Posted: 25 Aug 2017 11:09 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แถลงผลการหารือของอดีตแกนนำ ชี้จากการหลบหนีของ 'น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' รัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง และ คสช. จะต้องแสดงความรับผิดชอบ เพราะเคยระบุว่าส่งทหารติดตามการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

26 ส.ค. 2560 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้แถลงผลการหารือของอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ที่บ้านพระอาทิตย์ ฉบับที่ 2/2560 อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง "เรียกร้องรักษาความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคง จากการเพิกเฉยการอุทธรณ์คดีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ถึง การปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหลบหนีอาญาแผ่นดิน" โดยมีรายละเอียดดังนี้

วันนี้อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทนายความ ผู้เสียหาย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มาประชุมในเรื่องปัญหาสำคัญที่จะก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคงของชาติใน 2 กรณี คือ การเพิกเฉยการอุทธรณ์คดีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และการปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลบหนีอาญาแผ่นดิน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

กรณีที่แรก จากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกันสลายการชุมนุมและไม่ดำเนินการระงับยับยั้งเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,83

ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2560 โดยสรุปว่าผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และจำเลยทั้ง 4 ไม่ได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต จำเลยทั้ง 4 จึงไม่มีความผิดฐานะเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์ในฉบับที่ 1/2560 เรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ทำการอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ทันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการพิพากษาดังกล่าว บัดนี้เวลาได้ผ่านไป 24 วันแล้ว ยังไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งๆที่ได้รับคำพิพากษาฉบับเต็มและคำวินิจฉัยส่วนตนในคดีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้เสียหาย ทนายความ และพี่น้องประชาชนมีความเป็นห่วงว่าจะมีความอยุติธรรมเกิดขึ้นในการไม่เอาจริงเอาจังในการอุทธรณ์คดีดังกล่าวนี้ให้ทันเวลาหรือไม่ดำเนินการอุทธรณ์อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในสังคมต่างรับทราบว่าบุคคลในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจำเลยในคดีดังกล่าวนี้

หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการด้วยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการไม่อุทธรณ์ก็ดี อุทธรณ์ไม่ทันเวลาก็ดี หรืออุทธรณ์ด้วยเนื้อหาที่ขาดความละเอียดรอบคอบก็ดี ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม สร้างบาดแผลร้าวลึกในจิตใจของประชาชนจนไม่สามารถจะเกิดความปรองดองในสังคมไทยได้

ทั้งนี้ เมื่อคำพิพากษาฉบับเต็มในคดีดังกล่าวได้เผยแพร่มาแล้ว ก็พบอย่างชัดเจนว่ามีการตัดสินในคดีดังกล่าวไม่เป็นเอกฉันท์ และคำพิพากษาเสียงข้างน้อยก็มีเนื้อหา รายละเอียด และน้ำหนักอยู่มาก จึงเป็นเหตุอันสมควรที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะต้องอุทธรณ์เพื่อความเป็นธรรมให้กับผู้ที่เสียชีวิต พิการ และบาดเจ็บ จากการสลายการชุมนุมดังกล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากตามบทบัญญ้ติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 195 วรรคสี่ ได้บัญญัติว่า

"คำพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา"

ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 25 วรรคสองและวรรคสามบัญญัติว่า

"สิทธิหรือเสรีภาพได้ที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้"

ดังนั้นแม้จะยังไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีให้คู่ความสามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิให้คู่ความยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวจนถึงที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทนายความ ผู้เสียหาย และผู้ที่เกี่ยวข้องจึงมีมติดังนี้

1. เรียกร้องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้จัดประชุมเพื่อลงมติอุทธรณ์คดีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

2. อาศัยกรณีที่คำพิพากษาฉบับเต็มและคำวินิจฉัยส่วนตนที่เพิ่งออกมาในวันที่ 22 สิงหาคม 2560 จึงย่อมทำให้การอุทธรณ์อย่างละเอียดรอบคอบ ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติให้ทันเวลาภายใน 30 วัน นับแต่วันพิพากษา หรือเสียสิทธิที่จะใช้เวลาให้ครบ 30 วันในการเขียนคำอุทธรณ์นับแต่วันที่รับทราบคำพิพากษาฉบับเต็มตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2560 อีกทั้งคณะทำงานด้านกฎหมายของอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการระยะเวลาเพื่อที่จะนำส่งข้อท้วงติงและการเสนอการอุทธรณ์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในคดีสำคัญนี้ จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน

3.เพื่อความเชื่อมั่นในการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และเพื่อให้การอุทธรณ์เป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบและมีข้อที่สมบูรณ์ในทางกฎหมายจากผู้เสียหายโดยตรง จึงขอเรียกร้องให้คณะทำงานและทีมกฎหมายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของทีมกฎหมายองคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้นายวีระ สมความคิด เป็นตัวแทนส่งหนังสือให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2560 เวลา 10.00 น.

กรณีที่สอง จากเหตุการณ์ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้หลบหนีอาญาแผ่นดิน ในการตัดสินคดีทุจริตจำนำข้าวเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการทำงานของฝ่ายความมั่นคงที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิดข้อสงสัยในทางสังคมว่าเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ มีส่วนเกี่ยวข้องในการหลบหนีของจำเลยในคดีที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติดังกล่าว เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ปรากฏข่าวอย่างชัดเจนว่าฝ่ายความมั่นคงได้ส่งทหารติดตามถ่ายรูปและประกบตัวการเดินทางของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างใกล้ชิดไปในทุกที่ ทุกเวลา แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์หลบหนีไปได้อย่างง่ายดาย

อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้เสียหาย และประจักษ์พยานผู้เกี่ยวข้อง จึงได้มาประชุมกันและมีมติดังต่อไปนี้

1.เรียกร้องให้รัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว หากพบว่ามีการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดให้หลบหนี และหลุดพ้นจากการถูกบังคับตามคำพิพากษาของศาล ก็ขอให้ดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวจนถึงที่สุด

2.เนื่องด้วยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ต่อกรณีการส่งทหารติดตามการเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างใกล้ชิดว่า

"เจตนาของ คสช. ที่ส่งทหารไปเพื่อดูแลความคุ้มครอง ให้เกิดความสงบเรียบร้อย หากมีอะไรเกิดขึ้น คสช.ที่รับผิดชอบในพื้นที่ ก็ต้องรับผิดชอบ"

เมื่อเกิดเหตุการณ์หลบหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังกล่าว รัฐบาลและ ฝ่ายความมั่นคง และ คสช. จึงต้องแสดงความรับผิดชอบตามที่ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.