรวงการคลังโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าบรรษัทภายใน 180 วัน หลังบังคับใช้

ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้เปิดเผยร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ…. ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 8 ส.ค. 2560 ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัท มาตรา 44-48 ระบุว่าบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัทและกำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้น ให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งลงทุนและบริหารทรัพย์สินและบริหารทรัพย์สินของบรรษัท ทั้งนี้บรรษัทเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

บรรษัทมีอำนาจตามมาตรา 46 ของร่าง พ.ร.บ. สี่ประการ ดังนี้
  1. ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและหลักทรัพย์ มีสิทธิครอบครองและมีทรัพยสิทธิต่างๆ
  2. ก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมใดๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
  3. ค้ำประกันหรือรับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน
  4. กู้หรือยืมเงินในหรือนอกราชอาณาจักรเพื่อกิจการของบรรษัท

การดำเนินการตาม (3) และ (4) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ คนร. กำหนด

มาตรา 47 ให้บรรษัทมีทุนหนึ่งพันล้านบาท แบ่งเป็นหนึ่งร้อยล้านหุ้น มีมูลค่าหุ้นละสิบบาท บรรษัทอาจเพิ่มหรือลดทุนได้โดยเสนอกระทรวงการคลังเพื่อเสนอต่อ คนร. ให้ความเห็นชอบ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบรรษัท และหุ้นทุกหุ้นของบรรษัทต้องใช้เงินครั้งเดียวเต็มมูลค่าและโอนเปลี่ยนมือมิได้

ทั้งนี้ ในหมวดว่าด้วยการโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัทระบุให้โอนหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ในรัฐวิสาหกิจว่าด้วยบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติภายใน 180 วันนับแต่ พ.ร.บ. บังคับใช้

บรรษัทยังมีหน้าที่ตามกฎหมายมาตรา 48 ให้ประกาศกำหนดแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในบรรษัท เพื่อให้สามารถดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบรรษัทตามหลักเกณฑ์ที่ คนร. กำหนด

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.